วัยเด็ก | วัยทำงาน | วัยเกษียณ : เส้นทางชีวิตของ Jack Welch แห่ง General Electric
23/04/2020จัดการทรัพย์สินและมรดกในแบบฉบับของ Warren Buffett
26/05/2020แนวคิด “เกษียณเร็ว” หรือ การมีอิสรภาพทางการเงินจนสามารถหยุดทำงานตั้งแต่อายุไม่มาก เป็นแนวคิดที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในยุคสมัยนี้
เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของ ผู้ที่ปรารถนาความเป็นอิสระ ต้องการเวลาไปทำสิ่งที่อยากทำตั้งแต่ในวัยหนุ่มสาวที่ยังมีพละกำลังมากมาย และไม่อยากจะทำงานไปจนแก่ แล้วค่อยได้ใช้ชีวิตอิสระในวัยเกษียณ ซึ่งอาจจะเหลือเรี่ยวแรงไปทำสิ่งต่างๆ ไม่มากแล้ว
ในมุมหนึ่งแนวคิดเกษียณเร็วก็เป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะการที่เราหมดความกังวลเรื่องเงิน ไม่ต้องห่วงเรื่องงาน ไม่มี Bad Monday มาคอยหลอกหลอน ใครๆ ก็หวังถึงชีวิตแบบนี้จริงไหมครับ ผมเองก็ยังหวังเช่นกัน
แต่ช้าก่อน! การเกษียณเร็วไป ก็อาจจะมีผลเสียตามมาได้เหมือนกัน
ในบทความนี้ ผมจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่าน “มองโลกในแง่ร้าย” ถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่สนใจจะเกษียณเร็ว โดยหวังว่าทุกท่านจะสามารถนำประเด็นทั้ง 7 ข้อนี้ ไปใช้วางแผนให้รัดกุมและรอบคอบยิ่งขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเกษียณเร็วกันนะครับ
1. วิถีชีวิตที่อาจไม่สมดุล และความเสี่ยงที่อาจมากเกินไปในช่วงเตรียมตัว
ยิ่งวางแผนจะเกษียณเร็วขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้เรามีเวลาในการเก็บเงินหรือเตรียมทรัพย์สินสำหรับการเกษียณน้อยลงไปเท่านั้น
การที่จะทำแผนเกษียณเร็วให้สำเร็จได้ จึงมักเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตัดสินใจใน 2 แนวทางต่อไปนี้
- ต้องเก็บเงินต่อปีมากยิ่งขึ้น ทั้งโดยการ ลดรายจ่าย ซึ่งอาจกระทบกับคุณภาพของชีวิตในปัจจุบัน และ การเพิ่มรายได้ ที่ต้องทุ่มสรรพกำลัง ทั้งสติปัญญา ทรัพยากร และ เวลา ซึ่งหากจัดการได้ไม่ดี อาจทำให้เสียสมดุลในชีวิตมากจนเกินไป จนกระทบทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
- ต้องเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากจนเกินไป ซึ่งอาจมาในรูปแบบของความผันผวนที่มากไป การลงทุนกระจุกตัวเกินไป หรือการกู้ยืม (Leverage) ที่มากเกินไป (หากการลงทุนนั้นสามารถใช้การกู้ยืมมาช่วยเร่งผลตอบแทนได้)
2. ต้องเตรียมรายจ่ายหลังเกษียณไว้มากกว่าการเกษียณอายุแบบทั่วไป
การเกษียณเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้มีช่วงเวลาหลังเกษียณยาวนานขึ้น ซึ่งจะทำให้รายจ่ายที่ต้องเตรียมนั้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น
- ค่าใช้จ่ายทั่วไป หากคาดการณ์อายุขัยที่ 80 ปี โดยสมมติให้ใช้จ่ายเท่ากันตลอดเดือนละ 20,000 บาท กรณีเกษียณตอนอายุ 60 ปี จะต้องเตรียมเงินทั้งสิ้น 4,800,000 บาท แต่หากเลื่อนเวลาเกษียณเร็วขึ้นเป็นตอนอายุ 40 ปี ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้จะเพิ่มขึ้นเป็น 9,600,000 บาท และจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากร่นอายุเกษียณลงมาอีก
