วิธีลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย… สำหรับมนุษย์เงินเดือน โดยใช้แบบ ล.ย. 01
03/01/2020จัดการชีวิต & การเงิน สไตล์มินิมอล : บทเรียนจากการจัดบ้าน
30/01/2020ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา หนังสือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมิ้งค์ และหนึ่งในนักเขียนไทยที่มิ้งค์ติดตามผลงานเป็นประจำคือ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ
สำหรับมิ้งค์ คุณรวิศคือเจ้าพ่อแห่งความ SUPER PRODUCTIVE อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ปัจจุบันคุณรวิศเป็น CEO บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ผู้พลิกโฉมผงหอมศรีจันทร์ให้ทันสมัยและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กิจวัตรของคุณรวิศคือ ตื่นตี 4 ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ อัด Podcast เข้าบริษัทประชุม ทำงานต่างๆ อัด Podcast กล่อมลูกก่อนเข้านอน และยังมีเวลาอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เตรียมตัววิ่งมาราธอน และอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อทุกท่านได้ทราบกิจวัตรของคุณรวิศ อาจเข้าใจว่า ความ SUPER PRODUCTIVE คือการทำให้มาก แต่จริงๆ แล้วสำหรับมิ้งค์ มันคือการทำให้ดี มีวินัย รู้จักตัวเอง และ สุขที่ได้ทำ
หากเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ ผลที่ตามมาโดยอัตโนมัติ คือ ทำได้มากขึ้น ทำได้ต่อเนื่องและทำได้ยั่งยืน
SUPER PRODUCTIVE ด้านการเงิน
นอกจากที่มิ้งค์จะพยายามสร้างความ SUPER PRODUCTIVE ให้บังเกิดในชีวิตแล้ว
ในฐานะที่มิ้งค์เป็นนักวางแผนการเงิน ก็มีความคิดว่า การตัดสินใจทางการเงินนั้น ก็สามารถทำให้ SUPER PRODUCTIVE ได้ ไม่ต่างกับด้านอื่นๆ ในชีวิตเช่นกัน
มิ้งค์จึงตั้งใจที่จะเขียนบทความชุด “SUPER PRODUCTIVE ด้านการเงิน” ที่ทุกท่านกำลังอ่าน “ตอนแรก” อยู่นี้ เพื่อนำเสนอแนวทางและเทคนิคต่างๆ ที่จะทำให้การตัดสินใจทางการเงินของท่านผู้อ่านนั้น มีความ PRODUCTIVE เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งส่วนหนึ่งมิ้งค์จะขอใช้เทคนิค SUPER PRODUCTIVE ต่างๆ ที่คุณรวิศได้นำเสนอไว้ นำมาเสริมด้วยการประยุกต์ใช้ในแง่มุมทางการเงิน จากประสบการณ์และความคิดเห็นของตัวมิ้งค์เอง
โดยสำหรับ MODEL ที่มิ้งค์อยากนำมาเสนอในบทความตอนแรกนี้คือ MODEL : DREAM → YEAR → MONTH → DAY เรามาเริ่มกันเลยนะคะ
MODEL : DREAM → YEAR → MONTH → DAY
ถ้าพูดถึงคำว่า SUPER PRODUCTIVE สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลย คือ คำว่า “เป้าหมาย” และ “แผนปฏิบัติการ” สำหรับ MODEL : DREAM → YEAR → MONTH → DAY นั้น
DREAM ก็เปรียบเสมือนเป้าหมายที่เราอยากไปให้ถึง ส่วน YEAR → MONTH → DAY ก็คือแผนปฏิบัติการ ที่เราต้องลงมือทำ
