วิธีจัดการกระแสเงินสด : ฉบับประมวล
22/08/20213 เป้าหมายการเงินพื้นฐาน… ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
06/09/2021Editor’s Note : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต เขียนโดย คุณมิ้งค์ รชยา ผดุงตันตระกูล ซึ่งเป็นนักวางแผนการเงินของทีม Avenger Planner ภายใต้นามปากกาว่า “อิคิ”
เนื้อหาในบทความด้านล่างนี้ จึงเรียกแทนตัวผู้เขียนว่า “อิคิ” เช่นกันนะครับ
ก่อนอ่านบทความนี้ท่านสามารถอ่านบนความ เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮ตอนก่อนหน้าได้ โดยคลิกที่ลิ้งค์ต่อไปนี้ครับ ตอนที่ 3.1 ตอนที่ 3.2 และ ตอนที่ 3.3
EP3.4 : จีดีพี คือ วิธีวัดความก้าวหน้าที่ดี (จริงหรือ?)
เมื่อไม่นานมานี้ อิคิ ∙ 生き เพิ่งอ่านหนังสือที่ชื่อว่า “ชีวิตดีเมื่อมีของน้อย [STUFFOCATION] | ปรัชญาความสุขฉบับมินิมอล” – เขียนโดย James Wallman จบลง และ ตลอดเวลาที่ได้อ่าน บทที่ 11 : วิธีวัดความก้าวหน้าแบบใหม่ หนึ่งคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจก็คือ
จีดีพี คือ ตัวชี้วัดความก้าวหน้าที่ดี (จริงหรือ?)
หนังสือเปรียบเทียบ จีดีพี เหมือนกับสมุดพกที่รายงานเรื่องสภาพทางการเงินของประเทศต่างๆ
ทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ ต่างก็เฝ้ารอดูตัวเลข จีดีพี ด้วยกันทั้งนั้น
หนังสือยังกล่าวอีกว่า จีดีพี ก็คล้ายๆ กับงบประมาณครัวเรือนของเรานั่นเอง กล่าวคือ ยิ่งมีงบประมาณมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีเงินใช้จ่ายกับสิ่งต่างๆ มากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร เสื้อผ้า การท่องเที่ยว ฯลฯ
ดังนั้น ยิ่ง จีดีพี สูงเท่าไหร่ ประชาชนทั่วไปก็ยิ่งมีเงินจับจ่ายเพื่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น และรัฐบาลก็มีเงินจ่ายให้กับนักดับเพลิง ครู ถนน และทหารที่คอยปกป้องเรามากขึ้นตามไปด้วย
แม้ จีดีพี จะเป็นหนึ่งมาตรวัดสำคัญที่รายงานผลประกอบการของประเทศ แต่ถ้าเรายึด จีดีพี เป็นสรณะ เราอาจมองข้ามบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญไป เพราะจีดีพี เป็นการวัดความก้าวหน้าทางด้านตัวเลข แต่ขาดมุมมองการวัดผลด้านคุณภาพและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจมักจะทำให้เงินด้อยค่าลง
สิ่งหนึ่งที่มักจะตามมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเติบโตขึ้น คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นหมายความว่า เงินที่เรามีอยู่ในปัจจุบันด้อยค่าลง
อิคิ ∙ 生き พอจะจำความได้ว่าสมัยเด็กๆ ราคาก๋วยเตี๋ยว 1 ชามอยู่ที่ประมาณ 20 บาท ถ้า อิคิ ∙ 生き มีเงิน 100 บาท อิคิ ∙ 生き จะซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 5 ชาม แต่ในปัจจุบันราคาก๋วยเตี๋ยวเติบโตเป็น 40 – 50 บาท เงิน 100 บาท จะซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เพียง 2 – 2.5 ชามเท่านั้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินมีคุณค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากการด้อยค่าด้านตัวเลขที่ได้กล่าวไป จีดีพี ก็ไม่ได้สิ่งสะท้อนความก้าวหน้าในทุกแค่มุมของสังคม เราคงเคยได้ยินว่าหลายประเทศที่ร่ำรวย แต่ผู้คนของเขากลับไม่มีความสุข เคร่งเครียด และมีอัตราฆ่าตัวตายสูง