- ค่าเบี้ยประกันและค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองความเสี่ยง เพราะเมื่อช่วงเวลาหลังเกษียณมีมากขึ้น ช่วงเวลาที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันหลังเกษียณก็จะยาวนานขึ้น ทำให้ต้องเตรียมเงินไว้เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งในส่วนของเบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยบ้าน และอื่นๆ
- รายจ่ายก้อนใหญ่ เช่น หากต้องการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ทุกๆ 10 ปี การเลื่อนเวลาเกษียณให้เร็วขึ้นอีก 10 ปี หมายถึงเราต้องเตรียมเงินสำหรับซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคัน และนั่นยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราต้องเตรียมไว้ด้วย เช่น ค่างวดบ้าน/ค่าปรับปรุงบ้าน ค่าการศึกษาบุตร ค่ารักษาพยาบาลของตนเองและผู้อยู่ในอุปการะ และ ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขเพิ่มเติมต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว หรือ การกุศล ฯลฯ
3. อาจวางแผนค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไว้น้อยเกินไป หรือหลงลืมค่าใช้จ่ายบางอย่าง
เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตในช่วงก่อนและหลังเกษียณนั้นอาจมีความแตกต่างกัน
ยิ่งเกษียณตั้งแต่อายุยังไม่มาก ยิ่งมีแนวโน้มที่รูปแบบการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปได้มาก
ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบางอย่างอาจถูกประเมินไว้ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดมาก่อนเพิ่มเข้ามา ตัวอย่างเช่น
- หลังเกษียณมีเวลาว่างมากขึ้น ขณะที่สุขภาพร่างกายยังแข็งแรงเต็มที่ อาจทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
- แผนชีวิตหลังเกษียณอาจไม่เป็นไปตามที่คาด เช่น วางแผนจะใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในต่างจังหวัด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตเช่นนั้นจริง กลับพบว่าไม่ใช่วิถีชีวิตที่เหมาะกับตนเอง จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าที่วางแผนไว้
- บางคนเกษียณเร็วตั้งแต่ยังโสด โดยไม่คิดว่าจะมีครอบครัว หรือบางคนแต่งงานแล้ว เดิมวางแผนจะไม่มีบุตร แต่หลังจากตัดสินใจเกษียณเร็ว ชีวิตอาจเปลี่ยนไป คนโสดอาจมีคู่ คนที่คิดจะไม่มีบุตร อาจเปลี่ยนใจมีบุตรขึ้นมา
- บางคนเกษียณเร็วตั้งแต่ที่พ่อแม่ยังทำงานหรือยังเลี้ยงดูตนเองได้ ในอนาคตอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อแม่เพิ่มขึ้น เมื่อพ่อแม่แก่ตัวลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งเดิมอาจไม่เคยต้องช่วยจ่ายมาก่อนเพราะพ่อแม่ยังแข็งแรง
4. ไม่ปรับค่าใช้จ่ายตามอัตราเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อทำให้ราคาของสินค้าและบริการต่างๆ แพงขึ้นครับ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเมื่ออายุมากขึ้น หรือในปีหลังๆ ของการเกษียณอายุ ย่อมเพิ่มมากกว่าที่ต้องจ่ายในช่วงปีแรกๆ ตัวอย่างเช่น
- หากอัตราเงินเฟ้อของค่าใช้จ่ายทั่วไปเท่ากับ 3% ต่อปี
ค่าใช้จ่าย 20,000 บาท ณ ปัจจุบัน จะเพิ่มเป็น 36,000 บาทในปีที่ 20 และเพิ่มเป็นถึง 48,500 บาทในปีที่ 30 - หากอัตราเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลเท่ากับ 7% ต่อปี
ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท ณ ปัจจุบัน จะเพิ่มเป็น 387,000 บาทในปีที่ 20 และเพิ่มเป็นถึง 761,000 บาทในปีที่ 30
