3 เป้าหมายการเงินพื้นฐาน… ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
06/09/2021ความรับผิดทางวิชาชีพ… ความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม
06/07/2022แผนเกษียณอายุ ถือเป็นเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญมากครับ
หากท่านผู้อ่านได้มาใช้บริการวางแผนการเงินกับ Avenger Planner ก็จะได้รับคำถามจากนักวางแผนการเงิน เช่น
- วางแผนจะเกษียณเมื่ออายุเท่าไร
- เมื่อเกษียณแล้วอยากใช้ชีวิตแบบไหน
- คาดว่าจะใช้จ่ายอะไรบ้างหลังเกษียณอายุ
- อายุขัยโดยประมาณ หรือระยะเวลาที่ต้องเตรียมเงินให้พอใช้
คำถามทั้งหมด ก็เพื่อจะนำมาประเมินให้ได้ว่า “จะต้องเตรียมเงินไว้เท่าไรถึงจะเพียงพอ”
จากนั้นก็จะนำมาวางแผนต่อว่า จะต้องออมและลงทุนอย่างไร ต้องใช้แหล่งเงินทุนจากไหนบ้าง
ซึ่งหนึ่งในแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับการเกษียณอายุก็คือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หรือ “Provident Fund”
ในบทความนี้ ผมจะขอชวนผู้อ่านทุกท่าน มาทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าคืออะไร และเราสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
เพราะหากมีความเข้าใจที่ดีแล้ว การปรับเปลี่ยนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงนิด อาจได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากครับ
ทำความรู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันก่อน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ “กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้ง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างเก็บออมเงินไว้เมื่อ เกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวยามที่ลูกจ้างเสียชีวิตครับ
โดยเงินที่ถูกเติมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่
- เงินสะสม เป็นเงินที่หักจากเงินเดือนของเรา นำไปสะสมเข้าบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองเป็นรายเดือน
- เงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเงินอีกส่วนหนึ่ง สมทบเข้าบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือน
จากนั้นเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะถูกนำไปลงทุนภายใต้การบริหารของ “บริษัทจัดการ” ที่แต่งตั้ง
บริษัทจัดการก็จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทนตามนโยบายการลงทุนที่ถูกระบุไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละกอง
เมื่อได้ผลตอบแทนจากการลงทุน ก็จะมีการจัดสรรเข้าไปยังบัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิกแต่ละคน ตามสัดส่วนเงินที่สมาชิกแต่ละคนลงทุนไว้ และเรียกชื่อผลประโยชน์ที่ได้รับมานี้ตามที่มาของเงินทุน ว่าเป็นดอกผลที่มาจากเงินทุนส่วนไหน
- หากมาจากเงินสะสม ก็จะเรียกว่า ผลประโยชน์ของเงินสะสม
- หากมาจากเงินสมทบ ก็จะเรียกว่า ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
มูลค่าของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด จึงจะเท่ากับผลรวมของเงินทั้ง 4 ส่วน คือ
เงินสะสม + เงินสมทบ + ผลประโยชน์เงินสะสม + ผลประโยชน์เงินสมทบ
ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สูงมากๆ ด้วย 5 เหตุผลสำคัญ ได้แก่
1) เป็นหลักประกันที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเมื่อเกษียณ เงินก้อนนี้จะไม่ถูกนำไปใช้เสียก่อน
เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีกฎระเบียบกำหนดไว้ว่า จะสามารถนำเงินออกจากกองได้อย่างเต็มจำนวน โดยปลอดภาระภาษี เมื่อเกษียณอายุจากงานแล้ว หากนำเงินออกก่อนก็จะทำให้ได้รับเงินไม่เต็มจำนวน และมีความยุ่งยากทางภาษีเกิดขึ้น
ผลจึงทำให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยส่วนใหญ่ มักจะสามารถรักษาเงินในกองทุนไว้ได้จนถึงวันเกษียณ ขณะที่ถ้าเก็บเงินเกษียณไว้ในเครื่องมืออื่นๆ อาจจะถูกถอนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นไปก่อนหน้าแล้ว
2) สร้างวินัยในการออมให้สมาชิกอย่างอัตโนมัติ
