ต้องมีมากขนาดไหน… จึงจะเรียกว่ามั่งคั่ง
21/01/2021จำเป็นไหม… ที่ต้องใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน
26/03/2021Editor’s Note : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต เขียนโดย คุณมิ้งค์ รชยา ผดุงตันตระกูล ซึ่งเป็นนักวางแผนการเงินของทีม Avenger Planner ภายใต้นามปากกาว่า “อิคิ”
เนื้อหาในบทความด้านล่างนี้ จึงเรียกแทนตัวผู้เขียนว่า “อิคิ” เช่นกันนะครับ
บทความนี้ “อิคิ” ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE เขียนโดย Vicki Robin & Joe Dominguez & Monique Tilford จึงได้ถ่ายทอดออกมาในมุมมองของตนเอง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ
EP.2 : ว่าด้วยเรื่องเส้นโค้งความอิ่มเอม
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน
บทความนี้เป็นบทความตอนที่ 2 ของบทความชุด “เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต”
โดยจากบทความ ตอนที่ 1 อิคิ • 生き เชื่อว่าทุกท่านคงได้ทราบแล้วว่า “ทางมาแห่ง [เงิน] แลกมาด้วย [เวลา] อันมีค่าและมีจำกัดของเรา”
ดังนั้นก่อนที่ทุกท่านจะใช้เวลาทำอะไรควรต้องไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนก่อนว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้นเป็นสิ่งที่เราอยากทำอีกทั้งยังสอดคล้องกับคุณค่าและจุดมุ่งหมายของชีวิตใช่หรือไม่
เราควรต้องให้ความสำคัญกับการจัดลำดับเรื่องที่ต้องใช้เวลาแลกมาให้เคร่งครัด คิดให้มากก่อนแบ่งเวลาให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
แต่ก่อนที่ทุกท่านจะตัดสินใจได้ว่าอะไรควรทำและอะไร “ไม่ควร” เสียเวลาทำ เราทุกคนต้องทราบให้ได้ก่อนว่า จุดมุ่งหมายของเราคืออะไร สิ่งที่เราให้คุณค่านั้นหน้าตาเป็นแบบไหน
ซึ่งในตอนที่แล้ว อิคิ • 生き ได้ชวนให้ทุกท่านลองครุ่นคิดกับตัวเองผ่านคำถามต่างๆ ดังต่อไปนี้
- จริงๆ แล้ว คำว่าเงินมีความหมายอย่างไรกับเรา หรือเงินคืออะไรสำหรับเรา
- เราวาดภาพ อิสรภาพทางการเงิน ของเราไว้อย่างไร
- เรามีเป้าหมายชีวิตอย่างไร
ดังนั้นเมื่อเราทราบจุดมุ่งหมายแห่งชีวิตหรือสิ่งที่เราให้คุณค่าแล้ว ในตอนนี้ อิคิ • 生き จะมาเล่าถึงรายละเอียดในการตีความหมายของคำว่า [อิสรภาพทางการเงิน] ของแต่ละท่านให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้นนะคะ
・・・
หนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE ได้กล่าวว่า
เป้าหมายของคำว่า อิสรภาพทางการเงิน คือจุดที่เราทุกคนบอกตัวเองได้ว่า [เรามีพอแล้ว] และ [มีเผื่อจากคำว่าพอไปอีกเล็กน้อย]
หากเราใช้ชีวิตแบบไม่รู้ตัวว่าจุดที่ [พอ] ของเราคือจุดไหน เรามีโอกาสจะใช้พลังชีวิตเพื่อแลกกับเงินไปอย่างสูญเปล่าและไร้ความหมาย
ดังนั้นเราควรเก็บหรือจัดสรรพลังชีวิตที่มีอย่างจำกัดไว้สำหรับสิ่งที่เราให้คุณค่า สามารถสร้างความอิ่มเอมและเพิ่มพูนพลังชีวิตให้กับเราได้
คำถามก็คือ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า จุดที่ [พอ] ของเราคือจุดไหน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวว่า
เราสามารถเจอจุดที่ [ พอ ] ได้ ณ จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม
เมื่อหลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้ อิคิ • 生き เชื่อว่า คงมีคำถามผุดขึ้นในใจว่า แล้ว [ จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม ] คืออะไร ดังนั้นเรามาหาคำตอบกันไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ
จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม คือ จุดที่เงินยังสามารถสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้และจุดที่เงินสามารถสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้ก็คือ
- จุดที่เงินทำให้เรามีสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิต ช่วยให้เรากินอิ่มและนอนอุ่น