หนังสือได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ 911 ที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีตึกเวิร์ลเทรด กลางกรุง New York ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในขณะนั้นประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุซ ยังคงประกาศว่า “ผู้คนจะดำเนินชีวิตประจำวันกันต่อไป ทำงาน ชอปปิ้ง เล่นสนุก ไปวัด ไปโบสถ์ ดูหนัง ดูเกมเบสบอล”
ส่วนโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษก็บอกว่า “พวกเขาควรใช้ชีวิตตามปกติต่อไป ทำงาน ท่องเที่ยว และชอบปิ้ง”
สิ่งที่กล่าวข้างต้นไม่ได้เป็นการกล่าวโทษผู้นำประเทศทั้งสองแต่อย่างไร แต่คำถามที่ชวนคิดคือ…
มาตรวัดประเมินผลงานของรัฐบาลที่เรียกว่า จีดีพี นั้นมันเป็นมาตรวัดที่ถูกต้องหรือไม่ ?
เมื่อมาตรวัดสำคัญคือ จีดีพี ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ใดๆ สิ่งที่ผู้นำประเทศจะยอมเสียไปไม่ได้ก็คือ ขนาดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่พวกเขาปกครองอยู่นั่นเอง
แม้กระทั่งวิกฤตการณ์ที่เรากับกำลังเผชิญอย่าง COVID-19 จีดีพี ก็ยังคงเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่นานาประเทศต้องรักษาไว้
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นไม่เพียงแต่สะท้อนเหตุการณ์ระดับมหภาคหรือระดับชาติ แต่ส่วนตัว อิคิ ∙ 生き คิดว่าสิ่งนี้ได้สะท้อนตัวชี้วัดที่ผิดเพี้ยนในวิกฤตการณ์ COVID-19 ในระดับจุลภาค ที่เราทุกคนกำลังเผชิญได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน
ประสบการณ์ส่วนตัวจากการทำธุรกิจเล็กๆ ท่ามกลาง วิกฤตการณ์ COVID-19
อิคิ ∙ 生き ขอยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวจากการทำธุรกิจเล็กๆ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ตนเองได้ประสบตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานะคะ
COVID-19 หลายระรอกที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き ทราบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน เนื่องจากสถานการณ์ ยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้เงินสำรองของหลายๆ ธุรกิจร่อยหรอ และเริ่มปิดตัวลง
อีกทั้งขวัญและกำลังใจที่จะต้องมาต่อสู้รอบ 2 รอบ 3 รอบ 4 คงไม่ฮึกเหิมเท่ากับครั้งแรก และหากจะรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลความหวังก็ดูเลือนลาง ดังนั้นการพึ่งพาตนเองคงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
สินค้าที่บริษัทของ อิคิ ∙ 生き ผลิต คือ การ์ดและอัลบั้มตกแต่งภาพแบบ DIY ที่จัดจำหน่ายผ่าน 50 จุดขาย ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่
และตั้งแต่ COVID-19 อุบัติขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 อิคิ ∙ 生き สังเกตว่า… อิคิ ∙ 生き ได้รับจดหมายขอสนับสนุนการจัดทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม จากห้างสรรพสินค้าชั้นนำของประเทศมากกว่าปีปกติทั่วไป และการจัดทำโปรโมชั่นเหล่านี้ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ก็มักจะขอการสนับสนุนจากผู้ขายอย่างเรา
