พอร์ตกองทุนรวมติดลบ เพราะอะไรกันนะ ?!
04/08/20233 ความเสี่ยงต้องรู้ ก่อนลงทุนในสหกรณ์
15/08/2023หลายท่านอยากให้เงินเติบโต และมีเงินใช้จ่ายเพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ แต่ปัญหาที่พบคือยังคิดถึงภาพในวันนั้นยังไม่ออก ทำให้วางแผนไปต่อไม่ถูกเช่นกัน
บทความนี้จะชวนมาสร้างจินตนาการถึงชีวิตช่วงเกษียณไปด้วยกันค่ะ แล้วจะรู้เลยว่า เรื่องเงินไม่ได้เป็นแค่เรื่องของตัวเลขเท่านั้น แต่ต้องเริ่มที่ภาพชีวิตในความคิดของเราก่อน
นิยาม “ชีวิตวัยเกษียณ” ในมุมมองของการวางแผนการเงิน
เมื่อพูดถึงคำว่า “ชีวิตวัยเกษียณ” หลายท่านมักจะนึกถึงภาพการหยุดทำงาน อยู่บ้านเลี้ยงหลานและไม่มีรายได้ แต่ในมุมมองของการวางแผนการเงินอาจมิใช่ภาพเช่นนั้นเลย
ในมุมมองของการวางแผนการเงิน ภาพชีวิตวัยเกษียณ คือ ชีวิตที่มีอิสระและเป็นของเราจริงๆ
- อิสระจากภาระต่างๆ ทั้งเรื่องหนี้สิน และการอุปถัมภ์ดูแลผู้อื่น
- อิสระในการทำงาน เกษียณไม่ได้ต้องหยุดทำงานเสมอไป แต่เป็นการทำงานโดยไม่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดต่างๆ เช่นเรื่องรายได้ โดยงานที่ทำอาจอยู่ในรูปแบบของ งานช่วยเหลือสังคม งานที่ปรึกษา งานอดิเรก เป็นต้น
- อิสระทางรายได้ รายได้ที่มีหรือได้มาช่วงวัยเกษียณ อาจไม่ใช่รายได้หลักเพื่อเลี้ยงตัว แต่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินและจิตใจได้อย่างมาก
จากนิยามประมาณนี้ ทุกท่านเห็นภาพวัยเกษียณของท่าน เป็นอย่างไรบ้างคะ ?
5 แนวทางการออกแบบชีวิตวัยเกษียณ… เริ่มต้นแบบนี้
ถ้ายังจินตนาการมองไกลไปถึงวันเกษียณไม่ออก แนะนำให้ลองใช้วิธีการเหล่านี้ดูนะคะ
1. ดูจาก Lifestyle ผู้ใหญ่ในบ้าน
การมองวิถีชีวิตคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงปู่ย่าตายายของเรา ซึ่งเป็นภาพชีวิตที่เราคุ้นชิน นี่เป็นวิธีที่ใกล้ตัว และช่วยให้เห็นภาพได้ชัดที่สุด ลองดูท่านในเรื่องการกินอยู่ การใช้จ่าย การเดินทางหรือแม้แต่เรื่องของสันทนาการ นึกอะไรไม่ออกลองหันไปมองการใช้ชีวิตของคุณพ่อคุณแม่นะคะ
2. ดูจาก Idol หรือบุคคลต้นแบบ ที่เราชื่นชอบ
การมองชีวิตบุคคลที่เราชื่นชม อาจเป็นบุคคลที่เรารู้จักในชีวิตจริง หรือบุคคลในสื่อต่างๆ ก็ถือเป็นอีกทางที่ช่วยให้เราเกิดไอเดียได้ อย่าเพิ่งมองว่าเป็นวิถีชีวิตที่ไกลตัว หรือ อย่ามองว่าเราไม่ได้มีมากเหมือนเค้า ณ วันนี้อาจจะใช่ แต่วันข้างหน้าไม่แน่นะคะ ถ้าเราตั้งใจอะไรก็เกิดขึ้นได้
3. ลองจินตนาการแบบไร้กรอบ เอาแบบที่อยากได้/อยากมี/อยากเป็น
ข้อนี้แนะนำให้หามุมเงียบสงบและอยู่กับตัวเอง เขียนสิ่งที่อยากได้/อยากมี/อยากเป็น ลงในกระดาษ ข้อสำคัญ คืออย่าเพิ่งไป Limit จินตนาการในอนาคต จากชีวิตในอดีตที่ผ่านมา งานนี้ขอแบบไร้กรอบเลยค่ะ
เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า “ณ วันนั้น วันที่เรามีอิสระทุกอย่าง เราอยาก…”
- จะอยู่ที่ไหน กรุงเทพ ? ต่างจังหวัด ? อาศัยร่วมกันกับลูกหลาน และอาจมีบางท่านนึกไปถึง Nursing Home หรือ Retirement Home ก็ไม่ผิดแต่อย่างใด
- จะทำงานอยู่หรือไม่ ถ้าทำจะทำงานอะไร แบบไหน
- จะกินอยู่อย่างไร ซื้อกิน ทำกิน หรือมีแม่ครัว/แม่บ้านดูแล
- จะมีกิจกรรมสันทนาการหรือการท่องเที่ยวแบบไหน จะเรียกว่าเป็น Lifestyle หลังเกษียณก็ได้
