เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮EP.2 : ว่าด้วยเรื่องเส้นโค้งความอิ่มเอม
02/02/2021บทสรุปจากสัมมนาเรื่อง Health is Wealth
13/05/2021จากสถานการณ์ ณ ปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง และมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จากปัจจัยต่างๆ อาทิ
- ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน คาดเดาได้ยาก หลายอาชีพรายได้เปลี่ยนไป ไม่มั่นคง
- ผู้คนอายุยืนยาวขึ้น สังคมโลกกำลังมุ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีอัตราการพึ่งพิงผู้อื่นสูงขึ้นเรื่อยๆ
- อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้จำเป็นต้องมีการลงทุน
- สินทรัพย์ลงทุนดั้งเดิมที่เคยให้ผลตอบแทนได้ดี มีราคาแพงขึ้นมาก ทำให้คาดหวังผลตอบแทนในอนาคตได้น้อยลง ส่วนสินทรัพย์ลงทุนใหม่ๆ นั้น ก็ยากต่อการทำความเข้าใจ
ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ “การวางแผนการเงิน” นั้น ได้ถูกให้ความสำคัญจากผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ส่วนใหญ่ น่าจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินอยู่แล้ว แต่บางท่านอาจจะกำลังตัดสินใจว่า ควรใช้บริการนักวางแผนการเงิน หรือ จะทำการวางแผนการเงินด้วยตนเองดี
ผมจึงขอใช้บทความนี้เล่าให้เห็น ความแตกต่างระหว่างการใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน กับ การวางแผนการเงินด้วยตัวเอง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ
หากสามารถวางแผนเองได้ การวางแผนเองน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
การวางแผนการเงินนั้น คือการวางแผนชีวิตของตนเองทั้งในเชิงลึกและกว้าง จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองเป็นจำนวนมาก ทั้งข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้ว และข้อมูลเกี่ยวกับความคาดหวังต่างๆ ในอนาคต
ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนั้น ย่อมไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับตัวของเราเองแน่นอนครับ เพราะ “ไม่มีใครรู้จักตัวเรา ดีเท่าตัวของเราเอง”
และบางครั้งการจะสื่อสารสิ่งที่ตัวเราคิดให้กับผู้อื่นเข้าใจนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยาก หรือมีความเป็นส่วนตัวเกินไป จนเราไม่อยากให้ใครมาร่วมรับรู้ด้วย
อย่างไรก็ตามในการวางแผนการเงินนั้น เพียงแค่รู้จักและเข้าใจตนเองอาจจะไม่เพียงพอ เพราะจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางการเงิน และมีข้อมูลเกี่ยวกับตลาดการเงิน/การลงทุน ในระดับที่ดีด้วย เนื่องจากเราต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ ในการดำเนินการตามแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ซึ่งในประเด็นหลังนี้เองครับ ที่เป็นข้อจำกัดของหลายๆ ท่าน เนื่องจากความรู้ทางการเงินนั้น แม้เป็นคำสั้นๆ แต่ก็มีความลึกซึ้ง และกว้างขวางมากจนสามารถนำมาจัดการเรียนการสอนเป็นสาขาวิชาชีพหนึ่งได้เลยทีเดียว
และต่อให้มีหลักการที่ถูกต้องแล้ว การจะติดตามและประมวลผลข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อนำมาปรับแผนให้เหมาะสมกับเงื่อนไขของแต่ละคนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเช่นกัน
นั่นจึงเป็นที่มาของการมองหาอีกทางเลือกหนึ่งในการวางแผนการเงิน ซึ่งก็คือการใช้บริการจากนักวางแผนการเงินนั่นเอง
ประโยชน์ของการใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน
นักวางแผนการเงิน หรือ Financial Planner นั้น เป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต้องศึกษาความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลมา “ในระดับที่สามารถให้คำแนะนำกับผู้อื่นได้“ ซึ่งจำเป็นต้องผ่านกระบวนการเบื้องหลังมากมายครับ
ตั้งแต่การศึกษาหาความรู้ การสอบใบอนุญาตตามกฎหมาย การฝึกฝนภาคปฏิบัติ การสะสมประสบการณ์ในการให้คำแนะนำกับลูกค้าที่หลากหลาย การติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งภาวะตลาด กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในความเห็นผมนั้น การใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน จะช่วยท่านผู้อ่านได้ 5 ข้อหลักๆ ดังนี้ครับ
1. ช่วยให้วางแผนได้อย่างครอบคลุม
เพื่อให้เห็นภาพของคำว่า “ครอบคลุม” ได้ดีขึ้น
ผมขอยกตัวอย่างแนวคิดการวางแผนการเงินแบบองค์รวมของ Avenger Planner มาให้ท่านผู้อ่านได้เห็นเป็นตัวอย่างนะครับ
แนวทางการวางแผนการเงินของ Avenger Planner นั้นจะเริ่มจากปลายทางคือ “เป้าหมาย” ที่ลูกค้าแต่ละท่านต้องการจะบรรลุ
ซึ่งเป้าหมายนั้นสามารถมีได้หลากหลายเป้าหมายครับ โดยจะมีทั้งส่วนที่ลูกค้าเป็นผู้ระบุมาว่าต้องการบรรลุเป้าหมายใด และมีทั้งส่วนที่นักวางแผนการเงินช่วยเสนอแนะให้เพิ่มเติม ซึ่งมักจะเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญ และ/หรือ มีมูลค่าสูง แต่ลูกค้าอาจจะมองข้ามไป
เช่น ลูกค้าท่านหนึ่งมีรถยนต์ที่ใช้มานานหลายปี และยังคงใช้งานได้ดีอยู่ ทำให้ลืมคิดไปว่าวันหนึ่งรถคันดังกล่าวก็จะต้องเก่าลงไป และคงจะหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนรถคันใหม่ไม่ได้เป็นต้น
ซึ่งนักวางแผนการเงินก็จะช่วยเสนอแนะเป้าหมายนี้เพิ่มเติมให้ เพื่อให้แผนมีความครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น ในจุดที่ลูกค้าอาจจะมองข้ามไปครับ
2. ช่วยให้วางแผนได้ถูกต้องตามลำดับขั้นตอน
Avenger Planner เชื่อว่า ในการวางแผนการเงินนั้น “ทิศทางสำคัญกว่าความเร็ว”
โดยขั้นตอนในการวางแผนการเงินที่ดีนั้น ควรเรียงลำดับจาก
- สร้าง ซึ่งหมายถึงการสร้างฐานะให้มั่นคงแข็งแรง แล้วจึงต่อด้วย
- รักษา ซึ่งหมายถึงการรักษาความมั่งคั่งที่มีไว้ จากความเสี่ยงทั้งปวงที่จะเข้ามาทำให้เสียหาย และจึงปิดท้ายด้วย
- ต่อยอด ซึ่งหมายถึงการต่อยอดฐานะที่มีฐานที่แข็งแรงมั่นคงแล้ว ให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปตามเงื่อนไขและข้อจำกัดของลูกค้าแต่ละท่าน
ยกตัวอย่างเช่น
- หากยังบริหารเงินสดและสภาพคล่องในแต่ละเดือนได้ไม่ดี รายจ่ายมากกว่ารายรับ การข้ามไปลงทุนต่อยอดเลย อาจจะเกิดปัญหาได้ หากการลงทุนนั้นไม่เป็นดังที่คาดหวัง
- การวางแผนภาษีที่อาจจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระยะยาว มีสภาพคล่องต่ำ โดยเงินจะถูกล็อคไว้เป็นเวลาหลายปี ก็อาจเป็นเรื่องที่ต้องเลื่อนออกไปก่อน หากมีเป้าหมายระยะสั้นที่มีความสำคัญมากกว่า
ซึ่งนักวางแผนการเงินจะช่วยลูกค้า ในการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเป้าหมาย เพื่อให้วางแผนได้อย่างเหมาะสม รอบคอบ ระมัดระวังครับ
3. ช่วยให้วางแผนในด้านต่างๆ ได้อย่างเพียงพอ
ในการตั้งเป้าหมายทางการเงินนั้น ลูกค้าบางท่านอาจจะไม่มีข้อมูล หรือยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ จึงอาจจะประเมินเป้าหมายบางอย่างต่ำเกินไป หรือมากเกินกว่าความจำเป็น
การทำงานร่วมกับนักวางแผนการเงินนั้น นักวางแผนการเงินจะสามารถช่วยแนะนำให้การตั้งเป้าหมายต่างๆ มีความเหมาะสมเพียงพอมากยิ่งขึ้น เช่น
ในการการวางแผนเกษียณนั้น บ่อยครั้งที่รายจ่ายก้อนใหญ่ซึ่งมีความสำคัญอาจจะถูกมองข้ามไป อาทิ
- เงินที่ต้องเตรียมไว้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ซึ่งต้องใช้อยู่อาศัยในช่วงหลังเกษียณเป็นระยะเวลานาน
- ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะต่างๆ เช่น หากปกติขับรถยนต์ ก็อาจจะต้องเผื่อค่าซ่อมแซมหรือ ค่าซื้อรถคันใหม่ในช่วงหลังเกษียณไว้ด้วย
- เบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณอายุ ซึ่งมักจะถูกปรับขึ้นไปในอัตราที่สูงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วอาจคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท
การตกหล่นค่าใช้จ่ายรายการเหล่านี้ จะทำให้ประเมินทุนเกษียณไว้น้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้เงินทุนที่เก็บเตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ
นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายบางอย่างในอนาคต อาจจะปรับขึ้นด้วยอัตราเงินเฟ้อ ที่แตกต่างไปจากอัตราเงินเฟ้อค่าเฉลี่ยๆ ทั่วไป เช่น อัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล และอัตราเงินเฟ้อค่าใช้จ่ายการศึกษา ซึ่งมีการปรับขึ้นในอัตราที่เร็วกว่า
