บทสรุปจากสัมมนาเรื่อง Health is Wealth
13/05/2021เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮EP 3.2 : The Last Jigsaw แห่งการสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย
04/06/2021Editor’s Note : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต เขียนโดย คุณมิ้งค์ รชยา ผดุงตันตระกูล ซึ่งเป็นนักวางแผนการเงินของทีม Avenger Planner ภายใต้นามปากกาว่า “อิคิ”
เนื้อหาในบทความด้านล่างนี้ จึงเรียกแทนตัวผู้เขียนว่า “อิคิ” เช่นกันนะครับ
EP.3.1 : The Last Jigsaw แห่งการสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน
ก่อนอื่น อิคิ ∙ 生き ต้องขออภัยที่หายไปนาน และยังไม่ได้เขียนบทความในหัวข้อ “แผนการเงิน คือ สติในการใช้ชีวิต” ตามที่สัญญาไว้ในท้ายบทความ “เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต ตอนที่ 2” แต่เพื่อไม่ให้ทุกท่านรอนานจนเกินไป อิคิ ∙ 生き ขอนำเสนอบทความนี้เป็นการทดแทนและเชื่อว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์เช่นกันเดียวกันค่ะ
โดยปกติเมื่อ อิคิ ∙ 生き อ่านหนังสือจบ อิคิ ∙ 生き จะเขียนบทความเกี่ยวกับสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ท่านอื่นๆ รู้สึกอยากอ่านหนังสือเล่มที่ อิคิ ∙ 生き กล่าวถึง และเมื่อไม่นานมานี้ อิคิ ∙ 生き เพิ่งอ่านหนังสือที่มีชื่อว่า THE YEAR WITHOUT A PURCHASE เขียนโดย คุณ SCOTT DANNEMILLER จบ
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับ สามีภรรยาคู่หนึ่ง นั่นก็คือคุณ SCOTT [ผู้เขียน] และ คุณ GABBY ภรรยา ที่ตั้งปณิธานว่าจะหยุดซื้อและหันมาสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย และบุคคลรอบตัวให้มากขึ้น โดยทั้งสองได้ตั้งกฎไว้ 3 ข้อดังต่อไปนี้
- เราจะชื้อเฉพาะของที่จะใช้หมดภายในเวลา 1 ปี
- เราจะซ่อมของที่พังเสียหาย ยกเว้นค่าใช้จ่ายในการซ่อมจะสูงกว่าการซื้อชิ้นใหม่
- ของขวัญที่เราจะมอบให้กันและมอบให้ผู้อื่นต้องมาในรูปแบบการบริจาค หรือ “ของขวัญที่สามารถสร้างประสบการณ์ได้” เท่านั้น
ตลอดเวลาที่ อิคิ ∙ 生き ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ อิคิ ∙ 生き ได้เห็นการต่อสู้ต่อทางจิตใจในการที่จะ “ไม่ซื้อ” ของคนในครอบครัว DANNEMILLER เป็นอย่างมาก รวมไปถึงการได้เห็นการกำหนดกลยุทธ์หรือยุทธวิธีต่างๆ เพื่อที่จะทำให้คุณ SCOTT และ คุณ GABBY ยังคงสามารถปฏิบัติตามกฎทั้ง 3 ข้อที่ได้ตั้งไว้
การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้รู้ว่ามันใช่ไม่เรื่องง่ายเลยที่เราจะปฏิบัติตามกฎทั้ง 3 ข้อนี้ได้อย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นแล้ว อิคิ ∙ 生き ก็ยังได้สัมผัสถึง การเปลี่ยนแปลงและการเติบโตทางจิตวิญญาณ ของคุณ SCOTT และ คุณ GABBY ที่สำคัญการอ่านหนังสือเล่มนี้ยังทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้กลับมาทบทวนวินัยด้านการใช้จ่ายของตนเองไปพร้อมๆ กันอีกด้วยค่ะ
นับเป็นช่วงเวลา 1 ปีกว่าๆ ตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 เมื่อเดือน มีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き ก็รู้สึกได้ว่าจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายของตัวเองก็ได้เติบโตเช่นเดียวกัน การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้ อิคิ ∙ 生き รู้สึกเหมือนเราได้ปฏิบัติภารกิจ “THE YEAR WITHOUT A PURCHASE” แบบที่ไม่ตั้งใจและไม่ได้วางแผนไว้ ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นที่มาในการเขียนบทความนี้ของ อิคิ ∙ 生き ค่ะ เกริ่นมาซะนาน เรามาเข้าเรื่องกันเลยนะคะ
ท่ามกลางสิ่งของที่รายล้อมตัวมากมาย เราเคยถามตัวเองหรือไม่ ว่าสิ่งของแต่ละชิ้นเราซื้อเพราะอะไร….