ซึ่งในการวางแผนการเงินแบบองค์รวมก็เช่นกัน สิ่งแรกที่เราต้องเริ่มต้นคือการกำหนด “เป้าหมาย” หรือ เรามี DREAMS อะไรในชีวิตที่ต้องการบรรลุบ้าง
เช่น เราจะซื้อรถอะไร ซื้อบ้านที่ไหน แต่งงานเมื่อไร วางแผนการศึกษาบุตรอย่างไร แผนทำธุรกิจส่วนตัวจะเริ่มเมื่อไร แผนเกษียณของเราจะเป็นเช่นไร ฯลฯ ซึ่ง DREAMS เหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งสิ้น
ในบทความนี้ มิ้งค์จะขอนำ แผนเกษียณอายุ มายกตัวอย่างให้ทุกท่านได้เห็นภาพของ MODEL มากขึ้น เพราะมิ้งค์เชื่อว่าทุนเกษียณอายุนั้น คงอยู่ในรายการความฝัน หรือ DREAM ของหลายๆ ท่าน มิ้งค์ขออนุญาตยกตัวอย่างเป็นตัวเลขง่ายๆ ให้เห็นภาพมากขึ้นนะคะ
- สมมุติว่าปัจจุบันท่านผู้อ่านอายุ 35 ปี ต้องการเกษียณอายุในอีก 25 ปีข้างหน้าหรือเมื่ออายุ 60 ปี โดยต้องการมีเงินจับจ่ายใช้สอยหลังเกษียณอายุเดือนละ 20,000 บาทซึ่งเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน
- หากคิดอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี ในอีก 25 ปีข้างหน้า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 บาทต่อเดือน จากราคาข้าวของต่างๆ ที่แพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ
- จากประวัติสุขภาพคนในครอบครัว ท่านคาดว่าจะใช้ชีวิตหลังจากเกษียณไปอีก 20 ปีจึงสิ้นอายุขัย ดังนั้นท่านต้องมีเงินดูแลตัวเองประมาณ 40,000 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี หรือ 240 เดือน หรือ คิดเป็นมูลค่าเงินเกษียณอายุเพื่อการจับจ่ายใช้สอยทั่วไปประมาณ 10 ล้านบาท (มาจาก 40,000 บาท คูณด้วย 240 เดือน โดยมิ้งค์ปัดตัวเลขขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ)
สรุปในกรณีนี้ DREAM คือ ทุนเกษียณอายุ จำนวน 10 ล้านบาท ณ อายุ 60 ปี (หรือในอีก 25 ปีข้างหน้า)
เปลี่ยน DREAM เป็นแผนปฏิบัติการระดับ YEAR → MONTH → DAY
เมื่อเราได้ DREAM แล้ว เราจะแปลง DREAM เป็น YEAR โดยกำหนดเป้าหมายในแต่ละปีที่เราจะต้องบรรลุ
โดยจากทุนเกษียณอายุ 10 ล้านบาทในอีก 25 ปี หากเราเก็บเงินไว้ในตู้เซฟเฉยๆ โดยไม่ได้ดอกผล เราจะต้องออมเงินให้ได้ปีละ 400,000 บาท (มาจากการนำ 10 ล้านบาท หารด้วย 25 ปี)
แต่ในความเป็นจริงด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน ท่านผู้อ่านน่าจะวางแผนการลงทุนเพื่อให้มีผลตอบแทนงอกเงยจากเงินที่เก็บออมได้ จึงสมมติว่าสามารถจัดพอร์ตลงทุนโดยคาดหวังผลตอบแทน 8% ต่อปี และ ใน 5 ปีสุดท้ายก่อนการเกษียณ จะปรับลดผลตอบแทนที่คาดหวังเป็น 5% ต่อปี เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในช่วงท้ายที่ระยะเวลาลงทุนเหลือสั้นแล้ว
เนื่องจากมีผลตอบแทนจากการลงทุนมาช่วย “ทุ่นแรง (Leverage)” ทำให้จากที่จะต้องเก็บออมปีละ 400,000 บาท จะลดลงเหลือปีละ 180,000 บาทโดยประมาณ (คำนวณจากเครื่องคิดเลขทางการเงินโดยใช้หลักการของดอกเบี้ยทบต้น)
