How Can We Help : EP20
11/05/2023DCA และ Asset Allocation ใช้ร่วมกันอย่างไร ให้เงินเติบโตในระยะยาว
19/05/2023การสร้างอุปนิสัยทางการเงินที่ดี และคอยช่วยเป็นผู้ชี้แนะในการจัดการเรื่องเงินตั้งแต่ลูกยังเล็ก ถือเป็นของขวัญอันล้ำค่า ที่ลูกสามารถนำไปใช้ได้ชั่วชีวิต
พิ้งค์ (ผู้เขียน) ในฐานะคุณแม่ลูกสอง และนักวางแผนการเงิน ได้เรียนรู้ชีวิตใครหลายคนจากเรื่องราวทางการเงิน และพบว่าอุปนิสัยการเงินที่ดีเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง
วันนี้จึงอยากมาแบ่งปัน 5 วิธีบ่มเพาะอุปนิสัยการเงินที่ดีให้ลูกแบบง่ายๆ ที่ผู้ปกครองสามารถทำเองได้ และเริ่มต้นได้จากที่บ้าน โดยประมวลมาจากหลายๆ แหล่งข้อมูลทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ รวมทั้งมาจากประสบการณ์เลี้ยงลูก 10 ขวบ และ 6 ขวบ ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน วิธีการที่พิ้งค์นำเสนอนั้น อาจไม่ได้เหมาะสมกับทุกๆ บ้าน จึงขอให้ท่านผู้อ่านใช้วิจารณญาณ เลือกนำไปประยุกต์ใช้เท่าที่เห็นว่าเหมาะสมด้วยนะคะ
1. สอนให้รู้จักเงิน และมูลค่าของเงิน
อาจจะฟังเป็นเรื่องแปลก กับคำว่า สอนให้รู้จักเงิน เพราะเงินอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ อยู่แล้ว แต่คุณพ่อ คุณแม่อาจจะยังไม่ได้สอนลูกอย่างเป็นทางการ
เราอาจจะใช้โอกาสตอนที่พาเด็กๆ ไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ในการอธิบายง่ายๆ ว่า เงิน คือ สิ่งสมมติที่ ใช้เป็นตัวกลางใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ โดยสิ่งของจะมีมูลค่าที่ต่างกัน เช่น ขนมห่อนี้มีมูลค่า 10 บาท, แซนวิชมีมูลค่า 40 บาท หรือ ข้าวสารมีมูลค่า 100 บาท โดยเราสามารถใช้ เหรียญ หรือ ธนบัตร ที่มีมูลค่าเท่ากัน เป็นสื่อกลางในการซื้อของเหล่านี้
และก็อาจชวนเด็กๆ คิดย้อนไปว่าคนสมัยโบราณไม่มีเหรียญ หรือ ธนบัตร พวกเขาทำอย่างไรเพื่อให้ได้ของที่ต้องการ หากพวกเขาล่าสัตว์มาได้ แต่ต้องการของสิ่งอื่นด้วย เช่น ต้องการผลไม้ คนสมัยโบราณต้องทำอย่างไร
แล้วค่อยเฉลยว่า คนสมัยโบราณ ก็จะอาจจะไปหาผลไม้นั้นด้วย ตัวเอง หรือว่า นำเนื้อสัตว์ ไปแลกกับคนที่มีผลไม้ แต่ก็จะมีปัญหาตามมาอีกว่า คนที่มีผลไม้ อาจจะไม่อยากแลกกับเนื้อสัตว์ก็ได้ ระบบเงิน แบบใช้ ตัวกลาง จึงค่อย ๆ เกิดขึ้นมา และในสมัยแรกสิ่งที่เป็นตัวกลาง จะใช้ของจากธรรมชาติ เช่น เปลือกหอย มาแทนเงิน แต่ก็มักจะมีปัญหา เช่น หาเปลือกหอยได้ยาก หรือแตกเสียหายง่าย สิ่งที่ใช้เป็นตัวกลางนั้นจึงพัฒนา มาเป็น เหรียญ และธนบัตร แทน
มูลค่าของเงินจะถูกระบุไว้บนเหรียญ หรือ ธนบัตร เราก็สามารถชวนเด็กๆ ดูความแตกต่าง บนเหรียญ และธนบัตร ว่ามีตัวเลขอะไรระบุไว้บ้าง และแต่ละใบมีมูลค่าเท่าไร อาจให้เด็กๆ ใช้เงินซื้อของแบบง่ายๆ เพื่อเรียนรู้ระบบแลกเปลี่ยนโดยใช้เงิน และหากจ่ายเงินเกิน ก็จะมีการทอนเงินด้วย
2. สอนวิธีหาเงิน
ส่วนใหญ่แล้วการหาเงินจะต้องแลกด้วย เวลา และแรงงาน ลองชวนเด็กๆ มองให้เห็นภาพ เช่น คุณพ่อ คุณแม่ต้องออกไปทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เพื่อให้ได้เงินมาซื้อของในบ้าน จ่ายค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า และพาเด็กๆ ไปเที่ยว