- สุขภาพจะเป็นอย่างไร เช่นพฤติกรรมการกินอยู่ การพักผ่อน การออกกำลังกาย รวมไปถึงการคิดว่า เมื่อป่วยจะใช้บริการจากสถานพยาบาลในลักษณะไหน
- จากรูปแบบชีวิตข้างต้น คิดว่าจะใช้เงินเดือนละเท่าไร ตามทฤษฎีค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะอยู่ที่ราว 70% – 80% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน เช่น หากก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 35,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณก็จะประมาณ 24,500 – 28,000 บาท (ยังไม่รวมถึงเงินเฟ้อนะคะ) หรือถ้าใครไม่เชื่อตัวเลขดังกล่าว จะใช้ตัวเลขที่เราสบายใจก็ได้
การตอบคำถามตัวเอง อย่างใส่ใจและตั้งใจ จะพอช่วยให้เราเห็นภาพในอนาคตได้มากขึ้นค่ะ
4. ถามคนรอบตัว ถามเพื่อน แล้วลองมาประยุกต์ใช้กับตนเอง
การพูดคุยสอบถามถึงจินตนาการในวัยเกษียณของคนรอบข้าง ถือเป็นอีกทางที่ใช้ใน Guide จินตนาการของเราได้ เพราะคนรอบตัวเราเค้าอาจจะเคยวาดภาพนี้ไว้ในใจบ้างแล้ว เผื่อว่าจะมีไอเดียอะไรดีๆ ที่เรานึกไม่ออก จะได้นำมาปรับใช้กับภาพเกษียณของเราดูบ้าง
5. ดูจากซีรีย์ / หนัง / ละคร
แม้จะดูเป็นวิธีการที่แปลก แต่ก็อาจนำมาใช้จริงได้บ้างนะคะ เพราะสมองเรานั้น ไวต่อภาพมากกว่าข้อความ ถือเป็นการกระตุ้นจินตนาการให้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวตรงหน้าได้อีกทางค่ะ ถ้าเริ่มได้แบบนี้จะช่วยให้ท่านคิดต่อได้ง่ายขึ้น และซีรี่ย์/หนัง/ละคร ณ ปัจจุบัน ก็มีหลายๆ เรื่องเลย ที่มีภาพของชีวิตในวัยเกษียณทั้งดีและร้ายให้เราได้เห็น
แล้วยังไงต่อ
เมื่อได้ภาพในจินตนาการมาแล้ว หากท่านใช้ บริการวางแผนองค์รวม หรือทำ แผนเกษียณอายุ ร่วมกับนักวางแผนการเงิน
นักวางแผนการเงินของท่าน จะช่วยแปลงภาพและเรื่องราวเหล่านั้นออกมาเป็นข้อมูลทางการเงิน เพื่อจัดทำเป็นแผนเกษียณอายุ ซึ่งก็จะครอบคลุมหลากหลาย ตั้งแต่
- เป้าหมายทุนเกษียณอายุที่ควรมี (อ่านเพิ่มเติม : ค่าใช้จ่ายพิเศษหลังเกษียณ ที่มักถูกมองข้าม)
- การรวบรวมสินทรัพย์/สวัสดิการที่มี ณ ปัจจุบัน มาเป็นแหล่งทุนเพื่อเกษียณอายุ (อ่านเพิ่มเติม : รวม 11 แหล่งเงินทุนและสวัสดิการเพื่อเกษียณอายุ)
- การปรับสินทรัพย์/สวัสดิการที่มีอยู่ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. (อ่านเพิ่มเติม : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : เข้าใจเพิ่มนิด ปรับเพิ่มหน่อย อาจได้ประโยชน์อีกเยอะ)
- การวางแผนเก็บออม/ลงทุน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าได้
- การจัดพอร์ต/ปรับพอร์ตการลงทุน รวมถึงเครื่องมือเช่นกองทุน SSF และ RMF ต่างๆ (อ่านเพิ่มเติม : เรื่อง RMF และ เรื่อง SSF)
ซึ่งภาพชีวิตในวัยเกษียณนี้ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดของแต่ละคน ในแต่ละช่วงเวลา
นักวางแผนการเงินก็จะช่วยพูดคุย และดูแลต่อเนื่อง เพื่อปรับแผนให้สอดคล้องกับความตั้งใจ ณ ปัจจุบันของท่าน และเพื่อเพิ่มโอกาสการบรรลุเป้าหมายไปพร้อมๆ กัน
ดังนั้น ขอเพียงท่านเห็นภาพ เราก็จะช่วยสร้างเป็นแผนให้ได้ ซึ่งเรื่องการเห็นภาพนั้นแต่ละคนต้องคิดและจินตนาการด้วยตนเอง
ส่วนเรื่องแผนนั้น หากท่านไม่เชี่ยวชาญหรือไม่มั่นใจ ก็สามารถให้พวกเรา นักวางแผนการเงินจาก บลป. Avenger Planner เป็นผู้ช่วยได้นะคะ สามารถศึกษาและสมัครบริการของเราได้เลยที่ Link นี้ค่ะ