ดังนั้น หากเราลืมคำนึงถึงเรื่องนี้ไป ก็จะส่งผลให้เงินที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอ
โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เกษียณเร็วตั้งแต่อายุยังน้อยนั้น จะยิ่งมีระยะเวลาที่เงินเฟ้อสามารถทำงานได้นานขึ้นกว่าผู้ที่เกษียณตอนที่อายุมากแล้ว
5. คาดการณ์อายุขัยน้อยเกินไป
ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า อาจทำให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้นได้มากกว่าที่เราคาดคิด ซึ่งอาจทำให้การการวางแผนต่างๆ ผิดพลาดตามไปด้วย
เพราะหากประเมินโดยพิจารณาจากเพียงสถิติที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน หรือจากอายุขัยของญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว อาจมีโอกาสที่เราจะประเมินอายุขัยตัวเองต่ำเกินไป เนื่องจากไม่ได้เผื่ออายุขัยที่อาจเพิ่มขึ้นจากพัฒนาการทางการแพทย์ร่วมด้วย
ความเสี่ยงเรื่องนี้ค่อนข้างแก้ไขยาก เพราะกว่าจะรู้ว่าเตรียมทรัพย์สินและเงินทุนไว้ไม่เพียงพอ ก็อาจจะเมื่ออายุมากขึ้น จนขยับขยายๆ ไปหารายได้เพิ่มได้ยากแล้ว
6. โลกยังคงไม่หยุดหมุน ความเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ในปัจจุบันโลกหมุนเร็วมากครับ สิ่งที่เคยดีไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นปันผลชั้นเลิศ หรือสินทรัพย์การเงินต่างๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าเราไม่ติดตามควบคุมดูแลมันอย่างต่อเนื่อง
- การลงทุนในพอร์ตเพื่อเป็น Passive Income หลังเกษียณ จากที่เคยทำได้ดี อาจจะไม่ดีเหมือนอย่างเคย เช่น อัตราดอกเบี้ย หรือ อัตราเงินปันผลที่เคยคาดการณ์ไว้สูง ก็อาจจะลดต่ำลง จนไม่เพียงพอ และวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นถี่กว่าเดิม
- คนที่มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าเพื่อเป็น Passive Income หลังเกษียณ เมื่อถึงจุดหนึ่งทรัพย์เหล่านั้นก็จะเก่าและเสื่อมโทรมลง จนอาจเก็บค่าเช่าได้น้อย หรือหาผู้เช่าได้ยาก ครั้นจะขายออกก็อาจได้ราคาไม่ดีนัก เพราะมีทรัพย์อื่นๆ ที่ใหม่กว่าขายอยู่เช่นกัน
- การเกษียณเร็ว อาจหมายถึงการที่เราต้องวางมือจากสิ่งที่เราเคยทำ เช่น จากธุรกิจที่เราเคยเป็นคนสำคัญในการบริหารจัดการ ซึ่งก็อาจทำให้ธุรกิจถดถอย ขณะเดียวกันตัวธุรกิจเอง ก็อาจถูก Disrupt โดยธุรกิจใหม่ๆ จนไม่สามารถอยู่รอด เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้กับเราได้ในระยะยาว อย่างที่เราวางแผนไว้
7. สภาวะจิตใจหลังเกษียณเร็ว
เมื่อตัดสินใจเกษียณเร็วแล้ว
- งานที่เราเคยเป็นคนสำคัญ
- กิจกรรมที่เคยได้ทำ
- สังคมที่เคยได้พบเจอก่อนเกษียณนั้น
หลายๆ อย่างจะหายไป ซึ่งอาจจะส่งผลในแง่ลบต่อจิตใจของเราได้ เพราะเวลาว่างที่เคยไขว่คว้า แต่เมื่อมีมากเกินไป จนเหมือนไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็อาจจะกระทบความภาคภูมิใจหรือคุณค่าในตนเอง
กิจกรรมที่อยากทำมาตลอด เมื่อได้ทำบ่อยครั้งเข้า ก็อาจกลายเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อไปได้
คนคุ้นเคยที่คุยกันถูกคอ ตอนนี้จะหาคนที่ว่างตรงกันก็ยาก เพราะคนอื่นยังคงทำงานอยู่ และแม้จะได้พบกัน เรื่องที่พูดคุยก็จะเริ่มห่างกันไปทุกที เพราะวิถีชีวิตก็แตกต่างกันมากขึ้น
คำถามคือ… เราสามารถจัดการกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ ?