ในเด็กระดับชั้นอนุบาลอาจจะเริ่มตกลงกติกากับเด็กๆ ว่า สามารถสะสมแต้มทำความดี และเปลี่ยนแต้มความดีแลกเป็นของรางวัลได้ และหากเป็นเด็ก ๆ ระดับชั้นประถม อาจจะให้สะสมแต้มทำความดี หรืออาจจะให้เป็นเงินจริงหากเด็กๆ ทำความดี หรือ ทำงานได้ตามที่ได้รับมอบหมายได้เรียบร้อย
โดยคุณพ่อ คุณแม่ต้องตกลงกติกาก่อนว่า ทำงานอะไรได้กี่แต้ม กี่บาท และแต้ม หรือเงิน สามารถแลกเป็นอะไรได้บ้าง
3. สอนการใช้เงินแบบง่ายๆ และทำให้เห็นเป็นรูปธรรม
การสะสมแต้มทำความดี หรือการสะสมเงิน ควรจะต้องสะสมให้เด็กๆ ได้เห็นว่า แต้ม หรือ เงิน มีการเพิ่มขึ้นเมื่อลงมือทำ เช่น ทำตารางดาว ติดไว้ในที่สามารถเห็นได้ง่าย หรือหากใช้เงินจริงควรใช้กระปุกออมสินแบบใสที่เห็นว่าเงินที่สะสมด้านในค่อยๆ เพิ่มขึ้น
การได้เห็นว่าแต้ม ค่อยๆ เพิ่มขึ้น หรือ เงินในกระปุกค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงเป้าหมาย แรกสุดเด็กๆ อาจจะไม่รู้ว่า ต้องออมเงินไปเพื่ออะไร คุณพ่อคุณแม่ลองใช้โอกาสนี้ พูดคุยกับเด็กๆ ว่า มีสิ่งของที่เด็กๆ อยากได้หรือไม่เช่น ตุ๊กตา, หนังสือระบายสี, หรือขนม หรือ Item ใน เกมส์ (หากที่บ้านเห็นว่าเหมาะสม)
จากนั้นจึงนำมูลค่าสิ่งของเหล่านั้นมาตั้งเป็นเป้าหมาย อาจจะวาดรูป หรือ แปะรูปสิ่งของที่อยากได้ ในตารางดาว หรือ กระปุกออมสิน และให้เด็กๆ เริ่มลงมือเก็บเงิน โดยเป้าหมายชิ้นแรกๆ อาจเป็นเป้าหมายระยะสั้น มีมูลค่าไม่สูง เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกหัด และเรียนรู้ความสำเร็จหากทำได้ถึงเป้าหมาย และได้รู้ด้วยว่า เงินสามารถลดลงได้ หากนำไปใช้แลกกับของที่ต้องการ
หากเด็กๆ ฝึกตั้งเป้าหมาย และลงมือทำเป้าหมายขนาดสั้นจนสำเร็จได้ดีแล้ว ก็สามารถขยับเป็นของที่มีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น หรือระยะเวลานานขึ้นได้
และในเด็กประถมสามารถให้เด็กๆ ได้จดบันทึกรายรับรายจ่ายง่ายๆ จะได้นำกลับมาทบทวนว่าเด็กๆ ใช้เงินกับอะไรไปบ้าง รวมถึงหากเด็กๆ ยังไม่มีเป้าหมายการใช้เงินในตอนนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถแนะนำเด็กๆ ว่าให้เก็บออมเงินไว้ก่อน เผื่อในอนาคต มีเรื่องจำเป็น หรือมีของที่อยากได้ จะได้มีเงินมาซื้อได้
4. สอนให้รู้จักหนี้สิน
สำหรับเด็กเล็กๆ การสอนให้รู้จักเรื่องหนี้สิน อาจจะยากเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มอธิบายจากเรื่องการยืมเงินก่อน หากเด็กๆ มีของที่อยากได้และต้องการยืมเงินคุณพ่อคุณแม่ และต้องสัญญาว่าจะนำเงินมาคืนในภายหลัง ซึ่งก็ต้องเป็นของที่จำเป็นจริงๆ
ในเด็กประถม/มัธยม หรือ เมื่อเด็กพอเข้าใจเรื่องหนี้สินบ้างแล้ว ก็อาจจะอธิบายเพิ่มเติมถึงกลไก การเกิดหนี้ และการจัดการหนี้แบบง่ายๆ เช่น การที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อบ้านที่มีมูลค่าสูง ซึ่งถ้าเก็บเงินเองทั้งหมดก็จะต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะสามารถซื้อได้
กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ ก็อาจต้องไปยืมเงินจากธนาคาร ที่ก็ต้องทำสัญญากันว่าคุณพ่อคุณแม่จะทยอยคืนเงินให้ โดยธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ยบนเงินกู้นั้นอีกทีหนึ่ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมีวินัยในการทยอยจ่ายคืนหนี้ให้ตามที่สัญญาไว้
ซึ่งก็อาจเล่าถึงประโยชน์และโทษของการมีหนี้สินไปพร้อมๆ กันได้ เช่น ข้อดี คือทำให้สามารถได้เงินมาใช้ประโยชน์ได้ทันที และค่อยทยอยผ่อนชำระเป็นงวดๆ ไป ทำให้สามารถซื้อของใหญ่ๆ หรือของที่จำเป็นในคราวฉุกเฉินได้ทันท่วงที
แต่ข้อเสีย คือ เราก็ต้องชำระดอกเบี้ย คืนให้เจ้าหนี้ด้วย ซึ่งพอรวมดอกเบี้ยเข้าไปก็จะทำให้เราต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ อาจทำให้เราเคยชิน หยิบยืมมากเกินไปโดยขาดความยั้งคิด หรือขาดวินัย ซึ่งแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ ก็ต้องระวังเรื่องนี้
5. เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้เงิน
เงินเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ดังนั้นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ
เด็กๆ อาจจะไม่ได้มีเป้าหมายส่วนตัวมากนัก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่าเรื่องการจัดลำดับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆ ได้ เช่น คุณพ่อคุณแม่มีเป้าหมายระยะยาวคือเก็บเงินให้ลูกเรียนในระดับปริญญาตรี และมีเป้าหมายระยะสั้นคือการไปเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ดังนั้น เราอาจจะใช้เงินทั้งหมดกับการไปเที่ยวสุดสัปดาห์นี้เลยไม่ได้ จะต้องแบ่งส่วนหนึ่งสะสมไว้สำหรับเป้าหมายในอนาคตด้วย
หรือหากต้องการซื้อของชนิดเดียวกัน ก็ต้องเปรียบเทียบราคาจากหลายๆ แหล่ง ดูความน่าเชื่อถือของแต่ละร้าน หรือรอซื้อของในช่วงลดราคา จะทำให้ได้ของชนิดเดียวกันด้วยการจ่ายเงินที่ลดลง และมีเงินไปใช้ในส่วนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสอนเรื่องการซื้อของตามความจำเป็น และความพอใจให้เด็กๆ ได้ด้วย เช่น หากเด็กๆ มีเสื้อผ้าจำนวนมาก หากไปเจอเสื้อที่ถูกใจอีก คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนว่า เรายังไม่ควรซื้อตอนนี้เพราะเกินความจำเป็น เป็นต้น
บทสรุป
สำหรับ 5 วิธีที่เสนอไปข้างต้น เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่จะทำให้เด็กๆ ค่อยๆ ก้าวเข้าสู่โลกที่มีเรื่องการเงินเป็นส่วนประกอบสำคัญ และรู้จักใช้ชีวิต โดยไม่ตกเป็นทาสของเงินนะคะ
การฝึกนิสัยการเงินที่ดี เป็นทักษะที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย การชื่นชม ให้กำลังใจเวลาลูกสามารถบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการพร้อมที่จะให้อภัยหากลูกทำผิดพลาด และพร้อมจะช่วยหาทางแก้ไข เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เพื่อให้เด็กๆ มีกำลังใจตลอดทางในการบ่มเพาะนิสัยนี้
พิ้งค์หวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้คุณพ่อ คุณแม่นำไปต่อยอด ปรับใช้กับบริบทในแต่ละบ้าน และขอให้คุณพ่อคุณแม่ที่ตั้งใจปลูกฝังทักษะเหล่านี้ให้ลูกๆ มีชีวิตทางการเงินที่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ด้วยเช่นกันค่ะ