วิธีประเมินมูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันเกษียณ (พร้อมไฟล์ Excel ช่วยคำนวณ)
29/05/2023“เป้าหมายทางการเงิน” ตั้งอย่างไร เพื่อให้ไปถึง
12/06/2023กองทุน RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ นั้นน่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูใครหลายๆ คน เพราะเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราสามารถลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณอายุ โดยที่ยังได้ผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ในระหว่างการถือครองเราสามารถสับเปลี่ยนกองทุน RMF ได้ โดยไม่ผิดเงื่อนและสามารถนับอายุต่อจากที่เคยถือไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มนับใหม่ได้ด้วยนะคะ
ทางเลือกในการสับเปลี่ยน RMF
การสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF นั้นสามารถทำได้ 2 แบบ
- สับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ภายใน บลจ. เดิม วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวกกับนักลงทุน เพราะสามารถทำรายการผ่าน Application หรือ Website ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้เปิดบัญชีลงทุนไว้ได้เลย
- สับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้ามไป บลจ. ใหม่ วิธีนี้จะมีความยุ่งยากมากกว่า เนื่องจากจะต้องมีการดำเนินการ โดยการส่งเป็นเอกสาร ไปยังบลจ. ต้นทาง และ บลจ.ปลายทาง เท่านั้น
ซึ่งบทความนี้จะขอเน้นไปที่ข้อ 2 คือการสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้ามไป บลจ. ใหม่ นะคะ
สาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เราอยากสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้ามไป บลจ.ใหม่
เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่มากมายนะคะ แต่เหตุผลหลักๆ มีดังนี้ค่ะ
- ความรู้สึกไม่พึงพอใจในผลตอบแทนของ RMF ที่ถืออยู่ เช่นมีผลงานที่แย่ลงจากเดิม หรือมี RMF กองอื่นของ บลจ. อื่น ที่ให้ผลตอบแทนที่คาดหวังได้มากกว่า
- ต้องการปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ของพอร์ตการลงทุน โดยการปรับ RMF ที่ถืออยู่ไป RMF ที่ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่ง บลจ. เดิมอาจจะไม่มี หรือมีแต่เราไม่ชอบ เช่น การปรับจาก RMF ที่ลงทุนในหุ้นไทย ไป RMF ที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศ
- ต้องการสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ที่ถืออยู่ไปรวมไว้ในบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนเพียงบัญชีเดียว เพื่อให้สะดวกในการติดตามและประเมินผลพอร์ตการลงทุน
สิ่งที่ต้องรู้ก่อนสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้าม บลจ.
1. ระยะเวลาในการสับเปลี่ยน/โอนย้าย ต้องเสร็จสิ้นภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งสับเปลี่ยน/โอนย้ายออก ตามประกาศของสรรพากร รูปด่านล่างนี้
ตัวอย่างเช่น หากต้องการสับเปลี่ยน/โอนย้ายกองทุนต้นทางเป็น RMF ที่ลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งมีระยะเวลาในการสับเปลี่ยน/โอนย้ายออก 2 วันทำการ (T+2) RMF กองทุนปลายทางจะต้องสามารถดำเนินให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการ (T+3) เพื่อให้ระยะเวลารวมทั้งหมดอยู่ใน 5 วันทำการ
โดยในกรณีที่เป็นการโอนย้าย RMF ซึ่งเป็นกองต่างประเทศนั้น ระยะเวลาในการสับเปลี่ยน/โอนย้ายออก มักกินเวลาหลายวัน จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะเกินกำหนด 5 วันทำการได้ แนวทางที่แนะนำ จะใช้วิธีการสับเปลี่ยน RMF กองทุนต้นทางไปไว้ที่กองทุน RMF ประเภทตลาดเงิน (Money Market) ก่อน เพราะมีระยะเวลาสับเปลี่ยนออก 1 วันทำการ (T+1) ซึ่งค่อนข้างสั้น จากนั้นจึงทำการโอนย้ายไปยัง RMF บลจ. ใหม่
2. สถานที่ที่ต้องไปติดต่อส่งเอกสาร
ในการส่งเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายนั้นจะต้องเตรียมเอกสารไว้ทั้ง บลจ.ต้นทาง และ บลจ.ปลายทาง ซึ่งจะต้องนำเอกสารไปส่งแยกกัน
ชุดเอกสารฝั่งขาออกจะนำส่งที่ บลจ.ต้นทาง ซึ่งหากเป็นการซื้อผ่านช่องทางธนาคาร สามารถนำส่งทำรายได้ในธนาคารนั้น สาขาใดก็ได้ แต่ต้องเป็นเวลาที่ บลจ.ต้นทาง เปิดทำการ โดยแนะนำให้ติดต่อช่วง 9:00-16:00 น.
