ปรับแนวคิดและสร้างเสริมพฤติกรรมทางการเงินที่ดี… ต้อนรับปีใหม่ 2019
30/12/2018ค่าใช้จ่ายพิเศษหลังเกษียณ ที่มักถูกมองข้าม
18/06/2019ในการวางแผนการเงินแบบองค์รวมนั้น หนึ่งในปัญหาที่มักต้องเจออยู่เสมอก็คือ การไม่สามารถบรรลุหลาย ๆ เป้าหมาย หรือไม่สามารถทำตามแผนการเงินทุกเรื่องให้สำเร็จไปพร้อมกันได้ โดยเฉพาะกับคนที่มีเป้าหมาย หรือแผนที่ต้องทำหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน เช่น ต้องลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณอายุ เก็บเงินเพื่อการศึกษาบุตร ซื้อบ้าน ซื้อรถ ทำประกันชีวิต/ประกันสุขภาพให้ทั้งตนเองและครอบครัว ซึ่งทำให้ต้องจัดสรรเงินไปในแต่ละเป้าหมายรวมกันแล้ว มากเกินกว่ากำลังที่จะทำได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว (บางกรณีอาจพบว่าสามารถโหมทำในช่วงสั้น ๆ ได้ แต่หากทำต่อเนื่องไปนาน ๆ จะไม่ไหวแน่นอน)
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะควรหาทางออกอย่างไรดี?
ก่อนอื่นเลยอยากให้เข้าใจก่อนว่า สถานการณ์แบบนี้ ถือเป็น สถานการณ์ปกติ ของการวางแผนการเงินองค์รวมครับ
การทำตามแผนเพื่อให้บรรลุทุกเป้าหมายไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะเป้าหมาย และขนาดความต้องการ มีได้ไม่จำกัด แต่ทรัพยากรที่เรามี คือ เงิน เวลา ความสามารถ ฯลฯ นั้นมีอยู่อย่างจำกัด
ดังนั้น การที่ต้องยอมสละบางอย่างออกไปบ้าง จึงอาจเป็นเรื่องที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการเงินในภาพรวมของเรา ยังสามารถก้าวต่อไปได้ ซึ่งอาจจะดีกว่าการพยายามทำทุกเรื่องให้สำเร็จ แต่กลับส่งผลร้าย เพราะเป็นการหักโหมจนทำให้การเงินมีปัญหาเสียเอง
ในการจัดการกับปัญหานี้นั้น ผมขอแนะนำวิธีการหลัก ๆ ไว้ 3 วิธี ดังนี้ครับ
1. ลองปรับรายละเอียดของแผน
ถ้าวางแผนแล้วบรรลุทุกเป้าหมายไม่ได้ อย่างแรกที่อยากแนะนำให้ทำก่อน คือลองปรับเปลี่ยนรายละเอียดของแผนบางแผน เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอในการดำเนินการ ซึ่งทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
1.1 เลื่อนบางเป้าหมายออกไป
เมื่อเลื่อนเป้าหมายออกไป ก็อาจจะช่วยให้มีเวลาเก็บเงินนานขึ้น ออมเพิ่มต่อปีลดลง รวมถึงอาจทำให้สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นจนทำให้คาดหวังผลตอบแทนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความสำคัญของแต่ละเป้าหมายด้วย เช่น เป้าหมายเก็บเงินเพื่อการศึกษาลูก ก็คงไม่สามารถเลื่อนเวลาเรียนออกไปได้
1.2 เลื่อนการเริ่มต้นทำตามแผนออกไป หรือเริ่มน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ ทยอยทำมากขึ้น
การชะลอการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายบางเป้าออกไปก่อน หรือใช้วิธีเริ่มต้นด้วยจำนวนเงินน้อย ๆ แม้จะทำให้ต้องเก็บเงินมากขึ้นในภายหลัง แต่ก็จะทำให้สภาพคล่องโดยรวมดีขึ้น เนื่องจากในกรณีทั่ว ๆ ไป รายได้ของเรามีโอกาสสูงขึ้นได้ในอนาคต ทำให้เราสามารถออมหรือใช้จ่ายได้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งก็อาจจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้เหมือนกัน
1.3 ลดขนาดเป้าหมาย
แม้เราอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “จงอย่าลดขนาดของเป้าหมาย แต่ให้เพิ่มขนาดของความพยายามแทน” แต่สำหรับการวางแผนการเงินที่เน้นความรอบคอบระมัดระวังนั้น เราควรวางแผนจากสิ่งที่เป็นไปได้ที่สุดจากการประเมิน ณ ปัจจุบัน เป็นหลัก โดยไม่ฝากความหวังไว้กับอนาคตที่ยังไม่แน่นอนมากเกินไป
เราจึงอาจจำเป็นต้องลดขนาดของบางเป้าหมายลง เหลือเพียงขนาดที่เป็นขั้นต่ำที่สุด ซึ่งตอบโจทย์ความจำเป็นที่แท้จริงให้ได้เสียก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ละทิ้งความพยายาม เพราะหากมุ่งมั่นแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจริง เราก็ยังสามารถมาปรับเปลี่ยนแผนได้ในระหว่างทาง
