ประกันชีวิต = ความห่วงใยและใส่ใจเพื่อคนที่เรารัก
03/05/2017ซื้อ LTF กองไหนดี ?
16/06/2017ขึ้นชื่อว่า “รถ” แล้ว มันก็มักจะ “ลด” เงินในกระเป๋าเราตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเงินดาวน์รถ ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าต่อทะเบียน ค่าซ่อมบำรุง ไหนจะค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย แต่หลายคนก็ยังปรารถนาจะมีรถไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเอาไว้ใช้เพื่อการทำงานหรืออำนวยความสะดวกในการเดินทาง
ในเมื่อต้องซื้อแล้ว ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ?
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับแรกๆ ก็คือ เราจำเป็นจะต้องใช้รถนั้นจริงหรือไม่ และ เรามีความพร้อมทางการเงินสำหรับจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังได้ครอบครองรถแล้วหรือยัง หากสองข้อนี้ผ่านเราก็มาดูว่าสิ่งที่เราจะต้องรู้ต่อไป นั่นคือเราซื้อรถมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด รถรุ่นไหน ยี่ห้อไหน ที่ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของเรา รถใหม่หรือรถมือสอง คำถามต่างๆ จะประดังเข้ามาหาเรา เพื่อให้เราตอบว่ารถที่เหมาะสมกับเราคือรถอะไร และต้องมีงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่าไร
การวางแผนทางการเงินเพื่อการซื้อรถ จึงจำเป็นกับเราไม่น้อย ไม่ใช่เพียง “อยาก” ก็ซื้อได้เลย เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่ซื้อรถโดยที่ไม่พร้อม หรือคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นผิดพลาดไป ทำให้สุดท้ายการซื้อรถครั้งนั้น ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของตนได้อย่างรุนแรง
จะวางแผนด้วยตนเองได้อย่างไร ?
ในการจะวางแผนนั้น ผมอยากชวนคิดว่า ถ้าเราซื้อรถมาแล้ว จะมีกระทบต่อรายจ่ายเราอย่างไรบ้าง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกคือเงินดาวน์ ที่จะต้องจ่ายออกไปเมื่อซื้อรถ เพราะน้อยคนที่จะซื้อรถด้วยเงินสด ดังนั้น เราต้องรู้ว่าจะต้องใช้เงินดาวน์เท่าไร และจะจัดหาเงินนั้นมาได้อย่างไร เช่นอาจทยอยเก็บเป็นรายเดือน หรือเก็บจากคอมมิชชั่น/โบนัสก้อนใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับ
ส่วนต่อมาคือค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังจากซื้อรถ อันได้แก่ ค่างวดรถ + ค่าน้ำมัน + ค่าเบี้ยประกัน + ค่าบำรุงรักษา + ค่าต่อทะเบียน + ค่าทางด่วน (ถ้ามี) + ค่าที่จอดรถ (ถ้ามี) ซึ่งผมแนะนำว่าลองนำมาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ณ ปัจจุบันดู เช่น หากเดิมเราใช้บริการขนส่งสาธารณะเดือนละ 4,000 บาท แต่เมื่อประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดหลังจากซื้อรถแล้วคิดเป็นประมาณเดือนละ 14,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10,000 บาทนั้น
หากอยากรู้ว่าเราจะซื้อรถคันนี้ไหวหรือไม่ ก็ให้ลองเก็บเงินส่วนต่าง 10,000 บาท นี้ไปสัก 3 – 6 เดือนดู โดยยังไม่ต้องซื้อรถจริงๆ หากเราจ่ายไหว โดยไม่ตึงเกินไป ก็น่าจะพอซื้อรถคันนี้ได้ แต่ถ้าไม่ไหว เราก็ยังถอยกลับไปตั้งหลักได้เพราะยังไม่ได้ซื้อไปจริงๆ
หรือวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการทำ ประมาณการรายรับ-รายจ่าย โดยประเมินรายรับ และรายจ่ายของเราไปล่วงหน้า จะทำในโปรแกรม Excel ก็ได้ เพื่อตรวจสอบว่า จากค่าใช้จ่ายปัจจุบันของเรามีเงินเหลือต่อเดือนมากน้อยเพียงใด และหากเรานำค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใหม่ทั้งหมดจากการซื้อรถไปใส่แทนที่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเดิมแล้ว เรายังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายชุดใหม่นี้หรือไม่ หากยอดเงินคงเหลือรายเดือนติดลบ ก็แสดงว่าการซื้อรถครั้งนั้นมีผลต่อสภาพคล่องของเราเสียแล้ว ก็จะได้หาวิธีปรับแก้ต่อไป
ทางออกที่พอจะทำได้ เช่น
- เพิ่มเงินดาวน์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเก็บเงินเพิ่ม แต่ก็จะช่วยให้ค่างวดรถลดลง ดีกว่าซื้อเร็วแล้วมีปัญหาผ่อนไม่ไหวทีหลัง
- เพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวนานขึ้น เช่น จากผ่อน 48 เดือน เป็น 60 หรือ 72 เดือน
- หาและเปรียบเทียบข้อมูลสินเชื่อให้มากพอ เพราะในระยะเวลาการผ่อนที่เท่ากัน ภาระในการผ่อนของแต่ละแห่งอาจต่างกันได้
- เปลี่ยนรุ่นรถ ให้เหมาะสมกับงบประมาณที่เรามี
- อดทนรอ เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอ เช่นเงินเก็บมากขึ้น และ/หรือ รายได้มากขึ้น
จะเห็นว่าการวางแผนก่อนซื้อรถที่ถูกต้องนั้น จะช่วยลดผลกระทบอันเกิดจากการซื้อรถที่เกินตัว หรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตัวเราลงได้ไม่น้อย สุดท้ายนอกจากเรื่องแผนการเงิน ก็อย่าลืมความเหมาะสมด้านอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน เช่น การหาและเปรียบเทียบข้อมูลเชิงลึกของรถที่อยู่ในงบประมาณ การหาโอกาสไปทดสอบขับรถรุ่นที่เราสนใจ ว่าตรงกับที่เราต้องการจริงหรือไม่ การพิจารณาเรื่องอะไหล่และบริการหลังการขายต่างๆ ไปจนถึงการศึกษาราคาขายต่อ (หากเราตั้งใจที่จะขายต่อในอนาคต) เพราะรถหนึ่งคันราคาก็ไม่ใช่น้อยๆ และเมื่อตัดสินใจไปแล้ว รถก็จะต้องอยู่กับเราไปอีกหลายปี
ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการซื้อหารถมาใช้งานนะครับ