เพราะเงินสะสม จะถูกหักเข้ามาออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากเงินเดือนโดยตรงทุกๆ เดือน จึงทำให้โอกาสที่สมาชิกจะไม่ได้ออมในแต่ละเดือนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้
แถมเมื่อเงินเดือนสูงขึ้น สมาชิกยังได้ออมเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น หากเดิมเงินเดือน 30,000 บาท หักสะสม 5% คือได้ออม 1,500 บาท (มาจาก 30,000 x 5%) เมื่อเงินเดือนเพิ่มเป็น 40,000 บาท การหักสะสม 5% เท่าเดิม จะได้ออมเพิ่มเป็น 2,000 บาท โดยอัตโนมัติ (มาจาก 40,000 x 5%)
แต่ถ้าเป็นเครื่องมืออื่นๆ นั้น เราต้องมาตัดสินใจเพิ่มการออมเอง ซึ่งก็อาจหลงลืมได้ง่ายๆ
3) ได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง มาช่วยออมเพิ่มอีกทางหนึ่ง
เช่น หากเราสะสม 5% และนายจ้างช่วยสมทบ 5% ก็เหมือนเราลงแรงเองเพียงหนึ่งเท่า แต่กลับได้ผลลัพธ์ถึงสองเท่า และยังได้ไปตลอดช่วงเวลาที่เป็นสมาชิกด้วย
4) เงินสะสมสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
โดยสามารถนำเงินสะสมไปเป็นค่าลดหย่อนได้สูงสุด ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บาท ทำให้เงินที่ออมไปยังช่วยประหยัดภาษีได้อีก
5) ได้รับผลตอบแทนทบต้นจากการลงทุนระยะยาว
โดยเงินที่เราสะสม และนายจ้างสมทบเข้ามาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตลอดทางนั้น จะถูกนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน โดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ
และผลตอบแทนที่ได้รับมานั้น เมื่อได้มายังจะถูกนำกลับไปลงทุนต่อ (Re-Invest) เพื่อต่อยอดเงินลงทุนเดิมขึ้นไป ซึ่งยิ่งทำเช่นนี้เป็นระยะเวลายาวขึ้น มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะยิ่งเติบโตได้มากขึ้น ดังจะได้เห็นตัวอย่างในเนื้อหาส่วนต่อไปนะครับ
การใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการวางแผนเกษียณอายุ
หากท่านผู้อ่านเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในวันเกษียณอายุ จะสามารถทำได้ 2 วิธีหลักๆ ดังนี้ครับ
- ปรับเงินสะสมเพิ่ม โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถปรับเงินสะสมได้สูงสุด 15% ของรายได้
- ปรับแผนการลงทุน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบางบริษัทนั้น จะมีแผนการลงทุนให้สมาชิกได้เลือกลงทุน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง เรียกว่า Employee’s Choice
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมขอยกตัวอย่างบุคคลสมมติคนหนึ่ง ชื่อคุณ N มาแสดงรายละเอียดให้ได้เห็นนะครับ ว่าการปรับแต่ละอย่างนั้นให้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
โดยขอสมมติให้คุณ N มีข้อมูลดังนี้นะครับ
- เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 22 ปี ด้วยเงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท
- เงินเดือนขึ้นปีละ 3%
- ส่งเงินสะสม 3% และนายจ้างสมทบ 3% ไปจนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี
ทั้งนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทที่คุณ N ทำงานอยู่นั้น มีแผนการลงทุนให้เลือก 3 แผน คือ
- แผนตราสารหนี้ 100% ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยได้ประมาณ 3% ต่อปี
- แผนตราสารหนี้ 80% หุ้น 20% ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยได้ประมาณ 4.5% ต่อปี
- แผนตราสารหนี้ 60% หุ้น 40% ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยได้ประมาณ 6% ต่อปี
โดยพนักงานส่วนใหญ่ รวมทั้งคุณ N นั้น ยังไม่ได้แสดงความจำนงขอเลือกแผนการลงทุน บริษัทจึงเลือกให้เป็นแผนตราสารหนี้ 100%
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ เมื่ออายุ 60 ปี คุณ N จะมีมูลค่าเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 1.7 ล้านบาท จากต้นทุนเงินที่เก็บสะสมด้วยตัวเองประมาณ 5 แสนบาท ดังแสดงในรูปด้านล่างครับ
การปรับเงินสะสม
หากคุณ N ตัดสินใจปรับเงินสะสมเพิ่มจาก 3% เป็น 10% และ 15% ตามลำดับ โดยเงินสมทบจากนายจ้างเท่าเดิม และไม่มีการเปลี่ยนแผนการลงทุน
