5 วิธีบ่มเพาะอุปนิสัยทางการเงินที่ดีให้ลูก
16/05/20233 พลังที่ยิ่งใหญ่ของ RMF เพื่อเติมเต็มเป้าหมายเกษียณ
24/05/2023หลายๆ ท่านที่ได้เคยศึกษาเรื่องการลงทุน โดยเฉพาะท่านที่ทำงานประจำ น่าจะคุ้นเคยกันดีกับวิธีการลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) นะคะ เนื่องจากสวัสดิการด้านการออม/ลงทุนต่างๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือ การลงทุนด้วยตัวเองเป็นประจำใน RMF/SSF/กองทุนรวมทั่วไป ก็ล้วนทำให้เราได้เกิดการออมอย่างสม่ำเสมอแบบ DCA ทั้งสิ้น
เช่นกัน หลายท่านก็น่าจะคุ้นเคยกับแนวคิด Asset Allocation หรือการจัดพอร์ตกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ด้วย
บทความนี้ จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจกันค่ะ ว่าสองหลักการข้างต้นนั้น สามารถใช้ร่วมกันเพื่อให้เงินเติบโตในระยะยาวได้อย่างไร
รู้จัก DCA เพิ่มเติมอีกสักหน่อย
DCA เป็นวิธีการลงทุนแบบสม่ำเสมอ เป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องในแต่ละงวด ด้วยเงินลงทุนจำนวนเท่าๆ กัน โดยไม่มีการจับจังหวะตลาดหรือราคาของสินทรัพย์ที่ลงทุนในขณะนั้นๆ จึงเป็นวิธีลงทุนที่ช่วยตัดอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนออกไป แล้วมามุ่งเน้นที่การสะสมเงินทุนอย่างต่อเนื่องโดยใช้วินัย เพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
วิธี DCA จึงเป็นวิธีการที่นำไปปฏิบัติได้ง่าย ไม่ต้องใช้เวลามากในการติดตามสภาวะตลาดมากนัก และยังได้ประโยชน์เพิ่มเติม เป็นความได้เปรียบด้านต้นทุน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักร (มีช่วงขึ้น และ มีช่วงลง) โดยจะทำให้เราไม่พลาดโอกาสการได้เข้าซื้อในช่วงที่สินทรัพย์มีราคาลดลง อันเกิดจากความผันผวนในระยะสั้น
ส่งผลให้เราได้รับประโยชน์ในการได้ซื้อสินทรัพย์นั้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และด้วยเงินจำนวนเท่ากันยังสามารถสะสมสินทรัพย์ได้ในจำนวนที่มากขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้อยู่เป็นระยะ ก็จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมของเราต่ำลง ทำให้ในอนาคตหากสินทรัพย์นั้นปรับตัวดีขึ้น กำไรเราก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ DCA ให้สำเร็จนั้น มีเงื่อนไขสำคัญคือ สินทรัพย์ที่เข้าลงทุนด้วยวิธี DCA นั้น แม้ในระยะสั้นจะมีความผันผวน แต่ในระยะยาวเราจะต้องมีความมั่นใจได้มากระดับหนึ่งว่า สินทรัพย์นั้นๆ จะปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นความท้าทายในการเลือกสินทรัพย์ให้มีคุณสมบัติดังกล่าว
และแม้เราจะคัดเลือกสินทรัพย์มาได้อย่างถูกต้อง แต่พอร์ตก็อาจจะผันผวนมากเกินไป เช่น ปรับตัวลงแรงจนเกินกว่าระดับที่เรารับได้ ในระหว่างทางของการ DCA ทำให้เราถอดใจจนหยุด DCA ไปชั่วคราว หรือกระทั่งหยุดไปถาวร เพราะทนกับสภาวะเช่นนั้นไม่ไหว
ซึ่งทั้งสองข้อจำกัดข้างต้นนั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องนำเทคนิคการกระจายการลงทุน หรือการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ให้เหมาะสม เข้ามาใช้ร่วมด้วย
รู้จัก Asset Allocation เพิ่มขึ้นอีกสักนิด
การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) หรือการจัดพอร์ตการลงทุนนั้น มักถูกเปรียบเปรยให้เห็นภาพด้วยข้อความที่ว่า “อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกัน” เพราะหากเราเผลอทำตะกร้าตก เราก็จะเสียไข่ทั้งหมดไป
แต่ในรายละเอียดที่ลึกขึ้นนั้น Asset Allocation ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ด้วย เช่น