เมื่อได้เป้าหมายระดับปีแล้ว ก็จึงนำเป้าหมายในแต่ละปี มาแตกเป็นเป้าหมายในแต่ละเดือน หรือ MONTH โดยหากนำ 180,000 บาท หารด้วย 12 เดือน จะพบว่า เราต้องเก็บออมเงินเดือนละ 15,000 บาท
แต่เมื่อท่านพิจารณารายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนแล้ว ก็พบว่าการออมเงินเดือนละ 15,000 บาทนั้น ตึงเกินไปจนไม่น่าจะออมได้ไหว ท่านจึงตัดสินใจออมน้อยลงเท่าที่คิดว่าทำได้ คือเดือนละ 10,000 บาท (หรือทั้งปีคือ 120,000 บาท) ซึ่งก็จะยังขาดอีก 60,000 บาท จึงจะบรรลุเป้าหมายระดับ YEAR ที่ต้องออมทั้งสิ้น 180,000 บาท
ซึ่งท่านนึกขึ้นได้ว่า ในแต่ละปีท่านจะได้รับโบนัสอีกประมาณ 3 เดือน ท่านจึงวางแผนแบ่งโบนัสมาออมเพื่อเป้าหมายเกษียณในส่วนที่ขาดอีก 60,000 บาท โดยจะออมจากโบนัสที่ได้รับในเดือนธันวาคมของทุกปี
เป้าหมายระดับ DAY ที่จะต้องปฏิบัติ จึงสามารถสรุปได้โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
- นำเงิน 10,000 บาท เข้าลงทุนในพอร์ตเกษียณอายุ ทุกวันที่ 25 ของเดือน ซึ่งตรงกับวันที่รับเงินเดือนพอดี โดยจะตั้งแผนการลงทุนอัตโนมัติ ให้ บลจ. หักเงินเพื่อซื้อกองทุนให้เลย โดยไม่ต้องทำเอง
- แบ่งเงินโบนัสจำนวน 60,000 บาท เข้าลงทุนในพอร์ตเกษียณอายุเพิ่มเติมจากเงินออมรายเดือน โดยจะสั่งซื้อกองทุนด้วยตัวเอง เมื่อได้รับโบนัสเข้าบัญชี ในเดือนธันวาคมของทุกปี
ซึ่งเจ้า Action Plan ในระดับ DAY นี่ล่ะค่ะ เป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องทำให้ได้ เพราะหากทำได้ก็จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายรายเดือน รายปี และบรรลุความฝันของท่านในที่สุด โดยแผนทั้ง 4 ระยะ สามารถสรุปออกมาได้ดังรูปด้านล่างนี้ค่ะ
บทสรุป
ตัวอย่างการวางแผนเกษียณอายุข้างต้น คือการนำ MODEL : DREAM → YEAR → MONTH → DAY มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเงิน เพื่อตั้งเป้าหมายและวางแผนปฏิบัติการ
ซึ่งมิ้งค์อยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่าน นำไปใช้ประยุกต์กับการแผนการเงินของตัวเอง น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้แผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องทำในระยะสั้น ซึ่งจะปูทางไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวในที่สุด
แต่ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะเป็นเหมือนมิ้งค์รึเปล่านะคะ ที่แม้ว่าจะมีเป้าหมายและแผนการที่ชัดเจนแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถลงมือทำได้สมบูรณ์ตามแผนเท่าใดนัก
ซึ่งมิ้งค์คิดว่า ยังมีหลักคิดและแนวทางเพื่อความ SUPER PRODUCTIVE อีกหลายอย่าง ที่จะช่วยนำพาเรา ไปสู่การลงมือปฏิบัติให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน
มิ้งค์จึงขออาสา ที่จะนำเทคนิคต่างๆ เหล่านั้น มาเล่าให้ทุกๆ ท่านได้รับทราบกันต่อ ในบทความชุด “SUPER PRODUCTIVE ด้านการเงิน” ตอนต่อๆ ไปนะคะ
แล้วพบกันใหม่ค่ะ
เครดิตภาพประกอบ โดย Marta Konyk