ไม่ว่าจะเป็นการขอเพิ่มส่วนแบ่งการค้าในกรณีที่ยอดขายไม่ถึงเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ในปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อน COVID-19 หรือไม่ก็ขอเพิ่มส่วนแบ่งการค้าเพิ่มในระยะเวลาที่มีการจัด Promotion รวมไปถึงการของบการตลาดเพิ่ม ขอคิดค่าเฟอร์นิเจอร์เพิ่ม ฯลฯ
ในขณะที่เจ้าของห้างร้านที่มีขนาดเล็กลง กลับมีความเข้าใจ ไม่ได้ขอสนับสนุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่มักจะขอสนับสนุนสินค้าต่างๆ เพื่อส่งไปยัง Influencers ให้ทดลองใช้สินค้า ขอให้เรานำเสนอสินค้าที่เหมาะกับเทศกาลในช่วงเวลาเหล่านั้น มีการจัดพื้นที่พิเศษสำหรับจัดจำหน่ายสินค้าและขอให้ทางบริษัทไปร่วมออกร้าน หรือไม่ก็ขอความร่วมมือให้ลดราคาตามความสมัครใจ
เหตุการณ์นี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き คิดว่ามันช่างเป็นอะไรที่ย้อนแย้ง ในขณะที่ห้างร้านขนาดใหญ่ที่มีสรรพกำลังมากกว่า กลับขอการสนับสนุนเพิ่มเติมมากมาย ห้างร้านที่มีขนาดเล็กลงมากลับเข้าอกเข้าใจกันและกัน
ทุกครั้งที่ อิคิ ∙ 生き ต้องเซ็นยอมรับการสนับสนุนเพิ่ม ห้วงความคิดที่มักจะผุดขึ้น คือ ในสถานการณ์ที่เราต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง โปรโมชันเหล่านี้ก็ออกมามากมาย แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ส่วนใหญ่จะเป็นโปรโมชัน ที่กระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าประเภท เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าแฟชั่น ฯลฯ แต่มักจะยกเว้นสินค้าอุปโภคบริโภคใน Supermarket
โดยส่วนตัว อิคิ ∙ 生き เข้าใจนะคะว่า โปรโมชัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับหลายๆ ธุรกิจ เพราะกระแสเงินสดที่เข้ามาเปรียบเสมือนการเติมน้ำมันให้กับองค์กร เพื่อให้องค์กรจะได้ขับเคลื่อนต่อไป แต่คำถามที่มักเกิดขึ้นเสมอในช่วงเวลาเหล่านี้ คือ…
ในช่วงเวลาที่กำลังซื้อหดตัว หรืออาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันอย่างสมเหตุผลมากขึ้น แต่ทำไม ห้างร้านกลับมีสินค้าต่างๆ ที่เกินความจำเป็นล้นโกดัง
สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องสะท้อนอย่างเป็นรูปธรรม ว่าที่ผ่านมาพวกเราอุปโภคบริโภครวมถึงผลิตสินค้าและบริการออกมามากเกินความพอดีใช่หรือไม่
ประจวบกับการได้อ่านเนื้อหาเรื่อง จีดีพี จากหนังสือเล่มนี้ ทำให้ อิคิ ∙ 生き ยิ่งกลับมาพิจารณาตัวเราเองว่า “ต่อแต่นี้ไปเราจะจับจ่ายใช้สอยอย่างไร เพื่อให้เป็นไปอย่างยั่งยืน”
อีกทั้งยังมีความคิดว่าตัวเลขผลประกอบการของห้างร้านหรือแม้กระทั่ง จีดีพี ของประเทศที่เติบโตจริงๆ แล้วอาจไม่ได้สะท้อนถึงความอยู่ดีมีสุขในทุกๆ มิติของผู้มีส่วนร่วมและประชาชน
ไม่ว่าชีวิตหรือประเทศ มันมีอะไรมากกว่าตัวเลขที่เติบโต
แต่ถ้าหากผู้นำยึดเฉพาะตัวชี้วัดความสำเร็จในเชิงปริมาณ พวกเขาก็จะไม่ได้นำผลลัพธ์เชิงคุณภาพเข้ามาประกอบในการบริหารประเทศและองค์กร หากเป็นเช่นนั้นผู้นำก็คงมีนโยบายการบริหารที่ผิดเพี้ยนและอาจทำให้ตัดสินใจดำเนินการบางอย่างที่ผิดพลาด
