ขั้นตอนการยื่นภาษีกลางปี ที่ผู้มีรายได้มาตรา 40(5) – 40(8) ต้องรู้จักและเข้าใจ
03/06/2024เรื่องต้องรู้… ก่อนซื้อประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ
16/07/2024เผยแพร่เมื่อ : 4 มิถุนายน 2567
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) เป็นหนึ่งในสวัสดิการเพื่อการเกษียณอายุที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้าง โดยเมื่อเราจ่ายเงินสะสมเข้า PVD แล้ว นายจ้างก็จะจ่ายเงินสมทบเข้า PVD ให้เราอีกส่วนหนึ่ง ฟรีเลย! จากนั้นเงินทั้งสองส่วนก็จะถูกนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับเราโดยอัตโนมัติ
ซึ่งก่อนจะเข้าเรื่องของผลประโยชน์และเรื่องภาษี ที่เกิดจากการนำเงินออกจาก PVD นั้น อยากชวนให้อ่านบทความดี ๆ เกี่ยวกับการใช้ PVD ในการวางแผนเกษียณอายุได้อย่างเต็มที่ จาก 2 บทความนี้กันก่อน
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เข้าใจเพิ่มนิด ปรับเพิ่มหน่อย อาจได้ประโยชน์อีกเยอะ
- วิธีประเมินมูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันเกษียณ
ถ้าได้อ่านแล้ว จะเห็นเลยว่า PVD นั้นมีประโยชน์มากจริง ๆ พูดได้เลยว่า เป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญสุด ๆ ของมนุษย์เงินเดือน
แต่ถ้าวันหนึ่ง เราเกิดมีความจำเป็นต้องออกจาก PVD ขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะ
- ลาออกจากงาน
- ย้ายบริษัท
- เกษียณอายุ
- เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
เราจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง? เรามีทางเลือกอะไรบ้าง? แล้วเราต้องเสียภาษีหรือไม่ คำนวณอย่างไร? บทความนี้จะพาทุกท่านไปเข้าใจเรื่องเหล่านี้กันค่ะ
สิทธิประโยชน์เมื่อออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เมื่อเราออกจาก PVD แล้วนั้น เราจะได้รับเงินก้อน จำนวนหนึ่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
- เงินสะสมของเราเอง
- เงินสมทบของนายจ้าง
- ผลประโยชน์ของเงินสะสม
- ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
โดยผลประโยชน์ของเงินสะสม (3) และผลประโยชน์ของเงินสมทบ (4) เกิดจากเงินสะสมและเงินสมทบที่ถูกนำไปลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งผลตอบแทนจะมากหรือน้อย ก็จะขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนที่เราเลือกและฝีมือของบริษัทจัดการนั้น ๆ
แล้วต้องเสียภาษีอย่างไร ?
เงินส่วนที่ (1) ที่เป็นเงินสะสมของเรา จะได้รับการยกเว้นภาษีในทุกกรณี
แต่เงินส่วนที่ (2)+(3)+(4) นั้น จะมีภาระภาษีมาเกี่ยวข้อง ซึ่งการสิ้นสมาชิกภาพในแต่ละกรณี จะมีเงื่อนไขในการเสียภาษีแตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณี 1 : ลาออกจาก PVD แต่ไม่ได้ลาออกจากงาน หรือลาออกจากงาน โดยเป็นสมาชิก PVD < 5 ปี
เราต้องนำเงินส่วนที่ (2)+(3)+(4) ไปรวมกับรายได้อื่น ๆ ในปีนั้น เพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามปกติ
ซึ่งกรณีนี้นั้นมักจะเกิดภาระภาษีมากที่สุด เนื่องจากไม่มีมาตราการต่าง ๆ มาช่วยลดภาระภาษี
กรณี 2 : ลาออกจากงาน โดยมีอายุงาน ≥ 5 ปี และ เป็นสมาชิก PVD ≥ 5 ปี
เราสามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินส่วนที่ (2)+(3)+(4) ไปรวมกับรายได้อื่น ๆ ในปีนั้น เพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามปกติ
หรือจะนำเงินส่วนที่ (2)+(3)+(4) ไปแยกยื่นภาษีต่างหาก โดยใช้ใบแนบ ภ.ง.ด. 90/91 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 (5) ซึ่งจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ส่วน โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายส่วนแรก คำนวณจาก 7,000 บาท x จำนวนปีที่ทำงาน ได้เท่าไร ให้นำไปหักจากเงินที่ได้รับจากกองทุนในส่วนที่ (2)+(3)+(4)
- ค่าใช้จ่ายส่วนที่สอง ให้นำเงินส่วนที่เหลือหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายส่วนแรกไปแล้ว นำมาหักค่าใช้จ่ายได้อีก 50%
โดยหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนแล้ว เหลือเงินได้เท่าไร ค่อยนำเงินนั้น ไปคำนวณภาษีเงินได้แบบแยกยื่นภาษีต่อไป
อย่างไรก็ตาม การแยกยื่นภาษีนั้น เราจะไม่ได้รับการยกเว้นอัตราภาษีเงินได้สุทธิของขั้นรายได้ 150,000 บาทแรก (150,000 บาท) เหมือนกับกรณีที่ยื่นภาษีตามปกติ โดยต้องเสียภาษีในขั้นแรกนี้ในอัตราร้อยละ 5
แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่หักได้มากขึ้นกว่าการยื่นปกติมาก วิธีการแยกยื่นนี้ จึงมักช่วยประหยัดภาษีได้มากกว่า
กรณี 3 : ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือเกษียณ โดยมีอายุ ≥ 55 ปี และเป็นสมาชิก PVD ≥ 5 ปี
