สังคมสูงอายุ… กับค่าใช้จ่ายยามเกษียณ
23/06/2021วิธีจัดการกระแสเงินสด : ฉบับประมวล
22/08/2021Editor’s Note : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต เขียนโดย คุณมิ้งค์ รชยา ผดุงตันตระกูล ซึ่งเป็นนักวางแผนการเงินของทีม Avenger Planner ภายใต้นามปากกาว่า “อิคิ”
เนื้อหาในบทความด้านล่างนี้ จึงเรียกแทนตัวผู้เขียนว่า “อิคิ” เช่นกันนะครับ
ก่อนอ่านบทความนี้ท่านสามารถอ่านบนความ เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮ตอนก่อนหน้าได้ โดยคลิกที่ลิ้งค์ต่อไปนี้ครับ ตอนที่ 3.1 และ ตอนที่ 3.2
EP.3.3 : The Last Jigsaw แห่งการสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย
สวัสดีค่ะทุกท่าน ใน ตอนที่แล้ว อิคิ ∙ 生き ได้เล่าให้ทุกท่านทราบแล้วนะคะ ว่าเนื้อหาจากหนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE ได้สร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายให้กับ อิคิ ∙ 生き อย่างไรบ้าง
แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้ อิคิ ∙ 生き มีวินัยด้านการใช้จ่ายที่ดีขึ้นได้เลย หากขาด Jigsaw ตัวสำคัญไป และ Jigsaw ตัวนั้น สำหรับ อิคิ ∙ 生き ก็คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ค่ะ
สำหรับ อิคิ ∙ 生き COVID-19 ถือเป็นภาคบังคับของการ “งด” ไปห้างสรรพสินค้าในแบบที่เรา “ไม่ได้” สมัครใจ
ซึ่งภายใต้วิกฤตการณ์นี้ อิคิ ∙ 生き จะไปห้างสรรพสินค้าก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น และถ้าไปก็จะรีบไปรีบกลับ ดังนั้นเมื่อมาคิดดูให้ดี เหตุการณ์นี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้คำตอบที่ค้นหามาตลอดชีวิตแล้วค่ะ ว่าทำไมก่อนหน้านี้หลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำเพื่อสร้างวินัยด้านใช้จ่ายแล้วไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน นั่นเป็นเพราะเรายังมีภูมิคุ้มกันไม่มากพอ
ในวันที่ตบะของเราไม่เข้มแข็ง การไปห้างสรรพสินค้าคือการเอาตัวเองไปต่อสู้กับสิ่งเร้าต่างๆ ที่เราไม่มีวันเอาชนะได้
เวทีการต่อสู้ที่เรียกว่าห้างสรรพสินค้า คือสถานที่ ที่เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเร้านานาชนิด ที่จะไล่เรียงกันเข้ามาปะทะทวารทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อย่างที่เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้
ก่อนที่ COVID-19 จะแพร่ระบาด อิคิ ∙ 生き มักจะไปห้างสรรพสินค้าเป็นอาจิณ เรียกว่าถ้าคิดอะไรไม่ออกก็ไปห้างสรรพสินค้า
เบื่อก็ไปห้างสรรพสินค้า สนุกก็ไปห้างสรรพสินค้า ไม่มีอะไรทำก็ไปห้างสรรพสินค้า และที่สำคัญก่อนมาห้างสรรพสินค้า แม้ว่าเราจะปฏิญาณตนกับตัวเองว่าจะ “ไม่ซื้อ” สิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างหนักแน่นแค่ไหนก็ตาม