- เมื่อเรามีเงินในระดับที่เพียงพอต่อสิ่งจำเป็นพื้นฐาน การใช้เงินเพื่อสร้างความสบายและอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตก็ยังสามารถสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้อยู่ เช่น การมีรถยนต์แทนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทำให้เราไปที่ต่างๆ ได้สะดวกสบายขึ้น
- หลังจากเรามีเงินในระดับที่สร้างความสะดวกสบายแล้ว การใช้เงินไปกับความหรูหราที่เพิ่มขึ้นก็ยังสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้ เช่น แต่ก่อนเราขับ ECO CAR ความเจริญก้าวหน้าทางหน้าที่การงานทำให้เราสามารถซื้อรถหรูคันแรกในชีวิตได้ โดยรถคันนี้เปรียบเสมือนตัวแทนแห่งความสำเร็จซึ่งสร้างความรู้สึกภูมิใจและความอิ่มเอมในหัวใจเรา
แต่ถ้าหากเราซื้อรถหรูคันแล้ว คันเล่า แม้ว่ารถหรูคันต่อๆ ไปของเราอาจมีมูลค่าสูงกว่ารถหรูคันแรก แต่ความรู้สึกดี ความรู้สึกอิ่มเอม กลับไม่ติดแน่น ทนนาน และสร้างความภูมิใจให้กับเราเท่ากับตอนที่เราซื้อรถ ECO CAR หรือ รถหรูคันแรกเสียด้วยซ้ำ
ซ้ำร้ายหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เราอาจไปถึงจุดที่ว่า การซื้อรถหรูคันไหนๆ ก็ไม่อาจสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้เสียแล้ว
หรือไม่ก็ซื้อรถหรูราคาแสนแพง แต่วินาทีที่เราได้มันมาครอบครอง กลับไม่ได้ทำให้เราดีใจหรือถ้าดีใจก็ดีใจได้ไม่นาน
ดังนั้นถ้าเรารู้ก่อนว่าการซื้อรถหรูไม่ได้สร้างความอิ่มเอมให้กับเรา เราก็คงไม่ซื้อ และคงเลือกที่จะนำทรัพย์นั้นไปทำประโยชน์ที่สร้างคุณค่าต่อจิตใจเป็นการทดแทน
・・・
อิคิ • 生き อยากลองชวนทุกท่านจินตนาการถึงวัยเด็ก ในตอนที่เราได้ของขวัญบางชิ้นที่ทำให้เรารู้สึกดีใจและอิ่มเอมใจอย่างมาก โดยของขวัญชิ้นนั้นอาจเป็น ตุ๊กตา กล่องใส่ดินสอ จักรยานหรือหุ่นยนต์
ตอนที่ได้ของขวัญชิ้นนั้นครั้งแรก หัวใจเราพองโต วันๆ ขลุกอยู่กับสิ่งนั้นไม่เคยเบื่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราได้ของขวัญเหล่านั้นชิ้นแล้วชิ้นเล่า ตุ๊กตาตัวที่ สอง สาม และ สี่ กลับไม่ได้ทำให้เราตื่นเต้น ดีใจเท่ากับตุ๊กตาตัวแรก ความรู้สึกของเรากลับเริ่มชินชากับของเหล่านั้นเสียแล้ว
สำหรับหลายท่านที่เคยชอบตุ๊กตามากๆ ในวัยเด็ก เราอาจจะเก็บสะสมไว้มากมาย แต่เมื่อถึงวัยอันควร เราอาจต้องกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกจากชีวิต และท้ายที่สุดเราเลือกเก็บเพียงไม่กี่ตัวที่มีคุณค่าต่อจิตใจของเราจริงๆ เท่านั้น
คำถามในวัยผู้ใหญ่ที่เราควรถามตัวเองอีกครั้งคือ แล้วตอนนั้นเราเก็บสะสมตุ๊กตามากมายเหล่านั้นไปเพื่ออะไร ในเมื่อตัวที่ให้คุณค่าต่อหัวใจมีแค่เพียงไม่กี่ตัว
・・・
ซึ่งหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า “แม้ของหรูหราที่เพิ่มขึ้นจะยังให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ แต่ราคาต่อหนึ่งหน่วยความรู้สึกนั้นกลับแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความ ‘สำราญใจ’ ที่ได้ยังเลือนหายไปเร็วกว่าเดิม”
หากความรู้สึกของเราเดินมาถึงจุดนี้ นั่นหมายความว่าเราอยู่จุดที่ [ เลย ] จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอมไปแล้วค่ะ นั่นคือการใช้เงินแลกมาเพื่อความหรูหราจะไม่สามารถสร้างความสุขให้เราอย่างยั่งยืนได้อีกต่อไป
เมื่อเขียนมาถึงจุดนี้ ทำให้ อิคิ • 生き หวนคิดถึงการดู รายการ Perspective เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ที่ ‘เปอร์’ ผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์ ‘คุณธันวา-พลกฤษณ์ สุขเกษม’ นักธุรกิจหนุ่มวัย 40 ปี (ณ วันสัมภาษณ์) เจ้าของ Scenery Vintage Farm อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี โดยช่วงท้ายของการสัมภาษณ์คุณธันวาได้กล่าวว่า….
