การทบทวนและปรับปรุงแผนการเงิน : สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้
10/11/2019วิธีลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย… สำหรับมนุษย์เงินเดือน โดยใช้แบบ ล.ย. 01
03/01/2020ก่อนที่นักวางแผนการเงินจะทำแผนการเงินแบบองค์รวมออกมาได้หนึ่งฉบับนั้น ต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ พอสมควร ยิ่งแผนการเงินนั้นมีข้อมูลที่ต้องรวบรวมมาก มีเป้าหมายที่ต้องการหลายเป้าหมาย ก็เป็นไปได้ที่จะใช้เวลาในการวิเคราะห์และจัดทำแผนการเงินนานยิ่งขึ้น
โดยปกติแล้วนักวางแผนการเงิน Avenger Planner จะใช้เวลาทำแผนการเงินประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแผนการเงินนั้นๆ ด้วยค่ะ
บทความนี้จะขอเล่ากระบวนการในการจัดทำแผนการเงินให้กับลูกค้าเป็นลำดับขั้น เรียงตามเวลาที่เกิดขึ้น และขอยกตัวอย่างกรณีที่แผนการเงินมีความซับซ้อน เพื่อให้เห็นขั้นตอนการทำงานที่อาจเกิดขึ้นจริงทั้งหมดในการทำแผนการเงินหนึ่งฉบับนะคะ
เริ่มจากที่นักวางแผนการเงินได้รับมอบหมายให้บริการลูกค้าหนึ่งท่าน
เราจะเริ่มติดต่อลูกค้าทางโทรศัพท์ มีการแนะนำตัว เริ่มต้นทำความรู้จักกันในเบื้องต้น พูดคุยที่มาที่ไปและความต้องการในวางแผนการเงินแบบคร่าวๆ และให้ลูกค้ารวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อส่งกลับมาให้นักวางแผนการเงินก่อนที่เราจะนัดพบกันครั้งแรก (นักวางแผนการเงินบางท่าน อาจจะให้ลูกค้าเตรียมข้อมูลรอไว้แล้วนัดพบกันครั้งแรก โดยไม่ต้องจัดส่งมาให้ก่อนเลยก็เป็นไปได้ค่ะ)
โดยข้อมูลที่นักวางแผนการเงินให้ลูกค้ารวบรวมไว้นั้น หลักๆ จะประกอบไปด้วย
- ข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สินต่างๆ ที่มีอยู่
- ข้อมูลรายรับ-รายจ่าย
- ข้อมูลสวัสดิการ และผลประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกค้าได้รับ เช่น หากลูกค้าทำงานประจำ ก็จะมีสวัสดิการบริษัท ประกันกลุ่ม และอาจจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย หากลูกค้าทำงานราชการ ก็อาจจะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น
- ข้อมูลการลงทุนต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้นรายตัว และ กองทุนรวมต่างๆ ที่ลงทุนอยู่
- ข้อมูลประกันที่มี ไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ และ ประกันบำนาญ
นอกจากเราจะให้ลูกค้ารวมรวมข้อมูลทางการเงินแล้ว เราจะให้ลูกค้าลองนึกถึงเป้าหมายทางการเงินต่างๆ ที่ต้องการเตรียมไว้ด้วยค่ะ
จะเห็นว่าข้อมูลที่จำเป็นในการวางแผนการเงินนั้น เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องใช้เวลาในการรวบรวมจึงจะสามารถรวบรวมได้ครบถ้วน
เช่น ลูกค้าบางท่านอาจจะทำประกันไว้มากนับสิบฉบับ ทั้งที่ทำให้กับตนเองและคนในครอบครัว หรือ อาจจะมีกองทุนที่ลงทุนอยู่แล้วหลายสิบกองทุน กว่าจะรวบรวมได้ครบก็ใช้เวลาพอสมควรทีเดียว
นักวางแผนการเงินจึงต้องขอให้ลูกค้ารวบรวมข้อมูลมาให้ได้มากที่สุดก่อนที่เราจะพบกันครั้งแรก เพื่อให้การพูดคุยในครั้งแรกนั้นได้ประโยชน์ที่สุด คือมีข้อมูลเพื่อนำมาใช้พูดคุยกันอย่างครบถ้วน ไม่ต้องกลับไปกลับมานั่นเอง
หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการในการให้บริการ ไปจนถึงการนำเสนอแผน ซึ่งแบ่งเป็น 6 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 – เก็บรวบรวมข้อมูล
