มนุษย์เงินเดือนเก็บเงินซื้อบ้านอย่างไร… ให้เก็บได้เร็ว
14/08/2024แผนการเงินของแพทย์ แตกต่างจากอาชีพอื่นอย่างไร ?
27/08/2024เผยแพร่เมื่อ : 21 สิงหาคม 2567
เมื่อกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินยอดนิยมที่มักใช้ในการลดหย่อนภาษี เรามักจะนึกถึงผลิตภัณฑ์ 2 ประเภทหลัก นั่นคือ ประกัน และ กองทุนรวม
ในบทความนี้พิ้งค์จะมาชวนคิดว่า หากทั้งสองอย่างได้ผลประโยชน์ทางภาษีที่เท่ากัน เราควรจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใด ผ่านมุมมอง 4 ด้านต่อไปนี้ โดยจะยกตัวอย่างผ่านกรณีศึกษา 2 กรณีค่ะ
มุมมอง 4 ด้านในการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อลดหย่อนภาษี
ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ดีที่สุดในทุกๆ ด้าน ดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาหลายๆ ด้าน แล้วจึงตัดสินใจเลือกให้ตอบโจทย์กับตนเองมากที่สุด โดยมีปัจจัยพิจารณาต่างๆ ดังนี้ค่ะ
- เป้าหมายการออม/การลงทุน และระยะเวลาที่สามารถรอคอยได้
- ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คาดหวัง
- เงื่อนไขของแต่ละผลิตภัณฑ์
- อุปนิสัยส่วนตัว หรือจริตในการออม/การลงทุน
กรณีศึกษา 1 คุณพาณิภัค อายุ 27 ปี อาชีพพนักงานประจำ บริษัทเอกชน
คุณพาณิภัค ต้องการออม/ลงทุน เพื่อเป้าหมายเกษียณตอนอายุ 60 ปี ไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุน เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก หากใช้ปัจจัยทั้ง 4 ข้อด้านบนมาช่วยเลือก สามารถพิจารณาได้ดังนี้
1) เป้าหมายการออม/การลงทุน และระยะเวลาที่สามารถรอคอยได้
ต้องการลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณ มีระยะเวลาการลงทุนยาวถึง 33 ปี
2) ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คาดหวัง
ไม่เคยมีประสบการณ์ลงทุนมาก่อน ความเสี่ยงอาจจะรับได้ตั้งแต่ความเสี่ยงน้อยถึงมาก ซึ่งข้อนี้ขึ้นอยู่กับการศึกษาหาความรู้ของคุณพาณิภัคด้วย แต่ด้วยการที่ไม่มีประสบการณ์ลงทุนมาก่อน จะโน้มเอียงไปทางรับความเสี่ยงได้น้อย
ซึ่งตัวเลือกผลิตภัณฑ์อาจมี เช่น
2.1) ประกันบำนาญ ลักษณะผลิตภัณฑ์มีความเสี่ยง และผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ได้ผลตอบแทนแน่นอน โดยจ่ายเป็นรายได้ประจำให้หลังเกษียณอายุ แต่ไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดความเสี่ยงการลงทุนได้
2.2) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลักษณะผลิตภัณฑ์สามารถเลือกได้ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ-สูง เลือกลงทุนได้หลายสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ในระยะแรกหากยังไม่มีประสบการณ์การลงทุน สามารถเลือกลงทุนในกองทุน RMF ประเภทตราสารหนี้ซึ่งมีความเสี่ยงไม่มากก่อนได้
และหากสามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถผสม RMF ที่ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ ได้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ได้ภายหลัง เนื่องจาก RMF สามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี
3) เงื่อนไขของแต่ละผลิตภัณฑ์
จาก 2 ประเภทผลิตภัณฑ์ข้างต้น เราต้องเข้าใจเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีด้วย ซึ่งพิ้งค์จะขอเน้นไปที่เงื่อนไขสำคัญๆ ที่ควรทราบนะคะ
3.1) ประกันบำนาญ มีสัญญาผูกพันต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบถ้วนตามสัญญา เช่น
- 90/5 คือ จ่ายเบี้ยประกัน 5 ปี เริ่มจ่ายบำนาญเมื่ออายุ 60-90 ปี หรือ
- 60/99 คือ จ่ายเบี้ยประกัน จนถึงอายุ 60 ปี เริ่มจ่ายบำนาญอายุ 60-99 ปี
โดยหากผิดเงื่อนไขของบริษัทประกัน เช่น ไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันต่อเนื่องได้ ก็อาจต้องยกเลิก (เวนคืน) กรมธรรม์ ซึ่งหากเวนคืนก็อาจได้รับเงินคืนน้อยกว่าเบี้ยรวมที่จ่ายไป โดยเฉพาะถ้าเวนคืนในช่วง 2-3 ปีแรกๆ เงินที่จ่ายไปจะได้กลับมาน้อยมากๆ
