ไม่ตั้งเป้าหมายทางการเงิน สร้างปัญหาได้มากกว่าที่คิด !!??
18/09/2024Check-List : สิ่งที่ต้องทำ เมื่อจะเกษียณอายุ
19/10/2024เผยแพร่เมื่อ : 22 กันยายน 2567
เชื่อว่าหลายท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) เป็นแหล่งเงินเกษียณที่สำคัญมากของมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเราต้องให้ความสำคัญกับเงินก้อนนี้มากเป็นพิเศษ โดยเมื่อเราจ่ายเงินสะสมเข้า PVD แล้ว นายจ้างก็จะสมทบเงินเข้า PVD ให้เราอีกส่วนหนึ่ง เหมือนเราได้เงินเดือนเพิ่มทุกเดือน
จากนั้นเงินทั้งสองส่วนก็จะถูกนำไปลงทุนตาม “นโยบายการลงทุน” อย่างอัตโนมัติทุกเดือน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับเราไว้ใช้ยามเกษียณ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทำหน้าที่บริหารจัดการไปตามนโยบายการลงทุนนั้น ๆ นอกจากนั้น เงินที่เราสะสมเข้าไปในกองทุน ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย เหมือนเป็นตัวช่วยให้เรามีเงินเหลือมากขึ้นไปอีก
เห็นอย่างนี้แล้ว หลายท่านคงจะเริ่มมีคำถามว่า ถ้า PVD สำคัญและเป็นประโยชน์มากขนาดนี้ ทำไมบทความนี้ต้องพูดถึงหลักการลดเงินสะสม PVD เพื่อมาลงทุนเองใช่ไหมคะ นั่นก็เพราะในบางกรณี การตัดสินใจลดเงินสะสม PVD แล้วนำมาลงทุนเอง อาจมีประโยชน์กว่าก็เป็นได้
ทำไมถึงต้องลดเงินสะสม PVD มาลงทุนเอง
สาเหตุหลักก็เพราะนโยบายการลงทุนของ PVD ไม่ตอบโจทย์ หรือ มีให้เลือกจำกัด นั่นคือ ไม่มีตัวเลือกที่เหมาะสมกับตัวเราเอง หรือที่เราต้องการลงทุน เช่น
- เราสามารถรับความเสี่ยงได้สูง มีระยะเวลาในการลงทุนนาน แต่นโยบายการลงทุนที่มีให้เลือก กลับเน้นตราสารหนี้ในสัดส่วนที่สูง ทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นและมีเงินเกษียณที่เพิ่มมากขึ้นได้
- เราอยากลงทุนในสินทรัพย์บางอย่าง เช่น หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ และ/หรือ ทองคำ แต่ PVD ของเราไม่มีตัวเลือกดังกล่าวให้ลงทุน หรือถ้ามีก็อาจมีข้อจำกัดว่าห้ามเลือกลงทุนในสินทรัพย์ใด เกินสัดส่วนที่กำหนด
- เราอยากปรับพอร์ตตามความถี่ หรือวิธีการที่เราต้องการ แต่ PVD ของเรามีข้อจำกัด เช่น ปรับพอร์ตได้เพียงปีละ 1-2 ครั้ง หรือมีขั้นตอนยุ่งยาก เช่นต้องส่งเอกสารให้กับฝ่ายบุคคลในการดำเนินการ ซึ่งอาจล่าช้า หรือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่เราไม่ต้องการให้ใครทราบ
- ฝีมือการบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน PVD ไม่เป็นไปตามคาด ส่งผลให้กองทุนที่เลือกลงทุนไว้ในพอร์ตมีผลขาดทุนมากกว่าปกติ หรือทำกำไรได้น้อยกว่าปกติ เมื่อเทียบกับดัชนีที่เป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) หรือเทียบกับกองทุนอื่น ๆ ที่มีนโยบายการลงทุนที่ใกล้เคียงกัน (Peers)
ด้วยข้อจำกัดทั้งหลายข้างต้น จึงเป็นเหตุผลที่หลายท่านอาจต้องการปรับลดเงินสะสม PVD เพื่อนำเงินนั้น ไปลงทุนเองในช่องทางอื่น ๆ นั่นเอง
อย่าเพิ่งรีบลดเงินสะสมเข้า PVD ทันที ตรวจสอบให้ดีก่อน
ก่อนตัดสินใจปรับลด PVD ลงนั้น ควรต้องพิจารณาก่อนว่า เงิน “สมทบ” ที่บริษัทสมทบเงินให้นั้น มีนโยบายหรือเงื่อนไขการสมทบแบบใด เช่น ตามอายุงาน หรือตามเงินสะสมของเรา
