หลักการจัดสรรเงินให้มีประสิทธิภาพ ในแบบฉบับ Li Ka-shing ซูเปอร์แมนแห่งเกาะฮ่องกง
14/06/2020สถานการณ์การลงทุน และแนวทางการจัดการ ณ 13 ก.ย. 63
13/09/2020สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังดำเนินอยู่ ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ ที่เคยดำเนินไปอย่างปกติทั่วโลกต้องหยุดชะงัก และกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
- กิจการหลายแห่งต้องปิดตัว ยื่นขอล้มละลาย ลดเวลาทำงาน หรือต้องลดจำนวนพนักงาน
- พื้นที่ท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง ที่เคยมีเงินสะพัดจากนักท่องเที่ยวกลับเงียบเหงาซบเซา
- ทุกสำนักคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2563 ติดลบหนัก โดย World Bank คาดว่า คนไทยกว่า 8.3 ล้านคนจะตกงานหรือสูญเสียรายได้
ข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นล้วนบ่งชี้ว่า สภาวะเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในเวลานี้นั้นไม่มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง
ความมั่นคงที่เคยมีจากงานประจำ เปราะบางขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ในบทความนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่าน ให้ได้ลองวางแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายหากต้องตกงานกะทันหัน
เพื่อที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผมเห็นว่ามีขั้นตอนที่ควรเตรียมการ “ตามลำดับ” ดังนี้ครับ
ขั้นตอนที่ 1 : ตั้งสติให้มั่นคง และให้กำลังใจตัวเองเพื่อก้าวต่อไป
แน่นอนครับว่าการต้องออกจากงานย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ แต่หากมันเกิดขึ้นแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือ การตั้งสติให้เร็ว
เพราะแม้ทางข้างหน้าจะยากลำบากขึ้นกว่าที่เคย แต่ชีวิตก็ยังคงต้องก้าวเดินต่อไป
การสามารถตั้งสติให้มั่นคงได้ จะทำให้เราพร้อมสำหรับการเตรียมการขั้นต่อๆ ไปได้ดียิ่งขึ้น
เมื่อสติเข้าที่เข้าทางแล้ว อย่าลืมให้กำลังใจตัวเอง ว่าปัญหามีไว้ให้แก้ไข และเราจะแก้มันอย่างเต็มที่ ด้วยสติ และทรัพยากรที่เรามีทั้งหมด
ขั้นตอนที่ 2 : รวบรวมแหล่งเงินทุนสำหรับการดำรงชีพเมื่อตกงาน
เมื่อรายได้หายไป แต่รายจ่ายจำเป็นยังคงมีอยู่ เราจึงต้องสำรวจแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่ตกงาน
ซึ่งผมจะขอแบ่งประเภทแหล่งเงินทุนเหล่านี้ ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ครับ
กลุ่มที่ 1 : สิทธิที่เราสมควรจะได้รับเมื่อถูกให้ออกจากงาน ได้แก่
1) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากเกิดการเลิกจ้าง ลูกจ้างทุกคนจะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามอายุงานที่ได้ทำงานมาจากนายจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน ดังตารางด้านล่างนี้ครับ
2) เงินทดแทนจากประกันสังคมกรณีว่างงาน โดยจะได้รับหากได้ส่งเงินสะสมเข้าประกันสังคมไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย ซึ่งสิทธิประโยชน์เงินทดแทนจะแบ่งเป็น 2 กรณีดังตารางด้านล่างครับ
โดยผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th ของสำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันหลังจากว่างงานด้วยนะครับ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้
3) เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แม้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นสวัสดิการที่มีไว้สำหรับใช้เมื่อเกษียณอายุ แต่หากเกิดเหตุต้องว่างงานกะทันหัน เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจจะเป็นอีกแหล่งเงินสำคัญที่ช่วยให้เราผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินได้ครับ (ซึ่งกรณีที่ท่านมีนักวางแผนการเงินดูแลอยู่ ผมแนะนำว่าให้ปรึกษากับนักวางแผนการเงินของท่านว่าควรที่จะนำเงินก้อนนี้ออกมาหรือไม่นะครับ)
เงิน 3 ก้อนข้างต้น เป็นสิทธิที่พึงจะได้รับเมื่อว่างงาน ซึ่งทุกคนควรต้องรักษาและใช้สิทธิที่พึงมีให้ครบถ้วนในสถานการณ์เช่นนี้ครับ
กลุ่มที่ 2 : แหล่งเงินออมอื่นๆ ที่เราอาจมีเตรียมไว้ก่อนตกงาน เช่น
- เงินสำรองยามฉุกเฉินที่เตรียมไว้เพื่อเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ ซึ่งโดยปกตินักวางแผนการเงินจะแนะนำให้เตรียมไว้เพื่อเพียงพอใช้จ่ายได้อย่างน้อย 3-6 เดือน
- เงินออม/พอร์ตการลงทุนสำหรับเป้าหมายอื่นๆ ที่สำคัญน้อยกว่า หรือเร่งด่วนน้อยกว่า
- ทรัพย์สินส่วนตัวบางอย่างที่มีมูลค่า และสามารถขายได้โดยไม่ทำให้เราเดือดร้อน
การนำเงินในกลุ่มนี้มาใช้ อาจทำให้เราเสียดายเงินทุนที่เตรียมไว้สำหรับเป้าหมายต่างๆ หรือเสียดายทรัพย์สินที่ต้องขายออกไป แต่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก เราอาจจำเป็นต้องทำ เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากตรงหน้าไปก่อน แล้วจึงมาปรับแผนต่างๆ ใหม่ในภายหลัง
กลุ่มที่ 3 : รายได้ทางอื่นนอกจากงานประจำที่ทำอยู่เดิม
หากมีรายได้ทางอื่น ที่เดิมเคยทำเสริมจากงานประจำอยู่ เมื่อต้องตกงาน รายได้เสริมนี้จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
แม้รายได้อาจจะไม่มากเท่าที่ได้จากงานประจำ แต่ก็ยังดีกว่าที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย
กรณีเช่นนี้ หากทำได้ ก็ควรใช้ “เวลาที่มีมากขึ้น” ในช่วงที่ว่างงาน ทุ่มเทให้กับงานเสริมนี้อย่างเต็มที่
ก็อาจจะสามารถเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น จนถึงขั้นเป็นทางรอด หรือกระทั่งกลายเป็นรายได้หลักทดแทนงานประจำเลยก็เป็นได้
ซึ่งโดยสรุปในขั้นตอนที่ 2 นี้ผมอยากชวนให้ทุกท่าน ได้รวบรวมเงินทุนทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นออกมาดูนะครับ
ตัวเลขที่เราควรต้องรู้ไว้ คือกรณีเกิดเหตุต้องตกงานขึ้นจริงๆ นั้น
- เราจะมีหรือได้รับเงินก้อนประมาณเท่าไร
- เราจะมีรายได้หรือเงินที่จะทยอยได้รับหลังจากตกงานเป็นจำนวนเท่าไร
เพื่อที่จะนำตัวเลขดังกล่าว ไปใช้วางแผน ว่าเราจะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้นานเท่าไร และด้วยวิธีไหน
ขั้นตอนที่ 3 : หาทางปรับลดค่าใช้จ่าย
ในภาวะวิกฤตที่เรามีแหล่งเงินทุนจำกัด เหมือนคนมีกำลังน้อย ไม่ควรแบกอะไรหนักเกินความจำเป็นครับ
เราจึงควรกลับมาทบทวนว่ารายจ่าย อะไรที่สามารถ ลด/ละ/เลิก เพื่อช่วยให้ตัวเราเบาลงได้
