สถานการณ์การลงทุน และแนวทางการจัดการ ณ 19 มี.ค. 63
19/03/2020SUPER PRODUCTIVE ด้านการเงิน ตอนที่ 2 : บรรลุเป้าทางการเงินด้วยคำว่า SUPER
09/04/2020ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเศษเท่านั้น แต่ทุกท่านคงทราบดีนะครับว่า มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า COVID-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น “โรคระบาดใหญ่ร้ายแรงทั่วโลก (Pandemic)” นั้น ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ระดับบุคคล องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ อาทิ
- ธุรกิจหลายแห่งหยุดให้บริการชั่วคราว หรือแม้แต่ปิดกิจการอย่างถาวร ทำให้คนจำนวนมากขาดรายได้
- จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ผู้คนหวาดระแวง ไม่อยากออกจากบ้านหากไม่จำเป็น
- สินค้าบางอย่างเกิดภาวะขาดแคลน หรือราคาปรับสูงขึ้น ผู้คนแห่ออกมากักตุนด้วยความกังวล
- ประชาชนไม่มั่นใจความปลอดภัยของตนเอง เกิดความต้องการทำประกันคุ้มครองโรคกันจำนวนมาก
- สินทรัพย์ทางการเงิน มีความแกว่งตัวผันผวนอย่างหนัก
ณ ตอนนี้คงไม่มีใคร สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดนี้จะจบลงเมื่อไร หรือจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกมากขนาดไหน
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อเหลือเกิน ว่าทุกๆ ท่านจะสามารถจัดการได้ด้วยตนเองตั้งแต่ตอนนี้ก็คือ “การทบทวนถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ ของตัวเรา” เพื่อที่จะสามารถป้องกันหรือจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ละเลยมองข้ามมันไปครับ
วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงด้วยตนเอง
เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพของการวิเคราะห์ความเสี่ยงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับตนเองได้
ผมจะขอยกตัวอย่างบุคคลสมมติคนหนึ่ง ซึ่งจะขอเรียกว่าคุณ N มาเป็นตัวอย่าง ประกอบการอธิบายนะครับ
โดยคุณ N มีข้อมูลทั่วไปดังนี้ครับ
- เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งมีรายได้ทางเดียวคือเงินเดือน
- รายจ่ายจำเป็นประมาณ 30,000 บาท/เดือน
- มีความจำเป็นต้องส่งเงินให้พ่อและแม่ทุกเดือน
- มีภาระผ่อนคอนโด ยอดหนี้ปัจจุบันประมาณ 1,500,000 บาท
- มีสวัสดิการประกันชีวิตและประกันสุขภาพกลุ่มของบริษัท
- ทำประกันสะสมทรัพย์พร้อมทั้งสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพไว้ด้วยตนเอง
- มีประสบการณ์ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่ และแบ่งเงินไปลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ บ้างเล็กน้อย
ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยตนเองนั้น เราจะเริ่มจาก
- แบ่งความเสี่ยงออกเป็นมิติต่างๆ ที่มีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายให้กับตัวเราได้
- ประเมินมูลค่าเงินทุน หรือความคุ้มครองที่เราควรมี เพื่อรับมือกับความเสี่ยงนั้นๆ
- ตรวจสอบมูลค่าเงินทุน หรือมูลค่าความคุ้มครองที่เรามีอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน
- สรุปออกมาเป็นส่วนต่างระหว่างข้อ 2 และ 3 เพื่อดูว่าต้องจัดการส่วนไหนเพิ่ม
โดยคุณ N ได้ทำการประเมิน และสำรวจตนเอง ได้ข้อมูลดังตารางด้านล่างนี้ (ตารางมีรายละเอียดพอสมควร รบกวนคลิกที่ตาราง จะสามารถขยายตารางขึ้นมาดูได้สะดวกมากขึ้นครับ)
จากตารางการวิเคราะห์ความเสี่ยง จะเห็นได้ว่าคุณ N มีความเสี่ยงหลายอย่าง ซึ่งในสถานการณ์ปกติ คุณ N อาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังรับความเสี่ยงเหล่านี้อยู่ เพราะก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ไม่ได้รู้สึกถึงความเสี่ยงที่มี
แต่ในสภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบัน ความเสี่ยงที่เคยมองข้ามอาจจะปรากฎขึ้นมาให้เห็น ยกตัวอย่างเช่น
- ขาดรายได้ : คุณ N อาจถูกบริษัทให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน เมื่อรายได้ที่มีอยู่เพียงทางเดียวหมดไป เขาจึงต้องมาใช้สินทรัพย์สภาพคล่องที่มีอยู่เพียง 50,000 บาท ซึ่งอาจจะพอใช้จ่ายเพียงไม่นานเท่านั้น
- เจ็บป่วย : หากโชคร้ายติดเชื้อและอาการรุนแรง ถึงแม้ว่าประกันสุขภาพและสิทธิการรักษาพยาบาลส่วนใหญ่ จะคุ้มครองการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ COVID-19 ก็ตาม แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ และอาจมีอาการป่วยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น การเสื่อมสภาพของปอด ซึ่งต่อให้ต้องการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมในภายหลัง ก็อาจจะทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ยกเว้นความคุ้มครองในอาการของโรคที่เกิดขึ้นแล้ว
