เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮EP 3.1 : The Last Jigsaw แห่งการสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย
17/05/2021สังคมสูงอายุ… กับค่าใช้จ่ายยามเกษียณ
23/06/2021Editor’s Note : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต เขียนโดย คุณมิ้งค์ รชยา ผดุงตันตระกูล ซึ่งเป็นนักวางแผนการเงินของทีม Avenger Planner ภายใต้นามปากกาว่า “อิคิ”
เนื้อหาในบทความด้านล่างนี้ จึงเรียกแทนตัวผู้เขียนว่า “อิคิ” เช่นกันนะครับ
ก่อนอ่านบทความนี้ท่านสามารถอ่านบนความ เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮ตอนที่ 3.1 ได้โดยคลิก ที่นี่
EP.3.2 : The Last Jigsaw แห่งการสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย
ในตอนที่แล้ว อิคิ ∙ 生き ได้กล่าวถึง 3 ปัจจัยที่ทำให้ อิคิ ∙ 生き สามารถสร้างวินัยด้านการใช้จ่ายได้ดีขึ้น และปัจจัยเหล่านั้นก็คือ
- ความต้องการเอาชนะความรู้สึกผิดในความไม่มีวินัยด้านการใช้จ่ายของตัวเอง
- การได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
- COVID-19 คือ The Last Jigsaw ที่ได้มาเติมเต็มวินัยด้านการใช้จ่ายของ อิคิ ∙ 生き ให้สมบูรณ์มากขึ้น
ซึ่งในตอนที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き ได้เล่าให้ทุกท่านทราบถึงวินัยด้านการใช้จ่ายของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นสำหรับบทความนี้อิคิ ∙ 生き จะมาเล่ารายละเอียดว่าหนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE ได้สร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายให้ อิคิ ∙ 生き อย่างไร และ ทำไม COVID-19 จึงเป็น The Last Jigsaw ที่ได้มาเติมเต็มวินัยด้านการใช้จ่ายของ อิคิ ∙ 生き ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เรามาเริ่มกันเลยนะคะ
YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き มีโอกาสได้อ่านหนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE และเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ได้สร้างค่านิยมที่เข้มแข็งในด้านวินัยการใช้จ่ายให้กับ อิคิ ∙ 生き ไปตลอดชีวิต
หนังสือเล่มนี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้ประจักษ์ลงไปในระดับจิตใต้สำนึกว่า“อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างแท้จริง” และ “คุณค่าของตัวเราควรวัดที่ตรงไหน”
ความรู้จากหนังสือที่กล่าวว่า “ทางมาแห่งเงินนั้นแลกมาด้วยเวลาอันมีค่าและมีจำกัดของเรา” รวมไปถึงการที่ผู้เขียนได้อธิบายเรื่อง “เส้นโค้งความอิ่มเอม” ได้อย่างเห็นภาพ
สิ่งเหล่านี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้ตระหนักว่าอะไรคือสาระสำคัญของชีวิตอย่างจริงจังแบบไม่เคยเป็นมาก่อน โดย อิคิ ∙ 生き เคยเขียนถึงเนื้อหาเหล่านี้ไปในบทความ เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อิคิ ∙ 生き เริ่มได้รับคำบอกใบ้จากหนังสือเล่มนี้ว่า การที่เรามีชีวิตอยู่ในยุคทุนนิยม เราจะถูกกระตุ้นให้อยากได้อยากมีอย่างไม่รู้จักจบสิ้น นิสัยการจับจ่ายของเราจะทำให้เศรษฐกิจโตเติบและสร้างความมั่งคั่งให้กับโลกใบนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
