แค่ทำตามแผนยังไม่พอ… ควรต้องเข้าใจที่มาของแผนด้วย
07/10/2019ก่อนจะสำเร็จเป็นแผนการเงินองค์รวมฉบับหนึ่ง… นักวางแผนการเงินต้องทำอะไรบ้าง
12/12/2019เมื่อพูดถึงการวางแผนการเงิน ท่านผู้อ่านคงได้เคยศึกษาเกี่ยวกับวิธีการวางแผนกันมาพอสมควรแล้วนะครับ แต่เรื่องหนึ่งที่น้อยท่านจะได้ทราบมาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการวางแผนเลย นั่นก็คือเรื่องของ “การทบทวนและปรับปรุงแผนการเงิน”
เหตุผลที่เราควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็เพราะ การวางแผนการเงินนั้น ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำแค่ครั้งเดียวก็จบ โดยไม่ต้องทำอะไรต่อ เนื่องจากแม้เราจะวางแผนไว้ได้อย่างดีเยี่ยมแค่ไหนก็ตาม แผนนั้นก็ยังมีโอกาสผิดพลาด จากเรื่องที่เราไม่คาดคิด หรือจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งจาก ปัจจัยภายใน (ปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวเราเอง) และ ปัจจัยภายนอก (ปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ เงื่อนไขกฏระเบียบต่างๆ) อาทิ
- เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตที่กระทบกับรายได้หรือรายจ่าย
หากเป็นด้านรายได้ก็เช่น ตกงาน ถูกเลิกจ้าง ยอดขายลด กำไรหดหาย ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ ส่วนด้านรายจ่าย ก็อาจจะเกิดรายจ่ายพิเศษ เช่น จากการมีบุตรโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือที่บ้านหรือคนอื่นๆ ในครอบครัว เพราะเกิดเจ็บป่วย หรือทุกข์ร้อนเรื่องเงิน หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ที่ทำให้มีรายจ่ายที่สูงขึ้น ทำให้เราอาจจะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้แต่แรกได้ - เกิดการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนจากการลงทุน
ในที่นี้หมายถึงกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ไม่ใช่แค่สภาวะในช่วงสั้นๆ ตัวอย่างเช่น การถูกจัดเก็บภาษีจากผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งเดิมไม่มีภาระภาษีดังกล่าว ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ลดลง หรือ สภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ธุรกิจส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยเติบโตจนมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเติบโตเริ่มโตช้าลง อาจส่งผลทำให้ผลตอบแทนคาดหวังระยะยาวโดยเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทย ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้แผนการลงทุนที่เราเคยวางแผนไว้ อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เพียงพอในการบรรลุเป้าหมาย และจำเป็นต้องมีการปรับแผนการเงินใหม่ - เกิดการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หรือนโยบายต่างๆ
เช่น อาจมีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำนาญประกันสังคม หรือกฎระเบียบเกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทำให้เงินที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต กลับได้น้อยลง หรือได้รับช้าออกไป หรือการที่บลจ. ซึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนรวม ประกาศปิดกองทุนที่เรากำลังวางแผนลงทุนอยู่ ด้วยข้อจำกัดในการบริหารจัดการ ทำให้เราไม่สามารถลงทุนต่อได้ เป็นต้น
จาก 3 ตัวอย่างข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะสามารถลงมือทำตามแผนการเงินที่วางไว้ได้โดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไร เพราะมักจะมีเรื่องที่เราคาดไม่ถึง มากระทบกับแผนของเราได้เสมอ เราจึงต้องมีการทบทวนแผน เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมอยู่เป็นระยะ อย่างน้อยก็ปีละ 1-2 ครั้ง หรือหากเป็นเรื่องฉุกเฉิน ที่ส่งผลกระทบรุนแรง ก็อาจต้องมีการปรับปรุงแผนอย่างทันทีทันใด ซึ่งอาจถึงขั้นต้องรื้อแผนเดิม แล้ววางแผนกันใหม่ทั้งหมดก็เป็นได้
