ใช้วิกฤติ COVID-19 เป็นโอกาสทบทวนและจัดการความเสี่ยงส่วนบุคคล
04/04/2020จัดการรายจ่ายอย่างไร… เมื่อรายได้ลดลง
21/04/2020สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน พบกันอีกครั้งนะคะกับ SUPER PRODUCTIVE ด้านการเงิน ตอนที่ 2
ใน ตอนที่แล้ว มิ้งค์ได้เขียนเกี่ยวกับ เทคนิคการตั้งเป้าหมายและแผนปฏิบัติการด้วย Model : Dream → Year → Month → Day
ซึ่งมิ้งค์หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้ลองนำไปใช้ในการตั้งเป้าหมายสำหรับแผนการเงินของตัวเองกันแล้วนะคะ
สำหรับตอนนี้มิ้งค์จะมาแนะนำอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่ได้รับจากการดู SUPER PRODUCTIVE SHOW ของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา
โดยเครื่องมือนี้ มีชื่อว่า SUPER ซึ่งย่อมาจาก
- Start with Why
- Unhook
- Prioritize
- Energize
- Rest
Start with why : ทุกเป้าหมายควรมีเหตุผลรองรับว่าเราทำไปทำไม
เป้าหมายทางการเงินก็เช่นกันค่ะ ก่อนตั้งเป้าหมายเราต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราตั้งเป้าหมายการเงินเหล่านั้นไปทำไม และจะทำไปเพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น
- เราต้องการมีเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะว่าหากวันใดวันหนึ่งมีรายจ่ายก้อนใหญ่ที่ไม่คาดคิด หรือมีเหตุทำให้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยลง เราจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้เพื่อตั้งหลักในช่วงเวลานั้น
- เราต้องการมีเงินเกษียณอายุ ก็เพราะในวันที่เราแก่ตัวลง เราอยากมีฐานะการเงินที่ดี ดูแลตัวเองได้ ไม่เดือดร้อนสังคม ดังนั้นการมีเงินเก็บเพื่อใช้ยามเกษียณจะทำให้เราเป็นผู้เกษียณอายุที่ไม่เป็นภาระของใคร
การที่คุณผู้อ่านรู้ว่าเราทำสิ่งเหล่านั้นไปทำไม จะทำให้คุณผู้อ่านตระหนักในความสำคัญของแต่ละเป้าหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันให้คุณผู้อ่านบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ค่ะ
Unhook : ถ้าแปลให้ตรงตัวก็คือการปลดปล่อยตัวเรา ออกจากพันธนาการที่ขวางกั้นไม่ให้เราบรรลุเป้าหมาย
การที่จะบรรลุเป้าหมายได้เราจะต้องตระหนักว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคทำให้เรา “ไม่” สามารถไปต่อได้ในวันนี้ ซึ่งหลายๆ ครั้งอุปสรรคเหล่านั้นก็คือพฤติกรรมของเราเอง
ถ้าพูดในแง่ของการทำงาน คุณผู้อ่านอาจนึกถึงแผนงานที่เราตั้งใจที่จะทำให้เสร็จในวันนี้ แต่พอถึงเวลาลงมือทำ เรากลับปันเวลาให้กับ Social Media แบบไม่รู้ตัว ดังนั้นงานที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จก็เลยไม่เสร็จเสียที เพราะพันธนาการจาก Social Media นั่นเอง
ถ้ามาพิจารณาในแง่ของเป้าหมายการเงิน คุณผู้อ่านคงต้องกลับมาพิจารณาหรือตอบคำถามที่ว่า อะไรคือบ่วงหรืออุปสรรคที่ทำให้เป้าหมายการเงินของเราไปไม่ถึงไหน ยกตัวอย่างเช่น
เรามีเป้าหมายเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน 60,000 บาท โดยเก็บเงินเดือนละ 10,000 บาท เพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน แต่เมื่อถึงเวลาเรากลับนำเงินนั้นไปใช้บำรุงสุขระยะสั้นของเราเสียก่อนแล้ว ซึ่งเป็นการใช้เงินแบบชั่ววูบและเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ
เช่น การเผลอไปซื้อรองเท้ารุ่นใหม่ของ Brand ที่เราเป็นสาวก หรือ โทรศัพท์รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งวางจำหน่าย
เพราะฉะนั้น หากคุณผู้อ่านทราบว่าอะไรคือพฤติกรรมที่ขวางกั้นการบรรลุเป้าหมายทางการเงินเหล่านั้นแล้ว มิ้งค์เชื่อว่าเราจะหาวิธีการจัดการกับสิ่งเหล่านั้นได้
เช่น เราอาจนำพฤติกรรมที่มักตัดสินใจซื้อของด้วยอารมณ์ชั่ววูบ มาจัดระเบียบเสียเลย โดยการนำมาตั้งเป็นหนึ่งเป้าหมายการเงินของเราและตั้งชื่อเป้าหมายนี้ว่า “รางวัลชีวิต”
โดยเราจะนำเงินส่วนเกินที่เหลือจากการออมสำหรับเป้าหมายที่สำคัญมาสะสมไว้ในเป้าหมาย “รางวัลชีวิต” เป็นมูลค่าเดือนละ 2,000 บาท และตั้งเงื่อนไขการใช้เงินส่วนนี้ไว้เล็กน้อย
เช่นเมื่อเราอยากได้อะไร เราจะมาเปิดดูเงินในส่วนนี้ ถ้ามีพอเราก็ซื้อ แต่ถ้าเรายังมีเงินไม่พอก็จะยังไม่ซื้อ และจะสะสมเงินสำหรับเป้าหมาย “รางวัลชีวิต” นี้ต่อไป
ดังนั้นการใช้เงินในส่วนนี้จะ “ไม่ได้” เป็นการขวางกั้นการบรรลุผลสำเร็จของเป้าหมายการเงินอื่น และยังเป็นการประวิงเวลาให้คุณผู้อ่านมีสติอีกด้วย
เพราะกว่าที่คุณผู้อ่านจะเก็บเงินได้ครบ อาจทำให้คุณผู้อ่านมีเวลาได้ไตร่ตรองแบบไม่รู้ตัว ว่าจริงๆ แล้วคุณผู้อ่านต้องการสิ่งนั้นหรือไม่
Prioritize : การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายที่คุณผู้อ่านต้องการบรรลุ
ชีวิตคนเรามีสิ่งที่ต้องการทำมากมายเต็มไปหมด ซึ่งปกติเรามักจะมีเวลาและทรัพยากรจำกัด ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญ จึงเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะคุณผู้อ่านจะได้พิจารณา ว่าเป้าหมายการเงินใดมีความสำคัญและควรลงมือปฏิบัติก่อน ส่วนเป้าหมายใดที่ยัง “ไม่เร่งด่วน” ก็สามารถเลื่อนออกไปก่อนได้
หรือบางเป้าหมายนั้น เมื่อทบทวนดูแล้วอาจพบว่า “ไม่จำเป็น” ที่จะต้องมีเป้าหมายนั้นตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้คุณผู้อ่านสามารถจำแนกและจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายทั้งหมดที่มี โดยการจัดหมวดหมู่เป้าหมายเหล่านั้นว่าแต่ละเป้าหมายอยู่ในหมวดหมู่ใดดังต่อไปนี้
- MUST DO คือเป้าหมายที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ถ้าไม่ทำอาจมีผลกระทบทางด้านลบอย่างใหญ่หลวงกับชีวิต เช่น เป้าหมายเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน หากเราเกิดขาดรายได้อย่างกะทันหัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินจะทำให้ชีวิตเราไปต่อได้ลำบาก
- SHOULD DO คือเป้าหมายที่ควรทำ ทำแล้วจะให้ผลดีกับชีวิตเราในอนาคต แต่ยังมีความเร่งด่วนน้อยกว่าเป้าหมายประเภท MUST DO
- NICE TO DO คือเป้าหมายที่ ทำได้ก็ดี ไม่ทำก็ได้ เช่น ท่องเที่ยวต่างประเทศทุกปี แต่ถ้าปีไหนกระแสเงินสดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เป้าหมายประเภทนี้จะยังไม่ทำหรือเว้นไปก่อนก็ได้ค่ะ
- ELIMINATE คือ เป้าประเภทที่ ไม่ทำน่าจะดีกว่า เช่น การสร้างบ้านใหม่ทดแทนบ้านเก่า ทั้งๆ ที่ปัจจุบันบ้านหลังนี้ก็ยังอยู่ได้สบาย ทำเลที่ตั้งก็ดีอยู่แล้ว สมาชิกครอบครัวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น หากตัดสินใจสร้างบ้านใหม่ไปอาจจะกลายเป็นภาระที่ไม่จำเป็นขึ้นมาแทน ดังนั้นเราจึงสามารถกำจัดเป้าหมายสร้างบ้านใหม่ออกไป หรืออาจเปลี่ยนเป้าจากการสร้างใหม่ เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้นแทน ซึ่งอาจลดค่าใช้จ่ายลงได้หลายเท่า
