ถ้าวันหนึ่งต้องตกงาน… จะเตรียมแผนการเงินไว้รับมืออย่างไร ?
26/08/2020แผนการเงินพื้นฐาน 7 ขั้นตอน : สำหรับนักศึกษาจบใหม่
18/09/2020เรียนท่านลูกค้าที่เคารพ
สืบเนื่องจากที่ทาง Avenger Planner ได้เผยแพร่ สถานการณ์การลงทุน และแนวทางการจัดการ ฉบับล่าสุด ไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 63
ซึ่งในบทความดังกล่าวนั้น ได้มีคำแนะนำสำคัญคือ “ควรเพิ่มความระมัดระวัง” ในการลงทุน เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น มีความเสี่ยงเชิงลบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างมาก
โดยได้มีคำแนะนำ สำหรับลูกค้ากลุ่มที่อาจรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่าลูกค้าท่านอื่นๆ ซึ่งได้แก่
- ลูกค้าที่พอร์ตเริ่มมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับเป้าหมาย
- ลูกค้าที่มีระยะเวลาลงทุนสั้น และต้องใช้เงินลงทุนดังกล่าวในเวลาอีกไม่นาน
- ลูกค้าที่มีเงินลงทุนใหม่จำกัด หรือมีมูลค่าไม่มาก เมื่อเทียบกับขนาดพอร์ตปัจจุบัน
โดยได้แนะนำให้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ลงให้เหลือสัดส่วน “ครึ่งหนึ่ง” จากสัดส่วนในแผนระยะยาว (SAA : Strategic Asset Allocation) ที่ Planner ได้วางแผนให้กับลูกค้าแต่ละท่านไว้ เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพอร์ต
ในขณะที่สำหรับลูกค้ากลุ่มอื่นๆ นั้น ยังคงแนะนำให้คงการลงทุนตามแผนการลงทุนเดิม ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น
บัดนี้ผ่านมาประมาณ 6 เดือนนับจากการให้คำแนะนำครั้งก่อนหน้า เราประเมินว่าสถานการณ์พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงขออัพเดทสถานการณ์ และแนะนำแนวทางในการจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. พัฒนาการของเหตุการณ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
แม้ ณ ปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 จะยังคงเป็นวิกฤติใหญ่ของโลกอยู่ แต่ก็มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก แม้จะอยู่ในระดับสูงถึง 28 ล้านคน แต่เริ่มมีสัญญาณที่ดี โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกตลอดเดือน ส.ค. 63 มีการเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งที่ลดลงกว่าช่วงเดือน เม.ย. – ก.ค. 63 อย่างชัดเจน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายนั้นยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายในแต่ละวันนั้น จะสูงกว่าจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ตรวจพบในแต่ละวันภายในเวลาไม่ช้า
ที่มา : องค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 11 ก.ย. 63
ที่มา : Worldometer ณ วันที่ 10 ก.ย. 63
- การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของทีมนักวิจัยทั่วโลกนั้น มีความรุดหน้าและมีโอกาสสูงที่จะคิดค้นและผลิตวัคซีนได้สำเร็จ จากการที่มีจำนวนผู้วิจัยที่ทยอยเข้าใกล้ความสำเร็จจำนวนมากขึ้น และจากการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้กระบวนการคิดค้นวัคซีนนั้นเป็นไปได้รวดเร็วขึ้นกว่าขั้นตอนปกติ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีผู้วิจัย 3 รายที่เริ่มทดลองใช้วัคซีนจริงกับมนุษย์ในวงจำกัดแล้ว (Early or Limited Approval) ขณะที่อีก 9 รายกำลังทดลองอยู่ใน Phase 3 (Efficacy Trials) เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนกับอาสาสมัครในวงกว้าง นอกจากนั้นยังมีผู้วิจัยอีกหลายสิบรายที่ทำการทดลองอยู่ใน Phase 1 และ 2
ที่มา : The New York Times ณ วันที่ 10 ก.ย. 63