สำหรับ อิคิ ∙ 生き เมื่อได้มาพิจารณาสิ่งของเหล่านี้อย่างจริงจัง กลับได้ค้นพบความจริงอันน่าตกใจ นั่นคือ “ท่ามกลางสิ่งของมากมายที่เราเป็นเจ้าของ กลับมีเพียงไม่กี่ชิ้นที่เราสามารถตอบตัวเองได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ของชิ้นนี้เราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่า เราภูมิใจที่ได้มันมาและมันได้สร้างคุณค่าทางจิตใจให้กับเราอย่างแท้จริง”
คำว่าคุณค่าทางจิตใจ อาจหมายถึง
- ของที่เราได้ใช้ทุกวัน ส่งผลให้เราและสิ่งของชิ้นนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
- ของที่แม้จะไม่ได้ใช้บ่อย แต่ทุกครั้งที่ใช้ มันสามารถสร้างความทรงจำที่ดีให้กับเราได้
- ของที่เราซื้อเพื่อแบ่งปัน แม้ไม่ได้ซื้อเพื่อตัวเอง แต่กลับสร้างประสบการณ์ที่ติดตราตรึงใจ สร้างความภูมิใจและความอิ่มเอมให้กับเราทุกครั้งที่นึกถึง
ตั้งแต่เด็ก อิคิ ∙ 生き เป็นคนที่ไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายของตัวได้ แม้จะไม่เคยเป็นหนี้ แต่ก็เรียกได้ว่า เมื่อไรมีมากก็จะใช้มาก สรุปคือเราเห็นเงินเหลือไม่ได้ ถ้ามีก็ต้องใช้
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き ต่อสู้กับกิเลสด้านการใช้จ่ายมาตลอด แต่ก็ไม่เคยเอาชนะเจ้ากิเลสตัวนี้ได้อย่างยั่งยืนเลย กระเป๋าที่ซื้อแล้วซื้ออีกหลายสิบใบ รองเท้าที่ซื้อแล้วซื้ออีกหลายสิบคู่ เสื้อผ้าที่ซื้อแล้วซื้ออีกหลายสิบชุด อิคิ ∙ 生き ใช้มันไม่กี่ครั้งแล้วก็ปล่อยให้ฝุ่นจับอยู่บนชั้นซะอย่างนั้น
เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน อิคิ ∙ 生き เพิ่งพูดติดตลกกับทีมงานว่า ถ้า อิคิ ∙ 生き มีนิมิตรหมายว่าจะใช้ของทุกชิ้นจนกว่าสิ่งเหล่านั้นจะหมดสภาพ ด้วยจำนวนรองเท้าปัจจุบันที่ อิคิ ∙ 生き ครอบครอง อาจทำให้ทั้งชีวิตนี้ อิคิ ∙ 生き ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรองเท้าอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้
ตั้งแต่เล็กจนโต อิคิ ∙ 生き ได้ลองทุกวิถีทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหยอดเงินใส่กระปุก ออมก่อนใช้ ตัดเงินลงทุนทุกเดือน จดรายรับรายจ่ายทุกรายการอย่างละเอียด แต่ทุกกระบวนยุทธ์ที่ได้กล่าวนั้นไม่สามารถทำอะไร อิคิ ∙ 生き ได้เลย จนกระทั่ง อิคิ ∙ 生き ตัดสินใจยกระดับมาตรการในการจัดการตนเรื่องการเงินให้สูงขึ้น เริ่มตั้งแต่การวางแผนการเงิน ตั้งเป้าหมายการเกษียณให้ชัดเจน หรือแม้กระทั่งการนำพาตนเองมาเป็นมืออาชีพด้วยการเป็นนักวางแผนการเงิน
ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ อิคิ ∙ 生き นำพาตัวเองมาเป็นนักวางแผนการเงินก็เพราะ อิคิ ∙ 生き คิดว่าการเป็นมืออาชีพจะเป็นการบังคับตัวเราเองให้มีวินัยสูงสุดด้านการใช้จ่ายไปโดยปริยาย นั่นคือก่อนที่เราจะให้คำปรึกษาผู้อื่นได้ เราจะต้องทำสิ่งที่เรากำลังจะแนะนำผู้อื่นให้ได้ดีเสียก่อน แต่ทุกสิ่งที่ทำข้างต้นแม้จะทำให้ อิคิ ∙ 生き มีวินัยด้านการเงินที่ดีขึ้น ก็ยังไม่สามารถเอาชนะกิเลสด้านการใช้จ่ายได้อย่างสิ้นซากเสียที
