เลือกใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ Retirement Home ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ?
13/10/2023เสียภาษีหรือไม่ ? คำนวณอย่างไร ? เมื่อจะออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
04/06/2024เผยแพร่เมื่อ : 3 มิถุนายน 2567
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียน พบว่ามีหลายท่านที่ยังไม่รู้จัก และยังสับสนกับขั้นตอนการยื่นภาษีกลางปี หรือ ภาษีครึ่งปี หรือ การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 เช่น
- ใครมีหน้าที่ต้องยื่นบ้าง
- การยื่นทำอย่างไร
- ใช้ค่าลดหย่อนอะไรได้บ้าง
- จะเสียภาษีเท่าไร
บทความนี้ผู้เขียน จึงขอพาทุกท่านมาทำความเข้าใจภาษีดังกล่าวไปด้วยกันค่ะ
ข้อควรรู้ 3 ประการ สำหรับการยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94)
- เกี่ยวข้องกับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(5) - 40(8) เท่านั้น ซึ่งประกอบไปด้วย
- มาตรา 40(5) คือผู้ที่มีเงินได้จากค่าเช่าต่าง ๆ
- มาตรา 40(6) คือผู้ที่มีเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น การประกอบโรคศิลปะ (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม
- มาตรา 40(7) คือผู้ที่มีเงินได้จากการรับเหมาต่าง ๆ ที่มีการลงทุนเครื่องมือ และ/หรือ แรงงานค่อนข้างมาก
- มาตรา 40(8) คือผู้ที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ และรายได้อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากมาตรา 40(1) ถึง 40(7) ซึ่งรายได้กลุ่มนี้ ก็รวมถึงท่านที่ค้าขายออนไลน์ และ YouTuber Influencer ต่าง ๆ ด้วยนะคะ
- คำนวณเฉพาะรายรับครึ่งปีแรกเท่านั้น โดยหากนับรายได้ทุกประเภทรวมกันแล้ว เกินกว่า 60,000 บาท ท่านมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี
- ถือเป็นภาษีที่ชำระเอาไว้ล่วงหน้า โดยภาษีครึ่งปีที่จ่ายไป สามารถนำมาหักออกจากภาษีเต็มปี (ภ.ง.ด. 90) ที่คำนวณได้ (โดยภาษีเต็มปีจะคำนวณจากรายได้ทั้งปี)
กำหนดการ และ ช่องทางยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94)
สามารถยื่นได้ตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 ก.ย. ของทุกปี ผ่าน 3 ช่องทาง คือ
- ยื่นทางออนไลน์
- ยื่นแบบกระดาษด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่
- ส่งทางไปรษณีย์ (วิธีนี้เฉพาะผู้มีภูมิลำเนาในกรุงเทพเท่านั้น)
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงขั้นตอนการยื่นทางออนไลน์เป็นหลักนะคะ
ขั้นตอนการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ทางออนไลน์
1. เข้าสู่ระบบ E-FILING เพื่อยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ ที่ลิ้งค์นี้ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/
2. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเลือกสถานะผู้มีเงินได้
3. เลือกประเภทเงินได้ และ ระบุข้อมูลให้ครบถ้วน
โดยในตัวอย่างนี้ สมมติให้ ครึ่งปีแรกผู้เขียนมีรายได้จากค่าเช่า 40(5) จำนวน 695,000 บาท ไม่มีหักภาษี ณ ที่จ่ายและเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา
4. กรอกค่าลดหย่อนซึ่งจะมีทั้งหมด 4 กลุ่ม โดยจุดนี้จะมีความ แตกต่างจากภาษีปลายปี ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายในลำดับถัดไป
5. เมื่อกรอกรายละเอียดครบถ้วน ระบบจะคำนวณภาษีให้อัตโนมัติ จากนั้นให้เราตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ว่าถูกต้องหรือไม่
สำหรับยอดภาษีที่ต้องชำระนี้
- กรณียอดชำระตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ท่านสามารถแบ่งชำระได้ 3 งวด
- กรณีรายได้ครึ่งปีแรก ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้มากกว่าภาระภาษีที่ต้องจ่ายจริง (ตามที่คำนวณได้ในแบบ ภ.ง.ด. 94) ท่านจะยังไม่สามารถขอคืนเงินได้ ต้องรอขอคืนตอนที่ยื่นภาษีรอบสิ้นปีค่ะ