แต่ทุกอย่างจะมาล่มสลายเมื่อเราเดินผ่านร้าน iStudio Uniqlo และ Reebok
เวลาที่ได้คืน
ในช่วงแรกของวิกฤตการณ์ที่ อิคิ ∙ 生き ไม่สามารถไปห้างสรรพสินค้าได้ อิคิ ∙ 生き จะเกิดอาการทุกข์ทรมานใจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปวันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า
ปรากฏว่า อิคิ ∙ 生き กลับรู้สึกมีความสุขที่ไม่ได้ไปห้างสรรพสินค้า และรู้สึกว่าตัวเองสามารถใช้เวลาได้ดีขึ้น เพราะหลายๆ ครั้งที่ไปห้างสรรพสินค้า อิคิ ∙ 生き จะไปแบบไร้จุดหมาย เดินไปอย่างเรื่อยเปื่อย มาเพราะความเคยชินและเสพติดการจับจ่าย
เมื่อวิถีชีวิตที่ทำให้เราไปห้างสรรพสินค้าน้อยลงดำเนินไปได้ซักพัก อิคิ ∙ 生き เริ่มได้เรียนรู้ว่า “การที่เราไม่ได้ไปห้างสรรพสินค้าเราก็ไม่ตายนี่นา” และการไปห้างสรรพสินค้าในเฉพาะเวลาที่จำเป็น ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้เวลาคืนมา
นอกจากนั้นเวลาที่เรา “ไม่ต้อง” ใฝ่ฝันถึงสินค้าต่างๆ ที่เราต้องการแต่ยังไม่ได้ครอบครอง มันทำให้ใจเราสุข สงบมากขึ้น
สิ่งนี้ส่งผลให้ อิคิ ∙ 生き ได้ใช้เวลาคุณภาพกับตัวเอง ทำให้เราได้ชื่นชมสิ่งที่มีแทนที่จะจดจ่อกับสิ่งที่เราต้องการ
และช่วงเวลาเหล่านี้เปิดโอกาสให้ อิคิ ∙ 生き ได้มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลยค่ะ
สิ่งของสามารถเติมเต็มจิตวิญญาณของเราได้
ก่อนหน้านี้ อิคิ ∙ 生き มีโอกาสได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ของคุณ Kondo Marie
โดยคุณ Kondo ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งของ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き แทบไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งที่คุณ Kondo พูดอย่างเป็นรูปธรรมเลย
แต่ปัจจุบันนี้สำหรับ อิคิ ∙ 生き มันไม่สำคัญเลยค่ะ ว่าสิ่งนั้นจะราคาเท่าไหร่ แต่ถ้าซื้อแล้วเราได้ใช้ เราจะมีความอิ่มเอมกับสิ่งนั้นอย่างแท้จริงเสมอ
ทุกวันนี้ อิคิ ∙ 生き ภูมิใจกับกระเป๋าใส่หูฟังราคา 60 บาท ที่ได้จากร้านประเภท Daiso ซึ่ง อิคิ ∙ 生き คัดสรรแล้ว คัดสรรอีก ก่อนที่จะอนุญาตให้สิ่งนี้เข้ามาในชีวิต กระเป๋าใบนี้เป็นกระเป๋าที่ขนาดพอดีกับหูฟังที่ อิคิ ∙ 生き ใช้ออกกำลังกาย
อิคิ ∙ 生き ได้ใช้กระเป๋าใบนี้ทุกครั้งที่เดินทาง ซึ่งเรารู้สึกภูมิใจที่ได้กระเป๋าใบนี้มาครอบครอง
สิ่งนี้มีความหมายต่อใจของ อิคิ ∙ 生き มาก เพราะมันคือสัญลักษณ์ที่บอกว่า บัดนี้เราได้เอาชนะสิ่งเร้ามากมาย และภูมิใจกับกระเป๋าราคา 60 บาทได้ มันเป็นอีกหนึ่ง Milestone ในชีวิตของ อิคิ ∙ 生き เลยก็ว่าได้
เพราะนี่คือจุดที่บ่งบอกว่า ในที่สุดเราก็ได้มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมที่เราต้องการมาตลอด
