หากเกษียณแล้วมีเงินไม่พอ… จะทำอย่างไร ?
23/09/2019การทบทวนและปรับปรุงแผนการเงิน : สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้
10/11/2019ขึ้นชื่อว่าแผน อันเป็นสิ่งที่คิดและเตรียมการไว้ล่วงหน้า ย่อมมีโอกาสผิดพลาดได้ เพราะไม่มีใครรู้อนาคต
กระทั่งแผนที่มีความสำคัญมากๆ และเราตั้งใจวางแผนให้สมบูรณ์แบบที่สุด ก็ยังคงมีโอกาสผิดพลาดได้อยู่ดี แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า การวางแผนเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญนะครับ
สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการมีแผนที่ดี
ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเคยเป็นพลเอกของกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เคยกล่าวไว้ว่า
In preparing for battle, I have always found that plans are useless, but planning is indispensable.
ซึ่งผมแปลเป็นไทยว่า
ในการเตรียมตัวสำหรับศึกสงคราม แผนการนั้นช่างไร้ประโยชน์ กระนั้นการวางแผนก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ
เหตุใดผู้ที่เจนจัดในการทำสงคราม จึงกล่าวเช่นนั้น ?
สำหรับผมแล้ว ผมเข้าใจว่า…
แผนการนั้นเมื่อนำไปปฏิบัติจริง มันมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้เสมอ เราจึงไม่ควรยึดติดกับแผนที่จัดทำขึ้นอย่างตายตัว แต่ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน
โดยหากในกระบวนการวางแผน เราได้มีการวิเคราะห์คาดการณ์ถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นไว้เป็นอย่างดี เมื่อสถานการณ์จริงผิดไปจากแผน ก็จะมีโอกาสที่เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นได้
เพราะเราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ของแผนการนั้นอย่างถ่องแท้
ตัวอย่างจากเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว
หากเรามีโอกาสได้วางแผนการไปท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยตนเอง และระหว่างวางแผนได้เคยผ่านการคิดไตร่ตรองถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องสภาพอากาศ การเดินทาง สถานที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว งบประมาณ ฯลฯ
เมื่อไปเที่ยวจริงๆ แล้วเกิดสภาพอากาศไม่อำนวย หรือสถานที่เที่ยวที่ตั้งใจจะไปมีการปิดปรับปรุงพอดี ก็จะมีโอกาสสูงที่เราจะสามารถปรับเปลี่ยนแผนให้ทริปนั้นยังเป็นทริปที่ดีได้
นั่นเพราะในกระบวนการวางแผนนั้นเราเข้าใจ “ที่มาที่ไป” ของแผนการท่องเที่ยวที่เราวางไว้เป็นอย่างดี เราไม่ได้แค่เที่ยวไปตามโปรแกรมที่มีผู้อื่นจัดไว้ให้เท่านั้น
การวางแผนการเงินก็เช่นกัน
สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่เพียงการมีแผนการเงินที่สมบูรณ์แบบ แต่ควรต้องมีความเข้าใจในกระบวนการวางแผน และเหตุผลของการเลือกวิธีการต่างๆ ในแผนด้วย
ความเข้าใจในที่มาที่ไปของแผนการเงินนี้ จะส่งผลให้สามารถเริ่มต้นทำตามแผนได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมีประโยชน์กว่าการได้แผนที่จัดทำขึ้นอย่างไร้ที่ติ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ลงมือทำตามแผน เพราะไม่มั่นใจในแผนฉบับนั้น
ซึ่งในการนำเสนอแผนการเงินนั้น นักวางแผนการเงินที่ดี จึงพยายามที่จะอธิบายแผนการเงินแก่ลูกค้าอย่างละเอียด ไม่ใช่เพียงบอกสิ่งที่ต้องทำ แล้วให้ท่านไปทำตามเท่านั้น
แต่นักวางแผนการเงินที่ดีจะต้องการให้ท่านเข้าใจในแผนการเงินของตนเองมากที่สุด เนื่องจากท่านต้องเป็นผู้ทำตามแผนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่
จะมั่นใจในแผนได้ ต้องมั่นใจในกระบวนการวางแผน
การทำตามแผนโดยไม่ได้เข้าใจถึงที่มาของแผนอย่างเพียงพอ คงเปรียบเสมือนการที่ท่านมีเป้าหมายที่ต้องการและกำลังจะเดินทางไปบนเส้นทางที่ยาวไกล แล้วท่านเลือกที่จะหลับตาเดิน โดยให้นักวางแผนการเงินของท่านจูงมือนำไป
วันหนึ่งเมื่อเผชิญกับเส้นทางที่ลดเลี้ยวและขรุขระ ท่านอาจเริ่มไม่สบายใจที่จะเดินตามไป เพราะไม่รู้ว่านักวางแผนการเงินของท่านคิดอะไรพลาดไปหรือไม่ ท่านถึงต้องมาพบกับเส้นทางเช่นนี้
แต่หากท่านมีความเข้าใจในที่มาที่ไปของแผนเป็นอย่างดี ด้วยการตั้งใจรับฟัง คิดตาม และสอบถามกับนักวางแผนการเงินของท่านจนกระจ่างถึงที่มาที่ไปของแผน การเดินทางนั้นก็จะไม่ใช่การหลับตาเดินอีกต่อไป
แต่จะเป็นการที่ท่านและนักวางแผนการเงินของท่าน จับมือเดินเคียงคู่กันไป ช่วยกันระแวดระวังในปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เพลี่ยงพล้ำ หากท่านเกิดพลาดก็มีนักวางแผนการเงินซึ่งเป็นดั่งเพื่อนคอยช่วยประคองไว้ หรือหากนักวางแผนการเงินพาท่านเดินไปในเส้นทางที่ท่านเห็นว่าไม่เหมาะ ท่านก็สามารถยับยั้ง และชวนให้มาตั้งหลักกันใหม่ได้ทันท่วงที
การเดินทางแบบนี้ อาจเป็นการเดินทางที่ทำให้ท่านสามารถไปได้ไกล และมีความสบายใจขึ้นกว่าเดิมมาก
บทสรุป
ผมจึงอยากใช้บทความนี้ ในการเชิญชวนให้ท่านได้สละเวลา เพื่อร่วมเรียนรู้กระบวนการในการวางแผนต่างๆ ร่วมกับนักวางแผนการเงินของท่านให้ถ่องแท้
อย่าเพียงทำตามสิ่งที่เขาบอกให้ท่านทำ แต่ขอให้เข้าใจเหตุผล ว่าเพราะเหตุใด จึงต้องทำเช่นนั้นด้วย
หากทำได้เช่นนี้ ผมมั่นใจว่าท่านจะมีความพร้อม ที่จะลงมือทำตามแผนที่ท่านมีความเข้าใจและมั่นใจ และเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด ท่านจะสามารถทำความเข้าใจเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงนั้น และสามารถที่จะร่วมกันกับนักวางแผนการเงินของท่าน ในการปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดีครับ