5 แนวทาง ช่วยจินตนาการถึงชีวิตวัยเกษียณได้อย่างเห็นภาพ
11/08/2023ข้อคิดทางการเงิน สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนซื้อรถคันแรก
21/08/2023“สหกรณ์” เป็นชื่อเรียกสั้นๆ ที่ใช้เรียกสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน ว่าเป็นแหล่งเงินฝากดอกเบี้ยสูง และเป็นแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยอาจจะต่ำกว่าธนาคารทั่วไป
แต่ในรายละเอียดแล้ว สหกรณ์มีหลายประเภท เช่น สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ฯลฯ โดยแต่ละประเภทจะมีความเสี่ยงแตกต่างกันไปบ้าง
โดยบทความนี้จะชวนมาพิจารณา 3 ความเสี่ยงสำคัญ ที่สหกรณ์ทุกๆ ประเภทมีอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกคนควรรู้ก่อนที่จะฝากเงินหรือลงทุนในสหกรณ์ค่ะ
1. ความเสี่ยงด้านสินเชื่อ
สหกรณ์เป็นสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งก็คือการรับฝากเงิน เพื่อนำมาปล่อยกู้
ผลการดำเนินงานหลักคือกำไร “ส่วนต่าง” ระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่าย และดอกเบี้ยเงินกู้ที่ได้รับ
ตัวชี้วัดความเสี่ยงสำคัญ ที่เราพอจะสังเกตได้เอง จากงบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงินของสหกรณ์ มีเช่น
- อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity) ของสหกรณ์ ซึ่งคำนวณได้จากการนำหนี้สินทั้งหมด (รวมถึงหนี้สินที่อยู่ในรูปของเงินฝาก ซึ่งผู้ฝากสามารถถอนจากสหกรณ์ได้) เป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยเงินทุนทั้งหมดของสหกรณ์ อัตราส่วนนี้ยิ่งมากก็จะยิ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ว่าสหกรณ์อาจมีเงินทุนไม่เพียงพอ หากต้องชำระคืนหนี้สินทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น
- หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ โดยจะแสดงเป็นอัตราส่วน (%) ค่านี้ยิ่งมากก็จะยิ่งสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ว่าสหกรณ์ไม่สามารถจัดเก็บหนี้ จากลูกหนี้ได้ครบถ้วนทั้งหมด และอาจทำให้เกิดผลขาดทุนในการดำเนินการได้
โดยในการวิเคราะห์ตัวชี้วัดทั้งสองนั้น จะใช้วิธีเทียบเคียงกับค่าของปีก่อนๆ หน้า เทียบกับปีปัจจุบัน เพื่อดูแนวโน้ม (Trend) ว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือ ลดลงอย่างไร
หากมีการเพิ่มขึ้นมากอย่างผิดปกติ ก็ควรต้องระวัง และอาจต้องค้นหาสาเหตุด้วย ว่าเกิดจากสาเหตุใด และเรายอมรับสาเหตุนั้นได้หรือไม่
2. ความเสี่ยงด้านการลงทุน
รายได้หลักของสหกรณ์อีกทางหนึ่งนอกจากดอกเบี้ยของเงินที่ปล่อยกู้ ก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุน
โดยสหกรณ์สามารถลงทุนในสินทรัพย์การเงินหลายประเภท แต่ประเภทหลักๆ ที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงก็เช่น การลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ซึ่งก็มีโอกาสที่หุ้นกู้เหล่านั้นจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ได้
โดยความสูญเสียก็สามารถเกิดขึ้นได้หลายระดับ บางกรณีก็เป็นเพียงการได้รับดอกเบี้ยหรือชำระคืนเงินต้นคืนล่าช้า แต่บางกรณีก็เป็นการสูญเสียเงินส่วนใหญ่ที่ลงทุนไปอย่างถาวร
หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น สหกรณ์ก็จะต้องต้องนำมูลค่าที่สูญเสียนั้น มาบันทึกเป็นผลขาดทุนของสหกรณ์ด้วย ซึ่งก็จะมีผลทำให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนจากสหกรณ์ลดลงได้
3. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินข่าว เรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ ที่เบิกเงินออกจากบัญชีสมาชิกโดยการทำเอกสารปลอม ซึ่งหากสหกรณ์มี Application หรือช่องทาง ที่สามารถตรวจสอบจำนวนหุ้น หรือ เงินฝากได้แบบ Real-time ก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงในจุดนี้ลงไปได้
แต่ในประเด็นที่ซับซ้อนมากกว่านี้นั้น การตรวจสอบด้วยตัวเองก็จะเริ่มเป็นไปได้ยากแล้ว สมาชิกสหกรณ์ (โดยเฉพาะท่านที่มีความรู้ทางบัญชีการเงินดี) จึงต้องช่วยกันตรวจสอบผ่านช่องทางที่มีการเปิดไว้ให้ เช่น การเข้าประชุมประจำปี การอ่านรายงานและงบการเงินต่างๆ และสอบถามเมื่อพบข้อสงสัย
บทสรุป
3 ความเสี่ยงสำคัญข้างต้น เป็นเรื่องที่ผู้ที่ลงทุนในสหกรณ์ควรจะตระหนักไว้ ว่าเป็นความเสี่ยงที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับดอกผลที่ได้รับ ซึ่งในยามปกตินั้น อาจดูเหมือนไม่มีความเสี่ยงมากมายอะไร แต่เมื่อเสียหายก็จะเสียหายได้มาก
เพราะสหกรณ์ไม่มีกองทุนคุ้มครองเงินฝากเหมือนธนาคารพาณิชย์ ไม่มีเงินสำรองประกันภัย เหมือนบริษัทประกัน
หากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับสหกรณ์ เช่น การบริหารเงินในสหกรณ์ขาดทุน หรือ เกิดการทุจริต โอกาสที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวนนั้น จะเป็นไปได้น้อยมาก
ซึ่งหากเราสนใจลงทุนในสหกรณ์ หรือปัจจุบันเป็นสมาชิกอยู่แล้ว แม้เราจะไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงเหล่านั้นได้โดยตรง แต่ก็ยังมีส่วนที่เราจัดการได้อยู่บ้าง นั่นก็คือการควบคุมสัดส่วน Asset Allocation ของการลงทุนในสหกรณ์ของเราไม่ให้มากเกินไปเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมด
แล้วกระจายเงินลงทุนส่วนที่เหลือไปในสินทรัพย์อื่นๆ บ้าง ตามขอบเขตความรู้ และความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่น เงินฝาก สลากออมสิน กองทุนรวม ประกันประเภทต่างๆ ไปจนถึงหุ้น เป็นต้น
และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สมาชิกสหกรณ์ก็ต้องใส่ใจที่จะติดตามและตรวจสอบผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ผ่านช่องทางที่สามารถทำได้ เช่น จากงบการเงิน เอกสารเผยแพร่ และการเข้าร่วมประชุมสหกรณ์ เพื่อที่หากมีสัญญาณของปัญหาเกิดขึ้น เราจะได้รับทราบและจัดการได้อย่างทันท่วงทีนั่นเองค่ะ