อย่างที่ อิคิ ∙ 生き บอกไว้ก่อนหน้านี้ค่ะ ว่าราคาสิ่งของนั้นไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือ การที่เราได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นหรือว่ามันได้สร้างคุณค่าทางจิตใจให้เราอย่างสมน้ำสมเนื้อหรือไม่
นอกจากระเป๋าราคา 60 บาทที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของ อิคิ ∙ 生き แล้ว MacBook Pro 15” ที่ อิคิ ∙ 生き สั่งตรงจาก Apple และเลือก Spec คอมพิวเตอร์เครื่องนี้อย่างเต็มพิกัด ท้ายที่สุดสนนราคาที่จ่ายไป อิคิ ∙ 生き บอกได้เลยค่ะว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนี้เป็นคอมพิวเตอร์ที่ราคาสูงที่สุดเท่าที่ อิคิ ∙ 生き เคยซื้อมา
แต่แม้ราคาของมันจะสูง แต่เราคิดและตัดสินใจอย่างรอบคอบก่อนซื้อ ดังนั้นคอมพิวเตอร์เครื่องนี้จึงไม่เคยทำให้ อิคิ ∙ 生き รู้สึกผิดหวังหรือเสียใจภายหลังเลยค่ะ
นั่นเป็นเพราะ อิคิ ∙ 生き ไม่เคยต้องหงุดหงิดกับการที่พื้นที่ในคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ เวลาเปิด Program Graphic ตรวจงาน ตัดต่อ ทำภาพด้วยตัวเองแล้วไม่มีอาการเครื่องอืด มันเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทุกอย่างที่ อิคิ ∙ 生き มี ได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญ อิคิ ∙ 生き ใช้มันทุกวัน วันละหลายๆ ชั่วโมงในการทำงานของ D.I.Y. by Keng [ธุรกิจส่วนตัวของ อิคิ ∙ 生き] งานวางแผนการเงิน เขียนบทความ ทำภาพประกอบ ปรับเสียง ทำคลิปสำหรับ Podcast ต่าง ๆ ได้อย่างไหลลื่น
แม้ราคาจะสูงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปหลายเท่าตัว แต่ อิคิ ∙ 生き รู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่ได้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้มาครอบครอง และ อิคิ ∙ 生き ตั้งใจจะใช้ไปอีกนานค่ะ
ในปัจจุบันแม้จะคอมพิวเตอร์ Model นี้จะมีรุ่นที่ใหม่กว่าออกมาแล้ว แต่ใจ อิคิ ∙ 生き ก็ไม่เคยซุกซนที่จะอยากได้ของใหม่ เพราะ MacBook Pro เครื่องนี้ยังใช้ได้ดีอยู่มาก
อิคิ ∙ 生き มีความสุข และรู้สึกมีความผูกพันกับสิ่งนี้อย่างแท้จริง นั่นเป็นเพราะเราได้รับความอิ่มเอมจากสิ่งของที่เราคัดสรรเป็นอย่างดี
อิคิ ∙ 生き บอกได้เลยค่ะว่า สิ่งของเหล่านี้สามารถเติมเต็มจิตวิญญาณของเราได้
ชื่นชมความก้าวหน้าทางการเงินด้วยวิถี FI
เมื่อจิตใจของเราค่อยๆ ผละออกจากความต้องการครอบครองในสิ่งที่เรา “ยังไม่มี” เราก็มีเวลาที่จะหันมาชื่นชมกับ “สิ่งที่เรามี” รวมไปถึงความก้าวหน้าทางด้านการเงินของตัวเราเองด้วย
ตั้งแต่ อิคิ ∙ 生き อ่านหนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE และตัดสินใจว่าจะมีอิสรภาพทางการเงินในวิถีของชาว FI [Financially Independent] สิ่งที่ อิคิ ∙ 生き ทำทุกเดือนคือการทบทวนงบการเงิน แต่งบการเงินที่ อิคิ ∙ 生き ทบทวนจะแตกต่างจากงบการเงินปกติที่ เพราะงบการเงินที่ อิคิ ∙ 生き จัดทำจะเป็นไปในรูปแบบของชาว FI โดยเริ่มจาก….
