วิธีวัดผลตอบแทนของพอร์ต เมื่อลงทุนแบบ DCA : ฉบับทำได้เอง
11/04/2023How Can We Help : EP17
19/04/2023Stress Test คืออะไร ?
ท่านผู้อ่านหลายท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า “Stress Test” หรือ “Stress Testing” มาบ้างนะครับ
การทำ Stress Test นั้น คือการทดสอบระบบอะไรสักอย่าง ภายใต้สถานการณ์ที่ “Stressful” หรือ “รุนแรงอย่างสุดขั้ว” ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่ถ้าเกิดก็จะทำให้เสียหายได้มาก
การทำ Stress Test นั้นก็เพื่อจะจำลองสถานการณ์ดูว่า เมื่อเกิดแล้ว
- ระบบจะทนทานได้แค่ไหน
- จะเกิดความเสียหายลักษณะใด รุนแรงเท่าใด
- หากจะป้องกัน จะทำได้อย่างไร
ซึ่งก็มีการประยุกต์ใช้ในหลายวงการ เช่น
- การใช้ทดสอบวัสดุทางอุตสาหกรรมต่างๆ (Material Testing)
- การใช้ทดสอบระบบคอมพิวเตอร์ (Hardware & Software Testing)
- การใช้ทดสอบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่นระบบไฟฟ้า ประปา ขนส่ง ฯลฯ (Infrastructure Testing)
- การใช้ทดสอบของภาคการธนาคาร รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจเชิงมหภาค (Financial Stress Testing)
การประยุกต์ใช้กับการเงินส่วนบุคคล
จากตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในหลายๆ วงการข้างต้น ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับบทความนี้ที่สุด ก็คือการทำ Stress Testing ของภาคการธนาคาร ซึ่งมักจะดำเนินการโดยธนาคารพาณิชย์ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เพื่อทดสอบว่าระบบธนาคาร จะสามารถรับ เหตุการณ์สุดโต่งต่างๆ ได้เพียงใด เช่น
- ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- ภาวะการว่างงานที่ผิดปกติ
- การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าปกติ
- การขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงกว่าปกติ
- การลดลงของราคาสินทรัพย์/หลักประกัน ต่างๆ ที่รุนแรง
ทั้งนี้ก็เพื่อพยายามจะป้องกันปัญหาใหญ่ ก่อนที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง
จะเห็นว่า เหตุการณ์สุดโต่งต่างๆ เชิงมหภาค (Macro Scale) ข้างต้น ก็มีโอกาสเกิดในระดับจุลภาค (Micro Scale) ในระดับของการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ได้เช่นกัน
ความเสียหายระดับการเงินส่วนบุคคลนี้ แม้อาจไม่ลุกลามเป็นวงกว้าง แต่ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา ก็อาจกระทบกับสถานะการเงินของบุคคลและครอบครัวนั้นๆ ให้เสียหาย ล่มจมได้มาก และในบางกรณีอาจลุกลามไปมากกว่าความเสียหายทางการเงิน แต่เกิดเป็นความเสียหายไปถึงจิตใจ ร่างกาย และร้ายแรงไปจนถึงชีวิตของบุคคลนั้นๆ ได้
ต่างจากการตรวจสุขภาพการเงินทั่วไปอย่างไร ?
ในการวางแผนการเงินทั่วไป ไม่ว่าจะทำด้วยตนเอง หรือ ใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน นั้น มักจะต้องมีขั้นตอนมาตรฐานในการประเมินสถานะการเงินของตนเองในเบื้องต้น เช่น
- การจัดทำงบการเงินส่วนบุคคล ทั้งงบดุล และงบกระแสเงินสด
- การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อตรวจสุขภาพทางการเงินในมิติต่างๆ เช่น สภาพคล่อง หนี้สิน ความเสี่ยง การเก็บออม/ลงทุน ฯลฯ
ซึ่งสำหรับลูกค้าของ บลป. Avenger Planner นั้น ก็จะได้รับผลการประเมินสุขภาพทางการเงินเบื้องต้น ดังตัวอย่างในรูปด้านล่างนี้
ซึ่งจากรูป ก็จะเห็นว่ามีการประเมินสุขภาพการเงินในหลายมิติ โดยแต่ละมิติก็มีเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะต้องทำให้ได้อยู่แล้ว หากทำได้ก็น่าจะช่วยป้องกันปัญหาได้แล้วไม่ใช่หรือ ?
