Case Study : วิธีการตัดสินใจซื้อคอนโดใกล้ที่ทำงาน (แบบ Step-by-Step)
23/02/2020สถานการณ์การลงทุน และแนวทางการจัดการ ณ 19 มี.ค. 63
19/03/2020“ผมมีเงินเก็บอยู่ 50,000 บาท ลงทุนได้เลยไหมครับ ลงทุนอะไรดีครับ”
คำถามข้างต้น เป็นคำถามที่ผมได้รับเสมอ เมื่อมีคนรู้ว่าผมเป็นนักวางแผนการเงิน ซึ่งผมจะตอบกลับไปทุกครั้งว่า
“ใจเย็นๆ ครับ อย่าพึ่งรีบลงทุน เรามีเงินสำรองฉุกเฉินแล้วรึยัง ?”
หลายครั้งก็จะได้รับคำถามกลับมาว่า
“ต้องมีเงินสำรองด้วยเหรอครับ ก็เงินก้อนนี้ไง ผมเลยจะเอาไปลงทุนนี่แหละครับ”
ชวนทำความเข้าใจเรื่อง “เงินสำรอง” กันใหม่
บทสนทนาข้างต้น สะท้อนให้เห็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เงินสำรอง” อยู่พอสมควร
โดยเฉพาะในประเด็นการนำเงินสำรองไปลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยง ซึ่งอาจเกิดจากเจตนาดีที่อยากให้เงินนั้นงอกเงย
แต่รู้ไหมครับว่า หลายๆ ครั้งเงินที่เราเอาไปลงทุนยังไม่ทันจะได้งอกเงย แต่เราก็อาจจำเป็นต้องใช้เงินนั้นแล้ว เพราะเหตุฉุกเฉินนั้น เราบอกล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
ถ้าโชคดีเงินสำรองที่นำไปลงทุนนั้นอาจจะยังไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าโชคร้าย เงินสำรองที่ควรจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงยามเดือดร้อน อาจจะขาดทุนไปเสียได้ และบางครั้งสร้างความเสียหายได้เกินกว่าที่คิด
เสียน้อยเสียยาก… เสียมากอาจเสียง่าย
ผมเองมีประสบการณ์ที่อยากเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ เกี่ยวกับการจัดการเงินสำรองผิดพลาดสัก 2 ตัวอย่างครับ
เคสแรกเป็นเคสของผมเองในอดีต ซึ่งตอนนั้นคิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้เงินมากๆ จนมองข้ามความเสี่ยงต่างๆ ไป ทั้งๆ ที่ก็พอรู้อยู่ว่ามันมีสิทธิ์เกิดได้
ด้วยความชื่นชอบในอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้โหมลงทุนไป โดยเผื่อเงินสำรองไว้น้อย หรือพูดง่ายๆ ก็คือเอาเงินสำรองไปลงทุนนั่นเอง
ในที่สุดเกิดเรื่องที่เหนือความคาดคิด คือ ผู้เช่าห้องหนีออกพร้อมกัน 3 ห้อง แถมหาผู้เช่าใหม่ไม่ได้อีกหลายเดือน ทำให้ต้องควักเงินผ่อนธนาคารในทุกเดือน จนเงินหมดถึงกับต้องหยิบยืมคนอื่นเลยทีเดียวครับ
เคสที่สองเป็นเพื่อนของผม ซึ่งชอบลงทุนในหุ้นมาก ด้วยความคุ้นเคยกับหุ้นและคิดว่าเข้าใจ จึงเก็บเงินสินสอดที่จะใช้แต่งงานไว้ในหุ้น โดยคิดว่าใกล้ๆ ค่อยขายทำกำไรออกมาแต่งงาน
แต่ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เพราะหุ้นตกหนัก รอจนใกล้วันแต่งงานก็แล้ว หุ้นก็ยังไม่ขึ้น สุดท้ายต้องทำใจขายขาดทุนออกมา
โชคยังดีที่มีเงินสำรองไว้อีกส่วนหนึ่ง แม้จะไม่มากแต่ก็ยังพอชดเชยส่วนที่ขาดทุนไหว ไม่อย่างนั้นได้ไปขอลดสินสอดกับแม่ยายแน่เลยครับ
ไม่อยากนึกภาพเลยว่า ถ้าเหตุการณ์นี้มาเกิดในปี 2563 ซึ่งหุ้นตกหนักมากจากสถานการณ์ COVID-19 จนหุ้นบางตัวตกไปเกินครึ่ง เพื่อนผมจะยังได้แต่งงานอยู่มั๊ย ?
