รีไฟแนนซ์บ้าน มีขั้นตอนอย่างไร ?
07/07/2023รวม 11 แหล่งเงินทุนและสวัสดิการเพื่อเกษียณอายุ
18/07/2023ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้า ที่ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง “รีไฟแนนซ์บ้าน มีขั้นตอนอย่างไร” ไปแล้วนั้น
บทความนี้จะพาไปดูทางเลือกค่ะ ว่าการรีไฟแนนซ์บ้านนั้น สามารถทำในลักษณะไหนได้บ้าง
ซึ่งในภาพกว้าง แนวทางการรีไฟแนนซ์บ้านสามารถทำได้ 3 รูปแบบ ดังนี้ค่ะ
1. รีไฟแนนซ์บ้านที่ยอดหนี้คงค้าง
เป็นวิธีที่นิยมและพบได้บ่อย ซึ่งการรีไฟแนนซ์แบบนี้มีข้อดีคือ
- ชำระค่างวดต่อเดือนลดลง
- มีสภาพคล่องคงเหลือแต่ละเดือนมากขึ้น
เช่น
- ต้นปีที่ 1 : ยอดกู้ 3,000,000 บาท ผ่อนเดือนละ 20,000 บาท
- ปลายปีที่ 3 : คงเหลือยอดหนี้คงค้าง ประมาณ 2,600,000 บาท
วิธีนี้จะทำการรีไฟแนนซ์ (กู้ใหม่) ที่ยอดหนี้คงค้าง คือ 2,600,000 บาท ซึ่งธนาคารแห่งใหม่ที่เราหามา ก็จะคิดค่างวดให้ใหม่ บนอัตราดอกเบี้ยเรทใหม่ซึ่งมักจะต่ำลง
อาจจะเหลือยอดผ่อน เดือนละ 17,000 บาท ทำให้ได้กระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอีกสำหรับนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นเดือนละ 3,000 บาท เป็นต้น
2. รีไฟแนนซ์บ้านกลับไปที่ยอดกู้เดิม
การรีไฟแนนซ์รูปแบบนี้ เรายังคงมียอดผ่อนชำระต่อเดือนใกล้เคียงหรือเท่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือ เราได้เงินก้อนจำนวนหนึ่งออกมา
เช่น
- ต้นปีที่ 1 : ยอดกู้ 3,000,000 บาท ผ่อนเดือนละ 20,000 บาท
- ปลายปีที่ 3 : แม้ยอดหนี้คงค้าง 2,600,000 ล้านบาท แต่เราจะรีไฟแนนซ์ (กู้ใหม่) ที่ยอดกู้เดิม คือ 3,000,000 บาท
ซึ่งธุรกรรมโดยละเอียดนั้น จะถือเป็นการรีไฟแนนซ์ที่ยอด 2,600,000 บาทเหมือนกรณีแรก ควบคู่ไปกับการกู้เพิ่มอีก 400,000 บาท
โดยจะได้รับเป็นเงินสดส่วนเกินออกมา ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นตามต้องการได้ เช่นบางคนนำเงินนี้ไปปิดหนี้อื่นๆ ที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ทำให้ลดภาระหรือถึงขั้นแก้ปัญหาหนี้ได้เลยทีเดียว
การดำเนินการรีไฟแนนซ์วิธีนี้ มักจะต้องจ่ายค่างวดใกล้เคียงยอดเดิม แต่มีข้อควรระวังคือยอดที่กู้เพิ่มตามตัวอย่าง 400,000 บาทนั้น อาจมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ยอดกู้ในส่วน 2,600,000 บาทแรก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ได้รับเป็นข้อเสนอจากแต่ละธนาคารเป็นกรณีไป
3. รีไฟแนนซ์บ้านโดยอ้างอิงจากราคาประเมินบ้านที่ประเมินขึ้นใหม่
แนวคิดของวิธีนี้ คือ ทรัพย์สินประเภทที่อยู่อาศัย มักมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ซึ่งในบางกรณีนั้น ราคาประเมิน ณ ปัจจุบัน ปรับสูงขึ้นไปกว่าราคาประเมินเมื่อยื่นกู้ครั้งแรก
เราก็สามารถที่จะรีไฟแนนซ์หนี้บ้านตามยอดหนี้ที่ค้างอยู่เดิม ควบคู่ไปกับการกู้เพิ่มในส่วนต่างตามราคาประเมินที่เพิ่มขึ้น
เช่น บ้านที่ซื้อมาราคา 3,000,000 บาท เมื่อผ่านไป 3 ปี มูลค่าบ้านอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3,300,000 บาท ถ้ายอดหนี้คงเหลือกับธนาคารเดิมคือ 2,600,000 บาท ก็จะมีส่วนต่างที่อาจกู้เพิ่มได้มากถึง 3,300,000 – 2,600,000 = 700,000 บาท
แต่ก็ไม่เสมอไปนะคะที่จะกู้เพิ่มได้เต็มทั้ง 700,000 บาท เนื่องจากขึ้นอยู่กับการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารใหม่ด้วย ว่าจะให้วงเงินกู้เพิ่มมาเท่าไร และเช่นกันกับกรณีที่สอง คือยอดที่ได้จากการกู้เพิ่มมานี้อาจมีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่ายอด 2,600,000 บาทแรก
และวิธีนี้ต้องระวังเรื่องสภาพคล่องรายเดือนให้ดีนะคะ นั่นเพราะ ยอดหนี้ใหม่นั้นจะมากกว่ายอดหนี้เก่า ซึ่งจะส่งผลให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือน ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
บทสรุป
จะเห็นว่าการรีไฟแนนซ์นั้น ทำได้หลายรูปแบบจริงๆ การเลือกว่าจะรีไฟแนนซ์แบบไหนจึงต้องพิจารณาความจำเป็นและความต้องการของเราร่วมด้วย
ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเงินก้อนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาทางการเงิน การเลือกรีไฟแนนซ์ตาม 2 รูปแบบหลังที่กล่าวมา ก็อาจเป็นประโยชน์ แต่ก็จะมีผลให้หนี้หมดช้าลงด้วย
ซึ่งสำหรับผู้เขียน และเพื่อนๆ ของผู้เขียนที่เป็นนักวางแผนการเงินของ บลป. Avenger Planner นั้น พวกเราก็มีหน้าที่ช่วยให้คำแนะนำในเรื่องการรีไฟแนนซ์บ้านให้กับลูกค้าด้วยเช่นกันนะคะ เพราะเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเงินแบบองค์รวมที่เราให้บริการ
ดังนั้น หากพยายามคิดวิเคราะห์เองแล้วยังรู้สึกไม่มั่นใจ ต้องการผู้ช่วยที่มีทักษะและทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็เรียกใช้บริการพวกเราได้ค่ะ สมัครใช้บริการได้เลยที่ Link นี้