คำตอบคือ บางครั้งมิติที่ประเมินขึ้นโดยใช้เกณฑ์ทั่วๆ ไป และ ค่ามาตรฐานที่นำมาใช้ อาจไม่ครอบคลุมเหตุการณ์ “Stressful” ได้ทั้งหมด และ เหตุการณ์สุดโต่งบางอย่าง อาจเกิดเฉพาะกับบางบุคคลเท่านั้น
จึงจำเป็นต้องมีการ ทดสอบพิเศษ ที่ออกแบบขึ้นโดยเฉพาะแยกต่างหาก ที่เรียกว่า Stress Testing นั่นเอง
วิธีทำ Stress Testing ในระดับของการเงินส่วนบุคคล
ขั้นตอนหลักๆ จะมีทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน ได้แก่
1) รวบรวมข้อมูลและจัดทำงบการเงิน ณ ปัจจุบันก่อน
หรืออาจกล่าวได้ว่า การจะทำ Stress Test ได้นั้น เราต้องมีข้อมูลปัจจุบันที่พร้อม ต้องเข้าใจสถานะการเงินของตนเองทั้งหมดอย่างถ่องแท้ โดยมีการจัดทำงบการเงินทั้ง งบดุล และ งบกระแสเงินสด เป็นข้อมูลขั้นต่ำที่ต้องมี
ข้อมูลในระดับที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำ Stress Test ได้ละเอียดถี่ถ้วนขึ้น อาทิ
- สมมติฐานทางการเงินที่สมเหตุสมผล ของแต่ละบุคคล เช่น อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้/รายจ่ายต่างๆ ไปจนถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าซึ่งจะกระทบกับรายรับ รายจ่าย ทรัพย์สิน หนี้สิน เป็นต้น
- การจัดทำประมาณการงบการเงิน (Financial Projection) ในสภาวะปกติ หรือ Base Case Scenario ที่จะเกิดขึ้น กรณีที่ไม่ได้มีเหตุการณ์สุดโต่งใดๆ เกิดขึ้น
- ทรัพยากรภายนอก (External Resources) ที่มี ซึ่งไม่ปรากฎในงบการเงิน แต่ในยามคับขัน อาจสามารถนำมาใช้เพื่อจัดการกับปัญหาได้ เช่น ทรัพยากรของคุณพ่อคุณแม่ หรือของบุคคลใกล้ชิดอื่นๆ ที่สามารถขอความช่วยเหลือ หรือหยิบยืมได้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายจริงๆ
จะเห็นว่าเพียงแค่ขั้นตอนแรกนั้น ก็มีความยาก และใช้เวลามากพอสมควร สำหรับท่านที่ไม่มีข้อมูลที่พร้อมอยู่ก่อนนะครับ
2) กำหนด Test Scenario ที่เหมาะกับแต่ละบุคคล
Test Scenario คือ การระบุเหตุการณ์สุดโต่งขึ้นมา ว่าเหตุการณ์ใดที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราแล้วทำให้เกิดผลรุนแรง ซึ่งนอกจากระบุเหตุการณ์แล้ว จะต้องมีการระบุผลกระทบด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการเงินของเราอย่างไร ดังตัวอย่างด้านล่างนี้
- ตัวอย่าง #1 สำหรับผู้บริหารระดับกลาง อายุมากกว่า 45 ปี ทำงานในอุตสาหกรรมที่กำลังหดตัว เงินเดือนเดิมมากกว่า 150,000 บาท ภรรยาเป็นแม่บ้านไม่มีรายได้ โดยเจ้าตัวประสบเหตุตกงาน และไม่สามารถหางานใหม่ได้เลย เป็นเวลามากกว่า 3 ปี และหลังจากนั้นจึงหางานใหม่ได้ แต่มีเงินเดือนเพียง 50,000 บาท ซึ่งทำให้
- รายได้จากการทำงานกลายเป็น 0 เป็นเวลา 3 ปี
- ต้องลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงจากปกติ 30% ยกเว้นค่างวดหนี้ ค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตร ค่าเบี้ยประกันที่จำเป็นต่างๆ
- ต้องยกเลิกการท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเดิมวางงบประมาณไว้ทุกปี