ในหลาย ๆ กรณีเป้าหมายประเภท MUST DO กับเป้าหมายประเภท SHOULD DO ก็ใกล้เคียงกันมาก จนคุณผู้อ่านอาจตัดสินใจไม่ถูก
เช่น เราอาจสับสนระหว่าง เป้าหมายเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน และ เป้าหมายเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ ว่าเป้าหมายไหนสำคัญกว่ากัน
ซึ่งวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจช่วยให้คุณผู้อ่านจัดลำดับความสำคัญได้ดีขึ้น
เนื่องจากวิกฤตนี้ทำให้หลายๆ ท่าน ได้ตระหนักอย่างชัดเจนเลยว่า เป้าหมายเงินสำรองฉุกเฉินจะสำคัญและเร่งด่วนกว่าเป้าหมายเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ
เพราะคุณผู้อ่านมีโอกาสจะต้องใช้เงินสำรองฉุกเฉินในเร็ววันนี้ ส่วนแผนเกษียณอายุ คุณผู้อ่านยังพอมีเวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะเกษียณ
อีกทั้งหากจำเป็นเรายังสามารถเลื่อนการเกษียณอายุออกไปได้ หรือลดขนาดเป้าหมาย หรือแม้กระทั่งมีรายได้เสริมช่วงเกษียณอายุก็เป็นอีกทางออกหนึ่งค่ะ
ดังนั้นในสถานการณ์ปกติ หากคุณผู้อ่านไม่แน่ใจว่าเป้าหมายไหนควรเป็นเป้าหมายประเภท MUST DO หรือ SHOULD DO
คุณผู้อ่านสามารถใช้วิธีจินตนาการ ว่าถ้าเกิดวิกฤตการณ์บางอย่างขึ้น อะไรที่สำคัญและเร่งด่วนกับเราที่สุด วิธีนี้จะช่วยคุณผู้อ่านจำแนกเป้าหมาย MUST DO และ SHOULD DO ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
Energize : การที่เราจะ PRODUCTIVE ได้เราต้องมีพลัง
สำหรับหัวข้อ Energize คุณรวิศจะกล่าวถึงการจัดการพลังงาน ว่าในช่วงเวลาไหนของวันที่คุณผู้อ่านจะทรงพลังมากที่สุด ซึ่งช่วงเวลานั้นเราจะเรียกว่า เวลา Prime Time
โดยแต่ละคนก็จะมีช่วงเวลา Prime Time แตกต่างกันไป เช่น บางคนอาจเป็นช่วงเช้าตรู่ บางคนอาจเป็นช่วงระหว่างวัน บางคนอาจเป็นช่วงกลางดึก ซึ่งแต่ละคนควรใช้ช่วงเวลาเหล่านั้นอย่างมีคุณค่าด้วยการทำงานที่สำคัญ
การวางแผนการเงินก็เช่นกันค่ะ เราก็ต้องทราบว่าเงินของเราจะมีพลังสูงสุดในช่วงเวลาใด ยกตัวอย่างเช่น
สำหรับหลายๆ ท่าน เงินจะมีพลังสูงสุดก็ตอนที่เราเพิ่งได้มันมา ดังนั้น จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ออมก่อนใช้”
ทุกครั้งที่ได้รับเงิน เราจะนำเงินที่ได้รับไปออมสำหรับแต่ละเป้าหมายการเงินที่เรามีเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายอย่างเต็มที่
หากเรานำเงินไปใช้เสียก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือมาออม คุณผู้อ่านจะพบว่าเงินของเรานั้นได้หมดพลังไปเสียแล้ว ดังนั้นการ “ออมก่อนใช้” จึงถือเป็นเทคนิคที่ดีในการจัดสรรเงินของเราให้ทรงพลังที่สุดนะคะ
Rest : สุดท้ายการพักผ่อนก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เพราะการพักผ่อนนั้นจะทำให้เราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้อย่างยั่งยืน หรือเราจะเรียกอีกอย่างว่า “การพักเพื่อไปต่อ” ก็ได้ค่ะ
คุณรวิศกล่าวว่า Reflection หรือการมีช่วงเวลาในแต่ละวัน ที่เราจะได้นั่งหลับตาทบทวนว่าวันที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง เป็นการพักผ่อนที่เราควรทำอย่างสม่ำเสมอค่ะ การพักผ่อนทางด้านการเงินก็เช่นกัน
สำหรับมิ้งค์การมีช่วงเวลาได้ทบทวนแผนการเงินของเรา คือ การพักผ่อนทางด้านการเงินที่ดีอีกอย่างหนึ่งค่ะ
โดยในแต่ละปีเราอาจกำหนดช่วงเวลาในการทบทวนเป้าหมายและความคืบหน้าของแผนการเงินของเราไว้ 1-2 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งสิ่งที่เราควรทำก็คือ
- ทบทวน สถานการณ์ชีวิตในปัจจุบันว่าทุกสิ่งทุกอย่างยังเหมือนเดิมหรือไม่ หรือว่ามีบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายทางการเงินต่างๆ ที่เรามี ยังเหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิตของเราหรือเปล่า มีเป้าหมายใดที่ควรต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่
- ติดตาม ความคืบหน้าของแต่ละเป้าหมายว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาแผนการเงินของเราได้เดินทางมาถึงจุดไหนแล้ว อยู่ใกล้หรือไกลจากเป้าหมายอีกเท่าไร เราได้ทำอะไรไปบ้าง ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราสามารถทำได้ตามแผนหรือไม่
- ปรับปรุง แผนหรือเป้าหมายการเงินให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าให้มิ้งค์เปรียบเทียบก็คงเหมือนกับการแข่งรถ Formula 1 เมื่อรถวิ่งไปได้สักระยะ นักแข่งก็จะต้องนำรถเข้า Pit Stop เพื่อหยุดพักเป็นเวลาสั้นๆ และทำการเปลี่ยนยาง เติมน้ำมัน เพื่อให้รถวิ่งต่อได้อย่างดีที่สุด
โดยส่วนตัวมิ้งค์คิดว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง และหลายๆ คนก็ได้รับกำลังใจจากการทบทวนแผนการเงินของตนเอง
ระหว่างทบทวนแผนการเงินให้กับลูกค้า มิ้งค์พบว่าลูกค้าหลายๆ ท่าน ได้มีโอกาสพบกับ Positive Surprise
ว่าเราเก็บเงินได้ขนาดนี้เลยเหรอ แผนการเงินของเราเดินมาไกลจากจุดเริ่มต้นขนาดนี้แล้วเหรอ ลูกค้าหลายๆ ท่านรู้สึกภูมิใจในตัวเองอย่างยิ่ง เมื่อได้เห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของแผนการเงิน
สิ่งนี้คือขวัญและกำลังใจซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ที่ทำให้เรามีความการมุ่งมั่นที่จะทำตามแผนซึ่งได้วางไว้ต่อไปอย่างยั่งยืน
มิ้งค์มองว่าพลังใจเหล่านั้นมันเป็นการพักเพื่อให้เราได้ไปต่ออย่างแท้จริงค่ะ
บทสรุป
สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่คุณผู้อ่านจะตั้งเป้าหมายการเงิน คุณผู้อ่านอย่าลืมลองนำ SUPER ไปปรับใช้นะคะ
โดยการเริ่มต้นจาก
- การตอบคำถามให้ได้ว่าเรามีเป้าหมายนี้ไปทำไม
- อะไรที่เป็นอุปสรรคหรือพันธการทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้
- จัดลำดับความสำคัญว่าเราควรทำเป้าหมายใดก่อน
- จัดสรรพลังเงินของเราในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- และสุดท้ายอย่าลืมแบ่งเวลาพักเพื่อไปต่อ ด้วยการทบทวนเป้าหมายการเงินของเราเป็นระยะด้วยนะคะ
แล้วมาติดตามกันต่อนะคะ ว่าในตอนหน้ามิ้งค์จะมีเครื่องมือและเทคนิคในการสร้างความ PRODUCTIVE ให้กับเป้าหมายการเงินของคุณผู้อ่านได้เพิ่มเติมอย่างไร
สำหรับตอนนี้ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านมีพลังอย่างเต็มเปี่ยม ในการบรรลุเป้าหมายการเงินของตัวท่านเองและมีกำลังใจอย่างยิ่งยวดที่จะผ่านวิกฤตการณ์ COVID-19 ไปด้วยกัน
แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า สวัสดีค่ะ
แหล่งข้อมูล :
- SUPER PRODUCTIVE SHOW ในเดือนกันยาน 2562 โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ
- บันทึก VDO คุณอยากได้อะไรในชีวิต https://youtu.be/viUOFkFhQRU โดยคุณรวิศ หาญอุตสาหะ