ข้อคิดทางการเงิน สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนซื้อรถคันแรก
21/08/2023วิธีประเมินทุนเกษียณอย่างง่ายที่ทุกคนทำเองได้
27/09/2023บทความนี้พิ้งค์ได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนซึ่งมีคุณพ่อ คุณแม่ที่ไม่มีประกันสุขภาพ แต่มีสภาวะวิกฤติฉุกเฉิน และอีกเคสหนึ่ง คือ เพื่อนที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมแต่ไม่มีประกันสุขภาพเช่นกัน
จึงอยากรวบรวมข้อมูลสิทธิด้านการรักษาพยาบาลพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่มี โดยจะนำมาเล่าให้ฟังทั้งสิ้น 5 สิทธิ ได้แก่
- สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (UCEP)
- สิทธิความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- สิทธิรักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนประกันสังคม
- สิทธิรักษาพยาบาลในฐานะผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม
- สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ไปดูรายละเอียดแต่ละสิทธิกันเลยค่ะ
1. สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ UCEP
ย่อมาจาก Universal Coverage for Emergency Patients คือ สิทธิในการรักษาผู้ป่วย “ฉุกเฉินวิกฤติ” สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดใน 72 ชั่วโมง โดย “ไม่มีค่าใช้จ่าย” เมื่อมี 6 อาการดังนี้
- หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
- ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
- เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
- แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
- อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
โดยการใช้สิทธินี้นั้นจะขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ด้วย ว่าเข้ากรณีฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่
และเมื่อรับการรักษาจนพ้นภาวะวิกฤติแล้วทางโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วย ตัดสินใจว่าจะย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิประกันสังคมหรือไม่ โดยหากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยรถพยาบาล ผู้ป่วยจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองด้วย
ส่วนกรณีที่ตัดสินใจไม่ย้าย ผู้ป่วยและญาติจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังพ้นภาวะวิกฤติเองเช่นกัน
2. สิทธิความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
สิทธินี้จะคุ้มครองอุบัติเหตุ ที่เกิดจากการใช้ยานพาหนะบนท้องถนนที่มี พ.ร.บ.
หากรถยนต์คู่กรณีมี พ.ร.บ ในกรณีบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุจากการขับขี่รถยนต์ พ.ร.บ. จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ไม่จำกัดจำนวนคนในยานพาหนะนั้น) รวมถึงการติดตามการรักษา (follow up) จนสิ้นสุดการรักษานั้น
โดยการจะใช้สิทธิคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ เราจะต้องไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานด้วย
เรื่องการเบิกค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งอำนวยความสะดวกในการเบิกค่ารักษา โดยผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน แต่ต้องมีเอกสารให้โรงพยาบาลครบ เช่น เอกสาร พ.ร.บ. ใบรับรองแพทย์ ฯลฯ แต่ก็มีบางโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยต้องสำรองจ่ายไปก่อน และนำเอกสารไปเบิกภายหลัง
นอกจากนี้หากรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ คันนั้นมีประกันภัยภาคสมัครใจ เช่นประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็อาจจะมีวงเงินรักษาพยาบาลเพิ่มเติมขึ้นจาก พ.ร.บ. ด้วย
3. สิทธิรักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทนประกันสังคม
โดยจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย ถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยไม่คำนึงถึงวัน เวลา และสถานที่ แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
มีสิทธิได้รับ
- ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาทต่อการประสบอันตราย 1 ครั้ง
- หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเรื้อรัง จ่ายเพิ่มอีก 100,000 บาท ไม่เกิน 300,000 บาท
- หากไม่เพียงพอ สามารถเบิกได้ไม่เกิน 1,000,000 บาท
- หากลูกจ้างประสบเหตุ และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาลจะใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษา
- แต่หากลูกจ้างเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองไม่ได้มีสิทธิประกันสังคม โดยนายจ้างลงนามยินยอม ว่าลูกจ้างบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน หรือจากการให้ไปปฏิบัติงานจริง ลูกจ้างก็มีสิทธิจะได้เงินส่วนนี้ตามที่ใช้จ่ายจริง โดยบางโรงพยาบาลอาจจะต้องให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายไปก่อน และค่อยไปทำเรื่องเบิกคืนกับสำนักงานประกันสังคม
นอกจากนี้ กองทุนเงินทดแทนประกันสังคมยังมี ค่าทดแทนรายเดือน จ่ายไม่เกิน 70% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 14,000 บาท และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้วย แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการทำกายภาพบำบัดจ่ายจริงไม่เกิน 24,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท โดยจะต้องมีเอกสารยินยอมจากนายจ้าง และคณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นชอบ