อิคิ ∙ 生き จำได้ในสมัยที่เป็นนักวางแผนการเงินฝึกหัด มีอยู่วันนึง อิคิ ∙ 生き ต้องไปเป็นผู้ช่วยนักวางแผนรุ่นพี่ วันนั้นเรานัดกันที่ห้างดังย่านลาดพร้าว อิคิ ∙ 生き ไปถึงก่อนเวลานัดพอสมควร ระหว่างเดินไปที่ร้านกาแฟตามนัดหมาย เราต้องเดินผ่านร้านเสื้อผ้ากีฬายี่ห้อโปรด
เมื่อหางตาของ อิคิ ∙ 生き ไปปะทะกับเสื้อกล้ามออกกำลังกายแบบที่เราชอบใส่ เมื่อนั้นทุกสิ่งก็มลายหายไป รู้ตัวอีกทีก็ออกจากร้านพร้อมเสื้อ 3-4 ตัว จำได้ว่าก่อนเดินไปช่วยงานวางแผนการเงิน อิคิ ∙ 生き เสียเงินไปครึ่งหมื่นกับเสื้อผ้ากีฬาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เท่านั้นยังไม่พอค่ะ เมื่อเสร็จงาน เดินผ่านลานโปรโมชั่นชั้นล่าง ปรากฎว่าเสื้อผ้ากีฬายี่ห้อนี้ก็ได้ไปจัดจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษอีกเช่นกัน แล้วทำไม อิคิ ∙ 生き จะปล่อยโอกาสนี้ให้ผ่านไปหล่ะคะ สรุปวันนั้นเสียเงินไปประมาณหนึ่งหมื่นบาทกับเสื้อผ้ากีฬา ทั้งๆ ที่เราไปทำหน้าที่ผู้ช่วยนักวางแผนการเงินแท้ๆ
ยิ่งใช้จ่าย… กลับยิ่งทำให้รู้สึกผิด
หลายๆ ครั้ง อิคิ ∙ 生き รู้สึกว่า อาการเสพติดการใช้จ่ายของตนเอง ก็คงเหมือนอาการของคนที่ติดยา ถ้าเราไม่ได้มันมาชีวิตเราจะไม่มีความสุข วันทั้งวันคิดถึงแต่ของชิ้นนั้นๆ บางครั้งพยายามสะกดกลั้นเป็นแรมเดือน แรมปี ชีวิตระหว่างนั้นทรมานสุดๆ ไปเลยค่ะ
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ อิคิ ∙ 生き เป็นคนที่ชอบ Gadget ของค่าย Apple มาก เราต้องการครอบครองผลิตภัณฑ์ของค่ายนี้ทุกชิ้น ไม่ว่าชิ้นที่ใช้อยู่จะยังใช้ได้ดีหรือเพิ่งซื้อมาได้ไม่นานก็ตาม ในวันที่ อิคิ ∙ 生き พยายามควบคุมการใช้จ่ายของตนเอง เราก็ปฏิญาณตนว่าจะไม่ซื้อ iPad Pro ปี 2018 ที่เพิ่งออกใหม่ เพราะเครื่องปัจจุบันเราเพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน
อิคิ ∙ 生き อดทนอดกลั้นที่จะไม่ซื้อ iPad เครื่องใหม่ได้เป็นแรมปี แต่ระหว่างนั้นเราก็จะแวะไปชื่นชมและทักทายสินค้าชิ้นนี้ที่ iStudio อย่างสม่ำเสมอ ในที่สุดก็ถึงวันที่ “เบรกแตก” วันนั้นเป็นวันที่ อิคิ ∙ 生き แวะไปชื่นชมและทักทายสินค้าชิ้นนี้ที่ iStudio ตามปกติ แต่ในวันนั้นอะไรก็ห้าม อิคิ ∙ 生き ไม่อยู่เสียแล้ว อิคิ ∙ 生き ออกจากร้านด้วย iPad เครื่องใหม่ที่วางขายมาแล้วนานนับปี อิคิ ∙ 生き ซื้อทุกอย่างที่จะต้องใช้กับ iPad เครื่องนี้แบบ Full Option สรุปวันนั้นหมดเงินไปมากโข
และแล้วความรู้สึกแบบ Déjà vu ก็หวนกลับมาทักทาย อิคิ ∙ 生き เหมือนทุกครั้ง นั่นคือ เมื่อใดก็ตามที่เราซื้อของในจังหวะอันไม่สมควร เราก็ต้องกลับมาเสียใจรู้สึกผิดทุกที สินค้าที่เราซื้อมาแทนที่จะสร้างสุข กลับกลายเป็นตราบาปทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาใช้ เหตุเป็นเพราะตอนซื้อเรามีมากแล้ว ของชิ้นปัจจุบันก็เพิ่งซื้อไม่นานและยังใช้ได้ดีอยู่ เงินที่ซื้อก็คิดเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับรายได้
