เทคนิคออมเงินแบบอัตโนมัติ… สำหรับมนุษย์เงินเดือน
26/07/2024ลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี ? ระหว่างประกัน vs กองทุนรวม
21/08/2024เผยแพร่เมื่อ : 14 สิงหาคม 2567
เชื่อว่า “บ้าน” เป็นเป้าหมายชีวิตของหลายๆ คน บางคนอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง บางคนอยากมีบ้านให้พ่อแม่ บางคนอยากมีบ้านสำหรับครอบครัวและลูกๆ
แต่บ้านเป็นสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ต้องซื้อด้วยเงินผ่อน จึงต้องวางแผนให้ดีเพื่อเวลาผ่อนบ้านแล้วชีวิตจะไม่สะดุด
บทความนี้จะขอยกตัวอย่างวิธีการเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้าน และ เตรียมตัวผ่อนบ้าน สำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่อยากซื้อบ้านจัดสรรเป็นหลัก ซึ่งสามารถนำแนวทางไปประยุกต์ใช้กับการซื้อคอนโด และการกู้เงินสร้างบ้านเองได้ด้วยครับ
เริ่มด้วยการตั้งเป้าหมาย
คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากการไปดูบ้านก่อน แล้วค่อยกลับมานั่งคิดว่าบ้านที่อยากได้นั้น เราซื้อไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็ค่อยไปดูอีกรอบ
แต่ในบทความนี้จะขอแนะนำให้เริ่มจากการกำหนดราคาบ้านที่เราซื้อ (ผ่อน) ไหวก่อน ค่อยไปหา (ว่าที่) บ้านของเราครับ
1. เริ่มจากตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณ
คือ เราสามารถซื้อ (ผ่อน) บ้านได้ในราคาไม่เกินเท่าไร ซึ่งต้องอาศัยการคำนวณ จากนั้นค่อยมาคำนวณเงินดาวน์
การคำนวณว่าบ้านราคาเท่าไรต้องผ่อนเดือนละเท่าไร แนะนำให้ใช้ Application เครื่องคิดเลขทางการเงิน “EZ Financial Calculators (สำหรับ iOS)" หรือ "Financial Calculators (สำหรับ Android)” โดยเข้าไปที่เมนู Loan Calculator (Icon รูปบ้าน) และใส่ข้อมูลดังนี้
- Loan Amount คือ วงเงินที่เราจะกู้ ซึ่งอาจจะกู้เท่าราคาบ้าน หรือ กู้ 110% ของราคาบ้านเพื่อเป็นงบซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือ กู้น้อยกว่าราคาบ้าน (ราคาบ้าน หัก เงินดาวน์ซึ่งโดยทั่วไปมักจะดาวน์ 10-20% ของราคาบ้าน) ถ้ายังไม่แน่ใจรายละเอียด แนะนำให้ใส่ราคาบ้านไปก่อน
- Interest Rate คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งขึ้นกับแต่ละธนาคาร โดยทั่วไปทุกธนาคารจะมีโปรโมชั่นที่ลดอัตราดอกเบี้ยใน 3 ปีแรก แต่แนะนำให้ใส่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ 7% ไว้ก่อน จะได้ตัวเลขที่ระมัดระวังกว่าสำหรับการใช้วางแผน
- Loan Term คือ ระยะเวลาการผ่อนชำระ ซึ่งแต่ละธนาคารจะกำหนดเพดานไว้ว่าให้ผ่อนไม่เกินกี่ปี (โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 30-40 ปี) และ ไม่เกินอายุเท่าไร (เช่น 65 ปี หรือ 70 ปี) แนะนำให้ใส่จำนวนปีจนถึงปีที่เราเกษียณ เช่น ถ้าอายุ 35 ปี ตั้งใจจะเกษียณอายุ 60 ปี ก็ใส่ระยะเวลา 60 - 35 = 25 ปี เป็นต้น
เมื่อใส่ข้อมูลครบ กด Calculate แล้ว App จะคำนวณเงินผ่อนรายเดือน (Monthly Payment) ออกมาให้ ตัวอย่างเช่น กู้เงินซื้อบ้าน 5,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 7% ระยะเวลาการผ่อนชำระ 25 ปี จะต้องผ่อนเดือนละ 35,338 บาท (ดังภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 ตัวอย่างการคำนวณเงินผ่อนบ้านใน Application