- การลงทุน : พอร์ตการลงทุนของคุณ N มีการลงทุนในหุ้นไทยมากถึง 90% ซึ่งในปีวิกฤตินั้น พอร์ตที่ลงทุนกระจุกในหุ้นไทยนี้ อาจมีผลขาดทุนได้มากกว่า -25% ซึ่งมากกว่าที่คุณ N สามารถรับได้ หากเป็นเช่นนี้เมื่อตลาดติดลบอย่างหนัก คุณ N อาจทนความผันผวนไม่ไหว จนหยุดลงทุนในเวลาที่ไม่เหมาะสม หรืออาจล้มเลิกการลงทุนไปซึ่งกระทบเป้าหมายระยะยาว เช่น เป้าหมายเกษียณอายุ ซึ่งมักต้องใช้การลงทุนเป็นตัวช่วย
แนวทางจัดการความเสี่ยง
จากกรณีสมมติของคุณ N ผมอยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่าน ลองใช้เป็นแนวทางเพื่อย้อนกลับมาประเมินตนเองกันครับ ว่าเราจัดการความเสี่ยงไว้อย่างไร ครอบคลุมและเพียงพอหรือไม่ หากไม่พอก็จะได้จัดการให้มีภูมิคุ้มกันที่ดีเอาไว้
ซึ่งแนวทางเบื้องต้นในการจัดการความเสี่ยงมีดังนี้ครับ
- ความเสี่ยงหากขาดรายได้ จัดการโดยการเตรียมเงินสำรองยามฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นต่อเดือนสำหรับมนุษย์เงินเดือน หรืออย่างน้อย 6-12 เดือนสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ และจะยิ่งดี หากสามารถมีรายได้หลายทาง ที่สามารถชดเชยหากแหล่งรายได้หลักเกิดปัญหา
- ความเสี่ยงจากการเสียชีวิต จัดการโดยใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และกรณีมีภาระหนี้สิน และ/หรือ มีผู้ที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากเรา ก็ควรทำประกันชีวิตให้มีมูลค่าความคุ้มครองที่เพียงพอ โดยนำมูลค่าเงินทุน หรือความคุ้มครองที่ควรมี หักลบด้วยทรัพย์สินที่มี สวัสดิการที่ทำงาน และประกันชีวิตของเดิม เพื่อพิจารณาทำเพิ่มในส่วนที่ขาด เพื่อไม่ให้เดือดร้อนคนข้างหลัง โดยควรเลือกประเภทของประกันชีวิตให้เหมาะสม เพื่อให้มีเบี้ยประกันที่ไม่แพงจนเกินไป
- ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย จัดการโดยการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ และควรสำรวจราคาห้องพักและค่าบริการต่างของโรงพยาบาลที่ตั้งใจจะใช้บริการหากเจ็บป่วย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับความคุ้มครองที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ แล้วดำเนินการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด
- ความเสี่ยงจากทรัพย์สิน อาทิ ทรัพย์สินที่มีราคาสูง เช่น บ้านและรถ ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้น อาจมีค่าใช้จ่ายสูงจนรับผิดชอบเองไม่ไหว ก็ควรโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกันคุ้มครองทรัพย์สินเหล่านั้น เช่น ประกันอัคคีภัย และ/หรือ ประกันรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายประเภทตามงบประมาณที่เรามี
- ความเสี่ยงจากการลงทุน จัดการโดยการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ในหลายสินทรัพย์ ในหลายประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป โดยควรคำนึงถึงความเสี่ยงก่อนผลตอบแทน และลงทุนในความเสี่ยงที่ตนเองรับไหว จะช่วยให้การลงทุนมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะเมื่อเกิดความผันผวนขึ้นก็จะสามารถรับมือได้ เพราะหลังความผันผวนหนักๆ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ก็มักจะฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี
บทสรุป
การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า แม้จะไม่สามารถทำให้เราหลีกเลี่ยงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็จะช่วยทำให้สุขภาพทางการเงินของเรามีความแข็งแรง พร้อมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
หากเกิดปัญหา ก็จะช่วยบรรเทาปัญหานั้นไม่ให้รุนแรงจนเกินรับไหว และช่วยให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไป
การที่เรากำลังอยู่ในใจกลางวิกฤติ COVID-19 ดังเช่นปัจจุบันนี้นั้น การจัดการความเสี่ยงหลายๆ อย่างที่ได้กล่าวถึงไป อาจทำได้ลำบาก แต่บางอย่างก็อาจพอทำได้อยู่บ้าง เช่นการชะลอการใช้จ่ายใหญ่ๆ เพื่อเก็บเป็นเงินสำรองไว้ให้มากที่สุด และ/หรือ การป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสอย่างเข้มงวด
สิ่งไหนที่ทำได้ ผมก็อยากเชิญชวนให้ทุกท่านทำมันอย่างจริงจังนะครับ ส่วนสิ่งไหนที่ยังทำไม่ได้ ก็อยากขอให้เก็บไว้เป็นเป้าหมายในอนาคต ที่เราจะไม่ละเลยมันอีกต่อไป เพราะวิกฤติมีมาเรื่อยๆ และมักจะมาในตอนที่เราคาดไม่ถึงที่สุด ดังนั้นเตรียมตัวให้พร้อมไว้จะดีกว่าครับ
สุดท้ายนี้อยากให้ทุกท่าน ตั้งสติให้มั่นคง มองสถานการณ์อย่างรอบด้าน ดูแลระมัดระวังตนเองและคนรอบข้างให้ดี ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างราบรื่นนะครับ