How Can We Help : EP18
26/04/2023How Can We Help : EP19
02/05/2023ประกันสุขภาพ เป็นเครื่องมือทางการที่ใช้สำหรับจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงรายจ่าย ด้านสุขภาพที่ไม่แน่นอน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ให้เป็นรายจ่ายตามเบี้ยประกันที่ทราบแน่นอน ซึ่งวางแผนได้ล่วงหน้า
ประกันสุขภาพที่จะพูดถึงในบทความนี้ จะเป็นประกันสุขภาพแบบที่ผู้เอาประกันมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนแรก (Deductible) ซึ่งจะเน้นไปที่ ค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD) ที่ค่าใช้จ่ายมีความไม่แน่นอนสูง โดยผันแปรได้ตั้งแต่หลักหมื่นจนไปถึงหลักล้านได้เลย ขึ้นกับความรุนแรงของอาการป่วยที่เกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดในช่วงแรก จะเห็นว่ามีเคสต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ทำให้ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลสูงอย่างมาก บางรายมีค่าใช้จ่ายสูงเกือบ 1 ล้านบาท
แต่ก่อนที่จะอธิบายถึงประกันสุขภาพแบบมี Deductible ว่าคืออะไร ? มีไว้ทำไม ? และควรเลือกไหม ? นั้น
ผมขอเล่าถึงพัฒนาการของประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นความแตกต่างกันก่อนนะครับ
ประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย
ในยุคแรกๆ นั้น ประกันสุขภาพแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจะเป็นแบบ แยกค่าใช้จ่าย ซึ่งแบบประกันนี้จะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล แยกตามรายการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล
กล่าวคือ หากมีค่ารักษาพยาบาลรายการใด มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวงเงินที่ได้รับความคุ้มครองส่วนเกินเหล่านั้น ผู้เอาประกันก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นเอง แม้ว่าวงเงินในหมวดอื่นๆ จะยังเบิกเคลมไม่เต็มวงเงิน ก็ไม่สามารถเคลมข้ามหมวดได้ ซึ่งถือจึงเป็นข้อจำกัดของประกันสุขภาพประเภทนี้
ตัวอย่างแบบประกันแบบแยกค่าใช้จ่าย
- สัญญาเพิ่มเติม เอไอเอ เอช แอนด์ เอส (แบบมาตรฐานใหม่) ของบริษัท เอไอเอ
- ประกันสุขภาพ เอชเอส (HS_S) ของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต
ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย
จากจุดอ่อนของประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายเกิดขึ้น ซึ่งวงเงินความคุ้มครองนั้นจะเป็นวงเงินรวมแบบเหมา โดยเมื่อมีการเคลมนั้น ก็จะสามารถเคลมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการรักษาพยาบาลจากวงเงินนี้ได้เลย โดยไม่ต้องแบ่งประเภทค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นประกันแบบเหมาจ่าย แต่ในหลายๆ แบบประกัน ก็ยังมีการจำกัดวงเงินในบางหมวด เช่น จำกัดวงเงินค่ายากลับบ้านหลังจากเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือจำกัดวงเงินค่าห้องต่อคืน ฯลฯ
ตัวอย่างประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย
- สัญญาเพิ่มเติมเอไอเอ เฮลธ์ เซฟเวอร์ (AIA Health Saver) ของบริษัท เอไอเอ
- สัญญาเพิ่มเติมเอไอเอ เฮลธ์ แฮปปี้ ของบริษัท เอไอเอ
- สัญญาเพิ่มเติม ดี เฮลท์ พลัส ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต
- สัญญาเพิ่มเติม อีลิท เฮลท์ พลัส ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต
- สัญญาเพิ่มเติม ประกันสุขภาพ Health Fit DD ของบริษัท ไทยประกันชีวิต
- ประกันสุขภาพ ปลดล็อค ดับเบิล แคร์ ของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต
- ประกันสุขภาพ แผนบียอนด์แคร์ ของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย
โดยสรุปแล้ว ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายนี้ จะมีความคุ้มครองที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับแบบแยกค่าใช้จ่าย ทำให้เป็นที่นิยมในปัจจุบัน โดยหลายๆ แบบ มีวงเงินคุ้มครองแบบเหมาจ่ายเป็นหลักล้าน หรือหลายล้านบาท
ทำให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากเงินเฟ้อ (Healthcare Inflation) ได้ดีขึ้นด้วย
ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่มี Deductible
เนื่องจากวงเงินความคุ้มครองที่สูงขึ้นของประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย ทำให้เบี้ยประกันเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ผู้สนใจทำประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายหลายๆ ท่าน อาจมีสวัสดิการที่ทำงาน สามารถเบิกเคลมประกันกลุ่มหรือเบิกกับที่ทำงานได้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง จึงเกิดความคุ้มครองที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างสวัสดิการที่มีอยู่เดิม และประกันสุขภาพที่ทำไว้เอง