ข้อสำคัญคือ เราจะต้องพอรู้ว่า แต่ละเดือนเรามีกระแสเงินสดเหลือสำหรับผ่อนบ้านได้เดือนละประมาณเท่าไร ซึ่งโดยทั่วไปแนะนำไม่ให้เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน (บางคนที่รายจ่ายเยอะอาจเหลือเงินผ่อนได้น้อยกว่านี้)
ซึ่งเมื่อทดลองใส่ราคาบ้านหลายๆ ราคา เราก็จะรู้ราคาบ้านสูงสุดที่เราพอจะผ่อนไหว
2. จากนั้นจึงตั้งเป้าหมายเชิงคุณภาพ
คือ อยากมีบ้านอยู่ละแวกไหน ขนาดบ้านประมาณไหน กี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ อยากมีสวนหรือสนามหรือไม่ บ้านสไตล์ไหน ฯลฯ
แล้วก็อาจเริ่ม Search หาดูบ้านใน Internet (ระบุทำเล + ราคาไม่เกินที่เราซื้อไหว ได้เลย) เลือกบ้านที่เข้าเกณฑ์ที่เราต้องการ จากนั้นก็หาเวลาไปดูสถานที่จริงเพื่อเป็นแรงบันดาลใจกันครับ
3. เริ่มคำนวณเงินที่ต้องเตรียม
ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วย
1.) ค่าใช้จ่ายก่อนโอน ได้แก่
- เงินดาวน์ ประมาณ 5-10% ของราคาขาย
- ค่าจองและทำสัญญา โดยทั่วไปมักไม่เกิน 50,000 บาท
2.) ค่าใช้จ่ายวันโอน ได้แก่
- ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน แต่มักจะแบ่งกันคนละ 1% กับคนขาย
- ค่าจดจำนอง 1% ของเงินกู้
- ค่าธรรมเนียมประเมินราคา โดยทั่วไปมักไม่เกิน 5,000 บาท
- ค่าประกันอัคคีภัยประมาณ 0.1% ของราคาขาย
- ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า และ ค่าประกันมิเตอร์ประปา รายการละไม่เกิน 5,000 บาท
3.) ค่าตกแต่งและเฟอนิเจอร์ แต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้ากะไม่ถูก แนะนำให้เตรียมไว้ 10-20% ของราคาบ้าน
ซึ่งจะเห็นว่ามีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย แต่ถ้าคำนวณคร่าวๆ คือ ให้เตรียมเงินไว้ประมาณ 20% ของราคาบ้านครับ
ดังนั้นถ้าเราวางแผนจะซื้อบ้านราคา 5,000,000 บาท ก็จะแนะนำให้เตรียมเงินไว้ 20% x 5,000,000 บาท = 1,000,000 บาท
เก็บเงินอย่างไรให้ได้เร็ว และได้ผล !!!
ถ้าเรารู้แล้วว่าจะซื้อบ้านราคา 5,000,000 บาท และเมื่อซื้อแล้วจะต้องผ่อนเดือนละประมาณ 35,000 บาท เราก็เริ่มออมเงิน อย่างน้อยเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือน
ซึ่งถ้าเก็บไปเรื่อยๆ จะต้องใช้เวลา 1,000,000 บาท / 35,000 บาท = 29 เดือน หรือ 2 ปีกว่า
แต่ถ้าเราอยากเก็บเงินให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น มีคำแนะนำดังนี้ครับ
1. ทำแผนการออมเงินให้ ออมก่อนใช้อัตโนมัติ
โดยการตั้งโอนเงิน หรือ ลงทุนต่อเนื่องทุกเดือน หลังวันที่เงินเดือนหรือโอทีออก (ลงทุนในอะไรดีจะบอกช่วงท้ายบทความครับ)
2. วางแผนล่วงหน้าว่าถ้าได้เงินโบนัสหรือเงินพิเศษต่างๆ จะตัดมาออมเงินในส่วนนี้เท่าไร
โดยอาจกำหนดเป็นสัดส่วน เช่น ถ้าได้โบนัสจะตัดมาออมเงินไว้ซื้อบ้าน 50% หรือกำหนดเป็นจำนวนเงิน เช่น ถ้าได้เงินพิเศษจะตัดมาออมเงินไว้ซื้อบ้าน 10,000 บาท เป็นต้น
3. ตั้งกฎให้ออมเงินทุกครั้งเมื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
เช่น ทุกครั้งที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จะออมเงินเท่าราคาที่ซื้อ หรือทุกครั้งที่กินข้าวนอกบ้าน จะออมเงินเท่าราคาที่ซื้อ เป็นต้น เทคนิคเหล่านี้ต้องทดลองหาวิธีที่เหมาะสมกับเราครับ
4. ออมเงินจากงานเสริม