หนังสือกล่าวว่า จีดีพี ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะชี้วัดความขาดแคลนทรัพยากรในยุคสมัยก่อนว่าได้บรรเทาเบาบางลงหรือยัง
แต่ในโลกที่ทุกอย่างมากล้นเช่นในปัจจุบัน การให้ความสำคัญกับการเติบโตของ จีดีพี เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถวัดความก้าวหน้าทุกมิติของสังคมได้อีกต่อไป เพราะ…ณ จุดนี้ความการเติบโตด้านตัวเลขไม่ได้ช่วยให้พวกเรามีความสุขต่อไปได้แล้ว ดังนั้น จีดีพี จึงไม่สามารถวัดความสุขของผู้คนได้
ในโลกที่มีมากล้นเราควรที่จะต้องกลับมาพิจารณาการกิน ดื่ม ใช้ จ่าย การผลิต การครอบครองแต่พอดี เพื่อฟื้นฟูความสุขในระยะยาวของมวลอารยชน แต่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เริ่มที่ตัวเราเองก่อน หนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสืออีกเล่มที่สร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายให้กับ อิคิ ∙ 生き ค่ะ
หนังสือค่อยๆ เริ่มเรื่อง ด้วยเรื่องราวของนักนิยมความน้อย รวมไปถึงเรื่องที่ผู้คนครอบครองสิ่งของมากจนเกินไปก่อให้เกิดผลเสียทางกายภาพและจิตใจ อีกทั้งได้เล่าถึงภูมิหลังว่าทำไมหลายๆ ครั้งเรากลับกลายเป็นคนที่ซื้อโดยไม่คิด รวมไปถึงเรื่องราวต่างๆ ของนักค้นหาประสบการณ์
“หนังสือเล่มนี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き ไม่อยากให้ตัวเราเป็นเพียงแค่ผลผลิตของลัทธิบริโภคนิยม และต้องการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผลมากขึ้น”
บทสรุป
อิคิ ∙ 生き คิดว่าการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม ก็สามารถสร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายให้กับเราได้ค่ะ ดังนั้น ก่อนจากกันในวันนี้ อิคิ ∙ 生き อยากฝากทุกท่านให้ลองกลับมาพิจารณาตัวเองว่า
ทุกวันนี้ สิ่งที่เราใช้เป็นตัวชี้วัดผลประกอบการแห่งชีวิตคืออะไร
หากตัวชี้วัดนั้นคือการครอบครองสิ่งของ มีรถ มีบ้าน หรือเงินในบัญชีธนาคาร เป็นสำคัญ ก็อาจทำให้เราลืมหลงลืมสิ่งสำคัญอื่นๆ ของชีวิตไปเช่นกัน
และสิ่งเหล่านั้นอาจเป็น เวลาที่เรามีเหลือไว้บำบัดหัวใจตนเอง เวลาคุณภาพที่เราจะมีให้กับคนที่รัก ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และที่สำคัญเมื่อวิกฤตการณ์มาเยี่ยมเยือน เราจะยังเคลื่อนไหวจังหวะชีวิตให้ไปต่ออย่างปกติได้หรือไม่
ดังนั้นการเลือกมาตรวัดความสำเร็จที่เราจะนำมาชี้วัดชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเติบโตทางด้านตัวเลข และคำถามสำคัญคือ…
เราจะสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตด้านวัตถุและจิตวิญญาณได้อย่างไร ?
อิคิ ∙ 生き ขอฝากคำถามนี้ให้ท่านได้ครุ่นคิดก่อนจากกันนะคะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อนนะคะ และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านค่ะ สวัสดีค่ะ
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ ชีวิตดีเมื่อมีของน้อย [STUFFOCATION] | ปรัชญาความสุขฉบับมินิมอล – เขียนโดย James Wallman