แบ่งเงิน/แยกบัญชี ทำไปทำไม และทำอย่างไร ?
24/07/20235 แนวทาง ช่วยจินตนาการถึงชีวิตวัยเกษียณได้อย่างเห็นภาพ
11/08/2023ช่วงนี้หลายๆ คนยังคงบ่นเรื่องพอร์ตกองทุนติดลบ และพาลไม่อยากจะลงทุน DCA ต่อเนื่อง แต่ๆๆๆ ใจเย็นกันก่อนนะคะ
เราลองมาวิเคราะห์หาสาเหตุด้วยกันดูก่อนค่ะ ว่าที่พอร์ตกองทุนติดลบนั้น ติดลบจากสาเหตุอะไร เพราะแต่ละสาเหตุจะมีวิธีในการจัดการที่แตกต่างกัน
โดยเราสามารถแบ่งรูปแบบ ของการติดลบออกได้เป็น 3 รูปแบบใหญ่ๆ ดังนี้ค่ะ
1. ติดลบจากความผันผวนตามธรรมชาติของพอร์ตหรือของสินทรัพย์นั้นๆ
สาเหตุ
สินทรัพย์ที่กองทุนรวมมีให้เลือกลงทุนนั้น มีตั้งแต่เสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ ไปจนถึงเสี่ยงสูง เช่น หุ้น
ซึ่งสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นจะมีความผันผวนบวก/ลบ ได้แตกต่างกันตามปัจจัยพื้นฐานที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง เช่น
- ตราสารหนี้ มีแนวโน้มผันผวนต่ำ จากความแน่นอนของดอกเบี้ยรับที่ได้จากลูกหนี้ ยิ่งตราสารหนี้ที่ลงทุนมีอายุสั้นๆ ก็ยิ่งผันผวนน้อยมาก เราจึงจะเห็นกองทุนประเภทนี้ติดลบได้ไม่บ่อย และถ้าลบก็มักจะลบไม่มาก
- หุ้น และสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ก็จะมีความผันผวนมากขึ้นไปตามลำดับ คือ ลบได้บ่อยกว่า และลบได้ลึกกว่า
ตัวอย่างด้านล่างนี้ เป็นผลตอบแทนรายปีของ หุ้นโลก
จะเห็นว่าจากข้อมูลตั้งแต่ปี 1988 – 2022 นั้น หุ้นโลกติดลบไปทั้งสิ้น 10 ปี จาก 35 ปี แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ก็สร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง 7.1% ต่อปี เช่นกัน
ดังนั้น การที่พอร์ตของเรามีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาก จึงเลี่ยงได้ยากที่พอร์ตจะไม่ติดลบตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าลงทุนต่อเนื่องได้เป็นระยะเวลาที่นานขึ้น ก็จะช่วยลดผลขาดทุนและสามารถมีผลตอบแทนเป็นบวกได้ด้วยเช่นกัน
แนวทางจัดการ
คือต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายและระยเวลาการลงทุนที่เรามีหรือไม่ เช่น
- ถ้าเป้าหมายคือการได้ผลตอบแทนสูง มีระยะเวลาลงทุนมาก (เช่น 5-10 ปีขึ้นไป) พอร์ตที่ลงทุนก็อาจมีหุ้นได้มาก ซึ่งต้องเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่า มีโอกาสจะเจอปีที่ขาดทุนค่อนข้างแน่นอน แต่ก็จะมีปีที่บวกด้วย แล้วอดทนลงทุนให้ต่อเนื่องผ่านความผันผวนนั้นไปให้ได้
- ถ้าเป้าหมายคือความมั่นคงปลอดภัย มีระยะเวลาลงทุนสั้น พอร์ตที่ลงทุนก็ต้องมีตราสารหนี้มากหน่อย ซึ่งก็จะไม่ต้องรับกับผลขาดทุนมากๆ หรือบ่อยๆ แต่ผลตอบแทนก็จะได้ไม่มากเช่นกัน
โดยอาจใช้ตารางนี้ เป็นแนวทางในการเลือกสินทรัพย์หรือพอร์ตการลงทุน ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และระยะเวลาลงทุนได้ค่ะ
เมื่อเลือกได้เหมาะสมแล้ว ก็ต้องปรับระยะเวลาการวัดผล ให้สอดคล้องตามไปด้วย เช่น หากเลือกสินทรัพย์/พอร์ตที่ตั้งใจลงทุนระยะยาว แต่กลับดูผลตอบแทนถี่ๆ บ่อยๆ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ย่อมมีโอกาสที่จะเห็นตัวเลขผลขาดทุนบ่อยครั้งตามไปด้วย ซึ่งก็จะบั่นทอนจิตใจในการลงทุนต่อเนื่องได้มาก