จากเดิมที่มูลค่าเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ อายุ 60 จะอยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านบาท มูลค่าเงินจะเพิ่มเป็นประมาณ 3.7 ล้านบาท และ 5.2 ล้านบาทตามลำดับ ดังที่แสดงในรูปด้านล่างนี้ครับ
จะเห็นได้ว่ายิ่งเพิ่มอัตราเงินสะสมมากเท่าไร มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ปลายทาง ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามลำดับครับ
แต่ทั้งนี้การปรับเงินลงทุนเพิ่ม ก็ควรพิจารณาถึงสภาพคล่องหลังออมร่วมด้วย ว่ายังคงมีเงินเหลือเพียงพอให้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่อึดอัดหรือไม่
อีกทั้งหากคุณ N มีทักษะด้านการลงทุนด้วยตนเองที่ดี คุณ N ก็อาจพิจารณานำเงินที่จะออมเพิ่มในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไปลงทุนด้วยตนเองผ่านเครื่องมืออื่นๆ ได้เช่นกันครับ
การปรับแผนการลงทุน
หากคุณ N ตัดสินใจปรับแผนการลงทุนจากแผนตราสารหนี้ ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 3% ต่อปี ไปเป็นแผนที่มีหุ้น 20% และแผนที่มีหุ้น 40% ซึ่งคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยได้ 4.5% และ 6% ต่อปีตามลำดับ โดยยังคงอัตราเงินสะสม และอัตราเงินสมทบไว้ที่ 3% เท่าเดิม
จากเดิมที่มูลค่าเงินปลายทางอยู่ที่ 1.7 ล้านบาท มูลค่าเงินจะเพิ่มเป็นประมาณ 2.3 ล้านบาท และ 3.1 ล้านบาทตามลำดับ ดังที่แสดงในรูปด้านล่างนี้ครับ
จะเห็นได้ว่า แม้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะต่างกันไม่มาก แต่หากมีปัจจัยเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ดอกเบี้ยทบต้นที่ทำงานเป็นเวลาหลายปีจะส่งผลให้มูลค่าเงินปลายทางเพิ่มขึ้นได้อย่างมากเลยนะครับ
หมายเหตุ การลงทุนมีความเสี่ยง การเลือกแผนการลงทุน นอกจากตัดสินใจจากผลตอบแทนแล้ว ควรนำปัจจัยเรื่อง เวลา ความเสี่ยงและความผันผวนที่รับไหวมาประกอบการพิจารณาด้วยเสมอนะครับ
ปรับเพิ่มทั้งเงินสะสม และปรับแผนการลงทุนด้วย
ในการปรับ 2 ตัวอย่างที่ผ่านมานั้น ผมได้สาธิตให้เห็นถึงการปรับเงินสะสม และปรับแผนการลงทุน แยกกันทีละส่วนนะครับ
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หากคุณ N มีความเข้าใจ ก็สามารถจะเลือกปรับทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งอาจทำให้ได้ผลลัพธ์ดังในรูปด้านล่างนี้ครับ
ในรูปข้างต้นนั้น หากคุณ N เลือกแผนการลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 6% ต่อปี และ
- เพิ่มอัตราเงินสะสมไปที่ 10% มูลค่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ปลายทาง จะเพิ่มขึ้นเป็น 6.8 ล้านบาท
- เพิ่มอัตราเงินสะสมไปที่ 15% มูลค่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ปลายทาง จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.4 ล้านบาท
ซึ่งทั้งสองกรณี จะเห็นว่าจำนวนเงินเพิ่มสูงขึ้นมากๆ เมื่อเทียบกับยอดเงิน 1.7 ล้านบาทที่จะได้รับ หากคุณ N ไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย (คงอัตราเงินสะสมไว้ที่ 3% และลงทุนในแผนตราสารหนี้ที่ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 3% ต่อปี)
บทสรุป
จากเนื้อหาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เป็นสวัสดิการเพื่อการเกษียณอายุที่มีประโยชน์มากๆ
แต่เราก็ต้องรู้วิธีใช้ประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยนะครับ เช่น ต้องเลือกอัตราเงินสะสม และแผนการลงทุนให้เหมาะกับตนเองด้วย เพราะเป็น 2 ปัจจัยที่ปรับแล้ว จะมีผลอย่างมากในระยะยาว
สำหรับท่านผู้อ่านท่านใด ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการวางแผนเกษียณอายุแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องการปรับแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย พวกเราทีมนักวางแผนการเงินจาก Avenger Planner ก็ยินดีที่จะให้ข้อมูล และให้คำแนะนำกับทุกท่านด้วยความยินดียิ่งนะครับ
สามารถศึกษารายละเอียดของบริการได้จากเว็บไซต์ หน้านี้ ได้เลยครับ