ทำให้เกิดการพัฒนา ประกันสุขภาพที่ให้ผู้เอาประกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนแรก (Deductible) เพื่อให้สามารถไปเบิกเคลมกับสวัสดิการที่มีอยู่เดิมก่อนในส่วนแรกได้ก่อน เช่น
- จากสวัสดิการ / ประกันสุขภาพของที่ทำงาน
- จากประกันสุขภาพฉบับอื่นๆ ที่ทำไว้ก่อน
- จากการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนแรกด้วยตัวเอง (จ่ายเอง)
หากมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินหลังจากนั้น จึงนำมาเบิกเคลมต่อกับประกันสุขภาพแบบ Deductible เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกันของความคุ้มครอง
จึงมีผลทำให้ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่มี Deductible มีค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายลดลง เมื่อเทียบกับแบบไม่มี Deductible โดยยังมีความคุ้มครองเหมาจ่ายในวงเงินที่สูง ซึ่งอาจลดค่าเบี้ยประกันลงได้มากถึง 30% (ขึ้นอยู่กับแบบประกัน)
ทั้งนี้ เมื่ออายุของผู้เอาประกันมากขึ้นจนถึงอายุเกษียณ ซึ่งมักจะไม่มีสวัสดิการในการเบิกค่ารักษาพยาบาลแล้ว ในบางแบบประกันจะมี Convertible Option ให้สามารถเปลี่ยนเป็นแบบประกันที่ไม่มี Deductible หรือมี Deductible น้อยลงได้ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพประกอบการพิจารณา ทำให้ได้รับความคุ้มครองที่ต่อเนื่องได้เลย
หรือบางแบบประกันก็จะมีข้อกำหนดในการเปลี่ยนเป็นแบบไม่มี Deductible ให้อัตโนมัติ ทันทีที่ผู้เอาประกันมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนดเลย เป็นต้น
ตัวอย่างแบบประกันแบบเหมาจ่ายที่มี Deductible
- สัญญาเพิ่มเติมเอไอเอ เฮลธ์ พลัส ของบริษัท เอไอเอ
- โครงการ เอ็กซ์ตร้าแคร์ พลัส ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต
- สัญญาเพิ่มเติม ดี เฮลท์ พลัส ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต
- ไทยประกันชีวิต Health เหมา สบายใจ สบายตังค์ ของบริษัท ไทยประกันชีวิต
- สัญญาเพิ่มเติม ประกันสุขภาพ Health Fit DD ของบริษัท ไทยประกันชีวิต
- ประกันสุขภาพ แผนบียอนด์แคร์ ของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย
ข้อควรระวังของประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่มี Deductible
แม้จะมีข้อดีคือเบี้ยประกันที่ลดลง และบางบริษัทสามารถใช้สิทธิ Convertible Option ได้เมื่อถึงเกณฑ์อายุเกษียณแล้ว แต่ก็แลกมาด้วยข้อควรระวังที่ควรทำความเข้าใจก่อนทำประกันประเภทนี้
โดยเฉพาะผู้ที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานก่อนถึงอายุเกษียณ ซึ่งที่ทำงานใหม่ ไม่มีสวัสดิการการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนแรกด้วยตัวเอง
และถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองไปเป็นแบบไม่มี Deductible ในภายหลัง ก็อาจต้องตรวจสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทประกันพิจารณารับประกัน โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
ในกรณีที่โรคบางโรคเกิดขึ้นแล้วก่อนการขอเปลี่ยนแปลงความคุ้มครอง ผลการพิจารณาก็อาจเป็นได้ทั้ง เพิ่มเบี้ยประกัน หรือ ยกเว้นความคุ้มครอง ในโรคที่เกี่ยวข้อง
โดยสรุปแล้ว ใครที่เหมาะกับแบบประกันสุขภาพนี้ ?
บทสรุปของประกันสุขภาพแบบที่มี Deductible นั้น จะเหมาะกับผู้ที่มีสวัสดิการคุ้มครองด้านสุขภาพอยู่แล้วส่วนหนึ่ง และคาดการณ์ว่าจะมีสวัสดิการด้านสุขภาพนั้นไปจนถึงวันเกษียณอายุ หรือกรณีย้ายงาน ก็พอจะมั่นใจได้ว่าที่ทำงานใหม่ก็จะมีสวัสดิการส่วนนี้รองรับอยู่
หรือในทางกลับกัน แม้จะไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพส่วนแรก แต่ถ้าผู้เอาประกันมีการเตรียมเงินสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนแรกด้วยตนเองแล้ว ก็สามารถพิจารณาทำประกันสุขภาพประเภทนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการลดเบี้ยประกันลงได้อีกทางหนึ่งนั่นเองครับ
ทั้งนี้สำหรับท่านที่ต้องการผู้ช่วยในการให้คำแนะนำด้านประกันสุขภาพ และการจัดการเงินด้านต่างๆ ก็สามารถใช้ บริการวางแผนการเงิน กับพวกเรา Avenger Planner ได้นะครับ บริการของพวกเรานั้นครอบคลุมคำแนะนำการเงินทุกด้านๆ โดยจะแนะนำ
- ตามความจำเป็น (Need-Based)
- ตามงบประมาณที่เพียงพอทั้งในวันนี้ และที่คาดการณ์ในอนาคต
- โดยคำนึงถึงเป้าหมายอื่นๆ ร่วมไปด้วย เช่น การลดหย่อนภาษี และการวางแผนเกษียณอายุ ฯลฯ
หากสนใจใช้บริการ สามารถคลิกที่ Banner ด้านล่างบทความนี้ได้เลยนะครับ