หลักการตัดสินใจ : ลดเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อนำมาลงทุนเอง
22/09/2024ใช้กองทุนรวมเก็บเงินอย่างไร ให้ได้ผลตอบแทนดี และห่างไกลจากมิจฉาชีพ
05/11/2024เผยแพร่เมื่อ : 19 ตุลาคม 2567
การเตรียมตัวเกษียณอายุให้พร้อมเป็นเรื่องที่หลายคนกังวล เนื่องจากมีหลายอย่างให้ต้องคิด เช่น
- เกษียณแล้วเงินจะพอไหม
- เกษียณแล้วต้องทำตัวอย่างไร
- จะใช้เวลาในแต่ละวันทำอะไร
- หยุดงานจะเหงาไหม
- หางานอดิเรก / งานพิเศษทำหลังเกษียณดีหรือไม่
บทความนี้จะช่วยคลายกังวลให้กับทั้งผู้ที่ใกล้เกษียณ และเริ่มเกษียณแล้ว ให้ได้เห็นภาพรวมของสิ่งที่ต้องเตรียมและต้องทำในแต่ละประเด็น เรามาลองไล่เรียงไปทีละหัวข้อกันนะครับ
1. การเตรียมหยุดทำงาน/ออกจากงาน
- หากท่านเป็นพนักงานบริษัท การเตรียมโอนงานที่รับผิดชอบต่างๆ ให้กับรุ่นน้อง หรือคนที่จะมาดูแลต่อ โดยอาจจะแบ่งย่อยเป็น เขียน Scope งานที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดการจัดการต่างๆ จัดเตรียมเอกสารต่างๆ ไว้ เพื่อส่งต่อได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการเตรียมเอกสารที่เกี่ยวกับสวัสดิการเมื่อเกษียณอายุ ได้แก่ ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เงินชดเชยเมื่อออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุ และสวัสดิการเพิ่มเติมที่บริษัทจัดให้ (ถ้ามี) เป็นต้น
- สำหรับท่านที่เป็นข้าราชการ ก็ต้องเช็คสิทธิ์ เกี่ยวกับเงินบำเหน็จ/บำนาญ เงินชดเชยต่างๆ รวมถึงกฎเกณฑ์ของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกด้วย ว่าหากออกจากงานแล้วต้องทำอย่างไร ต้องยื่นเรื่องอะไรเตรียมไว้หรือไม่เป็นต้น
- สำหรับเจ้าของธุรกิจ การส่งต่องานต่าง ๆ หากมีคนที่รับสืบทอดกิจการแล้วก็อาจจะเริ่มถอยตัวเองและให้คนรุ่นใหม่มาเริ่มบริหาร สอนงาน เพื่อส่งต่อธุรกิจได้อย่างยั่งยืน สำหรับบางท่านอาจมีแนวคิดจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาบริหารแทน หรือต้องการ ขาย หรือเลิกกิจการ ก็อาจต้องหาที่ปรึกษาด้านการส่งต่อธุรกิจมาช่วยให้คำปรึกษาด้วย เพราะเป็นการดำเนินการที่มีความซับซ้อน
- ส่วนคนที่ประกอบอาชีพอิสระ อาจทดลองลดเวลาการทำงานลงก่อนถึงกำหนดเกษียณจริง เพื่อค่อยๆ ปรับวิธีชีวิตว่าหากภาระงานลดลงแล้ว การดำเนินชีวิตจะเป็นอย่างไร หากมีสวัสดิการเพื่อการเกษียณ เช่นประกันสังคม (มาตรา 39 หรือ 40) และ/หรือ สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช) ก็ควรตรวจสอบว่าครบกำหนดที่จะได้เงินบำเหน็จ/บำนาญกรณีชราภาพแล้วหรือยัง
2. รวบรวมและทบทวนสถานการณ์ทางการเงิน
- ตรวจสอบเงินที่เราเตรียมไว้หลังเกษียณ ทั้งที่เป็นเงินก้อน และเป็นเงินรายได้ที่จะทยอยรับหลังเกษียณ (เช่นเงินบำนาญ เงินครบกำหนดประกันชีวิต เงินปันผล ดอกเบี้ยรับต่างๆ) โดยหากวางแผนที่จะยังทำงานช่วงหลังเกษียณอยู่ ก็ควรประเมินเข้ามารวมไว้ด้วย
- เงินทุนเกษียณบางรายการ จะมีภาระภาษีที่ต้องเสียด้วย เช่น เงินชดเชยเมื่อออกจากงาน ดังนั้น จึงต้องหักภาระภาษีออกด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ก็สามารถวางแผนภาษีร่วมด้วยได้ ว่าจะใช้สิทธิ์ลดหย่อนใดๆ หรือไม่ เพื่อให้ได้รับเงินดังกล่าวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด
- กรณียังมีหนี้สินคงเหลือ และยังพอสามารถจัดการได้ก่อนที่จะออกจากงาน ควรพิจารณาดูว่าจะดำเนินการอะไรหรือไม่ เช่น รวมหนี้ หรือ Refinance หนี้ที่มีไปไว้ที่เดียว ซึ่งดอกเบี้ยไม่สูงและภาระผ่อนชำระต่ำ เพราะหากออกจากงานและไม่มีเงินได้แล้ว จะดำเนินการเรื่องนี้ได้ยากขึ้น หรือจะให้ดีที่สุดคือควรเคลียร์หนี้ให้หมด ก่อนเกษียณอายุ
- ประเมินค่าใช้จ่ายช่วงเกษียณต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่เป็นพื้นฐานว่าต่อเดือนใช้ประมาณเดือนละเท่าไร รวมถึงเงินค่าใช้จ่ายพิเศษ เช่น ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายสุขภาพ ค่ารีโนเวท ซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมบำรุง/เปลี่ยนรถ เป็นต้น
- ลองคำนวณเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเหล่านั้น เทียบกับแหล่งเงินทุนต่างๆ ที่มี ว่าจะสามารถใช้ได้อีกกี่ปี โดยควรเผื่อเรื่องเงินเฟ้อไว้ด้วย ซึ่งในขั้นตอนนี้หากท่านใดมีพื้นฐานเรื่องการคำนวณ เช่นใช้โปรแกรมประเภท Excel ช่วยได้ก็จะทำให้เห็นภาพสถานะการเงินหลังเกษียณได้ชัดเจนขึ้น หรือหากไม่มั่นใจในสถานการณ์ของเรา อาจขอคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงินก็ได้ครับ
- จัดทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย เผื่อกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ทรัพย์สินจะได้ถูกส่งต่อให้กับทายาทหรือผู้ที่เราตั้งใจได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดข้อขัดแย้ง และการใช้จังหวะเวลาช่วงนี้ ซึ่งเรากำลังทบทวนข้อมูลทางการเงิน จะทำให้เราสามารถทำพินัยกรรมได้อย่างครอบคลุมรัดกุมมากขึ้นด้วย
3. เตรียมแหล่งรายได้เสริม และ ช่องทางการลงทุน
- แม้ว่าเราเกษียณแล้ว เราอาจหางานอดิเรก หรือสิ่งที่ชอบ ที่สามารถสร้างรายได้ในแต่ละเดือน ก็จะช่วยให้เราพึ่งพิงเงินเกษียณที่เตรียมไว้น้อยลง และยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทำให้ร่างกายจิตใจยังกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาได้ด้วยเช่นกัน
- ควรศึกษาเรื่องการลงทุนต่างๆ ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะการลงทุนในลักษณะที่ทำให้เรามีรายได้ออกมาสม่ำเสมอทุกเดือน และ/หรือ ทุกปี ในรูปของดอกเบี้ยและเงินปันผล ซึ่งต้องมีความเสี่ยงไม่มากนัก และให้ความสำคัญกับการไม่ลงทุนกระจุกตัวในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งจนมากเกินไป เพราะหากเกิดความเสียหาย จะแก้ไขจัดการได้ลำบาก
- ระวังอย่างมากกับมิจฉาชีพที่แฝงมาในรูปของการลงทุน และโอกาสทางธุรกิจต่างๆ เพราะกลุ่มคนในวัยเกษียณเป็นเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ ซึ่งการมีความรู้ให้มากไว้ก่อนจะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันได้
4. เตรียมแผนด้านการรักษาพยาบาล รวมถึงประกันสุขภาพ
- ทบทวนและปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับประกันสุขภาพ และ/หรือ สวัสดิการต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้ประเมินได้ว่าเพียงพอหรือไม่ มีวิธีการเบิกจ่ายอย่างไร มีข้อยกเว้นอย่างไร สัญญาครอบคลุมถึงอายุเท่าใด ต้องเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาลตามสิทธิ์ต่างๆ หรือไม่