คุณธันวาเป็นคนที่ใฝ่ฝันมาทั้งชีวิตว่าอยากมีรถสปอร์ต และในวันที่คุณธันวาซื้อรถสปอร์ตราคาหลายสิบล้าน เพื่อเติมเต็มความฝันในวัยเด็ก หลังจากขับรถคันดังกล่าวจากโชว์รูมมายังบ้าน คุณธันวาได้เดินวนดูรถ 2 รอบ แล้วก็ต้องรู้สึกประหลาดใจว่า “ทำไมเราไม่รู้สึกดีใจเลย” คุณธันวารู้สึกตกใจกับความไม่ดีใจของตัวเอง และได้คำตอบกับตัวเองในวันนั้นว่า วัตถุไม่ได้ตอบโจทย์ทางจิตใจของเขาแม้แต่น้อย
การได้รถคันนี้มากลับทำให้คุณธันวารู้สึกว่า ซื้อมาแล้วใจไม่สบาย ไม่มีความสุข ขับรถคันนี้ไปที่ไหนก็มีแต่กังวลและเป็นห่วง มีแต่คนจ้องจะมองว่าคนขับคือใคร ซึ่งคุณธันวาเป็นคนที่ไม่ชอบให้ตัวเองเป็นจุดสนใจ
ท้ายสัมภาษณ์ ‘เปอร์’ ได้ถามคุณธันวาว่า ความสุขที่แท้จริงในชีวิตของพี่ธันคืออะไร คุณธันวาตอบว่า
ความสุขอาจไม่ต้องไปไหนไกลหรอก คนที่ยังไม่ได้ไปไหนไกลก็จะมีความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เจออะไรเลย แต่ว่าไม่ได้ห้ามว่าอย่าทำเลย แต่ดำเนินไปแล้ว ให้รู้ให้เร็ว แล้วก็ตกตะกอนตัวเองให้เร็ว
ส่วนตัว อิคิ • 生き คิดว่ามันคงดีไม่น้อยถ้าเราทราบจุดที่ [ พอ ] หรือ [ จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม ] ของเราแต่เนิ่นๆ
เพราะว่าเราจะได้ไม่เดินหลงทางและนำพลังชีวิตทั้งชีวิตของเราไปแลกกับคำว่า [ เงิน ] ที่ไม่ได้สร้างสุขหรือความอิ่มเอม ซึ่ง อิคิ • 生き คิดว่าแต่ละคนก็จะมีจุดที่ [ พอ ] แตกต่างกันไป ซึ่งเจ้าตัวจะต้องเป็นผู้ค้นหาด้วยตัวเองเท่านั้น
เมื่อทุกท่านพอจะเข้าใจแล้วว่า จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอมคือจุดที่เงินยังสามารถสร้างความอิ่มเอมให้กับเราได้ อิคิ • 生き เชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจมีคำถามในใจว่า แล้วเราจะประเมินได้อย่างไรว่าจุดที่ [ พอ ] หรือ [ จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม ] ของเราคือจุดไหน
・・・
ก่อนหน้านี้ อิคิ • 生き เคยใช้ชีวิตโดยไม่รู้ว่าจุดที่ [ พอ ] ของเราคือจุดไหน มุ่งมั่นทำงานอย่างไม่ลืมหูลืมตา เข้าใจว่าเงินเท่านั้นคือหมุดหมายของชีวิต
เมื่อวันเวลาผ่านไปธุรกิจเติบโตขึ้น มีทีมงานและเรื่องที่ต้องทำมากขึ้น แต่ความสุขทางใจของ อิคิ • 生き กลับเดินสวนทาง ชีวิตกลับด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ เกิดคำถามกับตัวเองว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เพื่อหาเงิน เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้ธุรกิจเติบโต ชีวิตมันคือแบบนี้เท่านั้นหรือ
จนกระทั่ง อิคิ • 生き ได้พบเจอคำว่า [ พอ ] ของตนเองด้วยการใช้เวลาอยู่กับตัวเองเงียบๆ การมีเวลาอยู่กับตัวเองอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง ทำให้ อิคิ • 生き ได้พูดคุยกับตัวเองอย่างลึกซึ้ง มีเวลาครุ่นคิดเกี่ยวกับชีวิต ผ่านการทำสมาธิ ฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ อ่านหนังสือ ตกตะกอนความคิดด้วยการเขียน ผ่านคำถามที่ถามตัวเองนับครั้งไม่ถ้วนว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