หลังจากพูดคุยกันทางโทรศัพท์เรียบร้อยแล้ว ลูกค้ามักจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อรวบรวมข้อมูล อาจมีบ้างที่ใช้เวลาเกินสัปดาห์หากลูกค้ามีข้อมูลอยู่หลายที่ ระหว่างนี้เราก็จะมีพูดคุยกันทาง Line หรือช่องทางอื่นๆ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลที่ต้องเตรียม หรืออาจจะมีการโทรศัพท์คุยกันบ้างค่ะ
เมื่อลูกค้าเตรียมข้อมูลพร้อม และส่งกลับมาให้นักวางแผนการเงินเรียบร้อย เราก็จะนัดพบกันเพื่อพูดคุยและเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อทำแผนการเงินกันต่อไป โดยจะนัดกันในวัน เวลา และสถานที่ ที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกร่วมกัน
ขั้นตอนที่ 2 – พบกันครั้งแรก
สำหรับนัดครั้งแรกของ Avenger Planner นั้น เราจะนัดพบเพื่อพูดคุยกันประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อแนะนำรูปแบบการให้บริการของทีม เก็บรวบรวมข้อมูล ระบุเป้าหมาย ประเมินทัศนคติการลงทุน และความเสี่ยงด้านต่างๆ
หากลูกค้ามีการเตรียมข้อมูลส่งมาให้ก่อนแล้ว ก็จะทำให้นักวางแผนการเงินสามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูลของลูกค้าได้ล่วงหน้า เมื่อพบกันก็สามารถสอบถามข้อมูลได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้การพูดคุยมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
นอกจากข้อมูลทางการเงินข้างต้นแล้ว นักวางแผนการเงินจะเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพที่สำคัญ ซึ่งอาจมีผลกับการวางแผนการเงินด้วย เช่น ข้อมูลด้านสุขภาพของลูกค้าและครอบครัว ลักษณะการใช้ชีวิต งานที่ลูกค้าทำ หรือสอบถามเกี่ยวกับบุคคลที่อยู่ในอุปการะ และข้อมูลอื่นๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์และวางแผนการเงินได้เหมาะสมมากขึ้น
และในการพบกันครั้งแรก เราจะแนะนำให้ลูกค้าเปิดบัญชีการลงทุนไปด้วยเลย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาพอสมควร (โดยเฉลี่ยอาจใช้เวลากว่า 2-3 สัปดาห์) การเปิดไว้ก่อนนี้เพื่อให้การ Implement แผนการลงทุนหลังจากที่เสนอแผนแล้ว สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยการเปิดบัญชีอีก และการเปิดบัญชีไว้ล่วงหน้า ก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายใดๆ รวมถึงไม่ได้มีข้อผูกมัดว่าต้องนำเงินมาลงทุนเป็นจำนวนเท่าใด
จะเห็นว่า 2 ชั่วโมงแรก ที่เราพบกันนั้น จะมีการพูดคุยเนื้อหากันค่อนข้างแน่นทีเดียว การเตรียมข้อมูลให้พร้อมจะเป็นประโยชน์กับทั้งตัวลูกค้าเองและนักวางแผนการเงินด้วยค่ะ
ขั้นตอนที่ 3 – จัดทำแผนการเงิน
เมื่อพูดคุยเก็บข้อมูลเรียบร้อยแล้ว นักวางแผนการเงินจะเริ่มทำแผนการเงินจากข้อมูลที่ได้รับ ระหว่างนี้นักวางแผนการเงินอาจมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้าบ้าง โดยช่องทางในการพูดคุยกันจะเป็นทาง Line หรือโทรศัพท์ หากไม่จำเป็นจริงๆ จะยังไม่มีการนัดพบเจอกันอีก ทั้งนี้เพราะเวลาของทั้งสองฝ่ายล้วนมีค่า กระบวนการใดที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องพบกัน เราก็พยายามที่จะเลือกใช้ช่องทางนั้น
โดยหากข้อมูลที่ได้รับครบถ้วน นักวางแผนการเงินวิเคราะห์และลองจัดทำแผนการเงินแล้ว พบว่าลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ไม่ติดขัดอะไร นักวางแผนการเงินก็จะจัดทำแผนจนแล้วเสร็จค่ะ