หลายๆ คนที่มีรายได้เพิ่มจากงานอื่นๆ นอกเหนือจากงานประจำ เช่น ขายของต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ขับ Grab หรือ รับทำงานต่างๆ ตามทักษะหรือความถนัดที่มี ก็สามารถวางแผนออมเงินจากรายได้ในส่วนนี้ได้ โดยอาจกำหนดเป็นสัดส่วน หรือ เป็นจำนวนเงินต่อเดือนลักษณะเดียวกับการออมเงินจากเงินโบนัสได้
เช่น ถ้าเราเก็บเงินเพิ่มจาก เงินโบนัสเดือนละ 35,000 บาทเท่าที่เก็บจากเงินเดือนปกติ แล้วได้โบนัสปีละ 2 เดือน ก็จะเก็บเงินได้เพิ่มปีละ 70,000 บาท + ออมเงินจากค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้เดือนละ 2,000 บาท และ ออมเงินจากงานเสริมได้เดือนละ 3,000 บาท จะใช้เวลาเก็บเงินแค่ 22 เดือน แทนที่จะต้องใช้เวลาเก็บเงินถึง 29 เดือน
เก็บเงินที่ไหนดี ???
เนื่องจากแผนการเก็บเงินก้อนแรกเพื่อดาวน์บ้าน (และจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง) ของเรามักใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ปี และเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญ
ดังนั้น เงินออมของเราจึงไม่ควรไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงหรือความผันผวนสูง (ซึ่งผลตอบแทนก็จะไม่สูงด้วย) สินทรัพย์ที่แนะนำให้ลงทุน ได้แก่
- บัญชีออมทรัพย์ดิจิทัลดอกเบี้ยสูง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน (สิงหาคม 2567) อัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 1.5-2.2% ต่อปี โดยอย่าลืมดูเงื่อนไข โดยเฉพาะยอดเงินฝากที่ได้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติ เช่น ได้อัตราดอกเบี้ย 1.5% ในยอดเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น
- กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง ซึ่งคาดหวังอัตราผลตอบแทนประมาณ 2.0 - 3.0% ต่อปี (ผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งกลุ่ม 2.56% ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2567) ตัวอย่างกองทุนในกลุ่มนี้ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 ตัวอย่างการเติบโตของมูลค่าหน่วยลงทุนและผลตอบแทนในอดีตย้อนหลัง 1 ปี
ของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง ณ วันที่ 9 ส.ค.67
บทสรุป
- บ้านเป็นเป้าหมายสำคัญ และเป็นเป้าที่มีขนาดใหญ่สำหรับคนทั่วไป การวางแผนซื้อบ้านที่ดีจะช่วยให้ชีวิตไม่สะดุด
- การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและหนักแน่นมีความสำคัญ ว่าเราสามารถซื้อและผ่อนบ้านได้ในราคาเท่าไร และ ไปดูสถานที่จริงว่าบ้านแบบไหนที่เราอยากได้ และเมื่อเรารู้ราคาบ้านที่อยากได้ ก็จะสามารถคำนวณเงินก้อนแรกที่ต้องเตรียมไว้ได้
- การเก็บเงินก้อนแรกสำหรับซื้อบ้านไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ โดยเฉพาะถ้ามีการวางแผนที่ดี และจะยิ่งเก็บได้เร็วถ้าใช้เทคนิคต่างๆ ช่วย
ซึ่งจะเห็นได้ว่าแค่การวางแผนซื้อบ้านสักหลัง ก็มีรายละเอียดมากมาย ยังไม่นับเมื่อเรามีเป้าหมายในชีวิตอื่นๆ ที่จะต้องจัดสรรเงินออมให้อย่างเหมาะสม
ดังนั้น สำหรับท่านที่ต้องการตัวช่วยในการวางแผนซื้อบ้านและวางแผนการเงินแบบองค์รวม สามารถศึกษาบริการวางแผนการเงินของพวกเราได้ที่ https://www.avenger-planner.com/service/ ครับ