แผนการเงินของแพทย์ แตกต่างจากอาชีพอื่นอย่างไร ?
27/08/2024ลงทุนแบบ DCA แบบไหน ให้ผิดพลาด (รู้ไว้ก่อน จะได้ระมัดระวัง)
09/09/2024เผยแพร่เมื่อ : 3 กันยายน 2567
หนึ่งในสาเหตุที่หลายๆ คนเก็บเงินได้น้อย หรือถึงขั้นเก็บไม่ได้ อาจเกิดจากการจัดการ "รายจ่ายคงที่" ได้ไม่ดี
ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาเจาะลึกกันว่า รายจ่ายประเภทนี้ก่อปัญหาได้อย่างไร เพื่อจะได้ป้องกันและจัดการให้ดีกันต่อไปนะครับ
รายจ่าย 3 ประเภท
ในวิชาการวางแผนการเงินส่วนบุคคลนั้น แบ่งรายจ่ายออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- รายจ่ายคงที่ เป็นรายจ่ายที่แน่นอน ที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าส่วนกลาง ค่างวดรถ ค่าผ่อนชำระหนี้สินต่างๆ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเบี้ยประกัน ค่าสมาชิกต่างๆ รวมไปถึงภาษีด้วยเช่นกัน ทั้งนี้รายจ่ายคงที่ไม่จำเป็นต้องมีปริมาณคงที่เสมอไป แต่ถ้าเป็นภาระผูกพันที่ต้องจ่ายซ้ำอยู่เรื่อย โดยเลี่ยงการจ่ายได้ยาก ก็นับเป็นรายจ่ายคงที่เช่นกัน
- รายจ่ายผันแปร เป็นรายจ่ายที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่ารายจ่ายคงที่ ไม่ว่าจะเป็นการลด เลิก หรือ เปลี่ยน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า เครื่องสำอาง ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว เป็นต้น
- รายจ่ายเพื่อการออม เป็นรายจ่ายที่ตั้งใจเก็บออมหรือลงทุนเพื่อเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต เช่น เพื่อเป้าหมายเงินสำรอง เป้าหมายการเกษียณอายุ และการศึกษาบุตรเป็นต้น
ทำไมไม่ลดรายจ่ายผันแปร ?
เมื่อมีเหตุต้องลดหรือควบคุมรายจ่าย เรามักจะได้ยินคำแนะนำว่าให้ปรับปรุงรายจ่ายผันแปร เพราะเป็นรายจ่ายที่ปรับเปลี่ยนได้ง่าย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด
แต่การจัดการกับรายจ่ายผันแปรนั้น มักมีข้อจำกัดเช่น
- ปรับลดได้ไม่มาก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้ใช้จ่ายเยอะอยู่แล้ว บางครั้งการปรับลดค่าอาหาร ลดค่าเดินทาง หรือกระทั่งลดการใช้เครื่องปรับอากาศ อาจช่วยให้ประหยัดได้เพียงหลักร้อยหรือหลักพันบาทต้นๆ เท่านั้น
- ปรับลดได้ไม่ถาวร คือถ้าพลาดหรือวินัยย่อหย่อน ก็อาจเกิดภาวะ เขื่อนแตก คือกลับมาใช้จ่ายเยอะเหมือนเดิม หรือมากยิ่งกว่าเดิม เช่น บางท่านตั้งใจคุมค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารจนทนไม่ไหว ก็กลับมากินแพงเพื่อระบายเสียเลย เป็นต้น
- ยิ่งนานยิ่งเครียดและอึดอัด เพราะเป็นการปรับลดค่าใช้จ่ายที่ต้องต่อสู้กับกิเลสหรือความต้องการของตัวเอง และยากไปกว่านั้นคือของคนที่ตนรัก เช่น พ่อ แม่ หรือลูก ซึ่งตัวเราอาจอดทนได้ แต่อาจทนไม่ไหว เมื่อเห็นคนที่รักต้องลำบาก
ปัญหาใหญ่มักเกิดจากรายจ่ายคงที่
จากประสบการณ์การวางแผนการเงินของผม และเพื่อนๆ นักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner นั้น เรากลับพบว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากรายจ่ายผันแปรเท่าใดนัก แต่กลับเกิดจากรายจ่ายคงที่ 2 ลักษณะต่อไปนี้
