
เรื่องควรเจรจาต่อรองก่อนซื้อบ้าน/คอนโด : ฉบับมือใหม่ควรรู้
21/02/2025
สร้างเกราะป้องกันเงินรั่ว : ธรรมะ 3 ข้อ รับมือสิ่งเร้า ลดความอยากได้อยากมี
28/03/2025
เผยแพร่เมื่อ : 28 มีนาคม 2568
บทความนี้พิ้งค์อยากเขียนให้พนักงานประจำ ที่กำลังจะเริ่มงานใหม่ รวมถึงท่านที่ทำงานมานานแล้ว ได้มาทบทวนสิทธิทางการเงินต่างๆ ที่เราควรจะได้รับจากบริษัท
ซึ่งบางสิทธินั้นจำเป็นต้องมีการแจ้งให้ฝ่ายบุคคล หรือแจ้งให้บริษัทรับทราบ เพื่อให้เราได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่
หลายคนพลาดไป ไม่ได้แจ้ง หรือไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว ทำให้เสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย
5 สิทธินั้นมีอะไรบ้าง เรามาดูไปด้วยกันเลยนะคะ
1. สิทธิเกี่ยวกับการเบิกค่ารักษาพยาบาล
หัวข้อนี้พิ้งค์จะแบ่งเป็น 2 ข้อย่อย คือ
1.1 ประกันสังคม
เมื่อเราเริ่มงาน ฝ่ายบุคคลจะให้เราเลือกโรงพยาบาลที่เราจะใช้สิทธิ์ประกันสังคม หลายคนเลือกไว้แต่ลืมไปแล้วว่าเป็นโรงพยาบาลใด ทำให้บางทีเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ไกลบ้าน หรือไม่สะดวกที่จะไปใช้บริการ
เราสามารถทำการตรวจสอบใน เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม (เมนู E-SERVICE) หรือผ่านแอพ SSO Plus เพื่อทำเรื่องเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่เราสะดวกได้ โดยสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองปีละ 1 ครั้ง (ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม ถึง 31 มีนาคม ของทุกปี)
1.2 ประกันกลุ่ม
บางบริษัท มีหลายแบบประกันให้เลือก บางแบบประกันอาจจะครอบคลุมไปถึงพ่อ แม่ สามี ภรรยา และบุตรด้วย ดังนั้น เราควรต้องศึกษาทางเลือกที่มี และแจ้งให้ฝ่ายบุคคลทราบ เพื่อจะได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมกับตัวเองด้วยค่ะ
สวัสดิการในกลุ่มนี้นั้นจะช่วยให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้มาก ในเวลาที่จำเป็น ซึ่งจะรอให้เกิดการเจ็บป่วยก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนไม่ได้นะคะ ต้องหมั่นตรวจสอบและปรับปรุงไว้ก่อนจะเกิดเหตุเสมอค่ะ
2. สิทธิเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แม้นโยบายเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละบริษัทอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ก็จะแบ่งได้เป็น 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่
2.1 สิทธิที่จะเลือกอัตราเงินสะสม
แต่ละบริษัทมีนโยบายเรื่องอัตราเงินสะสม และอัตราเงินสมทบต่างกัน บางบริษัทมีการปรับอัตราทั้งสองขึ้นตามอายุงาน เช่น ในตารางด้านล่างนี้
กรณีนี้ อย่าลืมตรวจสอบว่าเราได้สิทธินั้นครบถ้วน และตรงตามเวลาหรือไม่ค่ะ
บางบริษัทสามารถเลือกอัตราเงินสะสมเป็นช่วงได้ โดยบริษัทจะสมทบเงินให้แปรผันตาม % เงินสะสมของเรา เช่น ในตารางด้านล่างนี้
หากเราเลือกสะสม 5% บริษัทก็จะสมทบให้ 5% ด้วย แต่หากเราเลือกสะสมต่ำกว่านั้น บริษัทก็จะสมทบให้ตามค่าที่เราเลือก กรณีนี้ เพื่อสิทธิประโยชน์ที่เติมที่ เราก็ควรเลือก % สะสมสูงสุด เพื่อที่บริษัทจะได้สมทบให้ใน % สูงสุด เช่นกัน
อย่างไรก็ตามบางบริษัทก็ไม่ได้ปรับเงินสมทบให้ตามที่เราเพิ่มเงินสะสม ดังนั้นข้อนี้ต้องศึกษานโยบายดีๆ ค่ะ โดยอาจพิจารณาข้อ 2.2 ร่วมด้วย ว่าถ้าปรับเพิ่มเงินสะสมแล้ว ไม่ได้มีแผนการลงทุนดีๆ ให้เลือก ก็อาจไม่เพิ่มเงินสะสม แต่นำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุนอื่นข้างนอกแทน เช่นกองทุน RMF เป็นต้น เพราะก็ลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่มีตัวเลือกการลงทุนที่อิสระและหลากหลายกว่ามาก
2.2 สิทธิที่จะเลือกนโยบายหรือแผนการลงทุน
เงินที่เราสะสมและนายจ้างสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะถูกนำไปลงทุน
ซึ่งเราสามารถเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะกับความเข้าใจและความเสี่ยงที่รับได้ หากเลือกได้ดีเราอาจได้รับผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้นเป็นเงินหลักแสนหรือหลักล้าน โดยเฉพาะเมื่อลงทุนทบต้นต่อเนื่องไปในระยะยาว
แต่น่าเสียดายที่หลายท่านไม่ได้ใช้สิทธิในการเลือกแผนการลงทุนนี้ ดังนั้น เมื่อทราบแล้วอย่าลืมตรวจสอบและแจ้งฝ่ายบุคคลเพื่อปรับแผนให้เหมาะสมกับแต่ละท่านนะคะ