- ความพยายามของภาครัฐและธนาคารกลางที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำ ยังคงดำเนินอยู่อย่างแข็งขันทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศหลักซึ่งเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ในรูปแบบของการใช้มาตรการทางการคลัง (เช่น ชดเชยรายได้ เพิ่มเงินลงทุนในโครงการต่างๆ มาตรการทางภาษี การผ่อนปรนกฎระเบียบ) และมาตรการทางการเงิน (เช่น เพิ่มสภาพคล่อง เข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงินเพื่อพยุงราคา) โดยดำเนินการผสมผสานกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือทั้งภาคเศรษฐกิจจริง และในตลาดการเงิน ให้สามารถประคองตัวผ่านวิกฤติไปได้
- ผลจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลงทุนฟื้นตัวขึ้นได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานอยู่บนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ (New Economy) ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโต และได้รับผลกระทบน้อยจากวิกฤติ COVID-19 อาทิ หุ้นในกลุ่ม Global Technology และหุ้นของประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สหรัฐฯ และ จีน ซึ่งสามารถพลิกกลับมาสร้างผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีเป็นบวกได้ถึง 30.7%, 9.3% และ 19.4% ตามลำดับ (ผลตอบแทน ณ 31 ส.ค. 63)
- ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงในระดับโลกที่สำคัญอาทิ Credit Risk และ Liquidity Risk ได้ปรับลงมาจากระดับที่สะท้อนวิกฤติและเข้าสู่ระดับใกล้เคียงปกติแล้ว ขณะที่ดัชนีวัดความเสี่ยงด้าน Market Risk หรือความผันผวนของตลาดนั้น แม้จะมีการดีดกลับขึ้นบ้างตามปัจจัยระยะสั้น แต่แนวโน้มก็อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. 63 ที่ผ่านมา
ที่มา : Bloomberg, FRED Economic Data ข้อมูล ณ 31 ส.ค 63
- ล่าสุดนับตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 63 ที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์เสี่ยงมีการปรับฐานลงมาค่อนข้างมาก โดยดัชนีหุ้นหลักๆ ปรับลงตั้งแต่ 3-10% (ข้อมูลถึง 11 ก.ย. 63) ซึ่งการปรับลงในลักษณะดังกล่าวนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาในรอบกว่า 3 เดือน โดยมีลักษณะเป็นการขายเพื่อทำกำไรหลังจากที่ราคาสินทรัพย์ปรับขึ้นมาต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้มีปัจจัยลบที่ชัดเจนปรากฏขึ้น
2. การประเมินสถานการณ์การลงทุนในช่วงต่อไป
ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น ทำให้ Avenger Planner ประเมินว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม สำหรับลูกค้าที่ได้มีการปรับลดสัดส่วน (Underweight) การลงทุนใน “หุ้นต่างประเทศ” ไปในช่วงก่อนหน้า จะได้ปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นให้กลับมาสู่ระดับปกติ (Neutral) ตามแผนการลงทุนระยะยาว (SAA) โดยเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุน ณ ปัจจุบันนั้น “กำลังมุ่งหน้าไปสู่การคลี่คลายจากจากภาวะวิกฤติ”
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการคลี่คลายจากวิกฤตินี้ เราประเมินว่าจะไม่ราบเรียบนัก เนื่องจากมีโอกาสที่ในระยะสั้นจะมีข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ที่กระทบความเชื่อมั่นของตลาดปรากฎขึ้นเป็นระยะ ทั้งจากผู้ป่วยรายใหม่ที่ยังคงตรวจพบเพิ่มขึ้นอยู่ ความคืบหน้าของการทดลองวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอน นโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ที่อาจต้องมีการทบทวน ต่ออายุ หรือเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ
