วิธีสับเปลี่ยน/โอนย้าย RMF ข้าม บลจ.
05/06/2023ส่งเงินประกันสังคมก็มีสิทธิรับบำนาญ เงื่อนไขเป็นอย่างไร จะได้เท่าไรนะ ?
19/06/2023“เป้าหมายทางการเงินตั้งอย่างไร เพื่อให้ไปถึง” หัวข้อนี้ดูแสนจะธรรมดาจนหลายคนอาจมองข้าม
แต่แท้จริงแล้วสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมากซ่อนอยู่ ชนิดที่ว่าเข้าใจผิดชีวิตเปลี่ยน เพราะนี่คือ กระดุมเม็ดแรกของการวางแผนการเงิน หากการเดินทางหมื่นลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรกฉันใด การวางแผนการเงินก็เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายฉันนั้น
ในบทความนี้ จะมาแนะนำหลักการตั้งเป้าหมายทางการเงินอย่างถูกวิธี ในแบบฉบับของนักวางแผนการเงิน เพื่อให้ทุกท่านได้นำไปใช้กันค่ะ
ทำไมต้องตั้งเป้าหมายทางการเงิน
เพราะเป้าหมายถือเป็นเข็มทิศ ที่เราใช้ในการกำหนดรูปแบบและทิศทางของการวางแผนการเงิน เข็มทิศนั้นสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราไม่หลงทาง หรืออีกนัยหนึ่งคือเราตั้งเป้าหมายเพื่อ หาจุดสิ้นสุดของการเดินทาง
เป้าหมายบอกจุดหมาย บอกถึงสิ่งที่เราต้องการในอนาคต เปรียบคล้ายกับการเตรียมตัวไปเที่ยว เราต้องรู้ปลายทางก่อนว่าจะไปเที่ยวที่ไหน เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวในการเดินทางนั้นได้อย่างเหมาะสม
ตั้งเป้าหมายให้ SMART
การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดีนั้น มีหลักการที่เรียกว่า “SMART” ซึ่งประกอบด้วย
- Specific : สิ่งนั้นต้องเป็นรูปธรรมชัดเจน รู้ว่าต้องการอะไร หนักแน่นและจับต้องได้
- Measurable : สิ่งนั้นต้องแปลงออกมาเป็นตัวเลข ตัวเงิน เพื่อให้สามารถติดตามและวัดผลได้
- Achievable : รู้ว่าสิ่งนั้น จะทำสำเร็จได้อย่างไร โดยไม่แลกมาด้วยความอึดอัด ตึงเครียดเกินไปในชีวิต
- Realistic : สิ่งนั้นมีความสมเหตุสมผล ทำให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่เพ้อฝัน
- Time-bound : จุดหมายนั้นต้องมีกรอบเวลาชัดเจน มีจุดสิ้นสุด ไม่เลื่อนลอย
หรือเราสามารถนำมาจัดใหม่ได้ว่า เป้าหมายที่ดีต้องมี 3 องค์ประกอบ + 2 ลักษณะ คือ
เป้าหมายที่ยังนำไปใช้งานไม่ได้
ตัวอย่างเป้าหมาย ที่ยังไม่ครบ 3 องค์ประกอบข้างต้น ซึ่งเรามักจะเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้ง เช่น
- อยากซื้อรถดีๆ
- อยากส่งลูกเรียนสูงๆ
- อยากมีชีวิตที่ดีตอนเกษียณ
ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายให้เห็น แต่ทุกข้อล้วนขาดรายละเอียดสำคัญ ทั้งขาดการแปลงออกมาเป็นตัวเงิน (เท่าไร) รวมถึงขาดกรอบเวลา (เมื่อไร) ด้วย
เป้าแบบนี้เราเรียกว่าเป็น เป้าหมายแบบนามธรรม หากอยากปรับให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาจปรับ เป็น
- อยากซื้อรถดีๆ => เก็บเงินเพื่อซื้อยี่ห้อ A รุ่น B รุ่นย่อย C โดยต้องเตรียมเงินดาวน์ 200,000 บาท ในอีก 3 ปี ข้างหน้า หลังจากนั้นต้องเตรียมเงินค่างวด เดือนละ 10,000 บาท ชำระ 60 เดือน
- อยากส่งลูกเรียนสูง => เก็บเงินเพื่อทุนการศึกษาบุตร ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัย D หลักสูตรปกติ 4 ปี จำนวน 1,000,000 บาท ในอีก 10 ปี ข้างหน้า
- อยากมีชีวิตที่ดีตอนเกษียณ => เก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ 15,000,000 บาท ในอีก 30 ปี ข้างหน้า
ส่วนในอีก 2 ลักษณะ คือ จะทำสำเร็จได้อย่างไร (Achievable) และ ความสมเหตุสมผล (Realistic) นั้น อาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเพราะจะมีเรื่องของการคำนวณเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องของมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value Of Money) ซึ่งเป็นเทคนิคการคำนวณของนักวางแผนการเงิน
แต่ผู้เขียนจะขอลองยกตัวอย่างในแบบที่ขาด 2 ลักษณะดังกล่าว ให้ได้เห็นกันนะคะ
- เก็บเงินเพื่อซื้อรถ โดยต้องเตรียมเงินดาวน์ 200,000 บาท ในอีก 6 เดือน ข้างหน้า