ส่วนชุดเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายเข้า จะต้องนำส่งทำรายการที่ บลจ. ปลายทาง
3. ค่าธรรมเนียมในการทำรายการ
ในการสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้ามบลจ. อาจมีค่าธรรมเนียมในการทำรายการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเก็บเพิ่มจากผู้ลงทุนเมื่อไปทำรายการย้ายออก ตัวอย่าง เช่น
- RMF บลจ.กสิกรไทย จะเก็บค่าธรรมเนียม 1.00% ของมูลค่าหน่วยลงทุนก่อนวันทำการสับเปลี่ยน
- RMF บลจ.บัวหลวง จะเก็บค่าธรรมเนียม 200 บาทต่อ 1 รายการ
- RMF บลจ.กรุงศรี ไม่มีค่าธรรมเนียมในการย้ายออก เป็นต้น
ซึ่งข้อมูลในส่วนของค่าธรรมเนียมนี้ สามารถดูได้จากเอกสาร หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ของแต่ละกองทุนได้เลย ดังรูปด้านล่างนะคะ
ขั้นตอนและเอกสารที่ใช้ในการสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้าม บลจ.
เมื่อเราทราบสิ่งที่ต้องรู้ก่อนที่จะทำการสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้าม บลจ. แล้วนั้น ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการทำรายการนะคะ
1. ตรวจสอบเงื่อนไขการสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ของคู่กองทุนต้นทาง-ปลายทาง
ว่าสามารถทำรายการได้หรือไม่ รวมระยะเวลาแล้วเกิน 5 วันทำการหรือไม่ โดยสามารถสอบถามไปทาง บลจ.ปลายทาง ที่จะรับโอนว่าคู่รายการ RMF ที่ประสงค์จะโอนย้ายนั้นสามารถทำได้หรือไม่
เน้นย้ำว่าให้ตรวจสอบในขั้นตอนนี้ก่อน ว่าสามารถทำการโอนย้ายได้หรือไม่ เพราะหากมีการโอนย้ายจากกองต้นทางออกมาแล้ว ไม่สามารถเข้าไปกองทุนปลายทางตามระยะเวลาที่สรรพากรกำหนด จะทำให้เสียผลประโยชน์ทางภาษีค่ะ
นอกจากนั้นแล้ว RMF บางกองทุนยังไม่สามารถสับเปลี่ยน/โอนย้ายข้ามบลจ.ได้ จะต้องสับเปลี่ยนไปกองทุนอื่นที่สามารถสับเปลี่ยน/โอนย้ายออกได้ เช่น กองทุน RMF ตลาดเงินภายใน บลจ. นั้นก่อน ดังรูปตัวอย่างด้านล่าง
2. เปิดบัญชีเพื่อขอเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน (Unit Holder) บลจ.ปลายทาง สำหรับรับโอนหน่วยลงทุนของ RMF ที่ย้ายมา
3. เตรียมเอกสารในการสับเปลี่ยน/โอนย้ายให้พร้อม โดยสามารถขอจาก บลจ. หรือเข้าไปดาวน์โหลดจากหน้าเว็บไซต์ของแต่ละ บลจ. ก็ได้ค่ะ มีเอกสารที่ต้องเตรียมดังนี้
- เอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้าย บลจ.ต้นทาง
- เอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้าย บลจ.ปลายทาง
- สำเนาบัตรประชาชน
โดยเตรียมเอกสาร อย่างละ 2 ฉบับ สำหรับส่งให้ บลจ.ต้นทาง และ บลจ.ปลายทาง อย่างละฉบับ
4. นำเอกสารไปทำรายการที่ บลจ.ต้นทาง ในเวลาทำการ
5. นำเอกสารไปทำรายการที่ บลจ.ปลายทาง โดยแนบสำเนาเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายออกจาก บลจ.ต้นทาง ซึ่งมีการลงนามของเจ้าหน้าที่ว่าได้รับทำรายการแล้ว รวมกับเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายเข้า บลจ.ปลายทาง
6. ติดตามสถานะการสับเปลี่ยน/โอนย้าย จนได้หน่วยลงทุน RMF ที่กองทุนปลายทาง
ตัวอย่าง การทำรายการสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้ามบลจ.
