SUPER PRODUCTIVE ด้านการเงิน ตอนที่ 2 : บรรลุเป้าทางการเงินด้วยคำว่า SUPER
09/04/2020วัยเด็ก | วัยทำงาน | วัยเกษียณ : เส้นทางชีวิตของ Jack Welch แห่ง General Electric
23/04/2020สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน
หลังจากที่ใน บทความก่อนหน้านี้ ผมได้ชวนทุกท่านมาร่วม ทบทวนและจัดการความเสี่ยงส่วนบุคคลเนื่องจากวิกฤต COVID-19 กันไปแล้ว
วันนี้ผมจะมาชวนทุกท่าน วางแผนการจัดการรายจ่ายให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่รายได้ของหลายๆ ท่านอาจจะลดลงในช่วง COVID-19 นี้
และหลักการเดียวกันนี้เอง ยังสามารถประยุกต์ใช้กับวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วยครับ
ผลกระทบต่อรายได้จาก COVID-19
จากนโยบายหลายอย่างที่ภาครัฐประกาศใช้ เช่น
- นโยบายสั่งหยุดกิจการหลายประเภท
- การประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านระหว่าง 22.00 – 4.00 น.
- การจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ
- การขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น การลดเวลาทำงาน การสลับกันเข้ามาทำงาน การสนับสนุนให้ปรับการทำงานแบบ Work from Home
- การตรวจคัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้น การป้องกันตนเองของประชาชน และปัจจัยอื่น ๆ
ส่งผลให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงที่ผ่านมาลดลงจากหลักร้อยคนต่อวัน เหลือเพียงหลักสิบคนต่อวัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เราสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นนะครับ
แต่นโยบายดังกล่าวก็ส่งผลกระทบกับการทำงาน ทำให้รายได้ของหลายๆ ท่านลดลงด้วย จากหลายสาเหตุ เช่น
- บางท่านบริษัทลดการทำงานนอกเวลา (OT) ลง หรือขอให้หยุดทำงานในบางวัน
- บางท่านไม่สามารถทำงานตำแหน่งเดิมได้ ต้องปรับไปทำงานตำแหน่งอื่น หรือทำงานที่อื่นแทน
- บางท่านถูกสั่งให้หยุดงานโดยไม่มีรายได้ (Leave without Pay)
- บางท่านถึงขั้นถูกให้ออกจากงาน และหางานใหม่ได้ยาก
- ท่านที่ทำธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานอิสระ รายได้ลดลง หรือไม่มีลูกค้าเหมือนเช่นเคย
ทั้งนี้ เมื่อรายรับลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อรายจ่ายที่เราวางแผนไว้ จึงเป็นที่มาของการชวนให้ทุกท่านมาปรับปรุงแผนการใช้จ่ายในบทความนี้กันครับ
รู้จักประเภทของรายจ่ายกันก่อน
ก่อนจะมาดูกันว่า จะปรับแผนรายจ่ายอย่างไร ผมขออธิบายถึงประเภทของรายจ่ายก่อนนะครับ
โดยหลักๆ จะมี 3 ประเภท ได้แก่
- รายจ่ายคงที่ คือ รายจ่ายที่เป็นภาระผูกพัน ต้องจ่ายเป็นประจำ และปรับลดได้ยาก เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่างวดรถ เงินส่งเสียครอบครัว ที่จะจ่ายทุกเดือน หรือ ค่าเบี้ยประกัน ค่าส่วนกลางคอนโด ค่าเทอมลูก ที่อาจจะมาปีละ 1 -2 ครั้ง
- รายจ่ายผันแปร คือ รายจ่ายที่ผันแปรไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตในเดือนนั้นๆ ซึ่งพอจะสามารถปรับได้บ้าง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าสันทนาการ ฯลฯ
- รายจ่ายเพื่อการออม คือ รายจ่ายที่เป็นการสำรองเงินไว้สำหรับเป้าหมายต่างๆ ในอนาคต เช่น ออมเพื่อท่องเที่ยวรายปี เพื่อซื้อของชิ้นใหญ่ๆ และ เพื่อการเกษียณอายุ เป็นต้น
ปรับลดรายจ่ายอย่างไร ?
