เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮EP.1 : เงิน [แลกมาด้วย] พลังชีวิต
01/01/2021เงิน คือ [ส่วนหนึ่งของ] ชีวิต⎮EP.2 : ว่าด้วยเรื่องเส้นโค้งความอิ่มเอม
02/02/2021การเป็นคนที่มีฐานะ หรือเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งนั้น เป็นความฝันของหลาย ๆ คนครับ เพราะเงินนั้นสามารถช่วยอะไรเราได้หลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
- ความมั่นคงพื้นฐานของชีวิต เงินสามารถใช้ตอบสนองปัจจัยสี่ และสร้างความปลอดภัยได้
- ความสุข เงินสามารถเพิ่มความสุข จากการเป็นเจ้าของ สร้างประสบการณ์ที่ดี และบันดาลความพึงพอใจได้
- อำนาจและการยอมรับ ซึ่งจะเห็นได้จากคนที่ร่ำรวย ซึ่งได้รับการยอมรับจากคนบางกลุ่ม เพียงเพราะมีฐานะที่ดีล้วนๆ โดยยังไม่ได้มองให้ลึกถึงพฤติกรรมด้านอื่นๆ
บางท่านอาจแย้งว่า แม้จะไม่ได้มั่งคั่งร่ำรวย ก็สามารถหา ความมั่นคง ความสุข และการยอมรับได้
แต่คงเป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธนะครับ ว่าการมีเงินด้วยนั้น ทำให้เรามีสามสิ่งดังกล่าวได้ง่ายขึ้น
ต้องมีเท่าไรจึงจะเพียงพอ ?
หากจะถามจำนวนเงินที่แต่ละท่านคิดว่ามีแล้วเรียกว่า “มั่งคั่ง” นั้น แต่ละคนคงจะมีคำตอบต่างกันไป
บ้างอาจตอบว่า 10 ล้านบาท 50 ล้านบาท 100 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น
หลายคนอาจคิดว่า หากมีเงินตามจำนวนที่คิดอยู่กับตัวแล้ว ชีวิตคงจะมีแต่ความสุขสบายไปตลอดเป็นแน่แท้
แต่ในความเป็นจริงกลับมีผู้คนมากมาย ที่หาเงินจำนวนนั้นมาได้ แต่กลับไม่ได้มีความสุขไปตลอดแบบที่คนเชื่อกัน
คนที่มีเงินจำนวนนี้หลาย ๆ คน กลับใช้มันหมดอย่างรวดเร็ว แบบไม่น่าเชื่อ
- ครูมวยชาวไทย ถูกลอตเตอรี่ 56 ล้านบาทแล้วหมดภายในสามเดือน เมื่อปั้นปลายชีวิตป่วยหนักถึงขั้นต้องขายทรัพย์สินส่วนตัวมาเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล
- หนุ่มชาวอังกฤษ ถูกรางวัลแจ็กพอตใหญ่ จำนวนเงินมหาศาลกว่า 9.7 ล้านปอนด์ (ประมาณ 379 ล้านบาท) 10 ปีต่อมา เขาต้องทำงานเป็นคนงานในเหมืองถ่านหิน 7 วันต่อสัปดาห์ เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง
- นักกีฬาชื่อดังชาวอเมริกัน ที่หาเงินเข้ากระเป๋าได้มากถึง 400 ล้านดอลลาร์ แต่กลับโดนฟ้องล้มละลายในอีก 20 ปีต่อมา
หรือจริงๆ แล้วแค่มีเงินมาก มันอาจจะไม่เพียงพอ ?
ความมั่งคั่งไม่ได้วัดด้วยจำนวนเงินเพียงอย่างเดียว
สำหรับผมนั้น ความมั่งคั่งไม่ได้วัดด้วยจำนวนเงินว่ามีเท่าไร แต่วัดด้วยหน่วยที่เป็น “ระยะเวลา” ต่างหากครับ
ระยะเวลาในที่นี้ คือ
ระยะเวลาที่เราสามารถใช้ชีวิตได้ในมาตรฐานการครองชีพที่เราต้องการโดยไม่ลำบากเรื่องเงินนั่นเองครับ
ตัวอย่างเช่น
นาย ก. มีเงินจำนวน 10 ล้านบาท โดยเป็นเงินสดเก็บไว้กับตัว หากนาย ก. ไม่มีรายได้เข้ามาอีก และต้องทยอยนำเงินออกมาใช้เดือนละ 500,000 บาท นาย ก. จะมีความมั่งคั่งเป็นจำนวน 20 เดือน เงินถึงจะหมด
ในขณะเดียวกัน
นาย ข. มีเงินจำนวน 1 ล้านบาท โดยเป็นเงินสดเก็บไว้กับตัวเช่นกัน หากนาย ข. ไม่มีรายได้เข้ามา และทยอยนำเงินออกมาใช้เดือนละ 10,000 บาท นาย ข. จะมีความมั่งคั่งเป็นจำนวน 100 เดือน ก่อนที่เงินจะหมด
จะสังเกตว่า แม้นาย ข. จะมีจำนวนเงินน้อยกว่า ก. แต่กลับมีความมั่งคั่งในมิติของระยะเวลาที่มากกว่า
ซึ่งหากวิเคราะห์จากตัวอย่างข้างต้น จะพบว่า ปัจจัยที่กำหนดความมั่งคั่งในมิติของเวลานี้ ได้แก่
- จำนวนทรัพย์สินที่มีอยู่
- รายจ่ายที่ใช้จ่ายออกไป
แต่ยังไม่หมดแค่นั้นนะครับ เพราะหากสามารถนำทรัพย์สินที่มีไปต่อยอดหรือไปลงทุนให้งอกเงยได้ด้วยแล้ว ย่อมจะมีโอกาสมั่งคั่งมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น
หาก นาย ข. สามารถนำเงินสด 1 ล้านบาทที่มี ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6% และนำเงินออกมาใช้ในจำนวนเท่าเดิม นาย ข. จะมีเงินเพียงพอใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 137 เดือน หรือจะเรียกว่ามั่งคั่งเพิ่มกว่าเดิมถึงกว่า 3 ปีเลยทีเดียว
ดังนั้น ความมั่งคั่งในมิติของเวลานี้ จึงเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่
- จำนวนทรัพย์สินที่มีอยู่ : ยิ่งมาก ยิ่งมั่งคั่ง
- รายได้/ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินนั้น : ยิ่งมาก ยิ่งมั่งคั่ง
- รายจ่ายที่ใช้จ่ายออกไป : ยิ่งน้อย ยิ่งมั่งคั่ง
ในกรณีอุดมคตินั้น หากมีทรัพย์สินที่มากพอ มีผลตอบแทนที่ดี และ มีรายจ่ายที่เหมาะสมนั้น เราอาจจะสามารถมีความมั่งคั่ง “ไปจนตลอดชีวิต” ได้ทีเดียว ตัวอย่างเช่น
นาย ค. มีทรัพย์สิน 50 ล้านบาท และสามารถบริหารจัดการให้มีดอกผลเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปี หรือคิดเป็นรายได้จากทรัพย์สินประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มีรายจ่ายเพียงเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท กรณีเช่นนี้นาย ค. อาจเรียกได้ว่ามีความมั่งคั่งในมิติของเวลามาก “ไปจนตลอดชีวิต”
นั่นก็เพราะรายจ่ายที่ทำให้นาย ค. อยู่ได้ในคุณภาพชีวิตที่ดี “ในแบบฉบับของนาย ค.” นั้น น้อยกว่ารายได้จากที่ทรัพย์สินสามารถสร้างได้เป็นอย่างมาก
บทสรุป
จากปัจจัยที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมดนั้น ผมสังเกตว่า คนส่วนใหญ่ที่แม้จะเคยมีทรัพย์สินมหาศาล แต่กลับใช้มันหมดไปและต้องพบกับปัญหาทางการเงินนั้น
มักจะเกิดจากปัจจัยใหญ่ๆ สองประการ นั่นคือ
- ไม่สามารถจัดการให้ทรัพย์สินนั้นงอกเงยได้อย่างเหมาะสม เช่น อาจลงทุนผิดพลาด หรือกระทั่งถูกหลอกลวงให้สูญเสียเงินลงทุนไป
- ใช้จ่ายเงินมากเกินไป ทั้งจากความฟุ่มเฟือยไม่ยั้งคิด เพราะย่ามใจว่ามีเงินอยู่มากจนไม่ต้องกังวล และทั้งจากความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ส่งผลให้รายจ่ายสูงขึ้นเกินคาดคิด
ซึ่งการจะมีความมั่งคั่งที่แท้จริงนั้น เมื่อได้มาแล้ว ก็จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ จะประมาทหรือละเลย ปล่อยไปสบายๆ ไม่ได้
เพราะท้ายที่สุดแล้ว มีเงินมากเท่าไรก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะสุขสบายไปชั่วชีวิต
ยิ่งเรามีความมั่งคั่งมากขึ้น ความรู้และทักษะเรื่องการวางแผนการเงิน การจัดสรรรายรับ-รายจ่ายให้เหมาะสม การจัดการความเสี่ยงด้วยวิธีต่างๆ และการวางแผนการลงทุนที่ดี จะยิ่งทวีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น เพื่อรักษาให้ความมั่งคั่งนั้น อยู่กับเราได้อย่างยั่งยืนที่สุดครับ