1) มีรายจ่ายคงที่ เร็วเกินไป
หลายคนรีบสร้างภาระหนี้สินตั้งแต่ยังมีรายได้ไม่มาก เช่น ซื้อรถ หรือ ซื้อบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้กลายเป็นว่าต้องแบกภาระหนี้สินไปนานหลายปี
- หนี้สินบางอย่างเมื่อผ่อนชำระหมด แทนที่จะกลับมาเก็บออมได้ ก็อาจต้องก่อหนี้ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมวนไป เช่น เมื่อผ่อนรถคันเก่าหมด ก็อาจต้องซื้อรถคันใหม่ ซึ่งก็มักจะเป็นรุ่นที่ใหญ่และแพงกว่าเดิม ทำให้เก็บออมไม่ได้เสียที แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นก็ตาม
- หนี้สินบางอย่าง แม้จะก่อขึ้นครั้งเดียว แต่ก็เป็นภาระผูกพันยาวนานแทบจะตลอดชีวิต เช่น หนี้บ้านที่ผ่อนกันอย่างน้อยๆ 20-30 ปี และยังมักมาด้วยข้อเสนอค่างวดต่ำช่วงแรก แต่สูงขึ้นในช่วงหลังด้วย ทำให้โอกาสที่จะเก็บออมได้นั้นลดลง
2) มีรายจ่ายคงที่ มากเกินไป
หลายคนมีภาระหนี้สินหลายรายการเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น นอกจากผ่อนรถและบ้านแล้ว ก็ยังมีการผ่อนสินค้าหลายๆ ชิ้น พร้อมกัน โดยเฉพาะการผ่อนแบบดอกเบี้ย 0% โดยคิดว่า "ซื้อเพิ่มอีกชิ้น ผ่อนเพิ่มอีกเพียงไม่กี่พันบาท" คงจะจ่ายไหว
แต่เมื่อรวมยอดหนี้ทั้งหมดแล้ว ก็อาจกลายเป็นภาระที่หนักเกินไป และเมื่อเกิดการผิดพลาดขึ้นมา ก็ยังต้องเจอภาระจากค่าปรับและค่าทวงถามต่างๆ ที่เดิมไม่ต้องจ่าย มาซ้ำเติมอีก
พอเงินไม่พอ ก็นำไปสู่การกู้หนี้ใหม่ เพื่อมาปิดหนี้เก่า แถมยังต้องมีค่างวดหนี้ใหม่มาเพิ่มด้วย กลายเป็นวงจรการก่อหนี้สินไม่รู้จบ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการตัดสินใจผ่อน 0% เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่พันบาทต่อเดือนเท่านั้น
การจัดการรายจ่ายคงที่จึงมีความสำคัญ
ท่านผู้อ่านน่าจะพอทราบแล้ว ว่ารายจ่ายคงที่นั้นสร้างปัญหาได้มาก เพราะเป็นภาระผูกพัน ปรับเปลี่ยนได้ลำบาก
ซึ่งถึงแม้ว่ารายจ่ายคงที่ส่วนใหญ่จะปรับลดได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย
หากท่านกำลังรู้สึกว่า รายจ่ายคงที่ของตนเองอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ผมรวบรวมวิธีช่วยลดค่าใช้จ่ายคงที่มาให้ดังนี้ครับ
1) ปรับลดค่าใช้จ่ายในเชิงโครงสร้าง
คือการเปลี่ยนให้ค่าใช้จ่ายคงที่นั้นลดลงไปในระยะยาวเลย โดยพยายามไม่ให้กระทบกับคุณภาพชีวิต ซึ่งทำได้หลากหลาย เช่น
- ปรับลดค่างวดบ้าน ด้วยการปรับเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงิน (รู้จักกันในชื่อ Refinance และ/หรือ Retention) โดยมุ่งเน้นไปที่การลดค่างวดต่อเดือนลง ซึ่งเมื่อลดได้แล้ว ก็จะลดลงต่อเนื่องไปได้ระยะหนึ่งของเงื่อนไขในสัญญา เช่น 3 ปี เป็นต้น
- ย้ายที่อยู่ เช่น บางท่านเช่าที่พักอยู่ไกลที่ทำงาน ทำให้ต้องเสียค่าเดินทางมากอย่างต่อเนื่อง การย้ายที่พักเข้ามาใกล้อีกสักหน่อย และทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ และทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกลง ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี ในกรณีนี้ ไม่เพียงประหยัดเงิน แต่ยังช่วยประหยัดเวลาได้ด้วย