ในกรณีนี้ จะได้รับสิทธิ ยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ของเงินก้อนที่ (2)+(3)+(4) เลยค่ะ
ตัวอย่างการคำนวณภาษี
สมมติให้เงินที่นำออกจาก PVD มีรายละเอียดดังนี้
- เงินสะสม 500,000 บาท
- เงินสมทบ 500,000 บาท
- ผลประโยชน์ของเงินสะสม 50,000 บาท
- ผลประโยชน์ของเงินสมทบ 50,000 บาท
จะสามารถคำนวณตามกรณีต่าง ๆ ได้ดังนี้
จากตารางจะพบว่า
- สำหรับกรณีที่ 1 ภาษีที่ต้องเสีย จะขึ้นอยู่กับว่า รายได้อื่นๆ ในปีนั้นมากเพียงใด หากมีรายได้มาก เมื่อนำรายได้นั้น รวมกับเงินส่วนที่ (2)+(3)+(4) ยอด 600,000 บาท อาจทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าในขั้นภาษีที่สูงมากก็เป็นได้
- สำหรับกรณีที่ 2 เมื่อแยกยื่นและหักค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนแล้ว จะคงเหลือเงินได้จาก PVD เพียง 265,000 บาท ซึ่งเมื่อนำไปเปิดตารางภาษีอัตราก้าวหน้าแล้ว จะพบว่าอยู่ในขั้นภาษีไม่เกิน 5% สำหรับเงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท จึงทำให้เสียภาษีค่อนข้างน้อย
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณี 1 หรือ 2 เราก็ยังต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ เพียงแต่จะเสียมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับอายุงาน อายุสมาชิก PVD และเงินได้อื่นๆ ในปีนั้นของเรา
แล้วถ้าเราไม่ต้องการเสียภาษี เรามีทางเลือกอะไรบ้าง ?
ทางเลือกจัดการกับเงิน PVD หากไม่ต้องการเสียภาษี
กรณีนี้ เรามีทางเลือก 3 ทางด้วยกันดังนี้ค่ะ
- ทำเรื่องขอคงเงินไว้ใน PVD ของที่ทำงานเดิม โดยไม่นำเงินออกมา
โดยเงินที่คงไว้นั้น ก็จะยังคงได้รับเงินผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป และจะนำเงินออกจากกองทุน เมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขที่ได้รับยกเว้นภาษี คือเมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งวิธีการนี้ โดยปกติจะมีค่าธรรมเนียมรายปี 500 บาท - ทำเรื่องขอย้ายไป PVD ของที่ทำงานใหม่ (ถ้ามี)
โดยแจ้งความประสงค์กับฝ่ายบุคคล (HR) ของที่ทำงานเดิม เพื่อขอย้ายไปเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ เพื่อให้สามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง และรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ได้ ซึ่งกรณีที่ทำงานใหม่ยังไม่ให้เข้าเป็นสมาชิกทันทีเพราะมีช่วงทดลองงาน ก็สามารถทำเรื่องคงเงินไว้ในกองทุนเดิมก่อนได้ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกกองทุนใหม่ได้จึงทำเรื่องย้ายอีกทีหนึ่ง - ทำเรื่องย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้ากองทุน RMF for PVD
ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว การย้ายกองทุนเข้า RMF for PVD ยังทำให้เรามีอิสระในการจัดพอร์ตลงทุนได้เอง สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ต้องการ ตามเป้าหมาย ความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งหากท่านผู้อ่านสนใจทางเลือกนี้ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องวิธีการย้าย ได้จากบทความนี้ค่ะ โอนย้าย PVD ไป RMF for PVD ข้อดี - ข้อเสีย - ข้อควรรู้ - วิธีการย้าย
จะเห็นว่าทั้ง 3 ทางเลือก นอกจากจะสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีไว้ได้ โดยไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ยังสามารถรักษาเงินออมเอาไว้ได้ คือทำให้เงินออมของเราได้ลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมไว้ใช้ในยามเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ค่ะ
บทสรุป
จะเห็นว่า จริง ๆ แล้ว เรามีทางเลือกหลากหลายในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในวันที่ตัดสินใจลาออกจากงาน
แต่ละทางเลือกก็อาจจะไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีสุดสำหรับทุกคน จึงอยากให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณาทางเลือกที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด ทั้งในมิติด้านการเงิน และชีวิตด้านอื่นๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วยค่ะ
หรือหากต้องการที่ปรึกษา ที่ช่วยแนะนำในการตัดสินใจ และดำเนินการเรื่องนี้ จะใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner ก็ได้นะคะ เพราะก็เป็นส่วนหนึ่ง ของ "บริการวางแผนการเงินแบบองค์รวม" ที่เราให้บริการกับลูกค้าทุกท่านด้วยเช่นกัน
หากสนใจรับบริการจากนักวางแผนการเงิน Avenger Planner สามารถกดได้ที่ ลิงค์ ด้านล่างนี้เลยค่ะ