แต่หากนักวางแผนการเงินพบว่า แผนนั้นไม่สามารถทำต่อจนแล้วเสร็จได้ เช่น เป้าหมายที่ต้องการมีหลายเป้าหมาย และเกิดขึ้นพร้อมๆ กันจนทำให้กระแสเงินสดไม่เพียงพอ หรือเป้าหมายที่ต้องการนั้นค่อนข้างใหญ่แต่มีระยะเวลาในการเตรียมตัวน้อย ก็อาจจะมีการพูดคุยหาข้อตกลงร่วมกัน ก่อนจะจัดทำเป็นแผนการเงินฉบับสมบูรณ์ต่อไปค่ะ
ช่วงเวลาที่ใช้ในการจัดทำแผนให้กับลูกค้านั้น โดยเฉลี่ยอาจจะอยู่ที่ 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจมากกว่าหรือน้อยกว่านั้นได้ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแผนการเงิน รวมถึงระยะเวลาที่ต้องใช้ในการประสานงานกับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้ร่วมตัดสินใจในทางเลือกต่างๆ ที่มีด้วยค่ะ
ขั้นตอนที่ 4 – รีวิวและยืนยันแผนการเงินเบื้องต้น
ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นในบางกรณีเท่านั้น โดยเมื่อนักวางแผนการเงินจัดทำแผนการเงินเบื้องต้นเสร็จแล้ว อาจมีการจัดส่งแผนให้ลูกค้าได้รีวิวก่อนในเบื้องต้น ว่ามีความเห็นอย่างไร มีส่วนไหนของแผนที่ต้องการปรับหรือไม่ ก่อนที่นักวางแผนการเงินจะเริ่มจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในรายละเอียด เช่น การทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามแผน
การรีวิวแผนการเงินเบื้องต้นนี้ จะมีความจำเป็นมากในบางกรณี เช่น
- กรณีที่แผนการเงินมีความซับซ้อน ต้องมีการปรับย้ายสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมของลูกค้าค่อนข้างมาก
- กรณีที่จำเป็นต้องแนะนำให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่าง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้
- กรณีที่นักวางแผนการเงินได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอ จึงต้องตั้งสมมติฐานในด้านต่างๆ เพื่อใช้วางแผนค่อนข้างมาก
การได้รับความคิดเห็นและการยืนยันจากลูกค้า ก่อนที่นักวางแผนการเงินจะจัดทำรายละเอียดของ Action Plan ต่อไปนั้น จะทำให้นักวางแผนการเงินสามารถจัดทำแผนการเงินฉบับ Final ออกมาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
ลดการตั้งสมมติฐานหรือการคาดเดาต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ลดระยะเวลาที่ต้องปรับแก้แผนการเงินหลายรอบ ช่วยให้การทำงานของนักวางแผนการเงินมีประสิทธิภาพขึ้นด้วยค่ะ
ขั้นตอนที่ 5 – ปรับแผนการเงิน จัดพอร์ตการลงทุน และจัดทำ Action Plan
หลังจากที่ลูกค้าได้รีวิวแผนการเงินที่จัดทำเบื้องต้นแล้ว นักวางแผนการเงินจะปรับแผนการเงิน ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าตามที่ได้พูดคุยกัน และเริ่มลงรายละเอียดในแผนปฏิบัติการหรือ Action Plan ที่ลูกค้าจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามแผนที่ได้จัดทำขึ้น
Action Plan นี้ มักจะประกอบด้วยการแนะนำให้ทำธุรกรรมต่างๆ เช่นการแนะนำให้ซื้อประกัน หรือปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ที่มีอยู่เดิมให้เหมาะสมกับความจำเป็นและเป้าหมายยิ่งขึ้น
ขณะที่ในส่วนของแผนการลงทุน นักวางแผนการเงินจะเริ่มจัดพอร์ตการลงทุน ตามแผนการจัดสรรสินทรัพย์ของแต่ละเป้าหมาย และลงรายละเอียดถึงแผนการเข้าลงทุนสำหรับแต่ละเป้าหมายด้วย
ซึ่งการดำเนินการในขั้นตอนนี้อาจจะไม่ซับซ้อน โดยเฉพาะหากลูกค้าไม่เคยมีการลงทุนมาก่อน เพราะสามารถให้คำแนะนำโดยเริ่มต้นจากศูนย์ได้ แต่หากลูกค้าเคยลงทุนมาก่อน เช่นถือกองทุนเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก การจัดทำ Action Plan จะยากขึ้นมาก เนื่องจากต้องคำนึงถึงพอร์ตที่ลูกค้าลงทุนอยู่ ณ ปัจจุบันด้วย