การตีมูลค่าพลังชีวิตของตัวเราเอง เพื่อให้ได้รู้ว่าชีวิตเรามีค่าแค่ไหนและเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราใช้ ถูกแลกมาด้วยมูลค่าชีวิตของเราเท่าไหร่ สำหรับรายได้ต่อชั่วโมงที่แท้จริงของ อิคิ ∙ 生き คือชั่วโมงละ 600 บาท [หากมีโอกาส อิคิ ∙ 生き จะมาเล่ารายละเอียดการประเมินมูลค่าชีวิตให้ฟังนะคะ]
จากนั้น อิคิ ∙ 生き จะนำรายรับรายจ่าย แต่ละรายการมาแปลงเป็นมูลค่าพลังชีวิตที่เราได้มาหรือเสียไป โดยจะพิจารณาแต่ละรายการที่เราใช้จ่ายดังนี้
- เราใช้พลังชีวิตเหล่านั้นอย่างสมเหตุผลหรือไม่
- พลังชีวิตเหล่านั้นที่เราใช้ไป เราได้รับความอิ่มเอมและพึงพอใจหรือไม่
- การใช้จ่ายเหล่านั้น เราใช้จ่ายได้อย่างสอดรับกับคุณค่าและจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราหรือไม่
ต่อมา อิคิ ∙ 生き จะนำรายรับ รายจ่าย และเงินที่สามารถออมเพิ่มได้ในเดือนนั้น รวมไปถึงการนำรายได้จากการลงทุนซึ่งเป็น Passive Income มา Plot เป็นกราฟ เพื่อพิจารณาว่าช่องว่างระหว่างรายได้จากการลงทุนและรายจ่ายต่อเดือนของเราแคบลงหรือไม่
เมื่อไหร่ก็ตามที่รายได้จากการลงทุนมากกว่ารายจ่ายประจำเดือนของเรา นั่นหมายความว่าเราได้ถึงจุดที่มีอิสรภาพทางการเงินแล้วค่ะ
หรือถ้าให้พูดอีกอย่างก็คือ รายได้จากการลงทุนสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตของเราได้แล้ว ส่งผลให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าเราจะมีรายได้เพียงพอค่าใช้จ่ายหรือไม่ และนี่คือคำว่าอิสรภาพหรือเป้าหมายด้านการเงินของ อิคิ ∙ 生き ค่ะ
การได้ทำสิ่งนี้ในทุก ๆ เดือน ทำให้ อิคิ ∙ 生き รู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่เราได้รู้ที่มาที่ไปของรายได้และรายจ่าย อีกทั้งสิ่งนี้ก็ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้เริ่มเห็นว่าระยะห่างของรายได้จาก Passive Income กับ ค่าใช้จ่ายจำเป็นของเรา มันค่อยๆ แคบลง แคบลง
แม้เราจะมีเงินต้นในการลงทุนอยู่แล้ว แต่ทุกเดือนที่เราใช้จ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็นหรือสิ่งที่สร้างคุณค่า มันส่งผลให้เราใช้เงินน้อยลงและทำให้เราได้ออมมากขึ้น และท้ายที่สุดเงินเหล่านั้นก็จะไปอยู่พอร์ตลงทุนต่างๆ ที่ อิคิ ∙ 生き จัดสรรไว้เป็นอย่างดี
เมื่อเงินต้นพอกพูน รายได้จากเงินต้นก็เพิ่มพูนตามไปด้วย นี่คือผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมที่เราสัมผัสได้ค่ะ
ความสุขจากการเอาชนะใจตนคือความสุขที่ยั่งยืน
การได้เห็นเงินออมของเราเพิ่มพูนทำให้เรารู้สึกภูมิใจมากกว่าการซื้อของที่เราไม่ได้ต้องการอย่างแท้จริง… เป็นไหนๆ
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้สัมผัสความอิ่มเอมจากการเอาชนะใจตัวเอง เราจะรู้สึกเข็ดขยาดที่จะนำตัวเองกลับไปมีความสุขระยะสั้นจากสิ่งเร้าภายนอกหรือจากสิ่งของที่ไม่ได้สร้างสุขให้กับเราอย่างแท้จริง
ความสุขจากการเอาชนะใจตัวเอง คือ ความสุขที่ทำให้ อิคิ ∙ 生き รู้สึกปลอดโปล่ง โล่ง เบาสบาย เป็นความสุขที่ติดแน่นทนนานและเป็นอิสระ
ในขณะที่ความสุขจากความต้องการครอบครองนั้น ร้อนรุ่ม กระสับกระส่าย จิตใจไม่เป็นอิสระ
ปัจจุบัน อิคิ ∙ 生き มีความสุขกับสิ่งนี้มากกว่าการใช้เงินจับจ่ายไปกับสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้สร้างสุขอย่างแท้จริงแล้วค่ะ ?