แต่กรณีไม่ต้องการเวนคืนซึ่งอาจทำให้ขาดทุนมาก บริษัทประกันก็มีทางเลือกให้สามารถหยุดจ่ายเบี้ยโดยลดความคุ้มครอง หรือลดระยะเวลาการคุ้มครองลงมา ซึ่งต้องตรวจสอบในรายละเอียดของแต่ละแบบประกันด้วย
3.2) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร หากเริ่มซื้อ RMF ไปแล้วนั้น จะต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไม่จำกัดจำนวนเงินขั้นต่ำ และต้องไม่ระงับการซื้อ RMF เกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน (หากจำเป็นสามารถซื้อปีเว้นปีได้) และ จะขายได้อย่างถูกเงื่อนไข เมื่อลงทุนมาอย่างน้อย 5 ปี และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เท่านั้น
โดยทั้งสองกรณีต้องมีการคืนเงินภาษีส่วนที่ได้รับการลดหย่อนไป นอกจากนั้นยังต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้กับกรมสรรพากร
ในส่วนของ RMF นั้น หากยังลงทุนมาต่อเนื่องไม่ถึง 5 ปี กำไรที่ได้จากการขายคืน ก็จะต้องนำมารวมเป็นรายได้ในปีที่ขายคืน เพื่อคำนวณภาษีอีกด้วย
4) อุปนิสัยส่วนตัว หรือจริตในการออม/การลงทุน
- หากคุณพาณิภัค รับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่ต้องการเห็นเงินต้นติดลบเลย มีความมั่นใจว่าสามารถส่งเบี้ยประกันได้ทุกปีจนครบสัญญา การซื้อประกันบำนาญก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าจะตอบโจทย์ได้
- แต่หากคุณพาณิภัค คิดว่าตอนนี้ถึงแม้ว่าตนเองจะรับความเสี่ยงได้ต่ำ แต่ก็พร้อมศึกษาหาความรู้ และอาจรับความเสี่ยงได้มากขึ้นในอนาคต จึงต้องการความยืดหยุ่นในการปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ ในส่วนของปริมาณเงินลงทุนนั้น หากมีเงินมากขึ้นก็จะเพิ่มการลงทุนใน RMF ขึ้น หรือ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินไปทำเป้าหมายอื่น ก็จะลดเงินลงทุนส่วนนี้ลง แบบนี้การเลือกกองทุนรวม RMF ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เช่นกัน
กรณีศึกษา 2 คุณนครินทร์ อายุ 38 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว
คุณนครินทร์ ต้องการออม/ลงทุนเพื่อเป้าหมายทุนการศึกษาบุตรระดับปริญญาตรี ที่ต่างประเทศ ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีประสบการณ์การลงทุนในหุ้น และกองทุนรวม สามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
หากใช้ปัจจัยทั้ง 4 ข้อด้านบนมาช่วยเลือก สามารถพิจารณาได้ดังนี้
1) เป้าหมายการออม/การลงทุน และระยะเวลาที่สามารถรอคอยได้
เป้าหมายการศึกษาบุตร มีระยะเวลาการลงทุน 10 ปี
2) ความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คาดหวัง
สำหรับเป้าหมายนี้คุณนครินทร์สามารถ รับความเสี่ยงได้ปานกลาง ซึ่งตัวเลือกผลิตภัณฑ์อาจมี เช่น
2.1) ประกันสะสมทรัพย์ ลักษณะผลิตภัณฑ์มีความเสี่ยง และผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดความเสี่ยงการลงทุนได้ แต่ได้ผลตอบแทนแน่นอนตามสัญญา ส่วนใหญ่มักมีเงินคืนจ่ายให้เป็นระยะ โดยไม่ต้องรอให้ครบสัญญา
2.2) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) ลักษณะผลิตภัณฑ์ SSF สามารถเลือกลงทุนได้ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ-สูง เลือกลงทุนได้หลายสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ ส่วน TESG เลือกได้ระหว่างหุ้นไทย และตราสารหนี้ไทย (ดูวิดีโอเพิ่มเติมได้ที่ Link นี้) และมีกองทุนที่จ่ายเงินปันผลให้เลือก กรณีที่ต้องการได้รับเงินคืนบางส่วนก่อนครบกำหนดการถือครอง
3) เงื่อนไขของแต่ละผลิตภัณฑ์
3.1) ประกันสะสมทรัพย์ มีสัญญาผูกพันต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ครบถ้วนตามสัญญา เช่น ประกันที่สามารถใช้ลดหย่อนได้ต้องมีระยะเวลาความคุ้มครองไม่น้อยกว่า 10 ปี