4. สิทธิรักษาพยาบาลในฐานะผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม
ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566 ผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมมีทั้งสิ้นประมาณ 24.5 ล้านคน โดยมีโรงพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชนหลายแห่งรับสิทธิประกันสังคม
โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเป็นเงินเหมาจ่ายรายหัว ตามจำนวนผู้ประกันตนของโรงพยาบาลนั้น และโรงพยาบาลมีหน้าที่นำเงินก้อนนั้นไปบริหารจัดการรักษาให้คนไข้
ดังนั้นโรงพยาบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารค่าใช้จ่ายให้เพียงพอต่องบประมาณที่ได้รับ เช่น
- ยาที่จ่ายอาจไม่ได้เป็นแบบ Original แต่เป็นยาเทียบเคียงที่มีมาตรฐานเทียบเท่าตามบัญชียาหลักแห่งชาติ
- ห้องพักตามสิทธิก็มักจะเป็นห้องพักรวม แต่สามารถ Upgrade ได้หากผู้ป่วยยินดีจ่ายส่วนต่างเพิ่ม หรือใช้สิทธิเบิกจากประกันอื่นๆ ร่วมด้วย
- กรณีมีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง หรือหัตถการบางรายการ อาจจะต้องมีส่วนร่วมจ่ายเพิ่มเติม
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของสิทธิประกันสังคม คือ เป็นสิทธิเดียวที่ถ้าหากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โรงพยาบาลเจ้าของสิทธิประกันสังคมจะต้องนำรถพยาบาลมารับผู้ป่วยถึงที่ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
5. สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สิทธินี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “สิทธิบัตรทอง” โดยประชากรไทยทุกคน หากใครไม่มีสิทธิประกันสุขภาพใดๆ เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดที่ทุกคนจะได้รับ
โดยสถานพยาบาลตามสิทธินี้ จะมีการจัดให้ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน แต่ก็สามารถขอเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลได้ หากโรงพยาบาลที่ต้องการยังมีมีสิทธิว่างอยู่ ซึ่งการเข้ารับการรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไปนั้น จะต้องติดต่อที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อนเสมอ โดยแสดงหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชน หรือหากเป็นเด็กที่ยังไม่ได้ทำบัตรประประชาชนก็ให้ใช้สูติบัตรแทน
ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดด้วยว่า ประชากรไทยส่วนมากไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่น จึงต้องใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ ทำให้เกิดการแออัดของผู้ป่วย จนทำให้ได้รับบริการล่าช้า หรือไม่สะดวกบ้าง แต่ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้มาก และครอบคลุมประชาชนไทยมากที่สุดสิทธิหนึ่ง
นอกจากสิทธิในการรักษาพยาบาลแล้ว ก็จะมีสิทธิสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ซึ่งไม่เฉพาะคนมีสิทธิบัตรทองเท่านั้นที่สามารถใช้ได้ แต่ผู้มีสิทธิอื่นๆ เช่น ประกันสังคม หรือสิทธิราชการ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ การตรวจคัดกรองเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การตรวจเลือดคอเลสเตอรอล ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด การฉีดวัคซีน รับยาคุมกำเนิด รับถุงยางอนามัย บริการคุมกำเนิด การฝากครรภ์ การตรวจสุขภาพช่องปากและฟันผู้สูงอายุ เป็นต้น
ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
บทสรุป
การเจ็บป่วย เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงได้ยาก และมักตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ควรต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาหนี้สิน หรือการต้องไปดึงเงินจากเป้าหมายอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กันมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล
สำหรับผู้ที่มีงบประมาณเพียงพอ และยังมีสุขภาพที่ดี ก็สามารถซื้อประกันสุขภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านค่ารักษาพยาบาลได้ แต่หากไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพไว้ การรู้จักสิทธิในการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น 5 สิทธิที่ยกตัวอย่างในบทความนี้ไว้บ้าง ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ไม่มากก็น้อย
นอกจากรู้จักสิทธิแล้ว ยังควรทำความเข้าใจวิธีการในการใช้สิทธิและแจ้งคนในครอบครัวไว้ด้วย เพราะบางครั้งเมื่อเจ็บป่วยเราอาจไม่สามารถสื่อสารหรือตัดสินใจเองได้ เช่น ชื่อสถานพยาบาลตามสิทธิของเรา เบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาลดังกล่าว หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องโทรเบอร์ใด (เช่นเบอร์ 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) หรือสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือที่ใด เป็นต้น
และสำหรับ Avenger Planner แล้ว การจัดการความเสี่ยงเรื่องค่ารักษาพยาบาล ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการจัดทำแผนการเงินแบบองค์รวม ที่พวกเราวางแผนให้กับลูกค้าทุกคน เพื่อที่เมื่อเกิดเหตุแล้ว การเงินจะได้ไม่เสียหายไปด้วย ซึ่งก็มีขั้นตอนตั้งแต่
- การประเมินความเสี่ยง
- การเลือกแนวทางในการป้องกันความเสี่ยง
- การแนะนำประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับงบประมาณ
- ไปจนถึงการแนะนำให้ลูกค้ารู้จักสิทธิการรักษาพยาบาลต่างๆ ที่ตนมี
ซึ่งหากท่านผู้อ่านสนใจให้พวกเราช่วยวางแผนให้ ก็สามารถศึกษาและสมัครใช้บริการได้ฟรีที่ Link นี้นะคะ