2. ติดลบเป็นบางส่วนของพอร์ตเพราะไม่มีสินทรัพย์ใดที่เป็นบวกได้ในทุกสถานการณ์
สาเหตุ
การลงทุนเป็นพอร์ตแบบ Asset Allocation นั้น ความเสี่ยงของแต่ละสินทรัพย์ในพอร์ตจะไม่เท่ากัน ซึ่งเกิดจากการกระจายการลงทุนไปในกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ในสัดส่วนที่พอเหมาะกับเป้าหมาย ความเสี่ยง และระยะเวลาการลงทุนของเรา
การวัดผลตอบแทนช่วงเวลาเดียวกัน จึงมีโอกาสสูงที่เราจะเห็นว่า พอร์ตบางส่วน/บางกองทุนมีการติดลบมาก แต่บางกองก็ติดลบน้อย หรือบางกองก็กลับมีผลกำไรด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาส่งผลกระทบต่อแต่ละสินทรัพย์แตกต่างกัน
ตัวอย่างด้านล่างนี้ เป็นผลตอบแทนรายปีตั้งแต่ปี 2013 – 2022 ของสินทรัพย์ต่างๆ และของ Model Portfolio ซึ่งจัดพอร์ตแบบ Strategic Asset Allocation (SAA) คาดหวังผลตอบแทน 8% ต่อปี โดย Avenger Planner
จากรูปจะเห็นได้ว่า
- ไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ตลอดทุกช่วงเวลา และในแทบทุกปีจะมีสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ (บริเวณที่แรเงาสีแดง)
- หากมองเป็นรายสินทรัพย์ บางสินทรัพย์ก็ผันผวนรุนแรงมาก เช่น ปี 2021 หุ้น Vietnam ให้ผลตอบแทนสูงถึง 32% แต่ปี 2022 ก็ติดลบมากถึง -31.60%
ดังนั้น ถ้าเราวัดผลตอบแทนในพอร์ตที่ลงทุนผสมหลายอย่าง จะต้องมีบางสินทรัพย์/บางกองทุน ที่ให้ผลตอบแทนติดลบให้ได้เห็นแน่นอน เพราะไม่มีสินทรัพย์ใดที่ดีตลอด
แนวทางจัดการ
เมื่อลงทุนเป็นพอร์ต เราจะต้องพยายามวัดผลตอบแทนเป็นภาพรวมของพอร์ต แทนที่จะดูเป็นรายกอง
ซึ่งจากรูปข้างต้น บริเวณกล่องสีน้ำเงินที่เขียนว่า SAA Port 8% นั้น คือตัวอย่างการรวมผลตอบแทนของหลายๆ สินทรัพย์ ที่ Avenger Planner นำมาประกอบกันเป็น Model Portfolio เพื่อใช้ให้คำแนะนำกับลูกค้า
จะเห็นว่าเมื่อวัดผลตอบแทนภาพรวม SAA Port 8% นั้น ผลตอบแทนในแต่ละปี จะไม่ผันผวนขึ้นแรง/ลงแรง เหมือนกับผลตอบแทนรายสินทรัพย์
โดยผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี และความผันผวน (SD) เมื่อลงทุนตั้งแต่ 2013 – 2022 ซึ่งแสดงอยู่ใน 2 คอลัมน์ขวามือสุดนั้น ก็จะมีลักษณะที่ค่อนข้างสมดุล คือได้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดี ขณะที่ความเสี่ยงก็ไม่สูงมาก อันเป็นผลจากการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม และลงทุนต่อเนื่องระยะยาว
ซึ่งท่านผู้อ่านสนใจ สามารถอ่านเรื่องนี้เพิ่มได้จากบทความ : DCA และ Asset Allocation ใช้ร่วมกันอย่างไร ให้เงินเติบโตในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การวัดผลเป็นพอร์ตนี้มักมีความซับซ้อนในการคำนวณให้ถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีที่มีการเพิ่มเงินลงทุนอยู่เป็นระยะ หากได้มีโอกาสมาใช้บริการกับ Avenger Planner นั้น นักวางแผนการเงินของเราก็จะช่วยคำนวณผลตอบแทนภาพรวมในแต่ละปีให้อย่างถูกต้องได้มากขึ้นค่ะ
3. ติดลบจากฝีมือการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน
สาเหตุ
บ่อยครั้งที่ผลขาดทุน อาจเกิดจากการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุนที่ไม่เป็นไปตามคาด ส่งผลให้กองทุนที่เลือกลงทุนไว้ในพอร์ตมีผลขาดทุนมากกว่าปกติ ซึ่งการจะรู้ได้ ก็จำเป็นต้องเทียบกับดัชนีที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) หรือเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน (Peers)
ซึ่งอาจปรากฏผลได้หลายรูปแบบ เช่น
- Benchmark หรือ Peers ก็ขาดทุน จากความผันผวนของสินทรัพย์ในช่วงนั้น แต่กองทุนที่เราเลือกลงทุน กลับมีผลขาดทุนที่มากกว่า
- Benchmark หรือ Peers ยังสามารถทำกำไรในช่วงนั้น แต่กองทุนที่เราเลือกลงทุน กลับได้กำไรน้อย หรือขาดทุน
ซึ่งพอนำมาคำนวณผลตอบแทนภาพรวมทั้งพอร์ต ก็อาจทำให้พอร์ตติดลบได้เช่นกัน
แนวทางจัดการ
กรณีเช่นนี้ เราควรพิจารณาว่าจะเปลี่ยนกองทุนที่ลงทุน เป็นกองทุนอื่นที่ยังตอบโจทย์วัตถุประสงค์การลงทุนเดิมหรือไม่
ซึ่งก็ต้องประเมินว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายได้หรือไม่ว่าเกิดจากอะไร เป็นเหตุการณ์ชั่วคราวหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ควรต้องตัดใจเปลี่ยนกองใหม่
บทสรุป
นอกจาก 3 สาเหตุข้างต้น ก็ยังมีสาเหตุปลีกย่อยอื่นๆ เช่น
- สินทรัพย์ที่เลือกมากระจายความเสี่ยง มีความใกล้เคียงกันมากจนเกิดการกระจุกความเสี่ยง
- สัดส่วนการลงทุนจริงในพอร์ต เพี้ยนไปจากสัดส่วนในแผน (เช่นมีหุ้นมากเกินไป) ทำให้พอร์ตติดลบมากกว่าที่ควรจะเป็น
ซึ่งจะเห็นว่าสาเหตุของการติดลบของพอร์ตกองทุนรวมนั้น มีมากมายนะคะ แต่ละวิธีก็มีวิธีจัดการที่แตกต่างกันออกไป
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว หวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่รีบขายกองทุนรวม หรือหยุด DCA กลางคันไปเสียก่อน
แต่ควรมาวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อประเมินและตัดสินใจให้เหมาะสมต่อไปนะคะ หรือใครที่มีนักวางแผนการเงินดูแล ก็สามารถพูดคุยกับนักวางแผนการเงินของท่าน เพื่อหาแนวทางตัดสินใจร่วมกันได้ค่ะ
แต่สำหรับท่านที่ยังไม่มีนักวางแผนการเงินให้บริการ ก็อยากเชิญชวนให้มาใช้บริการได้ฟรี กับ Avenger Planner ได้เลยนะคะ ศึกษารายละเอียดและสมัครได้ที่ Link นี้เลยค่ะ
สุดท้ายนี้ อยากฝากท่านผู้อ่านว่า แผนการลงทุนที่ดีอาจไม่ใช่แผนที่ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดเสมอไป แต่เป็นแผนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และข้อจำกัดของแต่ละคน ทั้งการยอมรับความเสี่ยง ระยะเวลาในการลงทุน และเป็นแผนที่ให้ความสำคัญกับการจัดสัดส่วนพอร์ตที่เหมาะสม กระจายการลงทุนไม่ให้กระจุกตัว และมีวินัยลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
แล้วอย่าลืมตรวจสอบทบทวนพอร์ต อย่างน้อยปีละครั้งกันด้วยนะคะ
หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับคำแนะนำ ตรวจทาน และ ร่วมแก้ไข โดย คุณศักดา สรรพปัญญาวงศ์ CFP®