ควรทบทวนและปรับปรุงอะไรบ้าง
สำหรับตัวผมเองนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องทบทวนแผน (ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นหลังจากที่ลงมือทำตามแผนไปแล้วประมาณ 1 ปี) สิ่งที่ผมจะทำให้กับลูกค้าที่รับผิดชอบดูแลอยู่ (และทำกับแผนการเงินของตัวเองด้วย) จะมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องหลัก ได้แก่
1. ทบทวนเรื่องความเป็นไปในชีวิต และข้อมูลทางการเงิน
สิ่งแรกที่ผมจะทำเมื่อทบทวนแผน ก็คือการอัพเดตเรื่องชีวิต และข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น เรื่องงาน ว่ายังทำอยู่ที่เดิมหรือไม่ รายได้และสวัสดิการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ยังมีความสุขกับการทำงานนี้ หรือเริ่มคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนงานบ้างแล้ว มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่
เรื่องครอบครัว ทั้งด้านความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตภายในครอบครัว เรื่องสุขภาพ ว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ดูแลตนเองอย่างไรบ้าง ทั้งนี้รวมไปถึงเรื่องสัพเพเหระอื่นๆ เช่น ทัศนคติและความสุขในการดำเนินชีวิต ว่ายังมีความสุขกับชีวิตดีอยู่หรือไม่ ด้วยเช่นกัน
สำหรับข้อมูลทางการเงิน ผมกับลูกค้า ก็จะช่วยกันอัพเดตข้อมูล รายรับ รายจ่าย ทรัพย์สิน และหนี้สิน รวมถึงกรมธรรม์ประกันต่างๆ ว่ายังมีรายการเหมือนเดิมหรือไม่ รายการไหนหายไปแล้ว หรือมีรายการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างไร ซึ่งผมก็จะนำข้อมูลส่วนนี้มาจัดทำงบการเงิน และคำนวณสัดส่วนการเงินต่างๆ อีกครั้ง เพื่อประเมินสุขภาพทางการเงินของลูกค้าในปีนี้ เทียบกับปีที่แล้ว ว่าดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร
ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับเวลาที่เราไปตรวจร่างกายประจำปี แล้วคุณหมอจะรายงานผลตรวจสุขภาพของเราให้ได้ทราบ อย่างไรก็อย่างนั้นเลยล่ะครับ
2. ทบทวนเป้าหมายและแผนปฏิบัติการ
เพื่อเป็นการตรวจสอบว่า เรายังต้องการเป้าหมายนั้นอยู่หรือไม่ หรือมีเป้าหมายอื่นเพิ่มเข้ามา ซึ่งก็อาจจะต้องตัดหรือเลื่อนแผนปฏิบัติการของบางเป้าหมายที่ลดความสำคัญลง หรือที่ไม่ต้องการแล้วออกไป
หากมีเป้าหมายเรื่องใหม่ ก็คงต้องมาวางแผนเพิ่ม แล้วเพิ่มแผนปฏิบัติการใหม่เข้าไป ส่วนแผนปฏิบัติการเดิมของเป้าหมายเดิม ก็ต้องตรวจเช็คว่า ได้ทำตามแผนที่ตกลงกันไว้ครบถ้วนหรือไม่ มีเรื่องใดที่ทำเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว กำลังทำอยู่ หรือไม่ได้ทำ
หากไม่ได้ทำ ก็ต้องตรวจสอบว่า เกิดเหตุการณ์ หรือปัญหาอะไรขึ้น ติดขัดตรงไหน ทำไมถึงไม่ได้ทำ หรือไม่สามารถทำได้ เพื่อนำข้อมูลนั้นมาใช้ปรับแผน และหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน สำหรับแผนปฏิบัติการทั้งหมด ที่จะเริ่มลงมือทำ หรือทำต่อในปีนี้
3. ทบทวนแผนคุ้มครองความเสี่ยงและแผนการลงทุน
ในส่วนของแผนคุ้มครองความเสี่ยง ก็ต้องมาประเมินกันใหม่ว่า มีภาระทางการเงิน หรือความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่ เช่น จากเงินกู้รายการใหม่ หรือค่าเลี้ยงดูครอบครัวที่เพิ่มขึ้น
หากความคุ้มครองที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว ก็อาจจะต้องพิจารณาทำประกันเพิ่ม หรือในทางตรงกันข้าม หากภาระการเงินลดลงมากแล้ว ก็อาจจะพิจารณาลดหรือหยุดความคุ้มครองของบางกรมธรรม์ เพื่อประหยัดรายจ่ายค่าเบี้ยประกัน หรือกระทั่งอาจเวนคืนบางกรมธรรม์เพื่อนำเงินมาบริหารจัดการด้านอื่นแทนก็ได้เช่นกัน ซึ่งก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ประกอบกับการตัดสินใจของลูกค้าอีกครั้ง