จัดการให้ถูกต้อง แม้กำไรไม่มาก แต่จะสบายใจมาก
จากสองตัวอย่างข้างต้น ผมหวังว่าจะช่วยทำให้ทุกๆ ท่าน ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้นนะครับ
ในโอกาสนี้ผมจึงอยากเน้นย้ำเรื่อง “สินทรัพย์” หรือ “ช่องทาง” ที่เราจะใช้เพื่อเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน
ซึ่ง ณ ปัจจุบันผมคิดว่ามี 3 ช่องทาง ที่น่าสนใจ ได้แก่
- บัญชีออมทรัพย์/ออมทรัพย์พิเศษดอกเบี้ยสูง ของหลายๆ ธนาคาร ซึ่งฝากถอนได้ตลอด หรือหากมีข้อจำกัดการถอนก็ไม่มาก เช่นอาจจำกัดจำนวนครั้งที่ถอนได้ หรือต้องทำรายการออนไลน์เป็นต้น
- บัญชีเงินฝากที่ฝากแล้วได้ความคุ้มครองเมื่อเสียชีวิต โดยหากเสียชีวิตก็ได้เงินเป็นจำนวนหลายเท่าของเงินในบัญชี สามารถฝากถอนได้ตามที่ต้องการ อาจจะได้ดอกเบี้ยน้อยลง แต่ได้ความคุ้มครองมาแทน เหมาะสำหรับผู้นำครอบครัวหลายๆ ท่านครับ
- กองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ที่สามารถขายแล้วได้เงินในวันทำการถัดไป (T+1) ซึ่งแม้จะได้เงินไม่เร็วเท่าเงินฝาก แต่ก็ไม่ถึงกับช้าเกินไป ถือเป็นประเภทของกองทุนรวมที่มีสภาพคล่องสูงสุดครับ
โดยทั้ง 3 ช่องทางที่แนะนำ มีคุณสมบัติร่วมกัน 3 ประการที่ทำให้เหมาะสม ในการใช้เก็บเงินสำรอง คือ
- มั่นคง ปลอดภัย เพราะมีความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสขาดทุนน้อยมาก และก็ยังมีดอกผลอยู่บ้าง
- มีสภาพคล่องสูง สามารถถอนใช้ได้ในยามจำเป็น โดยไม่ต้องรอนาน และไม่เสียมูลค่าที่ออมไว้
- แยกต่างหาก จากเงินก้อนอื่นๆ จึงทำให้เราไม่เผลอไปใช้เงินส่วนนี้ หากไม่เกิดเรื่องฉุกเฉินจริงๆ ครับ
ซึ่งเมื่อเลือกช่องทางที่เหมาะสมได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปเราก็ทยอยเก็บเงินไว้ให้เพียงพอต่อเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับการประเมินของแต่ละท่าน หรือหากนึกไม่ออก จะมียืนพื้นไว้สัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ก็ถือเป็นจำนวนเริ่มต้นที่น่าจะให้ความอุ่นใจได้พอสมควรครับ
เพราะถ้ามีเหตุฉุกเฉิน เราน่าจะอยู่ได้สัก 6 เดือนโดยไม่ต้องก่อหนี้ หรือไม่รบกวนเงินเพื่อเป้าหมายอื่นๆ
บทสรุป
สุดท้ายนี้ผมอยากให้ทุกท่าน เห็นถึงความสำคัญของเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินให้มาก
เพราะเราไม่รู้หรอกครับ ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่เราสามารถเตรียมพร้อมกับพรุ่งนี้ได้เสมอนะครับ
ดังนั้น ก่อนจะลงทุน อย่าลืมสำรองเงินให้ครบถ้วนก่อนนะครับ สำรองแล้ว จะได้สามารถลงทุนได้อย่างอุ่นใจ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังครับ