จำเป็นไหม… ที่ต้องใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน
26/03/2021เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮EP 3.1 : The Last Jigsaw แห่งการสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย
17/05/2021Editor’s Note : บทความนี้มีเนื้อหาหลักซึ่งสรุปมาจากสัมมนาที่มีชื่อว่า “Health is Wealth” ซึ่งดำเนินรายการโดยเพจ อายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว โดยมีแขกรับเชิญคือ แอดมินเพจ Dr.Money และ ผู้สรุปบทความนี้ คือ ทพ. ณัฐนันท์ เอื้อวัฒนะสกุล AFPTᵀᴹ ในฐานะแอดมินเพจ Smart Money More Fun
สามารถรับชมบันทึกการสัมมนาแบบเต็มได้ ที่นี่ ครับ
วันนี้ผมจะมาชวนทุกท่าน ดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นครับ
บางท่านอาจจะสงสัยว่านี่คือบทความของ Avenger Planner ซึ่งให้บริการวางแผนการเงินใช่ไหม ? ทำไมจึงมาชวนคุยเรื่องสุขภาพ ?
ขอเรียนให้ทราบว่า นี่เป็นบทความที่เกี่ยวกับการเงินแน่นอนครับ เพราะแท้จริงแล้ว…
สุขภาพเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบและมีความเกี่ยวข้องต่อการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วันนี้ผมจึงจะขอเล่าถึงความสำคัญ และความเกี่ยวข้องของการดูแลสุขภาพ ที่จะช่วยส่งเสริมการเงินของทุกท่านให้มั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้นครับ
สุขภาพเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องการเงิน
1. จากรายงาน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรไทยระหว่างปี 2536-2561 ซึ่งเป็นข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าอัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อได้ว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากขึ้นเนื่องด้วยการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นย่อมเป็นภาระต่อความมั่งคั่งที่สะสมมา เพราะจะต้องเสียไปให้กับการดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งอาจจำเป็นต้องไปเบียดบังเงินออมเพื่อเป้าหมายอื่นๆ ในชีวิตมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อน
2. ประเทศไทย มีประชากรกว่า 14 ล้านคนที่เป็นโรคในกลุ่ม NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคอ้วนลงพุง โรคตับแข็ง และโรคสมองเสื่อม โดยมีการเสียชีวิตมากกว่า 300,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 25,000 ล้านบาทต่อปี
สังเกตุได้ว่าโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่จะลดความเสี่ยงได้ ด้วยการดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่ดี การพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้วยการไม่สัมผัสสารเคมีอันตราย ไม่เสพสิ่งเสพติดให้โทษหรือของมึนเมา
3. นอกจากค่าใช้จ่ายที่อาจจะต้องเสียไปกับค่ารักษาพยาบาลและยาโดยตรงแล้ว ในบางครั้งยังมีค่าเสียโอกาสอื่นๆ แฝงตามมาด้วย เช่น
- การขาดรายได้จากการหยุดทำงานของตัวเองและคนรอบข้างที่มาดูแล
- การที่สุขภาพใจได้รับผลกระทบจากอาการไม่พึงประสงค์จากความเจ็บป่วย ส่งผลให้การดำเนินชีวิต และการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไม่ราบรื่นเท่าที่ควรจะเป็น
- ผลกระทบถาวรจากความเจ็บป่วยที่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบชีวิตเราไปตลอด เช่น ต้องเปลี่ยนงานที่เคยทำ ต้องปรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การที่มีสุขภาพที่ดีนั้น จะช่วยส่งเสริมให้การเงินมั่นคงตามไปด้วย เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายอันเกิดจากความเจ็บป่วย จะยังทำให้กายและใจพร้อมสามารถออกไปทำงานสร้างรายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเงินในทางบวกครับ
วิธีการดูแลสุขภาพที่ช่วยให้การเงินมั่นคง
1) การส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ และการหลีกเลี่ยงสารเคมีอันตราย ไม่เสพสิ่งเสพติดให้โทษหรือของมึนเมา
ซึ่งหลักในการดูแลสุขภาพเหล่านี้ มีหลักการคล้ายกับหลักการออม/การลงทุน ที่นักวางแผนการเงินแนะนำให้กับผู้รับคำปรึกษาหลายประการครับ ยกตัวอย่างเช่น
- เป็นการค่อย ๆ สะสมเพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า
- หากเริ่มต้นได้เร็วตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะเป็นประโยชน์มาก
- ยิ่งมีวินัย ยิ่งสะสมอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ
หากสามารถจัดสรรเวลาและทรัพยากรที่มี เพื่อสร้างพฤติกรรมเหล่านี้ได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้เป็นอย่างมากครับ
2) การตรวจคัดกรองโรคตามความเหมาะสมทางการแพทย์
ซึ่งการตรวจสุขภาพนั้น เป็นการประเมินเพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายครับ
การตรวจเจอความผิดปกติได้เร็ว จะทำให้สามารถปรับแก้ไขสุขภาพที่เสียไปแบบไม่ยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายน้อยครับ
เช่นการตรวจฟันกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือนอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ตรวจพบฟันผุในช่องปากได้อย่างรวดเร็ว และรักษาง่ายด้วยการอุดฟัน ซึ่งใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง ค่าใช้จ่ายหลักร้อยถึงหลักพันบาทเท่านั้น แต่หากไม่ได้พบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันเลย รอให้ฟันลุกลามทะลุโพรงประสาทฟันจนมีอาการปวด จะต้องทำการรักษารากฟัน ซึ่งต้องมาทำการรักษา 2-5 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายหลายพันถึงหลักหมื่นบาท หรืออาจจะต้องถอนฟันซี่นั้นออกไปจากช่องปากอย่างถาวรครับ
โดยการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคแต่ละประเภทนั้น จะมีความถี่ในการตรวจแตกต่างกันไป ซึ่งจะมีเกณฑ์ที่เหมาะสมตามความจำเป็นทางการแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
- ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี
- ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี
ซึ่งการตรวจนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่มากครับ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกรณีที่โรคลุกลามจนแสดงอาการออกมาเอง ซึ่งนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายที่แพงมากขึ้นกว่าการรักษาในระยะต้นๆ แล้ว อาจจะต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัวจนขาดรายได้อีกด้วยครับ
วิธีจัดการเงินเพื่อใช้สำหรับดูแลสุขภาพ
1) การจัดการค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย
เพราะสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ การแบ่งค่าใช้จ่าย มาดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นตามไปด้วย ซึ่งหลักการจัดสรรเงินมาดูแลสุขภาพนั้น อาจจะมากน้อยแตกต่างกันตามความจำเป็น และกำลังทรัพย์ของแต่ละคน
- ในคนที่มีรายได้มาก อาจจะแบ่งเงินมาเพื่อดูแลสุขภาพได้มาก เช่น การจ้างเทรนเนอร์มาดูแลการออกกำลังกายในฟิตเนส การซื้ออาหารเสริมหรืออาหารที่ดีต่อสุขภาพซึ่งอาจจะมีราคาแพง
- ส่วนคนที่มีเงินจำกัด อาจจะเลือกทางที่เหมาะสมกับตัวเอง และไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก เช่น การออกกำลังกายด้วยการวิ่ง หรือการเลือกทานอาหารที่หลากหลาย ซึ่งมีประโยชน์และราคาไม่แพงได้เช่นกันครับ
2) การบริหารความเสี่ยงเมื่อเจ็บป่วย
