กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : เข้าใจเพิ่มนิด ปรับเพิ่มหน่อย อาจได้ประโยชน์อีกเยอะ
25/03/20223 คำถามชวนคิด เพื่อวางแผนทริปท่องเที่ยวในฝัน
16/08/2022การจัดการความเสี่ยงภัยทางการเงิน เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของแผนการเงินเป็นอย่างมากครับ
เพราะหากมีความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเข้ามากระทบ ก็อาจส่งผลให้สูญเสียเงินที่ตั้งใจออมและลงทุนไว้สำหรับเป้าหมายสำคัญ ไปกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เข้ามาได้
นักวางแผนการเงินทีม Avenger Planner จึงให้ความสำคัญกับการวางแผนรับมือความเสี่ยงในด้านต่างๆ ของลูกค้าผู้รับบริการเป็นอย่างยิ่ง
อย่างน้อยที่สุดนั้น นักวางแผนการเงินจะชวนลูกค้าหาแนวทางจัดการความเสี่ยงสำคัญ 4 ด้าน ซึ่งได้แก่
- ความเสี่ยงภัยกรณีขาดรายได้ และเงินสำรองยามฉุกเฉิน : หากเกิดเหตุการณ์ตกงาน หรือมีรายจ่ายที่จำเป็นก้อนใหญ่เข้ามา ควรสำรองเงินรองรับไว้เท่าไหร่ เพื่อให้ไม่ต้องไปหยิบยืมเงินจากที่อื่น และ/หรือ ถอนเงินลงทุนที่ตั้งใจไว้สำหรับเป้าหมายอื่น
- ความเสี่ยงภัยกรณีเสียชีวิต : กรณีมีภาระหนี้สิน และ/หรือ มีผู้ที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากเรา การจากไปโดยกระทันหันจะทำอย่างไรให้คนข้างหลังไม่เดือดร้อน และดำรงชีวิตต่อไปได้ในรูปแบบที่เราต้องการ
- ความเสี่ยงภัยกรณีเจ็บป่วย : หากเกิดความเจ็บป่วยทั้งจากโรคภัย หรือประสบอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลจะรับมืออย่างไร ไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของตนเอง
- ความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน : ทรัพย์สินที่มีราคาสูง เช่น บ้านและรถ หากเกิดความเสียหายขึ้น อาจมีค่าใช้จ่ายสูงจนรับผิดชอบเองไม่ไหว ก็ควรโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกันคุ้มครองทรัพย์สินเหล่านั้น เช่น ประกันอัคคีภัย และ/หรือ ประกันรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายประเภทตามงบประมาณที่เรามี
แต่นอกจากความเสี่ยงภัยมาตราฐานทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สำหรับลูกค้าบางท่าน อาจจะมีความเสี่ยงภัยพิเศษที่คนส่วนใหญ่ไม่มี ซึ่งความเสี่ยงภัยนั้นคือ “ความรับผิดทางวิชาชีพ” ครับ
ความรับผิดทางวิชาชีพคืออะไร ?
ผู้ประกอบวิชาชีพบางสาขานั้น มีลักษณะการทำงานที่เสี่ยงต่อการทำงานผิดพลาด จนอาจส่งผลให้ผู้ว่าจ้าง ผู้รับบริการ หรือบุคคลภายนอกได้รับความเสียหาย ทั้งต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน นำมาซึ่งการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น วิชาชีพแพทย์ วิศวกร ผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน หนึ่งในอาชีพที่ปรากฎเป็นข่าวเรื่องการฟ้องร้องเป็นระยะ นั่นคือ วิชาชีพกลุ่มแพทย์ครับ ผมจึงขอยกตัวอย่างการจัดการความเสี่ยงความผิดทางวิชาชีพ โดยใช้กลุ่มวิชาชีพแพทย์เป็นตัวอย่างนะครับ
ทำไมการจัดการความเสี่ยงวิชาชีพแพทย์จึงสำคัญ ?
วิชาชีพแพทย์นั้น ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เนื่องจากลักษณะการทำงาน มีผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ ของผู้รับบริการเป็นอย่างมาก และมีความคาดหวังจากผู้ป่วยสูง
ส่งผลให้หากการรักษาเป็นไม่เป็นไปตามที่หวังผลไว้ แพทย์จำนวนมากจึงมีโอกาสที่ถูกคนไข้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ทำให้แพทย์ต้องมีภาระในการที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือมีภาระทางกฎหมายตามมา โดยมีสถิติดังนี้ครับ
- ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการจริยธรรม แพทยสภา ได้พิจารณารับเรื่องร้องเรียน และแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่มีการร้องเรียนเข้ามาแพทยสภา ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 มีจำนวนประมาณ 800 คดี
- ในทางคดีการฟ้องร้องแพทย์นั้น จากสถิติปี 2539 – 2559 พบว่ามีทั้งสิ้น 499 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่ง 287 คดี คดีอาญา 41 คดี คดีผู้บริโภค 168 คดี และคดีปกครอง 3 คดี สาเหตุของการฟ้องคดี ส่วนใหญ่หรือมากกว่า 50% มาจากการรักษาและวินิจฉัยที่ผิดพลาด
- รายงานจากทันตแพทย์สภาระบุว่า ตั้งแต่ปี 2539 – 2550 มีคดีฟ้องร้องทั้งสิ้น 130 คดี จำนวนคดีตั้งแต่ปี 2539 – 2544 จำนวนไม่มากต่ำกว่า 10 คดี แต่ในช่วงปี 2545 เป็นต้นไปคดีมีจำนวนสูงขึ้น สูงกว่า 10 คดี ต่อปี บางปีสูงถึงเกือบ 20 คดี ซึ่งหากพิจารณาจากอัตราส่วนทันตแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องแล้ว ยังถือว่าไม่สูงมาก แต่ก็บ่งชี้ถึงแนวโน้มที่จะมีการฟ้องร้องมากครั้งขึ้น
จากแนวโน้มของการฟ้องร้องที่สูงขึ้น ทั้งจำนวนบุคลากรการแพทย์ที่ถูกร้องเรียน และค่าความเสียหายที่ถูกเรียกร้อง การวางแผนจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากความรับผิดของวิชาชีพแพทย์ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งครับ
แนวทางในการจัดการความเสี่ยง
อาจสามารถจัดการได้หลายวิธี เช่น
1) ลด ควบคุม และ หลีกเลี่ยงความเสี่ยง : เป็นวิธีที่อาจทำได้ โดยการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ หมั่นศึกษาความรู้ให้ทันสมัยอยู่เสมอ รู้ขอบเขตหน้าที่ความเชี่ยวชาญของตน ให้การรักษาด้วยความไม่ประมาท และสร้างความสัมพันธที่ดีกับคนไข้ เป็นต้นครับ
การลด ควบคุม และ หลีกเลี่ยงความเสี่ยง จะช่วยให้โอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากการประกอบวิชาชีพลดลงอย่างมาก แต่เนื่องด้วยการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับมุมมองของคนไข้ต่อแพทย์ที่เริ่มเปลี่ยนไป ทำให้ในบางครั้งการลดความเสี่ยงด้วยตนเองอาจจะยังไม่เพียงพอ
การบริหารความเสี่ยงด้วยวิธีที่ 2 จึงจำเป็นต้องถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วยครับ
2) โอนความเสี่ยง : โดยการทำ ประกันภัยความรับผิดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ (Medical Malpractice Liability Insurance) เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายสำหรับผู้ประกอบอาชีพแพทย์ ในกรณีเวชปฏิบัติทางการแพทย์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพหรือจรรยาบรรณ โดยเกิดจากการประมาทเลินเล่อ และการละเมิดโดยไม่ตั้งใจ ยังผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย ซึ่งมีสาเหตุจาก
- การวินิจฉัยที่ล่าช้าเกินควร
- การวินิจฉัยที่ผิดพลาดหรือวินิจฉัยไม่ได้
- การปรึกษาหรือส่งต่อที่ล่าช้าเกินควร
- การประมาทในการใช้ยา
- การประมาทในการทำหัตถการรวมทั้งการผ่าตัด
- การให้การรักษาโดยปราศจากใบคำยินยอมโดยไม่มีเหตุอันควร
- การไม่ติดตามการรักษา
- ผลการรักษาที่ไม่ได้มาตราฐาน
โดยประกันภัยดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความรับผิดของแพทย์จากการถูกเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ป่วย ที่ผลการรักษาไม่เป็นไปตามความคาดหวัง โดยประกันคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายในการให้บริการทางแพทย์ที่ผิดพลาดโดยไม่ได้เจตนา นอกจากนี้ยังคุ้มครองรวมถึงค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีครับ
ซึ่งอัตราเบี้ยประกันภัย จะแบ่งกลุ่มตามความเสี่ยงของสาขาความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ดังนี้ครับ
- กลุ่มเบี้ยต่ำสุด เช่น อายุรแพทย์ จิตแพทย์ พยาธิแพทย์
- กลุ่มเบี้ยสูงกว่ากลุ่มแรก เช่น ศัลยแพทย์ จักษุแพทย์ ทันตแพทย์
- กลุ่มเบี้ยสูงที่สุด เช่น สูตินารีแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและสมอง
ในเบื้องต้นนั้น เบี้ยประกันภัยจะอยู่ในช่วงประมาณ 6,000 – 13,000 บาท ต่อความรับผิดครั้งละ 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามสาขาความเชี่ยวชาญ และอายุการปฏิบัติงานครับ
บทสรุป
แม้จะปฏิบัติงานอย่างสุดความสามารถ และกระทำโดยไม่ประมาทแล้วก็ตามที แต่ปัจจัยความเสี่ยงจำนวนมากที่ควบคุมได้ยาก และความคาดหวัง ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจ และความผิดพลาดได้
ซึ่งผมเชื่อว่า การปิดความเสี่ยงด้านความรับผิดทางวิชาชีพอย่างเหมาะสม จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี อุดรอยรั่วทางการเงิน ทำให้แผนการเงินและแผนชีวิตของทุกท่านดำเนินไปอย่างราบรื่นสมความตั้งใจ
ก่อนจบบทความนี้ผมจึงขอถือโอกาสเชิญชวน ว่าหากท่านผู้อ่านท่านใดประสงค์จะปรึกษาเรื่องการจัดการความเสี่ยงในมิติต่างๆ (รวมทั้งเรื่องความรับผิดทางวิชาชีพในบทความนี้ด้วย) ก็สามารถใช้บริการวางแผนการเงินจากทีม Avenger Planner ได้นะครับ
การวางแผนจัดการความเสี่ยงนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งใน “แผนการเงินแบบองค์รวม” ที่เราให้บริการกับลูกค้าอยู่แล้วครับ สามารถศึกษารายละเอียดของบริการได้จากเว็บไซต์ หน้านี้ ได้เลยนะครับ