เช่น ประกันสะสมทรัพย์แบบ 10/5 คือจ่ายเบี้ยประกัน 5 ปีคุ้มครอง 10 ปี โดยหากผิดเงื่อนไขของบริษัทประกัน เช่น ขาดส่งเบี้ยประกัน โดยเฉพาะใน 2-3 ปีแรก เงินที่จ่ายไปจะได้กลับคืนมาน้อยมาก หรือหากเวนคืนกรมธรรม์ก่อน 10 ปี ก็ผิดเงื่อนไขทางภาษี เช่นกัน
ซึ่งกรณีไม่ต้องการเวนคืนซึ่งอาจทำให้ขาดทุนมาก บริษัทประกันก็มีทางเลือกให้สามารถหยุดจ่ายเบี้ยโดยลดความคุ้มครอง หรือลดระยะเวลาการคุ้มครองลงมา ซึ่งต้องตรวจสอบในรายละเอียดของแต่ละแบบประกัน เช่นเดียวกับกรณีของประกันบำนาญที่ได้กล่าวถึงไปในกรณีศึกษาที่ 1
3.2) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)
กองทุน SSF ต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี และกองทุน TESG ที่ซื้อตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น
ทั้งนี้สำหรับกอง SSF จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในปี 2567 เป็นปีสุดท้าย
โดยทั้งสองกรณี หากผิดเงื่อนไข ต้องมีการคืนเงินภาษีส่วนที่ได้รับการลดหย่อนไป นอกจากนั้นยังต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มให้กับกรมสรรพากร
ในส่วนของ SSF และ TESG นั้น กำไรที่ได้จากการขายคืนแบบผิดเงื่อนไข จะต้องนำมารวมเป็นรายได้ในปีที่ขายคืน เพื่อคำนวณภาษีด้วยเช่นกัน
4) อุปนิสัยส่วนตัว หรือจริตในการออม/การลงทุน
- หากคุณนครินทร์มีความสบายใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ต้องการเงินต้นติดลบตลอดระยะเวลาลงทุนการซื้อประกันสะสมทรัพย์ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับเป้าหมายทุนการศึกษาบุตรนั้น คุณนครินทร์อาจต้องการเน้นเรื่องความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ
- แต่หากคุณนครินทร์มีความเข้าใจธรรมชาติการลงทุน สามารถเลือกกองทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมาย สามารถรับความเสี่ยงเพิ่ม เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้กองทุนรวม SSF/TESG ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน โดยหากรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ก็สามารถผสมสัดส่วนสินทรัพย์ (Asset Allocation) ให้อยู่ในระดับเสี่ยงปานกลางได้
บทสรุป
การลดหย่อนภาษีเป็นมาตรการภาครัฐ ที่จูงใจให้เรามีแนวโน้มอยากเก็บออมเงิน และลงทุน เพื่อตัวเราเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น
แต่ก็อย่าลืมสิ่งสำคัญนอกเหนือจากภาษีที่ลดลงนั้น คือการบรรลุเป้าหมายในการเก็บออม/ลงทุน ที่ควรต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกนะคะ การลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายนั้นไม่เพียงพอค่ะ
พิ้งค์อยากเชิญชวนให้ทุกท่าน ตัดสินใจในการซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำให้ได้ทั้งเรื่องการบรรลุเป้าหมาย และได้ทั้งลดหย่อนภาษีไปควบคู่กันค่ะ และต้องทำให้ได้อย่างยั่งยืนด้วยนะคะ
- บางคนลดหย่อนภาษีอย่างหนัก จนแทบจะไม่เหลือเงินไว้สำหรับเรื่องสำคัญเรื่องอื่นๆ เช่น ช่วงปลายปีรูดบัตรเครดิตซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อลดหย่อนภาษี จนขาดสภาพคล่อง
- บางคนมุ่งเก็บออม/ลงทุนระยะยาว แต่ลืมเผื่อเรื่องเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินระยะสั้น เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยก็ทำให้ต้องหยุดส่งเบี้ยประกัน หรือขายกองทุน RMF/SSF/TESG แบบผิดเงื่อนไข ทำให้ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก
เราคงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นกับตัวเอง ดังนั้นควรคิดให้รอบด้านก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการลดหย่อนภาษีใดๆ นะคะ
หรือหากอ่านแนวคิดด้านบนแล้ว คิดว่าอยากมีคนมาช่วยคิด ช่วยมองให้รอบด้าน ก็สามารถ ใช้บริการจากทีมนักวางแผนการเงิน Avenger Planner ได้ค่ะ (คลิก Link นี้เพื่อศึกษารายละเอียดเลย)