ในส่วนของแผนการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของแผนของลูกค้าส่วนใหญ่
สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การสรุปภาพรวมของการลงทุนในปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ทั้งในส่วนของสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดสินทรัพย์แต่ละประเภท ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนและสถานการณ์ของสินทรัพย์เป็นอย่างไร และในส่วนของสิ่งที่เราได้ลงทุนไป ว่าเราใช้เงินลงทุนไปทั้งหมดเท่าไหร่ ได้ผลกำไรหรือขาดทุนเป็นจำนวนกี่บาท คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณกี่เปอร์เซ็น
ประเมินแล้วถือว่าเราทำได้ดีกว่า หรือแย่กว่าที่วางแผนไว้ หรือเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยแล้ว เราทำได้ดีกว่า หรือแย่กว่าอย่างไร ที่ทำได้ดีหรือทำได้แย่ เกิดจากอะไร โดยประเมินจากช่วงเวลาที่ลงทุน และเครื่องมือที่เราได้เลือกมาลงทุน เช่นถ้าเป็นกองทุนรวม ก็คือการตรวจสอบว่าผลการดำเนินงานของกองทุนที่แนะนำให้ลงทุนไป ดีหรือไม่ดีอย่างไร เมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน
จากนั้น ก็จึงมาตัดสินใจร่วมกันว่า จะคงแผนลงทุนเดิมไว้ หรือจะปรับแผนลงทุนเพิ่มเติม เช่น เปลี่ยนกองทุนบางกองเป็นกองทุนอื่นที่เชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เพิ่มหรือลดเงินลงทุนจากเดิม หรือจะปรับพอร์ตการลงทุนของเงินเก่าที่ลงทุนไว้แล้ว ให้เป็นสัดส่วนใหม่หรือไม่ เพื่อให้ยังมีโอกาสไปถึงเป้าหมายที่วางแผนไว้ให้ได้มากที่สุด
4. ทบทวนสมมติฐานและเงื่อนไขต่างๆ ที่ใช้ในการวางแผน
เรื่องสุดท้ายคือ เราจำเป็นต้องทบทวนสมมติฐานที่ใช้ สำหรับการวางแผน เช่น เรื่องของผลตอบแทน ว่าจะยังควรใช้ผลตอบแทนคาดหวังของแต่ละสินทรัพย์เท่าเดิม หรือควรปรับเปลี่ยนหรือไม่ หากต้องปรับ ควรปรับเป็นเท่าไร (สำหรับเรื่องนี้ทาง Avenger Planer เราจะทบทวนและตัดสินใจร่วมกันภายในทีม เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับ Planner ทุกคนในทีม)
นอกจากนั้นยังมีสมมติฐานในเรื่องอื่นๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนและรายได้ รวมไปถึงการอัพเดตกฎระเบียบ และเงื่อนไขทางการเงินใหม่ๆ เช่น เงื่อนไขทางภาษี ให้เป็นปัจจุบันด้วยเช่นกัน
บทสรุป
จะเห็นได้ว่า ในการวางแผนการเงินนั้น แม้ในครั้งแรกจะวางแผนไว้ดีแค่ไหน ก็มีเรื่องให้ผิดพลาดหรือเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องหมั่นทบทวน และพร้อมที่ปรับเปลี่ยนแผนที่ได้เคยวางไว้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ให้ได้มากที่สุด
กระบวนการนี้ยังมีประโยชน์อื่นด้วย คือเป็นโอกาสที่นักวางแผนการเงิน และลูกค้า จะได้มาพบปะกันทุกๆ ปี เพื่อเป็นการอัพเดตความเป็นไปต่างๆ ได้ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น ได้พูดคุยถึงผลลัพธ์จากการดำเนินการตามแผน ว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับชีวิตอย่างไร
ส่งผลให้ทั้งตัวลูกค้าเอง ก็จะได้เห็นถึงประโยชน์ของการวางแผนและการลงมือทำตามแผนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเกิดความสนิทสนมและความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวนักวางแผนมากขึ้น
ขณะที่ตัวนักวางแผนการเงินเอง ก็จะได้รับความสุขและความภาคภูมิใจในตนเอง เพราะได้เห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ชีวิตของลูกค้าเจริญก้าวหน้าขึ้น ก็จะยิ่งมีแรงและกำลังใจที่จะให้บริการที่ดีที่สุด แก่ลูกค้าอย่างเต็มกำลังความสามารถ
การทบทวนและปรับปรุงแผนการเงินอย่างสม่ำเสมอ จึงมีคุณค่า และเป็นที่สำคัญยิ่ง ที่ไม่ควรมองข้ามครับ