- ต้องถอนใช้ทรัพย์สินเดิม ซึ่งบางส่วนเป็นสภาพคล่องถอนได้ บางส่วนติดอยู่ในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งจะถอนได้จนกว่าอายุ 55 ปีบริบูรณ์เท่านั้น
- ตัวอย่าง #2 : สำหรับผู้เกษียณอายุ ที่อาศัยรายได้จากพอร์ตการลงทุนเป็นรายได้หลัก ประสบเหตุพอร์ตการลงทุนขาดทุนต่อเนื่อง จากวิกฤติเศรษฐกิจที่กินระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน โดยปีแรกขาดทุน -30% ปีต่อไป -15% ปีต่อไป -10% ก่อนที่จะฟื้นตัวในปีถัดไป ซึ่งทำให้
- ต้องลดการถอนเงินออกจากพอร์ตลง 30% เพื่อชะลอการลดลงของมูลค่าพอร์ตหลังเกษียณอายุ
- ต้องเริ่มหาแหล่งรายได้หลังเกษียณ นอกเหนือจากพอร์ตการลงทุน
- ต้องขายสินทรัพย์บางประเภทนอกเหนือจากพอร์ตการลงทุน เพื่อนำมาเป็นแหล่งรายได้ในช่วงวิกฤติ เพื่อชะลอการถอนใช้เงินจากพอร์ตที่กำลัง Drawdown อยู่
- ตัวอย่าง #3 : สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการลงทุนในที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องค่อนข้างน้อย ประสบเหตุจำเป็นต้องใช้เงินสดจำนวนมาก เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลก้อนใหญ่และต่อเนื่องให้กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งทำให้
- ต้องเร่งขายที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่มี ในราคาที่ไม่ดีนัก และอาจขายได้ช้า
- กรณีขายได้ช้า ต้องขายสินทรัพย์สภาพคล่อง ควบคู่กับการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายดังกล่าว
จะเห็นว่าขั้นตอนที่สองนี้ จำเป็นต้องใช้จินตนาการมากสักหน่อย ซึ่งถ้าได้ประสบการณ์ของนักวางแผนการเงินที่เคยเห็นเคสสุดโต่งในลักษณะต่างๆ ที่หลากหลายมาช่วย ก็จะทำให้คิด Test Scenario ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละคนได้มากขึ้น
โดยแต่ละคนนั้น อาจมี Test Scenario มากกว่า 1 สถานการณ์ ก็เป็นได้ครับ
3) จำลองการเกิด Test Scenario กับงบการเงิน
ในขั้นตอนนี้ เราจะทำการแปลง Test Scenario ต่างๆ นั้นมาเป็น ข้อมูลเชิงปริมาณ หรือ เชิงตัวเลข เพื่อนำไป Input เข้าในงบการเงิน เพื่อ จำลองเหตุการณ์ (Simulation) ว่าหากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นนั้น งบการเงินและสถานะการเงินต่างๆ ที่เรารวบรวมไว้ในขั้นตอนที่ 1 จะเปลี่ยนไปอย่างไร
ซึ่งในขั้นตอนนี้จำเป็นที่ผู้จัดทำ Stress Test จะต้องมีทักษะในการจัดทำงบการเงิน และการทำ Financial Projection เพื่อให้สามารถสะท้อนเหตุการณ์ต่างๆ ลงไปในงบการเงินได้อย่างถูกต้อง ทั้งในเชิงมูลค่า และในเชิงจังหวะเวลา เช่น
- ถ้ากระแสเงินสดติดลบ เราต้องรู้ว่าลบเท่าไร และลบเมื่อไร
- ถ้าสินทรัพย์ลดลง เราต้องรู้ว่าลดที่ไหน ลดเท่าไร ลดเมื่อไร
- ถ้าหนี้สินเพิ่มขึ้น เราต้องรู้เช่นกัน ว่าเพิ่มที่ไหน เพิ่มเท่าไร
รวมถึงต้องสามารถคำนวณเชื่อมโยงผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลง ณ จุดใดจุดหนึ่ง หรือหลายจุดในงบการเงิน ว่าจะมีผลต่อจุดอื่นๆ อย่างไร