บทสรุป
จะเห็นว่าหากมองโลกในแง่ร้ายนั้น การเกษียณเร็วมากๆ ก็อาจจะตามมาด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง ดังที่ได้กล่าวไปใน 7 ข้อข้างต้น
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายว่าเป้าหมายเกษียณเร็วนั้น เป็นสิ่งต้องห้าม หรือไม่ควรทำนะครับ
เพราะหากเราสามารถจัดการกับประเด็นความเสี่ยงและปัญหาต่างๆ ได้ รวมทั้งเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ว่า การเกษียณเร็ว เป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะลงมือทำให้สำเร็จ
แต่สำหรับท่านใดที่เห็นว่าการเกษียณเร็วนั้น อาจจะไม่ใช่คำตอบ ผมคิดว่าการออกแบบ “ทางสายกลาง” ที่พอดีกับความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
เพราะถ้าความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ คือการมีชีวิตที่มีความสุข เราอาจไม่จำเป็นต้องเอาคำว่าเกษียณเร็ว มาเป็นเงื่อนไขเพื่อจะมีความสุขนั้น
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ความสุขจะเกิดขึ้นมาได้เอง โดยไม่ต้องทำอะไรนะครับ เพราะอย่างน้อยในทางการเงินก็ต้องมีการจัดการให้เกิดขึ้น
เพียงแต่การจัดการนั้น อาจไม่ต้องเข้มข้นหรือเร่งรัดในแบบของแผนเกษียณเร็ว แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมบางอย่างเพื่อให้เรา “มีทางเลือกได้มากขึ้น”
คือเราอาจไม่ได้มีมากอย่างล้นเหลือ จนสามารถจะเลือกทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ แต่เราก็มีมากพอที่จะเลือกในสิ่งสำคัญต่อชีวิตและต่อความสุขของเราได้ ตัวอย่างเช่น
- เราอาจยังทำงานอยู่ แต่เราเลือกได้ว่าจะทำงานอะไรที่เราอยากทำจริงๆ เราเลือกทำเพราะมีความสุขกับมัน เพราะมันเป็นงานเลี้ยงจิตใจ ขณะที่งานนั้นก็ยังได้เงินด้วย
- เราอาจไม่ได้ซื้อได้ทุกอย่าง แต่ก็ไม่ได้ขาดแคลน บางอย่างที่แพงเราก็พอซื้อได้ ถ้าเราต้องการจริงๆ อะไรที่เราเห็นว่าไม่จำเป็น เราก็เลือกจ่ายอย่างประหยัดได้
- เราอาจไม่ได้มีเวลาว่างในทุกๆ วัน ตลอดทั้งวัน แต่ก็พอจะจัดสรรเวลาได้ หากต้องทำอะไรที่อยากทำ หรือต้องแบ่งเวลาให้กับใครที่เป็นคนสำคัญ
ตัวอย่างข้างต้น หากจะเรียกเป็นประเภทหนึ่งของการเกษียณอายุ ก็จะเรียกว่าเป็นการเกษียณแบบ “Semi-Retirement” ก็พอไหวครับ
ซึ่งไม่ว่าสุดท้ายท่านผู้อ่านจะเลือกแผนเกษียณแบบใดก็ตาม ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะมองทุกด้านอย่างรอบคอบ และสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จดั่งใจนะครับ