การงดไปห้างสรรพสินค้าคือ The Last Jigsaw ที่ค้นหามาแสนนาน
จากทั้งหมดที่เขียนมา อิคิ ∙ 生き กำลังจะบอกทุกท่านว่า
เราทุกคนมักต้องการช่วงเวลาในการ Detox จากอะไรซักอย่าง และวิธีการล้างพิษด้านการจับจ่ายที่ดี ก็คือการไม่นำตัวเองไปต่อสู้กับสิ่งเร้าที่เราไม่สามารถเอาชนะได้
สำหรับ อิคิ ∙ 生き นั่นคือการงดไปห้างสรรพสินค้านั่นเอง ซึ่งวิกฤตการณ์ COVID-19 ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ค่ะ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่ อิคิ ∙ 生き พยายามเก็บออม พยายามศึกษาหาความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน การลงทุน รวมไปถึงการลงมือทำและนำพาตนเองมาเป็นนักวางแผนการเงิน
การทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้เปรียบเสมือนการที่ อิคิ ∙ 生き ต่อ Jigsaw ภาพใหญ่ไว้จนกระทั่งมันเกือบเสร็จแล้ว แต่ภาพนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์เสียที นั่นเป็นเพราะ อิคิ ∙ 生き ยังค้นหา Jigsaw ชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งเป็นชิ้นสุดท้ายยังไม่เจอ
เมื่อวิกฤตการณ์ COVID-19 เกิดขึ้น จึงเกิดการห้ามไปห้างสรรพสินค้าภาคบังคับ และสิ่งนี้เองคือ The Last Jigsaw ที่ได้มาเติมเต็มและทำให้วินัยด้านการใช้จ่ายของ อิคิ ∙ 生き สมบูรณ์มากขึ้นค่ะ
หากท่านใดต้องการสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย อิคิ ∙ 生き แนะนำให้ท่าน…
- ตั้งปณิธานที่จะไปห้างสรรพสินค้าเฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น [ ในกรณีนี้หมายรวมถึงการ Shopping Online และการรับข่าวสารที่เกี่ยวกับสินค้าต่างๆ ด้วยนะคะ ]
- ก่อนที่เราจะอนุญาตให้สิ่งใดเข้ามาในชีวิต เราควรคัดสรรเป็นอย่างดี ถามใจตนเองทุกครั้งว่าเราซื้อเพราะอะไร ยิ่งเราละเมียดในการคัดสรรมากเท่าไหร่ เราจะมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับสิ่งของชิ้นนั้นๆ จนไม่มีพื้นที่ให้สิ่งอื่นมาแทนที่ได้
- ลองหาโอกาสให้ตนเองได้ชื่นชมกับความก้าวหน้าด้านการเงินอย่างสม่ำเสมอ พยายามกำหนดช่วงเวลาในการตั้งเป้าหมาย วางแผน ดำเนินการ วัดผลทางด้านการเงินของเราดูนะคะ เพราะสิ่งนี้จะเป็นกระจกสะท้อนอย่างเป็นรูปธรรมว่าวินัยด้านการเงินของเราได้พัฒนาแล้วหรือไม่ ยิ่งถ้าเป้าหมายด้านการเงินของเราก้าวหน้า อิคิ ∙ 生き เชื่อว่าท่านจะได้สัมผัสความสุขจากการเอาชนะใจตน อันเป็นสิ่งที่สร้างความภูมิใจให้เราจนเราลืมความสุขจากการจับจ่ายไปได้เลยทีเดียวค่ะ
สุดท้ายนี้ อิคิ ∙ 生き หวังว่าสิ่งที่เขียนมาทั้งหมดตั้งแต่ตอนที่ 3.1 จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านไม่มากก็น้อย
ซึ่งในตอนต่อไป อิคิ ∙ 生き จะมีเรื่องราวใดมาแบ่งปัน ก็ฝากทุกท่านติดตามกันด้วยนะคะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอให้ทุกท่านได้พบกับ Jigsaw ตัวสุดท้ายเช่นเดียวกับที่ อิคิ ∙ 生き ได้พบ
แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไป สวัสดีค่ะ
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก….
- หนังสือ THE YEAR WITHOUT A PURCHASE เขียนโดย คุณ SCOTT DANNEMILLER
- YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE เขียนโดย Vicki Robin & Joe Dominguez & Monique Tilford