ใช้กองทุนรวมเก็บเงินอย่างไร ให้ได้ผลตอบแทนดี และห่างไกลจากมิจฉาชีพ
05/11/2024วางแผนซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรก ควรเลือกอย่างไร : ความเห็นจากนักวางแผนการเงินท่านหนึ่ง
16/11/2024เผยแพร่เมื่อ : 13 พฤศจิกายน 2567
บ่อยครั้งที่เราต้องการคำแนะนำทางการเงิน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อผลิตภัณฑ์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะขอคำปรึกษานี้จากที่ใด เพราะส่วนใหญ่ผู้ให้บริการในตลาดมักจะเสนอคำแนะนำควบคู่กับการขายผลิตภัณฑ์ เช่น ประกันภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยง กองทุนรวมเพื่อการเกษียณและลดหย่อนภาษี
อย่างไรก็ตาม การวางแผนการเงินแบบองค์รวมมีขอบเขตกว้างกว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และในบางครั้งการวางแผนการเงินไม่จำเป็นต้องอาศัยการซื้อผลิตภัณฑ์เลย เรามาดูกันว่ามีคำแนะนำสำคัญใดบ้างที่ได้จากการวางแผนการเงินแบบองค์รวมโดยไม่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์
1. การตั้งเป้าหมายทางการเงินและชีวิต
บางคนอาจมีเป้าหมายทางการเงินและชีวิตที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เคยตั้งเป้าหมายทางการเงิน หรือบางคนอาจมีเป้าหมายมากเกินไปจนทำให้ไม่สามารถทำสำเร็จได้ นักวางแผนการเงินจะช่วยให้คำแนะนำในการ
-
- จัดลำดับความสำคัญ
- คำนวณจำนวนเงินและระยะเวลาที่เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมาย
- รวมถึงเสนอเป้าหมายต่างๆ ที่สำคัญแต่อาจถูกมองข้าม
2. คำแนะนำเกี่ยวกับกระแสเงินสด
เมื่อมีเป้าหมายแล้ว เราควรจัดสรรเงินที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การวางแผนการเงินแบบองค์รวมจะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์กระแสเงินสดในแต่ละเดือน เช่น การสำรวจว่ามีรายรับมากกว่ารายจ่าย และมีเงินเหลือหรือไม่
หากมีกระแสเงินสดติดลบเนื่องจากหนี้สิน ก็จะแนะนำให้จัดระเบียบหนี้สินก่อน โดยอาจมีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยเพิ่มกระแสเงินสดในแต่ละเดือน เช่น การกรอกแบบ ลย. 01 เพื่อลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพิ่มกระแสเงินสดสุทธิในแต่ละเดือน เพื่อให้สามารถนำไปทำประโยชน์อื่นๆ ก่อนได้ โดยไม่ต้องรอขอคืนภาษีภายหลัง
3. การเปรียบเทียบทางเลือกในการตัดสินใจทางการเงินต่างๆ เช่น
-
- การเปรียบเทียบระหว่างการ ซื้อบ้านหรือเช่าบ้าน / ซื้อรถเงินสดหรือเงินผ่อน / ดาวน์มากหรือดาวน้อย / ผ่อนสั้นหรือผ่อนยาว เป็นต้น เนื่องจากในการวางแผนการเงินแบบองค์รวม จะคำนึงถึงกระแสเงินสดที่รับและจ่ายในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายและเป้าหมายต่างๆ
- การเปรียบเทียบเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จากธนาคารต่าง ๆ ว่าแบบใดเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละบุคคลมากที่สุด รวมถึงเรื่องการ Refinance และ Retention ด้วย
- การจัดสรรเงินไปยังผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าควรลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนรวมในสัดส่วนเท่าใด โดยพิจารณาจากนโยบายเงินสะสมและเงินสมทบ แผนการลงทุนที่บริษัทมีให้เลือก และฐานภาษีของแต่ละบุคคล
- การให้คำแนะนำในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อต้องเปลี่ยนงาน ระหว่าง ย้ายจากบริษัทเดิมไปบริษัทใหม่ เปลี่ยนไปกองทุนรวมเพื่อการสำรองเลี้ยงชีพ (RMF for PVD) คงเงินไว้ที่กองทุนเดิม หรือนำเงินออกทันที เป็นต้น
4. คำแนะนำด้านการจัดการภาษี และเอกสารทางการเงินต่างๆ
ซึ่งหลายๆ กรณีเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ทำให้ประเมินหรือดำเนินการเองได้ลำบาก เช่น
-
- การเสียภาษีกรณีการถูกเลิกจ้างหรือให้ออกจากงาน
- การยื่นภาษีกลางปี (ภ.ง.ด. 94) สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) – (8)
- การขอคืนภาษีกรณีที่มีการขายบ้านเก่า เพื่อซื้อบ้านใหม่ภายในระยะเวลา 1 ปี
- การจัดทำงบการเงิน บัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน
- การเตรียมเอกสารและหลักฐานทางการเงิน เพื่อประกอบการขอสินเชื่อ เป็นต้น
5. การประมวลคำแนะนำให้ออกมาเป็นรูปธรรม
การวางแผนการเงินแบบองค์รวมจะมีการ จัดทำแผนเป็นรูปเล่ม ซึ่งมีรายละเอียดสรุปแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ระบุเป้าหมาย สิ่งที่ต้องทำ และกรอบเวลาในการดำเนินการ เพื่อให้สามารถติดตามผลได้ง่าย
และหากมีปัญหาหรือข้อสงสัย ก็สามารถปรึกษานักวางแผนการเงินที่ออกแบบแผนให้เราได้ตลอด โดยที่มั่นใจได้ว่านักวางแผนการเงินคนนั้น ๆ จะมีความเข้าใจในบริบทของเรา
ในทางกลับกัน กรณีที่มี Action ใดๆ ที่สำคัญ แต่ผู้รับคำปรึกษาอาจจะยังไม่ดำเนินการภายในเวลาที่เหมาะสม นักวางแผนการเงินก็จะเป็นผู้ช่วยแจ้งเตือน และอำนวยความสะดวกให้ Action นั้นๆ เกิดขึ้นสำเร็จด้วย
บทสรุป
จะเห็นว่าคำแนะนำเหล่านี้ ล้วนเป็นคำแนะนำที่ยังไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินใด ๆ แต่เป็นข้อมูลที่หลายคนอาจมองหาอยู่ หรือบางคนอาจไม่เคยคิดว่าการวิเคราะห์ เปรียบเทียบในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินแบบองค์รวมด้วย
ซึ่งก็หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้เห็นคุณค่าและประโยชน์จากบริการวางแผนการเงินแบบองค์รวมในอีกแง่มุมหนึ่ง
โดยหากสนใจใช้บริการในลักษณะนี้ ก็สามารถคลิกที่ Link นี้ เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและรับคำปรึกษาฟรีได้เลยค่ะ