- วางแผนว่าหากเจ็บป่วยจะเลือกรักษาพยาบาลในรูปแบบใด เช่น โรงพยาบาลรัฐ หรือ โรงพยาบาลเอกชน และค่าใช้จ่ายในการรักษาจะใช้สวัสดิการใดจ่าย เช่น ใช้สิทธิ์บัตรทอง หรือ ใช้ประกันสุขภาพส่วนตัว โดยควรตรวจสอบวงเงินและวิธีการใช้สิทธิ์ต่างๆ ให้พร้อม เพื่อจะได้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม เช่น กรณีต้องการใช้สิทธิ์บัตรทอง ต้องไปที่สถานพยาบาลใด เป็นต้น
- เตรียมเงินสำหรับจ่ายเบี้ยประกันในอนาคต ซึ่งเบี้ยประกันสุขภาพส่วนใหญ่มักจะเป็นเบี้ยที่มีการปรับขึ้นตามอายุด้วย ดังนั้นจึงควรสอบถามจากตัวแทนประกันว่าเบี้ยในแต่ละปีเป็นเท่าไร รวมทั้งหมดเป็นเท่าใด
- เตรียมเงินสำรองพิเศษ ที่ไม่สามารถเบิก/เคลม จากสวัสดิการค่ารักษาได้เมื่อเจ็บป่วย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ต้องใช้ในบ้าน ค่ายา/วิตามิน บำรุงต่างๆ เป็นต้น
- สำหรับใครที่ยังมีสวัสดิการ/ประกันสุขภาพไม่เพียงพอ และหากสุขภาพยังดี มีเงินเพียงพอที่จะทำประกันสุขภาพเพิ่ม ควรใช้โอกาสนี้ในการทำประกันสุขภาพให้เพียงพอ เพื่อใช้ไปในช่วงตลอดชีวิตที่เหลือ
5. วางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุให้มีความสุข
- หลังเกษียณอายุ ส่วนใหญ่เราจะมีเวลาว่างมากขึ้นอย่างมาก การวางแผนตารางชีวิตไว้ล่วงหน้า ว่าจะใช้เวลาไปกับเรื่องใดบ้าง จะทำให้เราไม่เคว้งคว้าง และยังสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีจุดมุ่งหมายอยู่
- ตั้งใจดูแลสุขภาพกายอย่างเต็มที่ เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่สุขภาพมีโอกาสที่จะเสื่อมลงได้เร็ว การดูแลป้องกันไว้ก่อน จะช่วยถนอมช่วงเวลาที่เรายังแข็งแรงได้นานที่สุด จึงควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นต้น
- ดูแลสุขภาพจิตไม่ให้เครียด และมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ เพราะกายกับใจนั้นเชื่อมโยงถึงกัน สุขภาพใจที่แย่ก็ส่งผลถึงสุขภาพกายได้ การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยผ่อนคลาย ได้มีสังคมในแบบที่เราเลือกเอง ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้ หลายท่านอาจเข้าวัด เข้าโบสถ์ ปฏิบัติธรรม ทำงานจิตอาสาต่างๆ เป็นต้น
บทสรุป
ช่วงชีวิตวัยเกษียณนั้น ถือเป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนานช่วงหนึ่งในชีวิตของคนแต่ละคน อาจมากถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเรา ดังนั้นการวางแผนเตรียมการให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องใช้ความตั้งใจ และใช้เวลาในการเตรียมการ
การเตรียมพร้อมเรื่องเงินนั้นสำคัญ และก็ซับซ้อนมากพอสมควรอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่เพียงเรื่องเดียวที่ต้องใส่ใจ เพราะสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือเรื่องของการใช้ชีวิต เรื่องจิตใจ และ เรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นที่มาของความสุขในชีวิตเช่นกัน
ซึ่งผมและเพื่อนๆ นักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner นั้น ก็ขออวยพรให้ทุกๆ ท่าน สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข ทั้ง “สุขเงิน” และ “สุขชีวิต” นะครับ
หากมีประเด็นใดในเรื่องของการวางแผนเกษียณอายุ ที่ท่านต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม หรือกระทั่งต้องการคนช่วยวางแผน ก็สามารถเรียกใช้ผมและนักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner ได้นะครับ พวกเรายินดีบริการเป็นอย่างยิ่งครับ คลิก Link นี้ เพื่อศึกษารายละเอียดได้เลยนะครับ