เมื่อรายได้ลดลง เราจำเป็นต้องลดรายจ่ายตามลงมาด้วย เพื่อไม่ให้กระแสเงินสดติดลบ จากการที่รับเข้าน้อยกว่าจ่ายออก
เพราะหากกระแสเงินสดติดลบแล้ว อาจจะเกิดการกู้หนี้ยืมสินตามมาเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม
ซึ่งในสถานการณ์ปกตินั้น นักวางแผนการเงินมักจะแนะนำว่า
รายรับ – เงินออม = รายจ่าย
คือเน้นให้ออมเพื่อเป้าหมายก่อน แล้วค่อยใช้จ่ายจากเงินที่เหลือ
แต่ในสถานการณ์ผิดปกติ เช่นการที่รายได้ลดลงกระทันหันนั้น
รายจ่ายเพื่อการออมอาจเป็นรายจ่ายรายการแรกๆ ที่จะถูกพิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ก่อน
ปรับรายจ่ายเพื่อการออม
โดยก่อนปรับเปลี่ยนนั้น เราจะต้อง จัดลำดับความสำคัญ ของเป้าหมายการออมกันก่อน โดยจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ครับ
- ELIMINATE คือ เป้าประเภทที่ไม่ทำน่าจะดีกว่า เช่น การเก็บเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ในบ้าน หรือกระทั่งรถยนต์คันใหม่ โดยที่ของเดิมยังใช้ได้ดีอยู่ เงินออมกลุ่มนี้จะเป็นเป้าหมายลำดับแรกๆ ที่ควรตัดออกครับ
- NICE TO DO คือเป้าหมายที่ ทำได้ก็ดี ไม่ทำก็ได้ เช่น เงินสำหรับใช้ท่องเที่ยวต่างประเทศทุกปี เงินออมกลุ่มนี้จะควรตัดออก เป็นลำดับถัดมาครับ
- SHOULD DO คือเป้าหมายที่ควรทำ ทำแล้วจะให้ผลดีกับชีวิตเราในอนาคต แต่ยังมีความเร่งด่วนน้อย เช่น แผนเกษียณในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เราอาจจะพิจารณาลดเงินออมลง หรือพักการออมไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นก่อน
- MUST DO คือเป้าหมายที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ถ้าไม่ทำอาจมีผลกระทบทางด้านลบอย่างใหญ่หลวงกับชีวิต เช่น ค่าเทอมลูกที่ต้องเตรียมไว้จ่ายในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะพยายามไม่ไปปรับเงินออมก้อนนี้อย่างเด็ดขาดครับ
รายจ่ายที่สามารถปรับลดลงได้อีก ถัดจากรายจ่ายเพื่อการออม คือรายจ่ายกลุ่มที่พอจะปรับเปลี่ยนได้ง่ายรองลงมา นั่นคือ “รายจ่ายผันแปร” ครับ
Need VS Want
เนื่องจากรายจ่ายผันแปรขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิต ทำให้เราสามารถประหยัดได้จากการควบคุม และระมัดระวังในการใช้จ่ายครับ
นั่นคือต้องคิดก่อนจ่ายมากขึ้น ว่าสิ่งใดคือสิ่งจำเป็น (Needs) สิ่งใดเป็นแค่ความต้องการ (Wants)
ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจะพยายามจ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น และลดหรือเลี่ยงการจ่ายเพื่อความต้องการลง
หากทำได้ ก็อาจจะสามารถลดรายจ่ายลง ส่งผลให้เดิมเงินจำนวนเท่ากันอาจจะพอใช้เพียงแค่หนึ่งเดือน แต่หลังปรับอาจจะใช้ได้นานขึ้น เป็นเดือนครึ่งเป็นต้น
ทั้งนี้หากปรับรายจ่ายสองกลุ่มข้างต้นแล้ว ยังหนีไม่พ้นการติดลบ เราจำเป็นต้องมาปรับรายจ่ายกลุ่มสุดท้ายที่ปรับได้ค่อนข้างยาก นั่นคือ “รายจ่ายคงที่”
Fixed Cost = รายจ่ายคงที่ หรือ รายจ่ายที่ได้รับการแก้ไขแล้ว