ซึ่งหากมีปัจจัยลบในระยะสั้นเกิดขึ้น ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ค่อนข้างดี อาจเกิดการปรับฐานลงไปได้อีก ดังเช่นที่เพิ่งเกิดการปรับฐานไปในช่วงต้นเดือน ก.ย. นี้ หากเป็นเช่นนั้น เราประเมินว่าการปรับตัวลงจะน้อยกว่า และกินเวลาสั้นกว่า การปรับตัวลงครั้งใหญ่ในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. 63 ที่ผ่านมา เนื่องจากในครั้งนั้นตลาดประสบกับวิกฤตการณ์ COVID-19 เป็นช่วงแรก การประเมินสถานการณ์ต่างๆ เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แต่ ณ ปัจจุบันนี้ นักลงทุนทั่วโลกมีความคุ้นเคยกับเหตุการณ์มากพอสมควรแล้ว การตรวจรักษาก็มีความเชี่ยวชาญขึ้น ไม่มีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ การคิดค้นวัคซีนก็มีความคืบหน้าที่ดี อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังคงบังคับใช้ และยังมีการให้ความเชื่อมั่นจากธนาคารกลางหลักๆ ของโลก ที่พร้อมจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเมื่อจำเป็น เราจึงคิดว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะปรับพอร์ตในส่วนของหุ้นต่างประเทศ กลับเข้าสู่สัดส่วนปกติ (Neutral) ตามแผนระยะยาว
ในส่วนของหุ้นไทยนั้น เรายังคงแนะนำให้ลดสัดส่วน (Underweight) ไว้ที่ “ครึ่งหนึ่ง” ของแผนระยะยาว (SAA) ตามคำแนะนำเดิม เนื่องจากปัจจัยเฉพาะตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยนั้นยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัยลบสำคัญต่างๆ ได้แก่
- เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในสัดส่วนสูง ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศน่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดิมได้เร็ว โดยอาจต้องรอจนวัคซีน COVID-19 มีการแจกจ่ายและใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกก่อน อีกทั้งกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเองก็อาจลดลงจากการที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วง COVID-19 มาเช่นกัน
- การดำเนินมาตรการเพื่อพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความล่าช้า และยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก เช่นการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากวงเงินรวมทั้งสิ้น 4 แสนล้าน แต่ยังอนุมัติให้เบิกจ่ายได้เพียง 4-5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หรือการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการที่ยากลำบากสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เป็นต้น
- การเมืองไทยมีเสถียรภาพที่คลอนแคลน ทั้งจากเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ การแตกแยกกันของพรรคร่วมรัฐบาล หรือในกรณีล่าสุดคือการลาออกอย่างกะทันหันของนายปรีดี ดาวฉาย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากการรับตำแหน่งเพียงไม่ถึง 1 เดือน
- แนวโน้มด้านราคา (Price Momentum) ของตลาดหุ้นไทยเองก็ยังคงอยู่ในทิศทางขาลงอย่างต่อเนื่องมากว่า 50 สัปดาห์ ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นหลักอื่นๆ ที่กลับสู่ทิศทางขาขึ้นแล้ว ขณะที่ Valuation เมื่อวัดด้วย P/E Ratio ก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับปัจจัยบวกที่มีอยู่จำกัด
3. สรุปคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม
คำเตือน คำแนะนำต่อไปนี้ มิใช่คำแนะนำแบบเฉพาะเจาะจง จึงมิได้มีการคำนึงถึงรายละเอียดและข้อจำกัดเฉพาะของลูกค้าแต่ละท่าน คำแนะนำนี้จึงควรใช้ร่วมกับคำแนะนำแบบเฉพาะเจาะจง จากนักวางแผนการเงินที่รับผิดชอบให้บริการท่าน ซึ่งท่านสามารถติดต่อกับนักวางแผนการเงินของท่านได้โดยตรงนะครับ