- เก็บเงินเพื่อทุนการศึกษาบุตร 1,000,000 บาท ในอีก 1 ปี ข้างหน้า
- เก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ 15,000,000 บาท ในอีก 10 ปี ข้างหน้า
จะเห็นว่าแม้จะมี 3 องค์ประกอบครบ แต่ในมุมการจะทำให้สำเร็จ + ความสมเหตุสมผลนั้น มีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป้ามีขนาดใหญ่ กรอบเวลาสั้นมาก ทำให้ถ้าจะเก็บเงิน ต้องออมต่อเดือนสูงจนเป็นไปไม่ได้ หรือตึงเครียดเกินไป
การแปลงเป้าหมายนามธรรม เพื่อให้เป็นเป้าหมายที่ไปถึงได้ในชีวิตจริง
จากตัวอย่างที่ยังไม่สมเหตุสมผลข้างต้น หากเราปรับปรุงเป้าหมายดังกล่าวเพื่อให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ อาจทำได้โดยการลองเปลี่ยนองค์ประกอบด้านต่างๆ เช่น
1) เป้าหมายเก็บเงินเพื่อซื้อรถ จากเดิมต้องเตรียมเงินดาวน์ 200,000 บาท ในอีก 6 เดือน ข้างหน้า ปรับเป็น ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งพอจะทำให้สำเร็จได้โดยการออมเดือนละ 4,200 บาท โดยอ้างอิงผลตอบแทนจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป
2) เป้าหมายทุนการศึกษาบุตร จากเดิมต้องเก็บเงิน 1,000,000 บาท ในอีก 1 ปี ในกรณีนี้จะขยายเวลาให้ยาวขึ้นก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะลูกต้องเรียนแล้ว ก็อาจปรับความคาดหวังเป็น เก็บเงิน 200,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาปีแรก ในอีก 1 ปีข้างหน้า จากนั้นพยายามเก็บเงินให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายของปีที่ 2 3 และ 4 หากไม่เพียงพออาจต้องเข้าร่วมโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ร่วมด้วย
3) เป้าหมายเกษียณอายุ จากเดิม 15,000,000 บาท ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ในกรณีนี้หากพอจะเลื่อนเวลาเกษียณได้สัก 5 ปี และอาศัยเงินจากแหล่งทุนเพื่อการเกษียณอื่น เช่น เงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม และ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท มาช่วยด้วย ก็อาจปรับเป้าหมายได้เป็น เก็บเงินเพื่อเกษียณอายุให้ได้ 7 ล้านบาทในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งหากสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 6% ต่อปี จะพอทำเป้าหมายนี้สำเร็จได้ด้วยการออมเงินปีละประมาณ 300,000 บาท เป็นต้น
บทสรุป
จะเห็นว่าเมื่อมีการปรับองค์ประกอบต่างๆ ในการตั้งเป้าหมาย เช่น การขยายระยะเวลาการออมออกไป ก็อาจช่วยให้เป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้ (Realistic) มากขึ้นในทางปฏิบัติ และพอจะมีวิธีที่สามารถบรรลุผลที่ต้องการได้ (Achievable) มากขึ้น
แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถปรับองค์ประกอบเหล่านั้นได้เสมอไป บางเป้าหมายนั้นแทบจะไม่สามารถปรับอะไรได้เลยก็มี แต่อย่างน้อยเราก็จะได้ทราบล่วงหน้า ว่าเป้าหมายนี้โอกาสสำเร็จมีน้อย ก็เพื่อจะได้หาทางเลือกอื่นที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ตั้งแต่วันนี้
ซึ่งถ้าจะให้ดีกว่านั้น เราควรจะต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะยังสามารถปรับแต่งปัจจัยต่างๆ ในการตั้งเป้าหมายได้มาก ไม่ใช่มารู้ตัวเอาเมื่อเวลาเหลือสั้นจนแทบปรับอะไรไม่ได้แล้ว
ซึ่งพวกเรานักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner ก็เป็นผู้หนึ่ง ที่มีความตั้งใจที่จะช่วยให้ทุกท่านมีการตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม และกระตุ้นให้ทุกท่านได้ลงมือทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากต้องการความช่วยเหลือเรื่องแผนการเงิน อย่าลืมคิดถึงพวกเรานะคะ การสมัครใช้บริการก็ไม่ยากและไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถคลิกที่ป้ายด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