เราลองมาดูตัวอย่างการทำรายการสับเปลี่ยน/โอนย้ายจาก RMF ต้นทางคือ กอง MM-RMF ของ บลจ.บัวหลวง มาเข้า RMF ปลายทางคือ กอง KCHANGERMF ของ บลจ.กสิกรไทย
โดยในตัวอย่างนี้ จะไม่ใช่การเปิดบัญชีกองทุนโดยตรงกับ บลจ. กสิกรไทย นะคะ แต่จะเป็นการเปิดบัญชีกองทุนกับ บล. ซึ่งเป็นตัวแทนขายให้กับ บลจ.กสิกรไทย อีกต่อหนึ่ง ซึ่ง บล. ดังกล่าวนั้นเป็นพันธมิตรกับ บลป. Avenger Planner ในการดูแลบัญชีการลงทุนให้ลูกค้า โดยจะมีขั้นตอนดังนี้ค่ะ
1. ตรวจสอบกับ บล.พันธมิตร ซึ่งเป็นตัวแทนขายของ บลจ.กสิกรไทย และจะเป็นผู้ทำรายการรับโอน ว่าสามารถทำได้รายการโอนย้ายคู่ MM-RMF ไป KCHANGERMF ได้หรือไม่ ซึ่งในการตรวจสอบสามารถทำรายการได้ และตรวจสอบค่าธรรมเนียมซึ่งรายการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไปทำรายการสับเปลี่ยน/โอนย้ายออกจาก บลจ.บัวหลวง เป็นจำนวน 200 บาท
2. เปิดบัญชีกับ บล.พันธมิตร เพื่อขอเลขที่ผู้ถือหน่วยลงทุน (Unit Holder) บลจ.กสิกร ให้พร้อมรับโอน RMF ที่จะย้ายมา
3. ดาวน์โหลดเอกสารสำหรับสับเปลี่ยน/โอนย้าย จากเว็ปไซต์ของ บลจ.บัวหลวง และ บลจ.กสิกรไทย ดังรูปด่านล่าง
4. กรอกเอกสารในการสับเปลี่ยน/โอนย้าย ทั้ง บลจ.ต้นทาง และ บลจ.ปลายทาง โดยมีข้อมูลสำคัญที่ต้องทราบ คือ
- ชื่อ บลจ.ต้นทางเดิม
- เลขผู้ถือหน่วย
- ชื่อ RMF กองทุนต้นทางเดิม
- จำนวนหน่วยลงทุนที่สับเปลี่ยน/โอนย้ายออก
- ชื่อ บลจ.ปลายทาง
- ชื่อ RMF กองทุนปลายทาง
รูปด้านล่างนี้ คือตัวอย่างในการกรอกเอกสารนะคะ
5. ส่งเอกสารที่กรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วให้ กับ บล.พันธมิตร ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทน บลจ.ปลายทาง ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร
6. นำเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายออก ไปทำรายการที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาใดก็ได้ ในช่วงเวลาทำการของ บลจ.บัวหลวง โดยเอกสารที่เตรียมไปประกอบด้วย
- เอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้าย MM-RMF ออกจาก บลจ.บัวหลวง
- เอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายเข้า KCHANGERMF บลจ.กสิกรไทย
- สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ
- เงินสด สำหรับจ่ายค่าธรรมเนียม 200 บาท
ในขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบรายการไปยัง บลจ.บัวหลวง จึงต้องไปติดต่อในเวลาทำการของ บลจ. หากไปติดต่อช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถตรวจสอบรายการได้ ทำให้ไม่สามารถรับทำรายการให้ได้นะคะ
เมื่อมีการส่งทำรายได้โอนย้ายออกแล้ว เราจะได้เอกสารสำเนาเอกสารโอนออกจาก บลจ.บัวหลวงมาด้วย
7. ให้รีบนำเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายเข้า ส่งไปทำรายการที่ฝั่งบลจ.ปลายทาง ภายใน 1 วันทำการ เอกสารประกอบด้วย
- เอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายเข้า KCHANGERMF บลจ.กสิกรไทย
- สำเนาเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้าย MM-RMF ออกจาก บลจ.บัวหลวง (มีลายเซ็นเจ้าหน้าที่รับทำรายการให้แล้ว)
- สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ
เหตุที่ต้องรีบนำส่งเอกสารเนื่องจากเมื่อรายการโอนออกสำเร็จ เพราะจะมีเช็คเงินสดของมูลค่าหน่วยลงทุน RMF ที่สับเปลี่ยน/โอนย้ายออก ส่งไปที่ บลจ.ปลายทาง
หากไม่มีเอกสารสับเปลี่ยน/โอนย้ายเข้า ทาง บลจ.ปลายทาง จะไม่สามารถทำรายการโอนเข้าได้ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการนี้ล่าช้า เกินระยะเวลา 5 วันทำการ และทำให้เสียผลประโยชน์ทางภาษีได้ค่ะ
8. คอยติดตามสถานะรายการสับเปลี่ยน/โอนย้ายในครั้งนี้ หากรายการสำเร็จภายใน 5 วันทำการ ถือว่ารายการเรียบร้อย
บทสรุป
จากรายละเอียดข้างต้น วิธีสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้ามบลจ. อาจจะดูเหมือนซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน แต่หากติดขัดประการใด ก็สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ของ บลจ.ต้นทาง และบลจ. ปลายทาง เพื่อสอบถามได้นะคะ
หรือหากต้องการผู้ช่วยในการวางแผนและดำเนินการให้ ก็สามารถใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner ได้เช่นกันค่ะ
เพราะบริการวางแผนการเงินแบบองค์รวมของเรา ครอบคลุมถึงการดูแลและให้คำแนะนำเรื่องของการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุทั้งหมด ซึ่งคำแนะนำเรื่องสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้ามบลจ. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราช่วยท่านได้ ทั้งในการประสานงานด้านเอกสาร ไปจนถึงการให้คำแนะนำด้านการลงทุน เช่นการจัดพอร์ตและเลือกกองทุน RMF ให้เหมาะสมกับแต่ละท่าน