- นอกจากกระจายความเสี่ยง จากผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถใช้กระจายโอกาส ในกรณีที่เราไม่สามารถตัดสินใจอย่างแน่ชัด ว่าสินทรัพย์ใดจะเติบโตมากกว่าสินทรัพย์ใด อาจเพราะในระยะยาวก็ดูน่าสนใจทั้งคู่ เช่น เราตัดสินใจไม่ถูกระหว่างหุ้นจีน กับ หุ้นเวียดนาม แทนที่จะทุ่มเงินไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็สามารถกระจายไปยังทั้งสองทางเลือกได้ เป็นต้น
- ใช้เพื่อปรับระดับความเสี่ยง หรือระดับความผันผวนของพอร์ต ให้อยู่ในระดับที่เรารับได้ และสอดคล้องกับเป้าหมายผลตอบแทน เพราะในการกระจายการลงทุนนั้น นอกจากหุ้นแล้ว เรายังสามารถแบ่งเงินไปลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ ที่ความเสี่ยงต่ำกว่า หรือแตกต่างจากหุ้น เช่น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ สินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ซึ่งหากผสมผสานกันได้ลงตัว เราจะได้พอร์ตที่ไม่หวือหวามากเกินไปจนเราทนไม่ไหวนั่นเอง
จากประโยชน์ของทั้งสองเทคนิคข้างต้น เพื่อนๆ คงอยากทราบกันแล้วนะคะ ว่าจะนำ DCA กับ Asset Allocation มาใช้ร่วมกันอย่างไร เชิญติดตามอ่านต่อด้านล่างได้เลยค่ะ
นำเทคนิค DCA และ Asset Allocation มาใช้ร่วมกัน
ในการใช้ทั้งสองเทคนิคนี้ร่วมกัน เราจะแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้ค่ะ
ระดับที่ 1 : จัด Asset Allocation ให้เหมาะสมก่อน
เพราะเป็นรากฐาน และเป็นหัวใจสำคัญในการ กำหนดผลตอบแทนและความเสี่ยงของพอร์ต นั่นคือเราต้องออกแบบก่อนว่าด้วยเป้าหมาย และข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งรวมเป็นความต้องการของเรานั้น เราตั้งใจที่จะลงทุนสินทรัพย์อะไรบ้าง และในสัดส่วนเท่าใด ซึ่งมีข้อพิจารณาเบื้องต้น เช่น
- หากคาดหวังผลตอบแทนที่สูง รับความเสี่ยงได้สูง ระยะเวลาลงทุนยาว ก็อาจมีสัดส่วนหุ้นในพอร์ตได้มาก ตรงกันข้ามหากต้องการพอร์ตที่มีความเสถียร ทนต่อวิกฤติ ก็อาจมีสัดส่วนหุ้นได้น้อยลง โดยมีสัดส่วนของตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงเงินสดเพิ่มขึ้นแทน
- หากต้องการแสวงหาโอกาส และกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศไทย ก็อาจมีสัดส่วนหุ้นต่างประเทศ หรือสินทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น
- หากต้องการเพิ่มการกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้นกว่าแค่หุ้น vs ตราสารหนี้ ก็อาจมีสัดส่วนสินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ เพิ่มขึ้นในพอร์ต เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ
สำหรับการตัดสินใจระดับแรกนี้ แม้จะเขียนแล้วดูสั้นๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ง่ายเลยนะคะ เพราะรายละเอียดของแต่ละสินทรัพย์มีมาก และปัจจัยต่างๆ ที่นำมาใช้วางแผนก็มักจะต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถ้าทำเองไม่ไหว ก็อาจใช้บริการจากที่ปรึกษาด้านการเงิน/การลงทุนต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายแห่ง
ตัวอย่างเช่น สำหรับ บลป. Avenger Planner นั้น เราก็มี Asset Allocation ที่จัดเตรียมไว้เพื่อ 5 เป้าหมายพื้นฐาน ซึ่งแต่ละพอร์ตก็จะมีผลตอบแทนที่คาดหวัง และความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ดังรูปด้านล่างนี้ค่ะ
ระดับที่ 2 : นำ Asset Allocation มาจัดทำเป็นแผนการลงทุนแบบ DCA
ในระดับต่อมา เราจะใช้เทคนิค DCA มาเป็นส่วนเติมเต็ม เพื่อ Implement พอร์ตแบบ Asset Allocation ที่จัดไว้แล้ว ให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
ซึ่งจำเป็นต้องมี การเลือกหลักทรัพย์ หรือ เลือกกองทุน มาเกี่ยวข้อง เพราะเราไม่สามารถซื้อสินทรัพย์ตรงๆ ได้ เช่น หากเราต้องการซื้อหุ้นจีน เราอาจซื้อผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นจีน เป็นต้น