・・・
อิคิ • 生き ทำความรู้จักตัวเองเช่นนี้วันแล้ววันเล่าเป็นเวลาหลายปี กว่าที่ตัวเองจะได้เป้าหมายอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต และนั่นคือ การมีชีวิตที่แม้กระทั่งตัวเองยังรักและภูมิใจ
ผ่านการพัฒนาตน สร้างคุณค่าอันเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น และสิ่งนี้ได้ชุบชีวิตของ อิคิ • 生き ขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ อิคิ • 生き มีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
แต่คำว่า [ พอ ] ของ อิคิ • 生き ข้างต้นอาจเป็นอะไรที่กว้างครอบจักรวาลมากเกินไป ดังนั้น อิคิ • 生き จึงทำให้เป้าหมายมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการหลับตานึกถึงช่วงท้ายของชีวิตว่าเราอยากเห็นภาพตัวเองในวันนั้นเป็นอย่างไร
เมื่อเราเห็นภาพช่วงท้ายของชีวิตชัดเจนแล้ว อิคิ • 生き ก็จะย้อนกลับมาพิจารณาที่จุดปัจจุบันค่ะ ว่ามีอะไรเราควรต้องทำบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
อย่างที่ อิคิ • 生き ได้กล่าวไว้ใน ตอนที่แล้ว ว่าภาพในบั้นปลายชีวิตที่ อิคิ • 生き ต้องการให้เกิดขึ้นคือ ตอนที่ อิคิ • 生き อายุ 70 ปี อิคิ • 生き ต้องเป็นผู้สูงวัยที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง และดูแลตัวเองทั้งทางด้านกายภาพและด้านการเงินได้ อีกทั้งเรายังต้องสามารถทำบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าต่อจิตใจของตัวเองและหวังว่าสิ่งนั้นจะสร้างคุณค่าต่อคนรอบข้างด้วยเช่นกัน
เมื่อได้เป้าหมายใหญ่ของชีวิตแล้ว อิคิ • 生き ก็จึงมากำหนดเป้าหมายย่อยอันเป็น Roadmap ของชีวิตที่เราต้องบรรลุให้ได้ในระดับ วัน เดือน และปี ดังต่อไปนี้ค่ะ
- เป้าหมายด้านกายภาพ : หาก อิคิ • 生き ต้องการเป็นผู้ใหญ่วัย 70 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรง สิ่งที่ อิคิ • 生き ต้องทำ ณ วันนี้คือการออกกำลังกาย ดังนั้นเป้าหมายของ อิคิ • 生き คือ สร้างนิสัยการออกกำลังกายให้เป็นกิจวัตรแห่งชีวิต ด้วยการออกกำลังกาย 6 วันต่อสัปดาห์ คิดเป็นประมาณ 312 วันในหนึ่งปี โดยปรับรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะกับชีวิตของเราในแต่ละช่วงวัย และจะทำสิ่งนี้ไปจนกว่าร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย
- เป้าหมายด้านการสร้างทักษะ : เพื่อให้ตนเองยังสามารถทำบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าในวันที่ร่างกายโรยรา อิคิ • 生き คิดว่าทักษะทางด้านการอ่านและเขียน จะเป็นทักษะหนึ่งที่เราจะสามารถทำได้ตลอดชีวิต สิ่งนี้จึงเป็นเหตุให้ อิคิ • 生き ตั้งเป้าหมายอ่านหนังสือวันละ 15-20 นาทีในตอนเช้าทุกวัน และฝึกถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ผ่านการเขียนบทความลงบทพื้นที่แห่งการเขียนที่ อิคิ • 生き สร้างให้กับตัวเอง นั่นก็คือ เพจ : ชีวิต • อิคิ • 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต ที่ทุกท่านกำลังอ่านอยู่ตอนนี้นั่นเองค่ะ