- ถ้าสมทบตามอายุงาน เราก็สามารถเลือกสะสม PVD ได้ต่ำสุด เท่าที่บริษัทเปิดให้เลือก เพื่อนำเงินส่วนที่ลดลงนั้นไปลงทุนเอง เพราะในกรณีนี้เงินสมทบจะไม่ลดลงตามไปด้วย เพราะอิงจากอายุงาน
- แต่ถ้าบริษัทสมทบให้เท่ากับเงินสะสมของเรา แปลว่ายิ่งเราสะสมเยอะ ก็ยิ่งได้เงินสมทบจากบริษัทเยอะขึ้นด้วย กรณีนี้ก็ควรดูเพดานของเงินสมทบว่าบริษัทจะสมทบให้เราสูงสุดเท่าไร เช่นถ้าสมทบให้สูงสุด 8% เราก็ควรปรับลดเงินสะสมลงให้ไม่ต่ำกว่า 8% เพื่อที่จะยังได้เงินสมทบมากที่สุดคือ 8% อยู่เป็นต้น
เมื่อปรับลดแล้ว ก็จึงนำเงินส่วนที่ปรับลดนั้น ไปจัดสรรลงทุนเองต่อไป ซึ่งก็มีทางเลือกหลากหลาย
ทางเลือกการลงทุนทดแทน PVD
1. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
มีจุดเด่น คือ
- สามารถลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับการสะสมเข้า PVD ทำให้ไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี
- มีเงื่อนไขการถือครองจนถึงอายุ 55 ปี ใกล้เคียงกับ PVD ทำให้มั่นใจได้ ว่าเงินจะยังคงอยู่เพื่อได้ใช้จ่ายในวัยเกษียณจริง ๆ ไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นก่อน
- มีตัวเลือกกองทุนและสินทรัพย์ให้เราเลือกลงทุนได้หลากหลาย มีทั้งสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ไปจนถึงเสี่ยงสูง รวมถึงสินทรัพย์น่าสนใจในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มสหรัฐฯ หุ้นเวียดนาม หุ้นเอเชีย หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Technology และ Healthcare ฯลฯ หรือจะเป็นสินทรัพย์ทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ
นอกจากนี้ เมื่อเราเลือกซื้อกอง RMF แล้ว ก็ยังสามารถที่จะสับเปลี่ยนกอง RMF กองเดิมที่เราเลือกไว้ ไปยังกอง RMF กองอื่น ๆ ได้อีกด้วย อาจเพื่อทำกำไรบ้าง หรือเพื่อปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งการสับเปลี่ยนระหว่าง RMF ด้วยกันนั้น สามารถทำได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขการถือครอง
แต่ข้อควรระวัง คือ เงื่อนไข RMF ที่เมื่อเริ่มต้นลงทุนแล้ว ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยสามารถเว้นได้ไม่เกิน 1 ปี และขายคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งถ้าผิดเงื่อนไข ต้องมีการคืนเงินภาษีส่วนที่ได้รับลดหย่อน รวมทั้งยังต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้กับกรมสรรพากรด้วย
2. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
เป็นกองทุนที่มีข้อดีใกล้เคียงกับ RMF คือใช้ลดหย่อนภาษีได้ มีตัวเลือกกองทุนและสินทรัพย์ให้เราเลือกลงทุนได้หลากหลาย สามารถสับเปลี่ยนไปยังกอง SSF ด้วยกันเองได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขการถือครอง แต่ข้อแตกต่างสำคัญจาก RMF คือ
- ต้องถือครองหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยนับแบบวันชนวัน แต่ไม่มีเงื่อนไขให้ต้องซื้อต่อเนื่อง หากผิดเงื่อนไข ต้องมีการคืนเงินภาษีส่วนที่ได้รับลดหย่อน รวมทั้งยังต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้กับกรมสรรพากรด้วย