- เปลี่ยนประเภทรถ เช่น บางท่านอยู่ในช่วงที่ต้องเปลี่ยนรถพอดี การเปลี่ยนประเภทรถจากรถน้ำมัน (ICE) เป็นรถไฟฟ้า (EV) ก็อาจช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางลงได้ในระยะยาว เพราะโดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งกิโลเมตร ของรถ EV นั้นจะถูกกว่ารถน้ำมันถึงกว่า 75% (ทั้งนี้ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ว่าประหยัดได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่ใช้รถน้อย)
- เปลี่ยนประเภทมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นแบบ TOU กรณีที่ใช้ไฟในช่วงกลางคืนเยอะ เป็นต้น หรือในทางกลับกัน หากใช้ไฟเวลากลางวันเยอะ อาจพิจารณาติดตั้งระบบ Solar Roof ซึ่งจะลดค่าไฟได้อย่างมากในระยะยาว
2) ปรับลดขนาด/ปริมาณการใช้จ่าย
ซึ่งกรณีนี้อาจมีผลต่อคุณภาพชีวิตบ้าง แต่ก็ขอให้พิจารณาว่าอยู่ในขอบเขตที่แต่ละท่านสามารถรับได้ เช่น
- เลือกบ้านที่มีขนาดเล็กลง ซึ่งอาจหมายถึงการตัดสินใจขายบ้านเก่า เพื่อซื้อบ้านใหม่
- เลือกเช่าบ้านอยู่แทนการซื้อบ้าน
- การปรับลดแพ็คเก็จค่าบริการประจำต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ และค่า Subscription ต่างๆ
- การหารค่าใช้จ่ายบางอย่างกับผู้อื่น ซึ่งอาจทำได้มากถึงขั้นการหารค่าเช่าที่อยู่อาศัยกับเพื่อน และเล็กน้อยอย่างการหารค่าบริการรายเดือนต่างๆ เช่นค่า Subscription หรือค่า Software ต่างๆ เป็นต้น
3) กรณีจำเป็นอาจต้องขายสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายจ่ายคงที่สูง ๆ ออกไป
เพื่อให้การเงินในภาพรวมยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เช่น การเปลี่ยนมาเดินทางด้วยรถสาธารณะแทนการมีรถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น
บทสรุป
รายจ่ายคงที่ที่สูงเกินไป เปรียบเสมือนการแบกกระเป๋าใบใหญ่ขึ้นหลัง ยิ่งเราแบกนานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งล้าและเคลื่อนไหวได้ยากลำบากขึ้น จนอาจจะไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำในอนาคต
ดังนั้นก่อนตัดสินใจสร้างรายจ่ายประจำใดๆ แนะนำให้ตรวจสอบตัวเอง ด้วยการทำ ประมาณการรายรับรายจ่าย (Budgeting) เพื่อให้เข้าใจถึงสถานะทางการเงินของตนเองเสียก่อน ว่าเรามีรายรับ รายจ่าย และมีเงินเหลือเท่าไรในแต่ละเดือน จากนั้นทำการทดลองเพิ่มรายจ่ายคงที่ต่างๆ เข้าไปในงบประมาณ เพื่อดูว่าพอจะรับมือได้ไหวหรือไม่
แต่หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำงบประมาณกระแสเงินสดด้วยตนเองได้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ การเลือกใช้บริการนักวางแผนการเงินก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้
ซึ่งนักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner ทุกคน พร้อมจะช่วยให้คำแนะนำ และจัดสรรงบประมาณต่างๆ ร่วมกับท่านผู้อ่านให้เหมาะสม ซึ่งยังครอบคลุมถึงการพาวางแผนสำหรับการเกษียณอายุ และเรื่องการเงินอื่นๆ อย่างรอบด้านด้วยครับ
ท่านใดสนใจคลิกที่รูปด้านล่างเพื่อศึกษารายละเอียดได้เลยครับ