ที่สำคัญอดทนมานานแสนนาน จน iPad รุ่นนี้ถูกวางขายมาแล้วเป็นแรมปี พอซื้อปุ๊บ ไม่กี่สัปดาห์ พี่ Apple ก็ออกรุ่นใหม่มาซะอย่างนั้น แล้วยังไงต่อ อิคิ ∙ 生き ก็ต้องไปซื้อรุ่นใหม่ที่เพิ่งออก ซึ่งชีวิต อิคิ ∙ 生き มักจะเป็นแบบนี้เสมอมา
ความก้าวหน้า… ที่เกิดจากความบังเอิญ
สถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้เริ่มต้นภารกิจ “THE YEAR WITHOUT A PURCHASE” แบบที่ไม่ตั้งใจและไม่ได้วางแผนไว้
อิคิ ∙ 生き เริ่มรู้สึกมีความสุขจากการ “ไม่ได้” ใช้จ่ายของตนเอง
รู้สึกว่าเรามีวินัยด้านนี้ อย่างไม่เคยคิดว่าเราจะทำได้อย่างมีความสุข และไม่ต้องฝืนตัวเองมาก่อน
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะมีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างประจวบเหมาะในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา และปัจจัยเหล่านั้นก็คือ….
1. ความต้องการเอาชนะความรู้สึกผิดในความไม่มีวินัยด้านการใช้จ่ายของตัวเอง เพราะ อิคิ ∙ 生き พยายามต่อสู้กับสิ่งนี้มาตลอดชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต แต่ก็ไม่เคยเอาชนะตัวเองอย่างยั่งยืนได้เสียที
ดังนั้น เราจึงไม่เคยที่จะหยุดพัฒนาตนเองในด้านนี้ ในเมื่อเรายังทำไม่ได้ เราก็จะพยายามยกระดับกลยุทธ์ให้สูงขึ้นและสูงขึ้นเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่เก็บออม ศึกษาเรื่องการลงทุนและวางแผนการเงิน และรวมไปถึงการอ่านหนังสือการจัดการด้านการเงินอย่างสม่ำเสมอ
2. การที่ไม่เคยหยุดที่จะพยายามศึกษาหากลวิธีสร้างวินัยทางด้านการใช้จ่ายให้กับตนเอง ทำให้ อิคิ ∙ 生き ได้อ่านหนังสือที่ชื่อว่า YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยหนังสือเล่มนี้ได้สร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายให้กับ อิคิ ∙ 生き อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
3. COVID-19 ถือเป็น The Last Jigsaw ที่ได้มาเติมเต็มวินัยด้านการใช้จ่ายของ อิคิ ∙ 生き ให้สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่ง อิคิ ∙ 生き จะได้ขยายความให้ทุกท่านได้ทราบในบทความตอนต่อๆ ไปนะคะ
โดยตอนหน้า อิคิ ∙ 生き จะมาเล่ารายละเอียดว่า หนังสือ YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE ได้สร้างจิตสำนึกด้านการใช้จ่ายให้ อิคิ ∙ 生き อย่างไร และ ทำไม COVID-19 จึงเป็น The Last Jigsaw ที่ได้มาเติมเต็มวินัยเรื่องการใช้จ่ายของ อิคิ ∙ 生き ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ฝากทุกท่านติดตามในตอนที่ 3.2 และ 3.3 ของบทความชุด The Last Jigsaw ไปด้วยกันนะคะ สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป
สวัสดีค่ะ
บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก….
- หนังสือ THE YEAR WITHOUT A PURCHASE เขียนโดย คุณ SCOTT DANNEMILLER
- YOUR MONEY [ or ] YOUR LIFE เขียนโดย Vicki Robin & Joe Dominguez & Monique Tilford