จากมุมมองต่อสถานการณ์ข้างต้น Avenger Planner ขอสรุปคำแนะนำในการบริหารและปรับพอร์ตการลงทุนสำหรับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
3.1 คำแนะนำสำหรับลูกค้าที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน
ซึ่งหมายรวมถึงลูกค้าที่ปัจจุบันพอร์ตยังมีมูลค่าไม่สูงมาก มีระยะเวลาลงทุนยาว และ มีเงินลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เรายังคงคำแนะนำให้ท่าน “รักษาวินัยการลงทุนให้ต่อเนื่อง” ไว้ตามแผนระยะยาว ซึ่งท่านได้รับจาก Planner ที่รับผิดชอบให้บริการท่านตามเดิม
โดยเราเชื่อว่าแผนลงทุนในแนวทางของ Avenger Planner ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
- มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่ผ่านการคัดเลือก ทั้งในและต่างประเทศ และผสมสัดส่วน Asset Allocation ให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านผลตอบแทน ความเสี่ยง และระยะเวลาการลงทุนของลูกค้าแต่ละท่าน
- มีการคัดเลือกเครื่องมือลงทุนซึ่งใช้เป็นตัวแทนสินทรัพย์ที่ดี โดยพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งระดับและความสม่ำเสมอของผลตอบแทน ค่าใช้จ่ายของกองทุนที่เหมาะสม โดยมีการทบทวนรายชื่อกองทุนดังกล่าวในกรอบเวลาที่ไม่ถี่หรือห่างจนเกินไป
- เน้นวินัยในการลงทุน ด้วยการทยอยลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ และเน้นให้สินทรัพย์ที่ดีได้มีโอกาสทำงานไปตามศักยภาพของแต่ละสินทรัพย์ในระยะยาว โดยไม่เข้าแทรกแซงด้วยการจับจังหวะลงทุนที่ถี่เกินไป
ซึ่งองค์ประกอบ 3 ส่วนนี้ เราเชื่อว่ามีความเพียงพอและเหมาะสม ที่จะช่วยให้ท่านสามารถได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้
ทั้งนี้หากพอร์ตการลงทุนของท่าน ยังไม่ได้มีการปรับให้ตรงกับแผนการลงทุนที่ได้รับ ท่านอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ และรายชื่อกองทุนรวมที่ใช้ลงทุน ให้ใกล้เคียงกับแผนมากยิ่งขึ้น โดยสามารถปรึกษากับนักวางแผนการเงินของท่านได้โดยตรงนะครับ
3.2 คำแนะนำสำหรับลูกค้าที่ลงทุนมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว
ทั้งนี้หมายรวมถึง ลูกค้าที่ปัจจุบันพอร์ตเริ่มมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับเป้าหมาย และ/หรือ มีระยะเวลาลงทุนสั้นลงกว่าลูกค้ากลุ่มแรก และ/หรือ เงินลงทุนใหม่มีจำกัด เมื่อเทียบกับขนาดพอร์ตปัจจุบัน รวมทั้งลูกค้าที่ได้ทำการปรับพอร์ตลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปตาม คำแนะนำเดิมที่ได้ให้ไว้เมื่อ 19 มี.ค. 63
ด้วยสถานการณ์ที่พัฒนาไปในทิศทางที่คลี่คลายขึ้น เราจึงขอแนะนำให้ปรับสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ต ให้เข้าใกล้สัดส่วนปกติตามแผนระยะยาว (SAA) มากขึ้น โดยมีคำแนะนำสำคัญดังนี้
- สำหรับสินทรัพย์ส่วนที่ไม่ใช่หุ้น อาทิ ตราสารหนี้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่นๆ ยังคงแนะนำให้ลงทุนตามสัดส่วนตามแผนระยะยาวตามเดิม
- สำหรับหุ้นต่างประเทศทั้งหมดในพอร์ต แนะนำให้ปรับสัดส่วนกลับมาเท่ากับสัดส่วนตามแผนระยะยาว (จากเดิมที่แนะนำให้ปรับลดลงไป)
- สำหรับหุ้นไทย ยังคงคำแนะนำตามเดิม คือให้ลดสัดส่วนหุ้นไทยในพอร์ตไว้ที่ “ครึ่งหนึ่ง” ของแผนระยะยาว
ทั้งนี้ท่านสามารถติดต่อ Planner ของท่าน เพื่อขอรับคำแนะนำในการปรับพอร์ตอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไปนะครับ
คำเตือน
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสามารถขอข้อมูลและคำปรึกษาจากผู้แนะนำ/ผู้วางแผนการลงทุนของท่านก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
- คำแนะนำที่ปรากฎในบทความนี้ทั้งหมด มิใช่คำแนะนำแบบเฉพาะเจาะจงถึงผู้ลงทุนรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ โปรดใช้ดุลยพินิจในการศึกษาข้อมูล