6. ขั้นตอนสุดท้าย คือ “ยืนยันการยื่นแบบ”
ความแตกต่างของภาษีครึ่งปี VS ภาษีปลายปี
การยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) นั้นแทบไม่ต่างจากการยื่นภาษีปลายปีเลยค่ะ
โดยความแตกต่างจะอยู่ที่ “ค่าลดหย่อน” เท่านั้น
ซึ่งตรงนี้จะค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากค่าลดหย่อนที่เรารู้จักนั้น จริง ๆ แล้วแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ค่าลดหย่อนจริง ๆ ตามนิยามของกฎหมาย ซึ่งส่วนนี้จะใช้สิทธิได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท จะใช้สิทธิได้ 30,000 บาท
- ค่าลดหย่อน ที่เกิดจากเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น ส่วนนี้จะใช้สิทธิได้เต็มจำนวน เช่น
- บางส่วน ของดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน
- บางส่วน ของเบี้ยประกันชีวิต
ที่ต้องใช้คำว่า "บางส่วน" ก็เพราะค่าลดหย่อนกลุ่มนี้นั้น ประกอบจาก 2 ส่วนด้วยกัน โดยในค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน และ ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตนั้น ซึ่งใช้ได้สูงสุดอย่างละ 100,000 บาทนั้น จะประกอบไปด้วย
- ค่าลดหย่อนจริง ๆ 10,000 บาท ซึ่งส่วนนี้ใช้สิทธิ์ได้เพียงครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 5,000 บาท
- ค่าลดหย่อนที่เป็นเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น 90,000 บาท ซึ่งใช้สิทธิ์ได้เต็มจำนวน
ด้วยเหตุนี้ การยื่นภาษีกลางปีจึงยื่นค่าลดหย่อนเหล่านี้ได้สูงสุดที่ 95,000 บาท (แทนที่จะเป็น 100,000 บาท)
นอกจากนั้นยังมีข้อกำหนดอื่น ๆ ได้แก่
- ค่าลดหย่อนที่ไม่สามารถนำมาใช้ในการยื่นภาษีครึ่งปีได้ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
- ค่าลดหย่อนที่จะนำมาใช้ ต้องเป็นรายการที่เกิดขึ้นจริงในช่วง ม.ค. - มิ.ย. เท่านั้นนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าเบี้ยประกัน, ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืม, เงินบริจาค รวมถึงการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี RMF/SSF/TESG ต่าง ๆ
บทลงโทษ
- กรณีไม่ยื่นแบบ แสดงรายการภายในกำหนดเวลา มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณียื่นแบบแสดงรายการเกินกำหนด ต้องชำระค่าปรับอาญา
- กรณีเกินกำหนด ไม่เกิน 7 วัน : เสียค่าปรับขั้นต่ำ 100 บาท
- กรณีเกินกำหนด เกิน 7 วัน : เสียค่าปรับขั้นต่ำ 200 บาท
และให้เสียเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องชำระ (เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน)
บทสรุป
ภาษีถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบพื้นฐานของบุคคลผู้มีรายได้ และขั้นตอนการยื่นภาษีครึ่งปีแม้อาจจะดูซับซ้อนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไปนัก
โดยการยื่นภาษีกลางปี ก็อาจจะพอจะมีข้อดีอยู่บ้าง คือ
- ช่วยแบ่งเบาภาระภาษี ให้เราไม่ต้องชำระภาษีก้อนใหญ่ในครั้งเดียวตอนยื่นเต็มปี
- ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือกับสถาบันการเงินในกรณีที่ต้องขอสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับ Freelance และเจ้าของธุรกิจ ที่ไม่ได้มีสลิปเงินเดือนเป็นหลักฐาน การมีเอกสาร ภ.ง.ด. 94 ยื่นประกอบการขอสินเชื่อ ก็อาจช่วยให้ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) มากขึ้นนะคะ
หรือหากไม่มั่นใจที่จะดำเนินการด้วยตนเอง จะให้นักวางแผนการเงินจาก Avenger Planner เป็นผู้ช่วยก็ได้ค่ะ
เพราะในการรับ "บริการวางแผนการเงินแบบองค์รวม" จากพวกเรานั้น ทุก ๆ ปีเราจะมีการคำนวณและประมาณการภาษีให้ท่านทราบ และช่วยวางแผนเปลี่ยนภาษีให้เป็นเงินออมภายใต้เงื่อนไขที่แต่ละท่านสามารถทำได้ด้วย
หากสนใจรับบริการจากนักวางแผนการเงิน Avenger Planner สามารถกดได้ที่ ลิงค์ ด้านล่างนี้ พวกเรายินดีให้บริการค่ะ