ทั้งนี้ในประเด็นดังกล่าว ลูกค้าอาจมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น อาจไม่ต้องการที่จะปรับพอร์ตเดิมเลย หรืออาจจะยอมให้ปรับพอร์ตได้เฉพาะรายการที่อนุญาต หรือกระทั่งยินดีให้ปรับพอร์ตได้อิสระตามที่นักวางแผนการเงินเห็นสมควร
ดังนั้น การสอบถามและยืนยันกับลูกค้าตามขั้นตอนที่ 4 จะเป็นกระบวนการที่จำเป็นมาก เพราะจะได้แนวทางร่วมกันระหว่างลูกค้าและนักวางแผนการเงิน แล้วจึงนำแนวทางนั้นมาจัดทำเป็น Action Plan ต่อไป
ขั้นตอนที่ 6. นำเสนอแผนการเงิน
เมื่อจัดทำแผนการเงินเรียบร้อยแล้ว เราก็จะนัดหมายนำเสนอแผนการเงินทั้งหมด โดยในวันที่พบกัน นอกจากจะนำเสนอแผนการเงินองค์รวมทั้งหมดแล้ว ก็จะมีการให้ความรู้พื้นฐานด้านการลงทุน อธิบายแนวทางการลงทุนในแบบที่ Avenger Planner ใช้ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนต่างๆ ที่แนะนำด้วย
โดยเมื่อนำเสนอแผนการเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จะสรุปแผนปฏิบัติการร่วมกัน ว่าข้อใดที่ลูกค้าเห็นด้วย และพร้อมจะดำเนินการตามแผนต่อไป หรือข้อใดที่ลูกค้าต้องการปรับเปลี่ยน เราก็จะพูดคุยกันในวันนี้ให้ได้ข้อสรุปค่ะ
ทั้งนี้หากมีความจำเป็น นักวางแผนการเงินก็จะมีการปรับแผนการเงินที่แก้ไขแล้ว จัดส่งให้ลูกค้าดูอีกครั้ง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ Implementation คือการลงมือปฏิบัติตามแผนต่อไป
บทสรุป
จะเห็นว่า ก่อนที่จะสำเร็จเป็นแผนการเงินองค์รวมในแบบ Avenger Planner ออกมาหนึ่งฉบับนั้น นักวางแผนการเงินต้องทุ่มเทแรงใจแรงกายไม่น้อยทีเดียว และยิ่งแผนการเงินนั้นเป็นแผนการเงินที่ซับซ้อน ระยะเวลาที่ใช้ทำแผนก็อาจจะนานกว่าแผนทั่วไปค่ะ
ซึ่งการที่แผนการเงินจะสำเร็จได้ด้วยดี ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไปนั้น ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคุณลูกค้าอย่างมากเช่นกัน เพราะหากข้อมูลที่นักวางแผนการเงินได้รับมีความครบถ้วน การพูดคุยในครั้งแรกก็จะไม่ใช้ระยะเวลายาวจนเกินไป ระยะเวลาที่จำเป็นต้องรอคอยเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกลับไปกลับมาก็จะลดน้อยลง
เมื่อแผนการเงินจัดทำแล้วเสร็จ หากคุณลูกค้าสามารถช่วยรีวิวและยืนยันแผนการเงินเบื้องต้น ก่อนที่นักวางแผนการเงินจะเริ่มลงรายละเอียดในส่วนของ Action Plan ก็จะช่วยให้ไม่ต้องมีการปรับแก้แผนหลายๆ ครั้ง ทำให้ลูกค้าสามารถลงมือปฎิบัติตามแผนได้รวดเร็วมากขึ้นด้วยค่ะ
นอกจากความร่วมมือข้างต้นแล้ว สิ่งที่พวกเรา นักวางแผนการเงินทีม Avenger Planner หวังจะได้รับเป็นอย่างยิ่งจากคุณลูกค้า ก็คือการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ว่าส่วนไหนของแผนการเงินที่ลูกค้าเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งจะช่วยให้แผนการเงินถูกปรับปรุงอย่างเหมาะสมและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
พวกเราในทีม Avenger Planner มักจะพูดกันอยู่เสมอว่า “แผนการเงินที่ดี คือแผนการเงินที่ลูกค้าลงมือทำ” ซึ่งแผนนั้นต้องไม่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของลูกค้าจนเกินไป จนทำให้รู้สึกอึดอัด ทำแล้วไม่มีความสุข
ดังนั้น การที่คุณลูกค้ามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนไปกับนักวางแผนการเงินด้วยจึงเป็นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เลยค่ะ