7 ข้อชวนคิด… ก่อนวางแผนเกษียณเร็ว
14/05/2020หลักการจัดสรรเงินให้มีประสิทธิภาพ ในแบบฉบับ Li Ka-shing ซูเปอร์แมนแห่งเกาะฮ่องกง
14/06/2020ในบทความนี้ ผมขอโอกาสพาทุกท่านมาเรียนรู้ แนวคิดการจัดการทรัพย์สินและมรดก จากมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง ซึ่งร่ำรวยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยมีสินทรัพย์รวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท
เศรษฐีท่านนั้นคือนักลงทุนเอกของโลก ซึ่งมีชื่อว่า “วอร์เรน บัฟเฟตต์” (Warren Edward Buffett) นั่นเองครับ
วัยเด็กของ วอร์เรน บัฟเฟตต์
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1930 ที่เมือง โอมาฮา รัฐเนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในปีที่เขาเกิดนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐอเมริกากำลังพบเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า “The Great Depression”
เหตุการณ์นี้ทำให้พ่อของเขา ซึ่งทำงานเป็นนายหน้าค้าหุ้นที่ธนาคาร Union State ต้องตกงาน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมากสำหรับครอบครัวของเขา
แต่ในท่ามกลางวิกฤตที่ธนาคารหลายแห่งต้องปิดตัวลง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุดตัวลงอย่างหนัก พ่อของเขากลับตัดสินใจ เปิดบริษัทนายหน้าค้าหุ้นของตัวเองร่วมกับหุ้นส่วนอีกสองคน โดยจะเน้นการขายหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงให้กับลูกค้า
การตัดสินใจครั้งนี้ ได้ทำให้ธุรกิจของพ่อเขาค่อยๆ เติบโต จนในที่สุดสถานะทางการเงินของครอบครัวก็เริ่มดีขึ้น
บทเรียนจากการค้าขาย
วอร์เรนที่แม้ว่าจะยังเด็ก แต่ในใจลึกๆ ของเด็กคนนี้ก็รู้ดีว่า เขาจะต้องช่วยครอบครัวหาเงิน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เขาจึงเริ่มจาก “การค้าขาย” ไม่ว่าจะเป็น หมากฝรั่ง น้ำอัดลม อุปกรณ์กอล์ฟ ข้าวโพดคั่ว เครื่องเล่นพินบอล หนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่นิตยสาร
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เขาเคยขายมาแล้วทั้งสิ้น
วอร์เรนในตอนนั้น เริ่มเข้าใจหลักการค้าง่ายๆ แล้วว่า
เพียงแค่ซื้อของที่ถูก และขายให้แพงกว่าที่ซื้อมา ก็สามารถสร้างกำไรได้
จุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อชีวิตเขา
เกิดขึ้นเมื่อตอนที่เขาอายุได้ 10 ขวบ และได้ไปตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทกับพ่อ
ทำให้เขาได้คลุกคลีอยู่กับ ภาพของตัวเลขราคาหุ้นที่วิ่งสลับไปมา ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับตัวเขาเป็นอย่างมาก
เขาจึงเริ่มหันมาศึกษาเรื่องการลงทุนด้วยตัวเองจากหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ คอลัมน์ของโบรคเกอร์ หรือแม้แต่ หนังสือการลงทุนของพ่อเขา
ความชื่นชอบในการลงทุนนี้เอง ก็ได้นำให้เขามาพบกับ “เบนจามิน เกรแฮม” (Benjamin Graham) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
และทำให้เขาได้เรียนรู้ หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) ซึ่งเป็นแนวทางการลงทุนที่เขานำมาประยุกต์ใช้ จนเปลี่ยนชีวิตของเขาไปได้ตลอดกาล
วิธีการจัดสรรทรัพย์สินในครอบครัว
การที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะในด้านความมั่งคั่งร่ำรวยนั้น
หลายๆ คนอาจคิดว่า ครอบครัวและลูกๆ ของเขาคงจะสุขสบายไปตลอดชีวิต โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย
แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ใช่อย่างนั้น…
วอร์เรนประกาศว่า เมื่อเขาจากโลกนี้ไป เขาจะไม่ให้สมบัติกับลูกๆ ของเขาทั้ง 3 คนเลย
เพราะเขาอยากให้ลูกๆ ได้ค้นพบงานที่ตัวเองชอบ และสามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่ด้วยมรดกจากพ่อ…
ซึ่งเขาได้จัดตั้งมูลนิธิการกุศล และมอบหมายให้ลูกๆ ของเขาทั้ง 3 คน ได้บริหารเงินส่วนนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมต่อไป โดย…