หัวข้อนี้พิ้งค์อยากให้ทุกคนลองคิดทบทวน และใส่ใจการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากๆ เลยค่ะ เพราะเงินก้อนนี้ถือเป็นเงินก้อนใหญ่มาก ที่มนุษย์เงินเดือนจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ
โดย Avenger Planner มีบทความเจาะลึกในการปรับแต่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ สามารถอ่านได้จาก Link นี้นะคะ
3. สิทธิเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่าย
สำหรับพนักงานประจำนั้น เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี บริษัทจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกเดือน ซึ่งหากเราไม่ดำเนินการอะไรเพิ่มเติม ฝ่ายบุคคลจะทำการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยคิดเพียงค่าลดหย่อนเท่าที่บริษัททราบเท่านั้น ซึ่งมักประกอบด้วย
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัว
- เงินสะสมประกันสังคม
- เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กรณีเรามีค่าลดหย่อนอื่นๆ เช่น
- ค่าลดหย่อนบุตร
- ค่าเลี้ยงดูบิดา/มารดา
- เบี้ยประกันชีวิต
- เบี้ยประกันสุขภาพ
- ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน
- กองทุนลดหย่อนภาษี (RMF/TESG)
- เงินบริจาค
- ฯลฯ
เราสามารถแจ้งค่าลดหย่อนไปที่ฝ่ายบุคคลเพิ่มเติมโดยใช้แบบ ล.ย. 01 โดยเมื่อมีค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนน้อยลง ทำให้เราได้รับกระแสเงินสดมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ท่านที่การเงินตึงอยู่ ก็จะลดความตึงลงได้
สามารถอ่านบทความเจาะลึกเรื่องนี้ได้ที่ Link นี้ค่ะ
4. สิทธิการเบิกค่าล่วงเวลา/ค่าเดินทาง/ค่าใช้จ่ายการทำงานนอกสถานที่/ค่าอบรม
แต่ละบริษัทจะมีเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้แตกต่างกันไป เช่น
- ต้องมีการทำแผนการทำงานล่วงเวลาก่อน
- ต้องขออนุมัติการเดินทางก่อน หรือ
- ต้องขออนุมัติการฝึกอบรมว่าเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับงานก่อน
ถึงจะมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ เราจึงควรศึกษานโยบาย หรือเกณฑ์การเบิกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ถี่ถ้วน รวมถึงหลักฐานต่างๆ ที่ต้องใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง
5. สิทธิเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และสวัสดิการอื่นๆ
บางบริษัทมีสวัสดิการให้พนักงานสามารถขอสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำกับธนาคารที่บริษัทได้ทำข้อตกลงไว้ บางบริษัทช่วยชำระดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านให้ด้วย ในกรณีฉุกเฉินบางบริษัทยังมีวงเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือด้านการเงินให้กับพนักงาน ซึ่งเราสามารถสอบถามสิทธินี้ได้จากฝ่ายบุคคลเช่นกันค่ะ
นอกจากนั้นยังมีสวัสดิการปลีกย่อยอื่นๆ เช่น
- เงินเกษียณอายุ
- เงินช่วยเหลือค่าคลอดบุตร
- ค่าการศึกษาบุตร
- ค่าชุดพนักงาน
- ค่าสันทนาการบันเทิง
- เงินช่วยเหลือกรณีพนักงานหรือญาติพนักงานเสียชีวิต
โดยสิทธิเหล่านี้ เป็นสวัสดิการเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจไม่ทราบ หรือฝ่ายบุคคลอาจไม่มีเวลามากพอที่จะอธิบายให้เราทราบทั้งหมด
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องหาคู่มือพนักงาน หรือหานโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเหล่านี้มาศึกษาไว้ให้ละเอียด
ไหนๆ เขียนถึงเรื่องนี้แล้ว ก็อยากฝากอีกเรื่องว่าอย่าลืมปรับปรุงข้อมูลผู้ติดต่อฉุกเฉิน และ ผู้รับผลประโยชน์ในกรณีพนักงานเสียชีวิตด้วยนะคะ เพราะข้อมูลที่ให้ฝ่ายบุคคลอาจจะนานมากแล้ว และแจ้งคนในครอบครัวให้ทราบด้วยค่ะ ว่าหากพนักงานเสียชีวิต จะได้สิทธิอะไรบ้าง
บทสรุป
หวังว่าบทความนี้จะเป็นเหมือน Check-List ที่ช่วยให้พนักงานประจำทุกคนได้รู้จัก และใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการจ้างงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะได้แบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระทางการเงินต่างๆ ได้มากขึ้น
จบบทความนี้ลองตรวจสอบดูค่ะ ว่าเราพลาดหัวข้อไหนไปหรือไม่ แต่หากใครต้องการหาเพื่อนร่วมคิด ว่าเราได้ใช้สิทธิที่ควรจะได้ครบถ้วนเหมาะสมหรือไม่ พวกเรานักวางแผนการเงินจาก Avenger Planner ก็พร้อมจะเป็นเพื่อนร่วมคิดไปกับทุกคนนะคะ ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริการวางแผนการเงินของพวกเราได้ที่ Link นี้ หรือคลิกที่รูปด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