นักวางแผนการเงินก็จะสามารถช่วยประเมินสมมติฐานเหล่านี้ให้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้นครับ
4. ช่วยวิเคราะห์และแนะนำวิธีการที่เหมาะสมในการบรรลุเป้าหมาย
ในการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินนั้น อาจสามารถทำได้หลากหลายวิธีการ และในกรณีที่ต้องมีการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ นั้น ก็อาจจะมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน
การใช้บริการจากนักวางแผนการเงินนั้น นักวางแผนการเงินจะช่วยพิจารณาความเหมาะสม และข้อจำกัดของลูกค้าแต่ละท่านร่วมด้วย ว่าวิธีการ และ/หรือ ผลิตภัณฑ์ใด ที่น่าจะมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับลูกค้าท่านนั้นๆ ซึ่งจะมีการประเมินจากหลายปัจจัย อาทิ
- จากประสบการณ์ในการลงทุน เช่น แม้ลูกค้าบางท่านอาจจะสามารถรับความเสี่ยงได้สูง เนื่องจากมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนาน แต่หากนักวางแผนการเงินประเมินว่าลูกค้ายังไม่เคยลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก่อน ก็อาจแนะนำให้เริ่มต้นลงทุนด้วยปริมาณเงินที่ยังไม่มาก เพื่อให้ค่อยๆ มีความเข้าใจในสินทรัพย์นั้นๆ ไปสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะประเมินร่วมกันต่อไป ว่าควรจะโยกย้ายเงินลงทุนส่วนใหญ่มาลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่
- จากฐานภาษี เช่น ลูกค้าบางท่านมีฐานภาษีที่สูง นักวางแผนการเงิน อาจให้ความสำคัญกับการเลือกเครื่องมือที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มที่ก่อน แม้เครื่องมือดังกล่าว อาจจะมีตัวเลือกน้อยกว่าเครื่องมือทั่วไปที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากผลประโยชน์ทางภาษีนั้น เป็นสิ่งที่จะได้รับแน่นอนหากทำได้ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร ขณะที่ผลกำไรจากผลิตภัณฑ์นั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนว่าจะได้รับมากน้อยเพียงใด
- จากรูปแบบรายได้ของลูกค้า เช่น ลูกค้าบางท่านไม่ได้มีรายได้ประจำ ที่จะสามารถวางแผนเก็บออมหรือลงทุนได้เป็นรายเดือนอย่างสม่ำเสมอ นักวางแผนการเงินก็อาจจะไม่ได้แนะนำให้ต้องมีการหักเงินเพื่อออมทุกเดือน แต่อาจจะช่วยตั้งเป็นเป้าหมายการออมรายปีให้กับลูกค้าแทน ว่าทั้งปีควรจะออมได้เท่าไรจึงจะสามารถบรรลุเป้าได้ เป็นต้น
นอกจากปัจจัยข้างต้น ก็ยังมีอีกหลายปัจจัย ที่นักวางแผนการเงินจะช่วยประเมิน และช่วยเลือกวิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าสามารถเพิ่มโอกาสในบรรลุเป้าหมายได้มากที่สุด
โดยการวิเคราะห์เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมนี้ จะเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่อง มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่เสมอ ตามรอบในการนัดหมายเพื่อ Review แผนการเงิน
ไม่ใช่คำแนะนำที่ให้เพียงครั้งเดียวแล้วใช้ไปตลอดครับ
5. ช่วยอำนวยความสะดวกและลดความยุ่งยากในด้านต่างๆ
นอกจากการเก็บข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำแผนแล้ว นักวางแผนการเงินสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ ได้อีกหลายด้าน เช่น
- การแนะนำและเสนอขายผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ต้องใช้ในการดำเนินการตามแผนการเงิน ให้กับลูกค้าได้เลย โดยลูกค้าไม่ต้องติดต่อไปยังสถาบันการเงินต่างๆ ด้วยตนเอง
- การช่วยจัดเตรียมเอกสารในการเปิดบัญชี และในการทำธุรกรรมต่างๆ ให้อย่างถูกต้องครบถ้วน
- การช่วยสรุปเงื่อนไขและกฎระเบียบในการทำธุรกรรมบางอย่าง ที่มีความซับซ้อน และยากต่อการทำความเข้าใจด้วยตนเอง เช่น การทำธุรกรรมโอนย้ายกองทุน RMF/SSF ข้าม บลจ. เป็นต้น
- การเป็นตัวกลางช่วยประสานงาน ระหว่างลูกค้าและสถาบันการเงิน เพื่อสอบถามและดำเนินการในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับแผนการเงิน
นอกจากนั้นนักวางแผนการเงิน ยังสามารถช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บางอย่าง หรือหากลูกค้าต้องการความเห็นที่สอง (2nd Opinion) เกี่ยวกับการตัดสินใจทางการเงินที่มีความสำคัญใดๆ ก็สามารถสอบถามกับนักวางแผนการเงินที่ดูแลอยู่ได้
และในกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญเร่งด่วน ที่จำเป็นต้องให้ลูกค้ารับทราบหรือตัดสินใจ นักวางแผนการเงินก็จะทำหน้าที่แจ้งเตือนเรื่องสำคัญนั้น ให้ลูกค้าได้รับทราบด้วยครับ
ข้อจำกัด/ข้อควรทราบก่อนใช้บริการนักวางแผนการเงิน
จะเห็นว่า การใช้บริการจากนักวางแผนการเงินนั้น มีประโยชน์หลายข้อดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนะครับ แต่ประโยชน์ดังกล่าวก็มีการแลกเปลี่ยนมาด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดบางประการเช่นกัน
ผมขออนุญาตชี้ให้เห็นข้อจำกัด และข้อควรทราบหลักๆ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการนักวางแผนการเงินดังนี้ครับ
1) การเปิดเผยข้อมูล
การรับบริการวางแผนการเงินนั้น นักวางแผนการเงินจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง และต้องการข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้แผนการเงินนั้น เป็นแผนที่เหมาะสมที่สุด
ดังนั้น หากท่านใดไม่สะดวกในการให้ข้อมูล หรือไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วนเพียงพอสำหรับการจัดทำแผนการเงิน ก็อาจพิจารณาทางเลือกในการวางแผนการเงินด้วยตนเอง จะมีความเหมาะสมกว่าครับ
2) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
นักวางแผนการเงินอิสระส่วนใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งทีม Avenger Planner เองนั้น มีรายได้หลัก มาจากการเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับลูกค้า
ดังนั้นจึงมีโอกาสที่นักวางแผนการเงิน จะเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ตนได้รับผลประโยชน์มาก แทนที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าที่สุด
อีกทั้งข้อจำกัดในโครงสร้างอุตสาหกรรมบางประการ ก็อาจทำให้นักวางแผนการเงิน สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ได้เพียงบางผลิตภัณฑ์ที่ตนเป็นตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น
ดังนั้นลูกค้าจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ด้วยการสอบถามและเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ ให้เพียงพอ เพื่อจะมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการเสนอมานั้น มีความเหมาะสมกับตนเองด้วยเช่นกันครับ
3) ความรับผิดชอบที่ต้องมีร่วมกันในการจัดทำและดำเนินการตามแผนการเงิน
ในการรับบริการจากนักวางแผนการเงินนั้น การจะจัดทำแผนการเงินได้สำเร็จจนสามารถนำไปปฏิบัติได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือกับลูกค้าในการ “ทำงานร่วมกัน” กับนักวางแผนการเงินครับ
การทำงานร่วมกันดังกล่าวมีทั้งในส่วนของการให้ข้อมูลที่เพียงพอกับนักวางแผนการเงิน การบอกเล่าความต้องการที่แท้จริง การสอบถามเมื่อมีข้อสงสัย การโต้แย้งในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย และการร่วมปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้น อาจทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกเท่ากับการวางแผนด้วยตนเอง ที่สามารถคิดและปรับเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องคอยหารือกับนักวางแผนการเงิน เป็นต้นครับ
บทสรุป
ผมหวังว่าข้อมูลที่ได้ให้กับท่านผู้อ่านข้างต้น จะช่วยให้ทุกท่านได้รับข้อมูลที่เพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจนะครับ ว่าควรที่จะใช้บริการวางแผนการเงินจากนักวางแผนการเงิน หรือ ควรที่จะวางแผนการเงินด้วยตนเอง
แต่ไม่ว่าท่านจะเลือกหนทางใด ผมก็หวังว่าท่านจะได้เริ่มต้นวางแผนการเงินนะครับ เพราะนี่เป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้
ซึ่งหากท่านผู้อ่านตัดสินใจใช้บริการจากนักวางแผนการเงิน พวกเราทีมนักวางแผนการเงินจาก Avenger Planner ก็ยินดีอาสาที่จะเป็นเพื่อนคู่คิด ช่วยวางแผนและให้คำแนะนำทางการเงินให้กับทุกท่านด้วยความยินดียิ่งครับ