- ลูกสาวคนโตคือ ซูซาน บัฟเฟตต์ (Susan Alice Buffett)
บริหารมูลนิธิ Sherwood Foundation ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา โดยปัจจุบันเธอทำหน้าที่บริหารมูลนิธินี้อย่างเต็มตัว - ลูกชายคนกลางคือ ฮาเวิร์ด บัฟเฟตต์ (Howard Graham Buffett)
บริหารมูลนิธิ Howard G. Buffett Foundation ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา โดยปัจจุบันเขาบริหารมูลนิธินี้ ควบคู่กับการทำธุรกิจฟาร์ม ธุรกิจถ่ายรูป และการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท Berkshire Hathaway ของพ่ออีกด้วย - ลูกชายคนเล็กคือ ปีเตอร์ บัฟเฟตต์ (Peter Andrew Buffett)
บริหารมูลนิธิ NoVo Foundation ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน โดยปัจจุบันเขาได้บริหารมูลนิธินี้ ควบคู่กับการเป็นนักดนตรี
แผนมรดกของเขา
วอร์เรนมีแนวคิดว่า เมื่อเขาจากโลกนี้ไปแล้ว เงินทั้งหมดของเขาควรกลับคืนสู่สังคม
โดยเมื่อเขาเสียชีวิตลง เขาจะมอบทรัพย์สินทั้งหมดของเขาให้กับภรรยาที่ชื่อ ซูซาน (Susan Thompson Buffett) เพื่อให้เธอนำเงินนั้น ไปมอบให้กับมูลนิธิต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
แต่ทว่าภรรยาของเขา ได้เสียชีวิตลงก่อนในปี ค.ศ. 2004 ทำให้วอร์เรนต้องเปลี่ยนแผนการจัดการใหม่
ซึ่งเขาคิดว่า มูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation ซึ่งก่อตั้งโดย บิล เกตส์ (ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft) และภรรยา จะช่วยสานต่อความตั้งใจของเขาและภรรยาได้ดีที่สุด
ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2006 เขาจึงได้เขียนจดหมาย ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการบริจาคสินทรัพย์ของเขา โดยมีสาระสำคัญว่า
ทุกๆ เดือน ก.ค. ของทุกปี ตลอดช่วงเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะบริจาค 5% ของหุ้นที่เขาครอบครอง ให้กับ…
- มูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation
- มูลนิธิ Susan Thompson Buffett Foundation ซึ่งเขาเป็นคนก่อตั้งร่วมกับภรรยา
- มูลนิธิ Sherwood Foundation บริหารโดยลูกสาวคนโตของเขา
- มูลนิธิ Howard G. Buffett Foundation บริหารโดยลูกชายคนกลางของเขา
- มูลนิธิ NoVo Foundation บริหารโดยลูกชายคนเล็กของเขา
โดยวอร์เรน ยังได้เขียนคำลงท้ายในจดหมายถึงลูกๆ ทั้ง 3 คน ซึ่งมีใจความว่า…
พ่อรู้สึกโชคดีมาก ที่มีลูกๆ ทั้ง 3 คน ซึ่งพร้อมจะทุ่มเททั้งเวลาและพละกำลังไปกับการช่วยเหลือผู้อื่น พ่อภูมิใจในสิ่งที่ลูกกำลังทำ และแม่ของลูกที่อยู่บนฟ้า ก็เช่นเดียวกัน
จากแนวทางการจัดการทรัพย์สินและมรดกของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ได้กล่าวถึงไปทั้งหมดนั้น
ในฐานะผู้เรียบเรียง ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจที่ดี จากเรื่องราวของวอร์เรนและครอบครัวไปไม่มากก็น้อยนะครับ
อย่างน้อยก็น่าจะได้เห็น “ทางเลือก” ว่าการบรรลุซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวยนั้น ไม่เพียงเป็นประโยชน์กับตนเองและครอบครัว แต่ยังสามารถสร้างประโยชน์และส่งต่อให้กับสังคมโดยรวมได้เช่นกัน
แหล่งอ้างอิง :
- หนังสือ The Snow Ball : Warren buffet and the business of life แต่งโดย Alice Schroeder แปลไทย โดย คุณนรา สุภัคโรจน์
- https://en.wikipedia.org/wiki/Warren_Buffett#Early_life_and_education
- https://www.theatlantic.com/magazine/archive/2016/05/how-warren-buffetts-son-would-feed-the-world/476385/
- https://en.wikipedia.org/wiki/Susan_Alice_Buffett
- https://en.wikipedia.org/wiki/Howard_Graham_Buffett
- https://en.wikipedia.org/wiki/Peter_Buffett
- https://www.berkshirehathaway.com/donate/webdonat.html
Credit รูปภาพประกอบ :
- https://www.flickr.com/photos/140989741@N04/25812934256
- https://th.m.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Bill_and_Melinda_Gates_Foundation_front.JPG