หนังสือกล่าวว่าตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา “มนุษย์เราถูกบ่มเพาะความคิดให้ทำงานให้มาก คนที่ทำงานไม่ถึง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจ ในที่สุดกลายเป็นว่าพวกเราทึกทักไปเองว่าการทำงานแปดชั่วโมงต่อวันนั้นศักดิ์สิทธิ์จนแตะต้องไม่ได้”
อิคิ ∙ 生き เคยกลั่นกรองสิ่งที่ได้จากการอ่านโดยเขียนเป็นวงจรแห่งยุคทุนนิยมไว้ดังต่อไปนี้ค่ะ
การจ้างงานยิ่งมากเท่าไหร่ → ยิ่งเพิ่มจำนวนผู้บริโภค → ทำให้กำไรงอกเงย ธุรกิจขยายตัว → มีงานมากขึ้น → จ้างงานมากขึ้น → รายได้เพิ่มขึ้น → ผู้บริโภคมากขึ้น → จับจ่ายมากขึ้น → ผลิตเพิ่มขึ้น → กำไรมากขึ้น → จ้างงานมากขึ้น → รายได้เพิ่มขึ้น → ผู้บริโภคมากขึ้น → จับจ่ายมากขึ้น … เป็นแบบนี้ไปไม่มีวันจบ
แต่แล้วทุกวันที่เราทำงานภายในใจของเรากลับร้องเรียกเพรียกหาแต่วันหยุด เฝ้าฝันถึงแต่วันเกษียณอายุ สิ่งนี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き ตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า เส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่ มันใช่เส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่
การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้กลับมาถามตัวเองอย่างจริงจังว่า เรามีเวลาบนโลกใบนี้ไม่มาก การได้มาซึ่งสิ่งของต่างๆ ที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้สร้างสุข เราต้องเอาเวลาซึ่งเป็นสิ่งมีค่าไปแลกกับเงิน เพื่อไปแลกสิ่งของเหล่านั้นอีกที… การทำแบบนี้มันคือสิ่งที่ชีวิตเราต้องการจริงๆ อย่างนั้นหรือ ?
การตระหนักรู้ในสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายและการใช้ชีวิตให้กับ อิคิ ∙ 生き เป็นอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้ อิคิ ∙ 生き มีโอกาสได้อ่านหนังสือประเภทนี้มาแล้วหลายเล่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรากลับพบว่ามันเป็นแค่เพียงการเรียนรู้ระดับความคิดเท่านั้น แต่ความรู้เหล่านี้ยังไม่ได้สร้างจิตสำนึกที่แท้จริงลงไปในตัวตนของเรา
วิถีของชาว FI
เมื่อ อิคิ ∙ 生き อ่านหนังสือเล่มนี้จบ อิคิ ∙ 生き ก็ปฏิญาณกับตัวเองทันทีว่า ต่อไปนี้เราจะดำเนินชีวิตด้วยวิถีของชาว FI [Financially Independent] และบอกได้เลยค่ะว่า อิคิ ∙ 生きจริงจังกับเรื่องนี้มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
หลายๆ ท่านอาจมีคำถามว่าชาว FI คืออะไร…
- ชาว FI คือ บุคคลผู้วางแผนไปสู่อิสรภาพการเงินอย่างมีสติรู้ตัวว่าเราต้องการอะไรในชีวิต อีกทั้งชาว FI ยังรู้ถึงทางมาแห่งเงินที่ไหลเข้ามาและไหลออกไปจากชีวิตของเราเป็นอย่างดีอีกด้วย
- ชาว FI เป็นผู้ที่มีปัญญาทางการเงิน โดยอยู่เหนือสิ่งเร้าและการถูกกระตุ้นจากสังคมทุนนิยมที่กระตุ้นให้เราต้องทำให้มาก เพื่อมีให้มาก
- ชาว FI ไม่ได้ปฏิเสธการซื้อหรือใช้จ่าย แต่ชาว FI จะพิจารณาก่อนใช้จ่ายทุกครั้งว่าของที่เรากำลังจะใช้เงินแลกมา มันสามารถสร้างความอิ่มเอม ความพึงพอใจ และสามารถสร้างคุณค่าสมน้ำสมเนื้อกับพลังชีวิตของเราที่เสียไปหรือไม่
- ชาว FI เป็นบุคคลผู้มีบูรณภาพทางการเงิน โดยการปรับให้การเงินทุกแง่มุมสอดรับกับคุณค่าที่ยึดถือและปลดเปลื้องส่วนเกินให้ออกไปจากชีวิต
โดยหลักการของชาว FI มีอยู่ว่า สิ่งใดก็ตามที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ สิ่งใดก็ตามที่เราบริโภคแต่กลับไม่ได้รับความสุข นั่นคือเงินที่สูญเปล่า
