ความรับผิดทางวิชาชีพ… ความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม
06/07/2022เปิดหลังบ้าน : 4 กิจกรรมพิเศษช่วงต้นปี ของนักวางแผนการเงิน
11/01/2023จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงกับเราแทบทุกคนในหลายด้านครับ ความเปลี่ยนแปลงนั้นมากจนคำว่า “วิถีชีวิตใหม่” หรือ “New Normal” กลายมาเป็นคำติดปาก
แม้ในปัจจุบันการระบาดยังคงอยู่ แต่มุมมองต่อการแพร่ระบาดเปลี่ยนไปมากครับ ผู้คนเริ่มปรับตัวได้มากขึ้น มาตราการที่เคยเข้มงวดก็เริ่มผ่อนคลาย วิถีชีวิตแบบเดิมเริ่มกลับมา
หนึ่งในสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากรอคอยหลังจากที่หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง นั่นคือ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่หลายๆ ประเทศมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมาตราการมากขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้ผมจะมาต้อนรับกระแสการเปิดเมือง ด้วยการชวนผู้อ่านทุกท่านมาวางแผนการท่องเที่ยว ผ่าน 3 คำถามกันครับ
คำถาม #1 : อยากท่องเที่ยวแบบไหน
ทุกแผนการเงินล้วนแล้วแต่เริ่มต้นด้วยเป้าหมายปลายทางที่คาดหวังครับ การวางแผนการท่องเที่ยวก็เช่นกัน ขั้นแรกคือการระบุว่าเราต้องการท่องเที่ยวในรูปแบบไหน ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ อาทิ
- ปลายทางที่อยากไป เช่น ในประเทศ หรือ ต่างประเทศ เป็นจังหวัดใด หรือประเทศไหน
- ความถี่ที่ต้องการไปท่องเที่ยวในแต่ละปี เช่น เที่ยวในประเทศปีละ 2 ครั้ง หรือ เที่ยวต่างประเทศปีเว้นปี ฯลฯ
การกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวที่เราต้องการ จะช่วยให้สามารถประเมินงบประมาณได้เหมาะสม ทำให้เป้าหมายการท่องเที่ยวนั้นมีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และนำไปวางแผนเรื่องเงินต่อได้ง่ายขึ้นครับ
ยกตัวอย่างการวางแผนท่องเที่ยวของ คุณ A และ คุณ B ตามรูปด้านล่างครับ
คำถาม #2 : จัดสรรงบประมาณอย่างไร
รายจ่ายด้านการท่องเที่ยวมักเป็นรายจ่ายแบบ เป็นครั้งคราว ซึ่งเป็น จำนวนเงินค่อนข้างสูง หากไม่วางแผนจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม อาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องตามมาได้
ซึ่งการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับเป้าหมายนั้น ทำได้หลายวิธีตามลักษณะรายได้ของผู้วางแผน และงบประมาณในการท่องเที่ยว อาทิ
กรณีที่ 1 : หากงบประมาณในการท่องเที่ยวไม่กระทบต่อกระแสเงินสดเลย เช่น รายได้สูงมาก หรือ งบที่วางไว้น้อยมาก อาจจะใช้จ่ายจากงบประมาณรายรับรายจ่ายในเดือนนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องวางแผนจัดสรรงบไว้ล่วงหน้าเลยครับ
กรณีที่ 2 : หากงบท่องเที่ยวที่วางไว้สูง จนอาจทำให้สภาพคล่องติดขัด ก็จะต้องอาศัยการจัดสรรเงินไว้ล่วงหน้า ซึ่งสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น
- เก็บเงิน สม่ำเสมอ โดยใช้วินัย
