วางแผนให้ดี ก่อนคิดจะสร้างรายจ่ายคงที่
03/09/2024Freelance กับรายได้ที่ไม่แน่นอน : วางแผนการเงินอย่างไรให้มั่นคง
17/09/2024เผยแพร่เมื่อ : 9 กันยายน 2567
Dollar Cost Averaging (DCA) หรือการลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่า ๆ กัน อย่างสม่ำเสมอ โดยมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาว เป็นหนึ่งในวิธีการลงทุน ที่หลายคนนิยมใช้เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย โดยมีสถิติและงานศึกษาที่สนับสนุนว่าเป็นวิธีการลงทุนที่ดี และเหมาะสำหรับคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม การลงทุนแบบ DCA ก็ยังมีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จ บทความนี้พิ้งค์จึงอยากชวนให้ทุกคนได้ทบทวน ว่าหากเราเป็นคนหนึ่งที่ลงทุนแบบ DCA อยู่ มีจุดที่เราลืมคิด หรือมองข้าม จนอาจทำให้การลงทุนแบบ DCA นั้นผิดพลาดไปตามประเด็นที่พิ้งค์แชร์มา 5 ข้อนี้หรือไม่ เพื่อที่ทุกท่านจะได้เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นค่ะ
โดยในบทความนี้ จะยกตัวอย่างการ DCA ในกองทุนรวมเป็นหลัก แต่ก็พอประยุกต์ใช้กับหุ้นหรือหลักทรัพย์รายตัวอื่น ๆ ได้เช่นกันค่ะ
1. DCA กระจุกในบางหลักทรัพย์ หรือบางสินทรัพย์ โดยไม่กระจายความเสี่ยง
การลงทุนแบบกระจุกตัวมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่สูง หากผู้ลงทุนสามารถคาดการณ์การเติบโตของสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งได้อย่างแม่นยำ แต่ในทางกลับกันก็อาจขาดทุนอย่างหนักได้ เพราะไม่ได้มีสินทรัพย์อื่น ๆ มาช่วยกระจายความเสี่ยง กรณีที่การคาดการณ์นั้นผิดพลาด ตัวอย่างเช่น
- การกระจุกตัวในบางสินทรัพย์ เช่น ในพอร์ตมีเฉพาะกองทุนหุ้น เวลาตลาดขาลงอาจจะทำให้พอร์ตติดลบได้มากถึง 40-50% ซึ่งหากมีสินทรัพย์อื่น ๆ ผสมในพอร์ตด้วยอาจลดผลขาดทุนในช่วงดังกล่าวลงได้
- กระจุกตัวในบางประเทศ เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้นไทยอย่างเดียว ซึ่งในช่วง 11 ปี 6 เดือน (ม.ค. 2013 - มิ.ย. 2024) มานี้ หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 2% ขณะที่หุ้นประเทศอื่น ๆ เช่น หุ้นโลก หรือ หุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่มากกว่า 10% เป็นต้น
- กระจุกตัวในบางอุตสาหกรรม เช่น กระจายลงทุนในกองทุนหลายกอง แต่กองทุนเหล่านั้นนำเงินไปลงทุนในหุ้นซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกันมาก เช่น ถือกองทุนหุ้น Tech ร่วมกับกองทุนหุ้นกลุ่ม Semiconductor ในช่วงเหตุการณ์ Black Monday ในเดือน ส.ค. 2024 ก็ทำให้พอร์ตย่อหนักได้ เพราะทั้งสองกลุ่มตกหนักพร้อม ๆ กัน เนื่องจากถือหุ้นหลายตัวร่วมกันอยู่
- กระจุกตัวในหลักทรัพย์น้อยตัว กองทุนหลายกอง แม้มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์เดียวกัน แต่ก็มีสไตล์การลงทุนที่ต่างกัน เช่น กองประเภท High Conviction Fund มักจะลงทุนแบบโฟกัสกระจุกในหุ้นน้อยตัว (ไม่เกิน 20-30 ตัว) ขณะที่บางกองประเภท Well-Diversified Fund นั้น มีการกระจายหุ้นที่มากกว่า (อาจมีหุ้นมากกว่า 100 ตัว) เมื่อตลาดเกิดความผันผวน กองประเภทแรกจะแกว่งได้แรงกว่า จนผู้ที่ลงทุนอาจทนถือไม่ไหวจนหยุด DCA หรือขายออก ณ จุดที่ปรับตัวลงแรง ทำให้เกิดผลขาดทุนถาวร และไม่ได้ประโยชน์เมื่อตลาดฟื้นตัว
2. ไม่ได้มีการทบทวนพอร์ตที่ลงทุนแบบ DCA
หลายคนลงทุนไปแล้ว ก็มีวินัยเติมเงินในพอร์ตการลงทุนไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการทบทวนพอร์ตการลงทุน ว่ามีผลลัพธ์การลงทุนอย่างไร ซึ่งในที่นี้แยกได้เป็น 2 กรณีคือ