4) อ่านและวิเคราะห์ผล
ขั้นตอนต่อมาคือการอ่านและวิเคราะห์ผล ว่าจากการ Simulation ในขั้นก่อนหน้านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น รุนแรงมากน้อยเพียงใด เพราะไม่ใช่ทุกปัญหาที่จะมีความรุนแรงถึงขั้นคอขาดบาดตาย
- บางปัญหาอาจพอจะรับมือได้ด้วยการอดทน จนกว่าสถานการณ์นั้นจะผ่านพ้นไป เนื่องจากมีทรัพยากรที่เตรียมไว้มากเพียงพอ และ/หรือ ปัญหานั้นเป็นเรื่องชั่วคราว
- แต่บางปัญหา ก็ไม่อาจจะรับมือด้วยการทนได้ เพราะทรัพยากรที่มีไม่พอ และ/หรือ ปัญหานั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เกิดขึ้นค่อนข้างถาวร จะไม่เปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนเดิม
5) หาแนวทางป้องกันหรือจัดการ
เมื่อทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว เราก็จะมาหาแนวทางในการจัดการกันต่อไปครับ เพราะโชคดีที่ผลดังกล่าวนั้น เป็นเพียงการ Simulation ในคอมพิวเตอร์หรือในกระดาษเท่านั้น ตอนนี้เหตุการณ์ยังไม่เกิด เรายังพอมีเวลาที่จะคิดไตร่ตรองอย่างมีสติ เพื่อเตรียมการเอาไว้ก่อน
ซึ่งแนวทางการจัดการ ก็จะขึ้นอยู่กับเหตุการณ์และผลการวิเคราะห์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่บอกได้ล่วงหน้า ว่าเหตุการณ์แต่ละอย่างต้องจัดการอย่างไร แต่หากอ้างอิงจากตำราการบริหารความเสี่ยง ก็มักจะหนีไม่พ้น เทคนิค 4 อย่างนี้
- เลี่ยงความเสี่ยง โดยไม่ทำเหตุการณ์นั้นเสียเลย
- ลด/ควบคุมความเสี่ยง โดยหาวิธีในการลดโอกาส และ/หรือ ลดความเสียหายจากเหตุการณ์นั้นๆ
- กระจายความเสี่ยง โดยการไม่ทุ่มจนหมดตัว ไปในทางเลือกใดทั้งหมดจนเสี่ยงมากไป
- โอนความเสี่ยง โดยการทำประกันประเภทต่างๆ เพื่อให้บริษัทประกันมาช่วยรับความเสี่ยงไปด้วย
บทสรุป
ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินประโยคว่า “พึงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท” กันนะครับ
เทคนิค Stress Testing นี้ น่าจะเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมแบบหนึ่ง ในการบรรลุซึ่ง “ความไม่ประมาท” ดังกล่าวได้ ไม่มากก็น้อย
ผมในนามผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ บลป. อเวนเจอร์ แพลนเนอร์ จำกัด ขอให้ทุกท่านมีชีวิตการเงินที่ดี ดำรงอยู่ในความไม่ประมาท มีความมั่นคงตั้งแต่วันนี้ และมีอนาคตการเงินที่สดใสในวันข้างหน้าต่อไปนะครับ
หากได้อ่านบทความนี้แล้ว ได้เห็นประโยชน์ในการวางแผนการเงิน รวมถึงการทำ Stress Testing ที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง แต่คิดว่ายังไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด ผมอยากเรียนเชิญให้ทุกท่านได้มาลองใช้บริการวางแผนการเงินกับพวกเราดูนะครับ
ทีมงาน Avenger Planner ทุกๆ คนล้วนเป็นผู้เห็นประโยชน์ของความรู้ทางการเงิน และล้วนเคยได้รับประโยชน์จากการใช้ความรู้นี้มาแล้วทั้งสิ้น
ผลดีที่พวกเราเคยได้รับกับตัว จึงเป็นแรงผลักดันชั้นเยี่ยม ที่ทำให้พวกเราอยากขออาสามาทำงานนี้ให้กับทุกๆ ท่านด้วยครับ