นอกจากเราจะเสียพลังชีวิตของตัวเองแล้ว เรายังใช้ทรัพยากรอันมีจำกัดของโลกใบนี้อย่างทิ้งขว้างอีกด้วย และพลังชีวิตทุกนาทีที่เสียเปล่า หมายความว่า เราต้องเสียเวลาวิ่งวุ่นหาเงินเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นชาว FI จึงเชื่อว่า ความมัธยัสถ์คือแนวทางชีวิตที่เป็นมิตรทั้งต่อตนและโลกอย่างแท้จริง
ความหมายที่แท้ของคำว่ามัธยัสถ์
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “มัธยัสถ์” หลายๆ ท่านอาจคิดถึง “ความขาดแคลน” “การมีไม่เพียงพอ”
แต่ความมัธยัสถ์ที่แท้จริงห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้โดยสิ้นเชิง หนังสือเล่มนี้กล่าวว่าบุคคลที่มีความ มัธยัสถ์ คือ บุคคลที่รู้ว่าตัวเอง “มีพอแล้ว” ต่างหากค่ะ
ดังนั้น “ความมัธยัสถ์” จึงแตกต่างจาก “ความอัตคัด” หากมีโอกาส อิคิ ∙ 生き จะมาลงรายละเอียดให้ฟังนะคะ ว่าปัจจุบันนี้ อิคิ ∙ 生き ได้นำวิถี FI มาผนวกกับชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถบอกกับทุกท่านได้ในวันนี้คือ ทุกวันนี้ อิคิ ∙ 生き พยายามพิจารณาทุกการใช้จ่ายจนเป็นนิสัยมากขึ้น
คำถามที่จะผุดขึ้นมาในหัวสมองทุกครั้งก่อนใช้จ่ายคือ…
- เราอยากได้มันจริงรึเปล่า ?
- เราอยากได้มันจากภายในของเราจริงๆ ใช่ไหม ?
- ถ้าซื้อแล้วเราจะไม่รู้สึกผิดภายหลังใช่หรือไม่ ?
- ถ้าซื้อแล้วเราจะได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือมันจะสร้างประสบการณ์และความทรงจำที่ดีระหว่างเราและคนที่เรารักได้หรือเปล่า ?
- และสุดท้ายสิ่งที่เรากำลังจะนำพลังชีวิตหรือเวลาอันมีค่าของเราไปแลกมันคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้มาหรือไม่ ?
การตั้งคำถามเหล่านี้ก่อนที่เราจะเป็นเจ้าของสิ่งใด มันคือการสร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายของเราอย่างดีเยี่ยม
ดังนั้น การได้อ่านหนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE และการได้เริ่มดำเนินชีวิตตามวิถีชาว FI เป็นสิ่งที่ปลุกจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายในตัวของ อิคิ ∙ 生き ขึ้นมาได้อย่างยั่งยืนกว่าครั้งไหนๆ ค่ะ
ทิ้งท้ายก่อนจาก
เมื่อทุกท่านได้อ่านมาถึงจุดนี้ อิคิ ∙ 生き เชื่อว่าท่านคงจะพอเห็นภาพแล้วว่า หนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE ได้สร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายให้กับ อิคิ ∙ 生き อย่างไรบ้าง
แต่ อิคิ ∙ 生き บอกได้เลยค่ะว่า การอ่านหนังสือเล่มนี้เพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถทำให้ อิคิ ∙ 生き มีวินัยด้านการใช้จ่ายอย่างทุกวันนี้ได้เลยหากขาด Jigsaw ตัวสำคัญไป และ Jigsaw ตัวนั้นก็คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมานั่นเอง
ซึ่งรายละเอียดจะเป็นอย่างไร อิคิ ∙ 生き คงต้องฝากทุกท่านติดตามในบทความตอนที่ 3.3 ซึ่งจะเป็นบทความตอนสุดท้ายของหัวข้อ The Last Jigsaw แห่งการสร้างวินัยด้านการใช้จ่ายด้วยนะคะ
สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก….
- หนังสือ THE YEAR WITHOUT A PURCHASE เขียนโดย คุณ SCOTT DANNEMILLER
- YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE เขียนโดย Vicki Robin & Joe Dominguez & Monique Tilford