How Can We Help : EP3
07/02/2023How Can We Help : EP5
15/02/2023How Can We Help : EP4
เราช่วยคาดการณ์ หรือ Forecast กระแสเงินสด รับ/จ่าย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามสมมติฐานที่ตั้งขึ้นร่วมกัน
หนึ่งในความท้าทายที่สุดของการจัดทำแผนการเงินแบบองค์รวม คือการที่ต้องสามารถ “คาดการณ์” ได้ว่ากระแสเงินสด หรือเงินทุนในอนาคต ของลูกค้าผู้รับคำปรึกษาจะเป็นเช่นไร
เพราะถ้า Forecast ไม่ได้ หรือไม่ได้ Forecast กระแสเงินสด การตัดสินใจทางการเงินต่างๆ จะมีแนวโน้มต้องอาศัยข้อมูล ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีข้อจำกัดคือข้อมูลปัจจุบัน อาจเปลี่ยนแปลงไปได้
หากเปลี่ยนแปลงในทางดี คือการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น เช่น รายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายจ่าย อาจเพราะค่างวดหนี้บางรายการสิ้นสุดลง ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะมีเงินทุน มาใช้จัดสรรให้เป้าหมายต่างๆ มากขึ้น
แต่หากเปลี่ยนแปลงในทางร้าย คือมีกระแสเงินสดคงเหลือลดลง หรืออาจถึงขั้นติดลบ ซึ่งเกิดจากรายจ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ อาจเพราะการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานะครอบครัว หรือมีค่าใช้จ่ายรายการใหญ่รออยู่แต่ค่าใช้จ่ายนั้นยังไม่ปรากฎในวันนี้ เช่น การต้องเปลี่ยนรถใหม่ เนื่องจากคันเดิมเก่ามากแล้ว หรือค่าใช้จ่ายบุตรที่สูงขึ้น เป็นต้น
จะเห็นว่าการวางแผน โดยอาศัยเพียงข้อมูลปัจจุบัน เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ
ดังนั้น หน้าที่สำคัญของ Planner คือจะต้องช่วยคาดการณ์กระแสเงินสดของลูกค้าให้ได้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด โดยอาศัยการตั้งสมมติฐานต่างๆ ร่วมกันระหว่างลูกค้าและ Planner
ฝั่งลูกค้าจะเป็นผู้ให้ Input เป็นสมมติฐานด้านต่างๆ ที่ลูกค้าพอจะทราบ หรือคาดการณ์ได้ ส่วน Planner ก็จะเป็นผู้ช่วยตรวจทานว่าสมมติฐานเหล่านั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้สมมติฐานค่าต่างๆ ในการทำแผนการเงิน
และแม้จะมีสมมติฐานครบถ้วน Planner ก็ยังต้องเผื่อโอกาสที่ตัวเลขต่างๆ จะผิดพลาดไว้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีใครที่จะทำนายอนาคตได้อย่างถูกต้อง 100%
ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม จากการปฏิบัติงานในขั้นตอนนี้ คือการที่ Action Plan ต่างๆ ที่ปรากฏในแผนการเงินของลูกค้า จะมีความมั่นใจได้เพิ่มขึ้น ว่าเป็น Action ที่สามารถทำได้จริง และทำได้ต่อเนื่อง ไม่ติดขัด เพราะได้มีการตรวจสอบกับกระแสเงินสดที่คาดการณ์ในอนาคตด้วยแล้ว
ตัวอย่างเช่น หาก Planner แนะนำให้ลูกค้าซื้อประกันสุขภาพที่เบี้ยประกันในอนาคตจะปรับขึ้น ตามโครงสร้างของแบบประกันประเภทนี้ ก็แสดงว่า Planner ได้ตรวจสอบกระแสเงินสดในอนาคตที่คาดการณ์ไว้แล้ว ว่าลูกค้าจะมีเงินเพียงพอ ที่จะจ่ายเบี้ยประกันได้ในระยะยาว
หรือ หาก Planner แนะนำให้ลูกค้าลงทุนเพื่อเกษียณอายุ โดยเริ่มจากเงินน้อยในช่วงแรก และเพิ่มเงินลงทุนขึ้นในช่วงหลัง ก็แสดงว่า Planner ได้ตรวจสอบแล้วเช่นกัน ว่าในช่วงดังกล่าว ลูกค้าจะมีเงินมาลงทุนเพิ่มได้จริงตามแผน เป็นต้น
ซึ่งกระบวนการนี้นั้น จะไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียวจบ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หากมีข้อมูลใหม่ปรับปรุงเพิ่มขึ้น สมมติฐานต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป การคาดการณ์ก็ต้องเปลี่ยนตาม รวมทั้งแผนการเงินก็ต้องได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นปัจจุบันที่สุดด้วย
ดังนั้น เมื่อ Planner ได้ให้บริการกับลูกค้าท่านใดแล้ว จึงต้องดูแลกันต่อเนื่อง เรียกว่าค่อยๆ แก่ตัวไปพร้อมๆ กัน กับลูกค้าเลยก็ว่าได้ครับ
#ชีวิตดี #การเงินดี #เพราะมีแผน
#AvengerPlanner