- เป้าหมายด้านการเงิน : เป้าหมายนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำให้ อิคิ • 生き เป็นผู้สูงวัยที่ดูแลตนเองทางด้านการเงินได้ โดยไม่เป็นภาระต่อคนรอบข้างและสังคม อิคิ • 生き ในฐานะนักวางแผนการเงินสามารถบอกทุกท่านได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่า [ การวางแผนการเงินแบบองค์รวม ] ของทีม Avenger Planner ที่ อิคิ • 生き สังกัด จะสามารถช่วยเราหาคำตอบในเรื่องนี้ได้
ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการกำหนดเป้าหมายด้านการเงินจะช่วยประเมินมูลค่าจุดที่ [ พอ ] หรือ [ จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม ] ของเราออกมาเป็นตัวเงินได้ด้วยค่ะ สิ่งนี้จะทำให้แต่ละท่านมีเป้าหมายด้านการเงินที่เฉพาะเจาะจงและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
・・・
ซึ่งในตอนหน้า อิคิ • 生き จะมาเล่ารายละเอียดให้ทุกท่านทราบนะคะ ว่าการกำหนดเป้าหมายทางด้านการเงิน ควรเริ่มต้นอย่างไร
กระบวนการการค้นหามูลค่าของ จุดที่ [ พอ ] หรือ [ จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม ] จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน โดย อิคิ • 生き ถือว่าสิ่งเหล่านี้คือ การสร้างสติทางด้านการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้เรามีสติในการใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมายอีกด้วยค่ะ
แต่สำหรับวันนี้สิ่งที่ อิคิ • 生き ได้กล่าวมาทั้งหมด คือ การค้นหา จุดที่ [ พอ ] หรือ [ จุดยอดของเส้นโค้งความอิ่มเอม ] ในเชิงคุณภาพที่ทุกท่านจะต้องค้นหาด้วยตัวท่านเอง ผ่านการพูดคุยกับตัวเองจนได้ความคิดที่ตกตะกอน ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไรในชีวิต
ระหว่างนี้ อิคิ • 生き ฝากทุกท่านลองค้นหาเป้าหมายชีวิตในเชิงคุณภาพกันไปพลางๆ ก่อน ทุกท่านสามารถใช้เทคนิคเดียวกับ อิคิ • 生き ก็ได้นะคะ
นั่นคือการหาช่วงเวลาเงียบๆ หลับตาจินตนาการถึงช่วงท้ายของชีวิตว่าเราอยากมีชีวิตแบบไหนหรือเห็นภาพชีวิตของเราในตอนนั้นเป็นอย่างไร จากนั้นกลับมาพิจารณาที่ปัจจุบันว่าเราต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน เดือน ปี
แล้วเราจะกลับมาพบอีกครั้งกับบทความต่อไปในหัวข้อ “แผนการเงิน คือ สติในการใช้ชีวิต” ที่ อิคิ • 生き จะมาลงรายละเอียดกระบวนการวางแผนทางด้านการเงินเพื่อให้ทุกท่านสามารถประเมินมูลค่าจุดที่ [พอ] ออกมาเป็นตัวเลขไปพร้อมๆ กันนะคะ
สำหรับวันนี้ อิคิ • 生き ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป
สวัสดีค่ะ