ยกตัวอย่างเคสคุณ A ซึ่งใช้งบประมาณท่องเที่ยวประมาณ 72,000 บาท ในทุก 2 ปี คุณ A อาจวางแผนเก็บเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 3,000 บาท เป็นประจำทุกเดือน โดยแยกเก็บไว้ในบัญชี/พอร์ตสำหรับการท่องเที่ยว เมื่อจะไปท่องเที่ยวก็จึงถอนเงินจากบัญชี/พอร์ตนั้น - เก็บเงิน จากแหล่งเงินพิเศษ (อาจได้รับเป็นเงินก้อนใหญ่)
ยกตัวอย่างเคสคุณ B ซึ่งใช้งบประมาณท่องเที่ยวประมาณ 24,000 บาท ในทุกๆ ปี ซึ่งคุณ B มีเงินก้อนพิเศษคือ โบนัสที่ได้รับในช่วงปลายปี คุณ B จึงกันเงินโบนัสอย่างน้อย 24,000 บาท แยกเก็บไว้ในบัญชี/พอร์ตสำหรับการท่องเที่ยว เพื่อเป็นงบสำหรับการท่องเที่ยวในปีหน้า
โดยการจะเลือกวิธีใดนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของรายรับของแต่ละท่านเป็นหลักครับ จะเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือจะใช้ทั้งสองวิธีร่วมกันก็ได้เช่นกัน
คำถาม #3 : เก็บเงินไว้ที่ใด
โดยทั่วไปการวางแผนท่องเที่ยว มักจะไม่ได้วางแผนเก็บเงินล่วงหน้าเป็นเวลานานมากนัก อย่างมากอาจวางแผนล่วงหน้าเพียงไม่กี่ปี
ด้วยระยะเวลาที่ไม่นานนักทำให้ทางเลือกการลงทุนแคบลง การจะเลือกเครื่องมือหรือช่องทางที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อจะหวังผลตอบแทนที่สูงนั้นก็อาจไม่เหมาะ เพราะเครื่องมือกลุ่มนี้จำเป็นต้องลงทุนเป็นระยะเวลายาวพอสมควร จึงจะหวังผลกำไรที่เป็นบวกได้
ในความเห็นผมนั้น ช่องทางเก็บออมที่เหมาะสม สำหรับใช้พักเงินสำหรับรอไว้ท่องเที่ยว ควรมีคุณสมบัติดังนี้ครับ
- รักษามูลค่าได้ ไม่ผันผวนมาก ถือลงทุนระยะสั้นได้ โดยไม่ต้องกังวล
- มีสภาพคล่องมากพอให้พร้อมเบิกถอน เมื่อกำหนดการท่องเที่ยวมาถึง (ซึ่งบางครั้งอาจมาแบบปัจจุบันทันด่วน ต้องใช้เงินในทันทีทันใด)
- เก็บแยกต่างหากจากบัญชีรับจ่ายในชีวิตประจำวัน หรือแยกจากบัญชีเงินเก็บเพื่อเป้าหมายอื่น เพื่อป้องกันการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
ซึ่งเครื่องมือที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 3 ข้อข้างต้น ก็เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ (รวมทั้งบัญชีเงินฝากแบบดิจิทัลต่างๆ ที่ให้ดอกเบี้ยสูง และสามารถฝาก/ถอนได้ทุกเมื่อ) หรือหากเป็นกองทุนรวมก็เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เป็นต้นครับ
บทสรุป
สถานการณ์ปัจจุบัน การระบาดของเชื้อไวรัสยังไม่หมดไปครับ ความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่พอสมควร การท่องเที่ยวในเวลานี้อาจถือว่ายังไม่สะดวกสบายเต็มที่นัก
จังหวะนี้จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่ผมอยากชวนท่านผู้อ่านให้ได้เริ่มวางแผนท่องเที่ยว โดยอาจใช้แนวทางจาก 3 คำถามในบทความนี้
เพื่อที่เมื่อเวลาที่เหมาะสมมาถึง ทริปในฝันของทุกท่านจะกลายเป็นความจริง โดยที่มีความพร้อมทางการเงินเป็นอย่างดี
สามารถไปท่องเที่ยวได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องมีปัญหาการเงินตามมาทีหลังครับ