- ไม่ได้มีการทบทวนกองทุนที่ใช้ลงทุน ว่ามีผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับ Benchmark หรือ Peers อย่างไร รู้ตัวอีกทีกองทุนที่ถืออยู่ก็อาจ Underperform กองอื่น ๆ อยู่เป็นเวลานาน ซึ่งถ้าจำเป็นก็ควรต้องมีการปรับเปลี่ยนกองทุนด้วย เพราะการลงทุนระยะยาวนั้น ไม่ได้หมายความว่าลงทุนอย่างเดิมโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย
- ไม่ได้มีการทบทวนสัดส่วนสินทรัพย์หรือกองทุนในพอร์ต เช่น ในแผนการลงทุนเริ่มต้นตั้งใจให้มีกองทุนหุ้นรวมกัน 60% และกองทุนตราสารหนี้ 40% ของพอร์ต แต่เมื่อ DCA ไปเป็นระยะเวลานาน สัดส่วนกองทุนหุ้นอาจเพิ่มขึ้นเป็น 70-80% ทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตเพิ่มไปมากกว่าที่ต้องการ หรือที่รับไหว กรณีนี้ก็ควรมีการ Rebalance ปรับพอร์ตให้กลับมาที่สัดส่วนตามแผนบ้าง ไม่เช่นนั้นเวลาตลาดขาลง พอร์ตจะย่อตัวลงมาก ทำให้อาจรับไม่ไหวจนออกจากตลาดไป
3. DCA เฉพาะขาขึ้น / DCA ไม่ต่อเนื่อง
การลงทุนในช่วงตลาดขาขึ้นผู้ลงทุนจะมีความสบายใจที่เห็นเงินเติบโต และมีกำลังใจในการลงทุน กลับกันในตลาดขาลง การทยอยลงทุน และเห็นพอร์ตติดลบ โดยยังคงต้องเติมเงินเข้าพอร์ตมักเป็นสิ่งที่ทำใจได้ยาก ดังนั้นหลายคนจึงหยุดการลงทุนแบบ DCA ในช่วงตลาดขาลง
ซึ่งพิ้งค์อยากชวนมองในอีกมุมหนึ่งว่า การที่เราเลือกวิธีลงทุนแบบ DCA ตั้งแต่แรกนั้น ก็เพราะไม่ต้องการที่จะจับจังหวะลงทุน เราจึงเลือกใช้วิธี DCA ที่เน้นวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง ด้วยหวังที่จะเก็บเกี่ยวการเติบโตของสินทรัพย์ในอนาคตหลายสิบปีข้างหน้า
ดังนั้น ในช่วงตลาดขาลง ก่อนที่จะหยุด DCA เราควรกลับมาทบทวนสินทรัพย์ที่ลงทุน ว่ายังมั่นใจในสินทรัพย์นั้นอยู่หรือไม่ โดยควรปรับมุมมองจากภาวะตลาดและข่าวสารระยะสั้น มามองโอกาสและศักยภาพระยะยาวของสินทรัพย์ประเภทนั้น ๆ แทน
และหากยังเชื่อมั่นในสินทรัพย์นั้นอยู่ ก็ควรที่จะ DCA ต่อไป เพราะการที่ตลาดเป็นช่วงขาลง แต่เรายังซื้อด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม ก็เท่ากับว่า เราจะได้จำนวนหน่วยการลงทุนที่เพิ่มขึ้น และได้ราคาซื้อที่ถูกลงเมื่อเทียบกับช่วงตลาดขาขึ้น วันข้างหน้าเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เงินที่ได้ทยอยเข้าซื้อช่วงขาลงนั้น อาจเป็นจุดซื้อที่ดี ที่หาได้ยาก ดังเช่น 3 ตัวอย่างด้านล่างนี้
หุ้นโลกปรับตัวลง -22% ระหว่างปี 2015-2016
จากความกังวลวิกฤติหนี้ Greece ก่อนจะคลี่คลายเป็นขาขึ้น
หุ้นโลกปรับตัวลง -34% ช่วงปี 2020
จาก COVID-19 ก่อนจะคลี่คลายเป็นขาขึ้น
หุ้นโลกปรับตัวลง -28% ช่วงปี 2022
จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ก่อนจะคลี่คลายเป็นขาขึ้น
ซึ่งจากทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ล้วนเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้ที่ลงทุนแบบ DCA แต่เมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์แต่ละครั้ง เงินที่ได้ลงทุนในช่วงดังกล่าวก็สร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดี
4. อดทนรอไม่ได้ ทำให้ล้มเลิกเร็วเกินไป
กลไกการทำงานของการลงทุนแบบ DCA คือ ต้องใช้พลังจากทั้งเงินต้นที่ทยอยสะสมจนมีปริมาณมาก และจากพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่อาศัยระยะเวลาที่ยาวนาน กว่าจะเห็นผล