แม้จะเป็นรายการที่ปรับเปลี่ยนได้ยากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะจัดการไม่ได้ครับ
เพราะคำว่า “Fixed” ในภาษาอังกฤษนั้น นอกจากจะแปลว่าคงที่แล้ว ยังมีอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งแปลว่า “ได้รับการแก้ไขแล้ว” ด้วย
นั่นเพราะรายจ่ายคงที่บางรายการ อาจจะสามารถปรับเปลี่ยนได้เหมือนกัน เช่น
- ยกเลิกค่าใช้จ่ายคงที่บางอย่างที่พอจะลดได้และไม่สร้างความเดือดร้อนมากนัก เช่น ค่าสมาชิกรายเดือนต่างๆ อาทิ ค่าฟิตเนส ค่านิตยสาร ค่าสมาชิกสำหรับรับชมภาพยนตร์ทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ
- เปลี่ยนประเภทประกันภัยไปเป็นประเภทที่เบี้ยถูกลง เช่น เปลี่ยนจากประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่กำลังจะครบกำหนด เป็นประกันแบบที่เบี้ยถูกกว่าแทน หรือหากเดิมจ่ายเบี้ยเป็นเงินก้อนใหญ่ปีละครั้ง อาจเปลี่ยนไปเป็นการทยอยจ่ายเป็นรายเดือน เพื่อลดการจ่ายเงินออกครั้งละมากๆ ลง
- ปรับลดเงินจ่ายค่างวดหนี้ เช่น หากเดิมมีการโปะเพิ่มทุกเดือน ให้ปรับลดลงไปจ่ายเพียงค่างวดขั้นต่ำก็พอ หรืออาจเจรจา Re-Finance กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เพื่อปรับค่างวดขั้นต่ำ ให้ถูกลงกว่าเดิม
- หากมีเงินที่เดิมต้องส่งเสียครอบครัวเป็นประจำ อาจถึงเวลาต้องเปิดอกพูดคุยกัน ให้ครอบครัวเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจลดเงินส่งเสียครอบครัวให้น้อยลงได้ เป็นต้น
จะเห็นว่าหากเรา “ทำการแก้ไข” รายจ่ายคงที่ให้ปรับลดลงได้นั้น ผลลัพธ์ของมันจะเกิดขึ้นซ้ำในเดือนถัดๆ ไปด้วย
ซึ่งแม้จะทำได้ยาก แต่ก็อาจจะช่วยลดรายจ่ายลงได้แบบเห็นผลทีเดียวครับ
บทสรุป
จากแนวทางที่ผมได้เล่าให้ทราบไปทั้งหมด จะเห็นว่าการปรับลดค่าใช้จ่ายทุกประเภท ล้วนต้องใช้ความพยายามแทบทั้งสิ้นนะครับ
แต่ด้วยสถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนสูงเช่นนี้ การบริหารรายรับรายจ่ายให้มีกระแสเงินสดคงเหลือไว้กับตัวมากที่สุด ก็เป็นสิ่งที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ “จำเป็นต้องทำ” ครับ
และกระทั่งสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบนั้น ผมเองก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ “ควรทำ” เช่นกัน
เพราะถึงแม้สถานการณ์ของประเทศไทย ในแง่ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะดูดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติในเร็ววัน
สถานการณ์ “ผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นนี้อาจจะคงอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ จนอาจจะถึงขั้นกลายเป็น “ความปกติใหม่ (New Normal)” ที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอีกนานเลยก็เป็นได้ครับ
การไม่ประมาทไว้ก่อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ผมขออวยพรให้พวกเราทุกคน สามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ด้วยดีนะครับ