เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮EP 3.4 : จีดีพี คือ วิธีวัดความก้าวหน้าที่ดี (จริงหรือ?)
27/08/2021กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : เข้าใจเพิ่มนิด ปรับเพิ่มหน่อย อาจได้ประโยชน์อีกเยอะ
25/03/2022จุดเริ่มต้นของการวางแผนการเงินนั้น นอกจากจะเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจสถานะการเงิน ณ ปัจจุบัน จากการจัดทำงบการเงิน และวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เพื่อตรวจสอบว่า “สุขภาพทางการเงิน” อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่แล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย ในการเริ่มต้นวางแผนคือการกำหนด “เป้าหมายทางการเงิน”
โดยในบทความนี้ผมขออนุญาตแนะนำ “3 เป้าหมายทางการเงินพื้นฐาน… ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม” ว่าควรมีอะไรบ้าง ดังนี้ครับ
1. เป้าหมายเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน (Emergency Fund)
เป้าหมายนี้ มีความหมายตรงตัวเลยครับ คือมีไว้เพื่อใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน ซึ่งคำว่า “ฉุกเฉิน” นั้น อาจหมายถึง
- การที่รายได้ลดลงอย่างกะทันหัน
- การขาดรายได้จากการทำงาน เช่น การถูกให้ออกจากงาน หรือการที่บริษัทเลิกกิจการ
- การมีรายจ่ายพิเศษที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับคนในครอบครัว โดยไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน
- ฯลฯ
เป้าหมายนี้ควรเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่ทุกๆ คนควรเตรียมให้พร้อม
อุปมาเหมือน “กันชนรถยนต์” ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เงินส่วนนี้จะทำให้ลดโอกาสในการเกิดปัญหาทางการเงินอื่นๆ เช่นการต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ในช่วงที่ไม่มีรายได้ ซึ่งจะเป็นภาระในการจ่ายคืนภายหลัง
การเตรียมเงินสำรองที่ดี แม้ “ตัวรถยนต์” จะต้องชนกับอะไร ก็จะไม่สร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบสำคัญอื่นๆ มากนัก เพราะมีกันชนช่วยปกป้องไว้ส่วนแรก
ซึ่งปริมาณเงินสำรองขั้นต่ำที่ควรเตรียมไว้ ไม่ควรน้อยกว่า 3 – 6 เท่า ของรายจ่ายจำเป็นต่อเดือน เพื่อให้เพียงพอต่อการรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน
แต่อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าว ไม่ใช่สูตรสำเร็จ บางท่านอาจจำเป็นต้องเตรียมเงินสำรองมากกว่าอัตราดังกล่าวได้เช่นกัน
ซึ่งหากท่านได้มีโอกาสใช้บริการวางแผนการเงิน นักวางแผนการเงินจะช่วยประเมินตัวเลขที่เหมาะสมสำหรับท่านให้โดยเฉพาะต่อไปครับ
2. เป้าหมายการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน (Risk Management Plan)
เป้าหมายนี้เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ ซึ่งถูกมองข้ามได้ง่าย เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน คือมีความสำคัญ แต่ไม่ได้เร่งด่วน
แต่จริงๆ แล้ว เรามีความเสี่ยงทางการเงินมากมาย ที่พร้อมจะเกิดขึ้น โดยลำพังเงินสำรองเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอในการรับมือ
ความเสี่ยงดังกล่าว อาทิ
- ความเสี่ยงจากการเสียหายของทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ และบ้าน ที่ทำให้ต้องซ่อมแซม หรือชดใช้ (กรณีเป็นฝ่ายผิด)
- ความเสี่ยงด้านสุขภาพ ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก
- ความเสี่ยงจากการเสียชีวิต แล้วทำให้เกิดความเดือดร้อนกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ต้องแบกรับภาระหนี้สิน
ความเสี่ยงเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงที่มี “ขนาดความเสียหายที่ใหญ่” ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ “ประกัน” รูปแบบต่างๆ เป็นเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยง
โดยหากจัดการได้ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์พลิกผัน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปดึงเงินออมและเงินลงทุนในเป้าหมายอื่นออกมา อันจะทำให้เป้าหมายนั้นสะดุดจนต้องเลื่อนเป้าหมายนั้นออกไป เป็นต้นครับ
3. เป้าหมายเงินทุนสำหรับการเกษียณอายุ (Retirement Fund)
ข้อเท็จจริงหนึ่งของชีวิตคือ มนุษย์ทุกคนล้วนต้องแก่ตัวลงเรื่อยๆ จนวันหนึ่งจะไม่สามารถทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองต่อไปได้
โดยทั่วไปก็จะต้องมีการ “เกษียณอายุ” จากงานประจำ หรือถ้าเดิมเป็นเจ้าของธุรกิจก็จะต้องส่งต่อธุรกิจให้ผู้อื่นรับช่วงต่อ
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
การเตรียมเงินทุนเพื่อใช้จ่ายหลังจากเกษียณอายุให้เพียงพอ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกๆ คนต้องรับผิดชอบในการจัดเตรียม
เพราะเงินทุนก้อนดังกล่าว มักเป็นเงินจำนวนไม่น้อย เป็นจำนวนที่มากจนน่าตกใจ แต่อย่างไรก็ตาม หากได้รู้ตัวและจัดเตรียมตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะเพิ่มโอกาสให้บรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน
ซึ่งในการเตรียมเงินทุนเพื่อเกษียณอายุนี้ มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลายมาช่วย ไม่ว่าจะเป็น
- การใช้ประโยชน์จากสวัสดิการรัฐ และสวัสดิการของที่ทำงานรูปแบบต่างๆ ให้คุ้มค่า
- การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐเปิดช่องทางไว้ให้
- การออมอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ
- การมีกลุยทธ์การลงทุน ที่ช่วยทุ่นแรงและสร้างการเจริญเติบโตแบบทบต้นให้กับเงินออม เป็นต้น
บทสรุป
3 เป้าหมายการเงินพื้นฐานนี้ เป็นเพียงเป้าหมายเริ่มต้นที่ทุกคนควรคำนึง
แต่นอกจาก 3 เป้าหมายนี้แล้ว ก็ยังมีเป้าหมายอื่นๆ ที่สำคัญ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจอยากมีเป้าหมายท่องเที่ยวรอบโลกเพื่อสำรวจเมืองต่างๆ ที่ตนสนใจ หรือบางคนอาจมีเป้าหมายเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต
ทั้งหมดเป็นความหลากหลายที่สวยงาม
แต่ก็แปลว่าจะต้องใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้น ในการวางแผนการเงินให้สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ โดยไม่ทิ้งเป้าหมายที่จำเป็นอื่นๆ
สุดท้ายนี้ หากผู้อ่านท่านใดมีเป้าหมายการเงินของตนเอง แต่ยังไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจว่าจะจัดการอย่างไร หรือต้องการแผนการเงินแบบองค์รวมอย่างรอบด้าน สามารถ ศึกษาบริการ ของ Avenger Planner เพื่อให้พวกเราเป็นผู้ช่วยได้นะครับ เราพร้อมให้บริการกับทุกท่านครับ