ต่อให้ดูแลสุขภาพดีสักแค่ไหน ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่เจ็บป่วยครับ และความเสียหายทางการเงินจากความเจ็บป่วยก็ไม่อาจจะคาดเดาล่วงหน้าได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันความเสี่ยงจากจากเจ็บป่วยจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป โดยแนวทางในการจัดการจะมีดังนี้ครับ
2.1) รู้จักสิทธิการรักษาพื้นฐานของตนเอง : ประชาชนชาวไทยทุกคน จะมีสิทธิพื้นฐานในการรักษาพยาบาลรองรับไม่สิทธิใดก็สิทธิหนึ่งดังนี้ครับ
- สิทธิประกันสังคม สำหรับลูกจ้างและบุคคลที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ซึ่งนอกจากค่ารักษาพยาบาล แล้วยังมีความคุ้มครองอื่นๆ
- สิทธิเบิกจ่ายราชการ สำหรับข้าราชการและครอบครัว เช่น บุพพการี คู่สมรส และบุตร
- สิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท สำหรับคนที่ไม่มีสองสิทธิข้างต้น
ซึ่งทั้งสามสิทธิจะครอบคลุมถึงความจำเป็นพื้นฐานทางการแพทย์ เช่น การรักษาพยาบาล การตรวจคัดกรองโรค ทำให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ แม้อาจจะไม่สะดวกสบาย หรือดีที่สุด แต่มีมาตราฐานเพียงพอครับ
2.2) จัดการความเสี่ยงกรณีที่สิทธิพื้นฐานไม่ครอบคลุม หรือหากต้องการบริการที่ดีกว่า : แม้สิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานของคนไทย จะให้บริการที่มีมาตราฐาน แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่บริการที่สะดวกสบายนัก และอาจจะไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทุกด้าน หากต้องการบริการที่ดีขึ้น หรือปิดความเสี่ยงทั้งหมด อาจจะต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ
- ความเสี่ยงที่ไม่ครอบคลุมด้วยสิทธิการรักษาพื้นฐานที่มี เช่น รายได้ที่ขาดหายไปเมื่อเข้าพักในโรงพยาบาล อุปกรณ์เสริมพิเศษราคาแพงที่เบิกไม่ได้ อาจจัดการด้วยการรับความเสี่ยงไว้เอง (Self-Insurance) ด้วยการเตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือการโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) ไปให้บริษัทประกันรับไว้แทน ด้วยการทำประกันชดเชยรายได้จากการรักษาพยาบาล หรือประกันโรคร้ายแรงเป็นต้น
- หากมีความต้องการรับบริการที่สะดวกสบาย หรือต้องการรักษาด้วยเทคนิคใหม่ที่ดีกว่าและมีราคาแพง ในบุคคลที่มีเงินมากเพียงพออาจจะรับความเสี่ยงไว้เองด้วยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองได้ แต่สำหรับคนที่มีทรัพยากรจำกัด จะมีจำเป็นจะต้องโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันรับไว้แทน ด้วยการทำประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุที่มีค่ารักษาพยาบาล เพื่อเป็นการเปลี่ยนรายจ่ายไม่แน่นอนที่อาจจะมาก และคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มาเป็นค่าใช้จ่ายที่แน่นอน รู้ล่วงหน้า และเตรียมแผนรับมือได้ อย่างเบี้ยประกันภัยแทนครับ
บทสรุป
ชีวิตคนเรานั้นมีหลายมิตินอกเหนือจากเรื่องการเงิน ซึ่งเรื่องสุขภาพก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ ครับ
- การส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
- การตรวจคัดกรองโรคตามความเหมาะสมทางการแพทย์
- การบริหารความเสี่ยงทั้งก่อนเจ็บป่วยและเมื่อเจ็บป่วย
ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม เพราะ “สุขภาพ” กับ “การเงิน” เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอย่างมาก
หากสุขภาพไม่ดีแล้ว แผนการเงินในฝันที่วางไว้ก็ยากที่จะสำเร็จได้อย่างราบรื่น ดังคำกล่าวที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา” หรือ “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
ผมขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดีในทุกๆ มิตินะครับ