กราฟด้านล่างเป็นการจำลองการลงทุนแบบ DCA เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 11 ปี 7 เดือน (ตั้งแต่ ธ.ค. 2012 ถึง ก.ค. 2024) โดยลงทุนใน Model Portfolio ของ บลป. Avenger Planner ที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งมีการกระจายลงทุนในหุ้นหลาย ประเทศหลายภูมิภาค
จะเห็นว่าต้นทุนสะสม (เส้นสีเขียว) ประมาณ 7 แสนบาท สามารถเติบโตเป็นมูลค่าพอร์ต (เส้นสีน้ำเงิน) ประมาณ 1.3 ล้านบาทได้ แต่ในช่วงปีแรก ๆ นั้น เส้นต้นทุนสะสมแทบจะเป็นเส้นเดียวกันกับมูลค่าพอร์ตเลย ซึ่งหลายคนก็อาจถอดใจไปในช่วงนี้ เพราะลงทุนแล้วไม่เห็นได้ดอกผลอะไร
หรือต่อให้ผ่านช่วงแรกมาได้ จากกราฟก็จะเห็นว่า บางช่วงมูลค่าพอร์ตก็ปรับลงมาได้มาก หรือบางกรณีอาจตกลงมาต่ำกว่าต้นทุนสะสมด้วย ก็อาจทำให้หลายคนเสียกำลังใจ และล้มเลิกการลงทุนไปได้อีกเช่นกัน เลยยังไม่ทันได้เห็นผลลัพธ์ของดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งเกิดขึ้นมากในช่วงท้าย (ช่วงที่เส้นน้ำเงิน ฉีกห่างจากเส้นสีเขียวไปมากขึ้นเรื่อย ๆ)
5. ไม่มีการปรับลดความเสี่ยงเมื่อใกล้ใช้เงิน หรือเมื่อรับความเสี่ยงได้น้อยลง
ลองจินตนาการว่า ถ้าอีกไม่กี่เดือนจะถึงวันเกษียณ แล้วเรามีเงินในพอร์ต 20 ล้าน โดยเป็นพอร์ตที่มีกองทุนหุ้นทั้งหมด เดือนต่อมาตลาดหุ้นตกอย่างหนักทำให้พอร์ตย่อตัวลง 30% เท่ากับว่าเงินหายไป 6 ล้าน
และเนื่องจากใกล้เกษียณแล้ว เราจึงไม่มีเวลารอให้ตลาดฟื้นได้นาน เงินใหม่ที่จะใช้เติมเข้าพอร์ตก็ไม่มีแล้ว แถมยังต้องถอนเงินออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหลังเกษียณด้วย นี่คือสถานการณ์ที่ร้ายแรงอย่างแท้จริง ซึ่งเราคงไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา
เนื่องจากการลงทุนแบบ DCA นั้น เป็นการลงทุนที่ไม่กะเก็งภาวะตลาด เมื่อใกล้ต้องใช้เงินและรับความเสี่ยงมากเหมือนเดิมไม่ได้ เราจึงต้องดำเนินการปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงจากหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงอื่น ๆ ลงด้วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายดังกล่าว ซึ่งควรเริ่มทำอย่างช้าที่สุดคือ 3-5 ปี ก่อนที่จะเริ่มใช้เงิน
เมื่อปรับแล้วพอร์ตโดยรวมก็จะมีสัดส่วนสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่วนเงินออมใหม่ที่ DCA เพิ่มต่อเนื่อง ก็จะมาสะสมสินทรัพย์ที่ปลอดภัยขึ้นแทน นั่นคือพอร์ตก็ยังโตเพิ่มได้อยู่ โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงมากแล้วนั่นเอง
บทสรุป
หากทุกท่านอ่านมาถึงจุดนี้ พิ้งค์อยากชวนให้ลองสำรวจพอร์ตการลงทุนแบบ DCA ของตัวเองดูนะคะ ว่ามีข้อควรระวังตาม 5 ข้อที่กล่าวมาบ้างหรือไม่ หากมีก็ควรรีบปรับเปลี่ยน เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้ผลตอบแทนไปถึงเป้าหมายได้ดี และสบายใจขึ้นค่ะ
การลงทุนให้ถึงเป้าหมายก็เปรียบเสมือนการเดินทางไกล ขนาดรถยนต์ยังต้องเข้าเช็คระยะตามรอบ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจะไม่เสียหรือพาเราไปเกิดอุบัติเหตุกลางทาง ดังนั้น อย่าลืมเช็คความเสี่ยง และทบทวนพอร์ตการรลงทุนของตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยนะคะ
แต่ถ้าหากใครคิดว่าทำคนเดียวยังไม่มั่นใจ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร อยากได้คนมาช่วยแนะนำ ช่วยตรวจทานความคิด และเป็นเพื่อนร่วมเส้นทางการลงทุนอันสุดแสนจะผันผวน ก็สามารถพิจารณาใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน บลป. Avenger Planner ได้นะคะ คลิกที่ Link นี้ หรือรูปด้านล่างเพื่อศึกษารายละเอียดได้เลยค่ะ