- กองทุน SSF บางกองมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลด้วย ขณะที่ RMF นั้นทุกกองจะไม่จ่ายเงินปันผล
ทั้งนี้กองทุน SSF จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในปี 2567 เป็นปีสุดท้าย โดย ณ ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่ากองทุนจะได้รับการต่ออายุสิทธิประโยชน์ไปหลังปี 2567 หรือไม่
3. กองทุนรวมทั่วไป (General Mutual Fund)
จุดเด่นสำคัญคือ
- มีตัวเลือกกองทุนและสินทรัพย์ให้เราเลือกลงทุนได้หลากหลายมากกว่ากอง RMF และ SSF มาก
- สามารถสับเปลี่ยนกองทุน หรือซื้อขายกองทุนได้อย่างอิสระ มีความยืดหยุ่นสูง โดยไม่มีเงื่อนไขการถือครอง และยังเลือกได้ทั้งกองที่ไม่จ่ายเงินปันผล และจ่ายเงินปันผล
ทั้งนี้มีข้อเสียที่สุดเมื่อเทียบกับ PVD / RMF / SSF คือ ไม่สามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ค่ะ
4. หุ้นและการลงทุนทางตรงอื่น ๆ
เช่น หุ้นรายตัว ทั้งหุ้นไทย และ หุ้นต่างประเทศ หุ้นกู้ ทองคำ ฯลฯ ซึ่งเนื่องจากเป็นการลงทุนทางตรงในหลักทรัพย์รายตัว ตัวเลือกที่มีจึงมากกว่ากองทุนรวมอย่างเทียบกันไม่ได้
ทำให้ถ้าเราเลือกหลักทรัพย์ได้ดี ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนรวมมาก แต่แน่นอนว่าถ้าเลือกผิดพลาดก็อาจเสียหายได้มากเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่ลงทุนกระจุกตัวมาก ๆ ในไม่กี่หลักทรัพย์
สำหรับประเด็นทางภาษีนั้น การลงทุนทางตรงนั้นแทบทั้งหมดจะใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้ และในบางทางเลือกอาจมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นต่างประเทศนั้น หากมีกำไรเมื่อขาย และนำกลับประเทศ อาจต้องนำกำไรดังกล่าวมายื่นเสียภาษีด้วย เป็นต้น
บทสรุป
จากบทความข้างต้น เพื่อน ๆ น่าจะได้ทราบหลักการแล้วนะคะ ว่าการตัดสินใจลดเงินสะสม PVD นั้น
- ควรพิจารณาเรื่องใดบ้าง
- และเมื่อลดเงินสะสม PVD แล้วมีตัวเลือกการลงทุนใดบ้างที่สามารถเลือกได้
ขั้นตอนต่อไป ก็คือการเตรียมจัดพอร์ตกระจายการลงทุน หรือทำ Asset Allocation ให้เหมาะกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคนต่อไป
โดยหัวใจสำคัญของการลงทุนระยะยาว ให้ประสบความสำเร็จ นอกจากเรื่องตัวเลือกการลงทุนแล้ว ยังมีเรื่องของวินัยการลงทุนด้วย ซึ่งเดิมทีการสะสมเงินลงทุนใน PVD นั้น เราจะได้วินัยอัตโนมัติจากการหักเงินเดือนมาลงทุนทุกเดือน
แต่เมื่อเลือกแบ่งเงินมาลงทุนเอง เราต้องสร้างวินัยส่วนนี้ขึ้นด้วยตัวเอง เพื่อชดเชยวินัยอัตโนมัติที่หายไปด้วยนะคะ ซึ่งการตั้งให้มีการตัดเงินไปลงทุนอัตโนมัติไปลงทุนแบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) นั้นก็เป็นวิธีหนึ่งที่แนะนำค่ะ ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ DCA และ Asset Allocation ใช้ร่วมกันอย่างไร ให้เงินเติบโตในระยะยาว
หรือเพื่อน ๆ ท่านไหนอยากได้คำแนะนำเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อ บลป. Avenger Planner ให้นักวางแผนการเงินของเราช่วยดูแลและให้คำแนะนำได้นะคะ คลิกที่ป้ายด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