แสดงว่า ถ้าเราจัดพอร์ตกระจายไปในสินทรัพย์กี่ประเภทก็ตาม เราก็ต้องเลือกเครื่องมือลงทุน ให้ครบถ้วนตามประเภทสินทรัพย์ข้างต้น เช่น ถ้ามี 5 สินทรัพย์ เราอาจต้องเลือกกองทุนไว้ 5 กองทุนที่เป็นตัวแทนสินทรัพย์ดังกล่าว
จากนั้น เราก็จะส่งคำสั่งแบบ DCA เพื่อให้ Platform การลงทุนที่เราใช้ ทำรายการตัดเงินอัตโนมัติ ไปลงทุนให้เราทุกๆ เดือน ตามจำนวนเงิน และวันที่เรากำหนด โดยต้องสอดคล้องกับสัดส่วนใน Asset Allocation ตามตัวอย่างด้านล่างนี้
โดยในตาราง 2 คอลัมน์ด้านขวามือ จะแสดงเป็นตัวอย่างว่า ถ้าเราจะ DCA เดือนละ 5,000 หรือ เดือนละ 10,000 บาทนั้น เราต้องตั้งให้ระบบของ Platform การลงทุนตัดเงินเราไปลงทุนในแต่ละกองทุนเป็นจำนวนเท่าไร
ซึ่งเราสามารถคำนวณเองได้ง่ายๆ ด้วยการนำ % Asset Allocation ที่เราจัดไว้ คูณด้วยจำนวนเงินลงทุนรายเดือน เช่น ถ้าลงทุนเดือนละ 5,000 บาท และมี % Asset Allocation ในทองคำ 10% ของพอร์ต ก็จะต้องตั้งแผน DCA ตัดเงินเข้าลงทุนในกองทุนรวมทองคำ เดือนละ 5,000 x 10% = 500 บาท นั่นเองค่ะ
เพื่อนๆ ก็สามารถทยอยตั้งรายการ DCA แบบนี้ให้ครบทุกสินทรัพย์ตาม Asset Allocation ก็จะทำให้ได้พอร์ตแบบ Asset Allocation ที่ทำงานร่วมกับ DCA ตามที่ตั้งใจแล้วค่ะ
จากนั้นเพื่อนๆ ก็จะได้ทยอยสะสมความมั่งคั่งในพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงเป็นอย่างดีเหมาะสมกับเป้าหมาย พร้อมกับได้วินัยและความได้เปรียบด้านต้นทุนในการลงทุนระยะยาวอันเป็นผลจาก DCA ไปด้วยในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวังที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับผู้ที่ใช้วิธีการลงทุนนี้ คือเมื่อระยะเวลาการลงทุนคงเหลือน้อยลงแล้ว จะต้องอย่าลืมปรับพอร์ต (หรือปรับ Asset Allocation) โดยลดสินทรัพย์เสี่ยงลงกันด้วยนะคะ
เพราะเมื่อเวลาเหลือสั้นลง หากเกิดผลขาดทุนอย่างหนักกับพอร์ตในช่วงนั้น เราก็จะไม่สามารถรอให้พอร์ตฟื้นคืนมูลค่ามาได้ เพราะมีเหตุที่ต้องใช้เงินก่อน กรณีนี้ประโยชน์จาก DCA ก็จะไม่ได้รับด้วย เพราะต้องไปหยุด DCA เอาตอนที่พอร์ตกำลังย่อลงหนัก
บทสรุป
บทความนี้น่าจะทำให้เพื่อนๆ เห็นภาพ การประยุกต์ใช้สองแนวทางการลงทุนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทำงานเสริมกันได้ไม่มากก็น้อยนะคะ
เพราะสิ่งสำคัญในการลงทุนระยะยาวให้ประสบความสำเร็จ คือ การรักษาวินัยการลงทุนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ค่อนข้างมาก และเป็นแก่นของวิธี DCA
ส่วนปัจจัยที่เราควบคุมได้น้อย เช่นเรื่องของภาวะตลาดนั้น ก็อาศัยกลไกของ Asset Allocation ในการช่วยจัดการความเสี่ยง เพื่อทำให้เราสามารถอดทนกับภาวะตลาด และถือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพได้นานเพียงพอที่สินทรัพย์นั้นจะออกดอกผลในระยะยาว
ซึ่งแม้การลงทุนแบบนี้ จะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุด แต่ก็สามารถมั่นใจ และสบายใจได้ระดับหนึ่ง ว่าจะไม่พาไปขาดทุนย่อยยับ
วิธีการเช่นนี้จึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนหลักที่ บลป. Avenger Planner เลือกใช้เพื่อให้คำแนะนำกับลูกค้าของบริษัทนั่นเอง
ซึ่งถ้าเพื่อนๆ ท่านไหนสนใจหรืออยากได้คำแนะนำเพิ่มเติม ในเรื่องการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะกับตัวเองโดยเฉพาะ การคัดเลือกกองทุน รวมถึงการลงทุนแบบ DCA ก็สามารถติดต่อใช้บริการกับทาง Avenger Planner ได้เลยนะคะ คลิกที่นี่ หรือที่ Banner ท้ายบทความได้เลยค่ะ
หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับคำแนะนำ ตรวจทาน และ ร่วมแก้ไข โดย คุณศักดา สรรพปัญญาวงศ์ CFP®