ซึ่งผมได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการปรับปรุงรายจ่ายให้เหมาะสมไว้แล้ว โดยทุกท่านสามารถอ่านได้โดยคลิกที่ ลิ้งค์นี้ ครับ
หากปรับลดค่าใช้จ่ายได้ดี จะช่วยให้เงินทุนที่เรามีอยู่เดิม สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้นานขึ้นกว่าเดิมนั่นเองครับ
ขั้นตอนที่ 4 : หาแหล่งรายได้ใหม่ทดแทนรายได้จากงานเดิม
ขั้นตอนที่ 1 – 3 ถือเป็นการบรรเทาปัญหาให้เบาบางลงเท่านั้น ในขั้นที่ตอนที่ 4 เราต้องก้าวไปข้างหน้า คือต้องหารายได้ให้เพิ่มกลับมาใกล้เคียงเดิมที่สุด (และจะดีมากๆ ถ้าได้มากกว่าเดิม)
- บางท่านอาจเลือกสมัครงานในตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงเดิมในองค์กรอื่น
- บางท่านอาจเลือกสมัครงานในตำแหน่งงานใหม่ที่แตกต่างจากเดิมไปเลย
- บางท่านอาจเปลี่ยนแนวทางไปเป็นฟรีแลนซ์ หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว ตามทักษะ ความชำนาญ และทรัพยากรด้านต่างๆ ที่แต่ละคนมีอยู่เดิม
แต่สำหรับท่านที่ไม่สามารถหางานใหม่ได้เลย และเมื่อคิดจะเป็นฟรีแลนซ์หรือทำธุรกิจส่วนตัวนั้น ก็คิดไม่ออกว่าจะไปทำอะไรดี
ผมขอแนะนำให้เปิดดู วิดีโอนี้ ซึ่งสอนโดย “โค้ชหนุ่ม” จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ The Money Coach
ในวิดีโอดังกล่าว โค้ชหนุ่มได้สอนหลักคิดสำหรับใช้ค้นหาอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริม โดยเริ่มต้นจากทรัพยากรต่างๆ ที่แต่ละคนมี ตามตัวอย่างในตารางด้านล่างนี้ครับ
ตารางจากบทเรียนชุด วางแผนการเงินรับมือวิกฤตโควิด-19 โดย โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์
การมองย้อนกลับมาสำรวจสิ่งที่มีอยู่กับตนเอง และค้นหาว่าสิ่งนั้นสามารถช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้กับใครได้บ้าง อาจจะทำให้เราค้นพบเส้นทางหารายได้เส้นทางใหม่ เพื่อให้ก้าวพ้นวิกฤตนี้ไปได้ หรืออาจถึงขั้นทำให้รายได้และชีวิตเราดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ครับ
บทสรุป
“ตกงาน” เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตนเอง แต่ด้วยสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ที่ยากจะคาดเดาได้นั้น การตกงานอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปนะครับ
เพราะต่อให้ COVID-19 ผ่านพ้นไป ก็น่าจะยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ทั้ง “ใหญ่” และ “รวดเร็ว” อีกหลายอย่างรออยู่ข้างหน้า
งานที่มีความมั่นคงอย่างแท้จริง จึงน่าจะมีน้อยลงเรื่อยๆ
ดังนั้น การตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ด้วยการการสำรวจตัวเองอยู่เสมอ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายไว้ล่วงหน้า ย่อมจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตัวเราเองครับ
และแม้ว่าเราจะไม่ตกงาน ผมคิดว่าคำแนะนำหลายอย่างในบทความนี้ ก็น่าจะช่วยให้ทุกท่านดูแลการเงินตนเองได้อย่างเหมาะสมรัดกุมขึ้น ช่วยให้มีความอุ่นใจ ในการใช้ชีวิตได้มากขึ้นเช่นกัน
สุดท้ายนี้ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่าน ที่อาจจะกำลังประสบภาวะวิกฤต หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะวิกฤตให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายนี้ไปได้ด้วยดีนะครับ