1.4 แบ่งเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายย่อย ๆ
สำหรับบางเป้าหมาย ที่มีระยะเวลาการถอนเงินมาใช้นานหลายปี เช่น เป้าหมายการศึกษาบุตร หรือเป้าหมายเกษียณอายุ การแบ่งมูลค่าเป้าหมายดังกล่าวออกเป็นหลายก้อน แทนที่จะมองเป็นเงินก้อนใหญ่ ๆ เพียงก้อนเดียว อาจช่วยให้มีทางเลือกในการบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น
เนื่องจากเดิม เรามองว่าต้องเตรียมเงินให้ครบพร้อมกันทั้งก้อนในทีเดียว จึงพบปัญหาว่า มีเวลาในการเตรียมการน้อย พอเวลาน้อยก็ไม่สามารถเลือกทางเลือกการลงทุนที่เสี่ยงได้ ทำให้ต้องวางแผนด้วยผลตอบแทนคาดหวังที่ไม่สูงนัก เมื่อคำนวณเป็นเงินที่ต้องออมในแต่ละปี ก็มักจะกลายเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้ออมไม่ไหว
แต่หากเราแบ่งเป้าหมายหรือเงินก้อนใหญ่นั้น ออกเป็นเป้าหมายย่อย ๆ ตามลำดับเวลาที่จะมีการใช้เงินนั้นจริง ๆ เราอาจจะสามารถวางแผนสำหรับเงินก้อนหลัง ๆ ซึ่งมีระยะเวลาลงทุนยาวกว่าได้ยืดหยุ่นขึ้นกว่าเดิม เช่น อาจเสี่ยงสูงขึ้นได้บ้าง จนสามารถทำให้ใช้เงินออมหรือเงินลงทุนโดยรวมน้อยลงได้
1.5 เพิ่มอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง
สำหรับเป้าหมายที่มีระยะเวลาเก็บเงินยาวนาน (เช่น มากกว่า 10 ปีขึ้นไป) การเพิ่มผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องออมในแต่ละปีลงได้ แต่ก็ถือเป็นทางเลือกที่เสี่ยงและค่อนข้างอันตราย เนื่องจากถ้าคาดหวังผลตอบแทนไว้สูงมาก ๆ (เช่น ตั้งแต่ 10% ต่อปีขึ้นไป) ก็อาจจะมีโอกาสพลาดมากขึ้น รวมถึงจะต้องเผชิญความผันผวนของผลการลงทุนที่สูงขึ้น จนทำให้รับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นระหว่างทางไม่ไหวด้วยเช่นกัน
ทางเลือกนี้จึงเหมาะกับการวางแผนที่เดิมนั้นคาดหวังผลตอบแทนไม่มากนัก (เช่น เฉลี่ย 4-5% ต่อปี) แล้วอาจขยับผลตอบแทนคาดหวังให้สูงขึ้นเล็กน้อย (เช่น ปรับเป็น 6-7% ต่อปี) ก็อาจจะยังพอทำได้ โดยไม่เป็นการประมาทจนเกินไป
ทั้ง 5 วิธีการข้างต้น ถือเป็นวิธีการปรับรายละเอียดของแผน เพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายได้หลายเป้าหมายมากขึ้น แต่หากปรับแล้วก็ยังไม่สามารถทำได้ หรือไม่สามารถปรับได้จริง ๆ ก็อาจจะต้องยอม “สละ” เป้าหมายบางอย่างทิ้งไป ด้วย 2 แนวทางต่อไปนี้
2. ตัดบางเป้าหมายทิ้งไป
เมื่อเรายอมรับว่า ไม่สามารถทำตามแผนเพื่อให้บรรลุทุกเป้าหมายพร้อมกันได้จริง ๆ เราอาจจำเป็นที่ต้องจัดเรียงแผนตามความจำเป็นหรือความสำคัญ จากมากที่สุด ไปจนถึงน้อยที่สุด แล้วเลือกที่จะไม่ทำบางแผน ซึ่งมีความสำคัญหรือชัดเจนน้อยที่สุดไปก่อน เช่น
- แผนซื้อรถ (ยอมไม่ซื้อ แล้วใช้ขนส่งสาธารณะก่อนได้ไหม)
- แผนซื้อบ้าน (ยอมไม่ซื้อ แล้วเช่าอยู่ไปก่อน หรืออยู่กับพ่อแม่ไปก่อนได้ไหม)
- แผนการสร้างหลักประกันสุขภาพ (ยังไม่ทำ แล้วใช้สวัสดิการอื่น ๆ ที่มีทดแทนไปก่อนได้ไหม)
ทั้งนี้ทั้งนั้น การยอมสละบางเป้าหมายนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะความจำเป็นและการให้ความสำคัญของแต่ละเป้าหมาย ของคนแต่ละคนแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
3. ทำทุกเป้าหมาย แต่ทำเพียงบางส่วน
ถ้าเราไม่ต้องการตัดเป้าหมาย หรือแผนใดออกไปเลย ก็อาจจะใช้วิธีทำทุกแผนเหมือนเดิม แต่ทำไม่เต็ม 100% ในบางแผน (หรืออาจจะทุกแผน)
ส่วนจะทำลดลงมากหรือน้อย ก็อาจจะขึ้นอยู่กับความสำคัญของแต่ละแผน เช่น
- แผนเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน หรือแผนปลดหนี้ อาจจะต้องทำเต็มที่ 100% เหมือนเดิม เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำในขณะนี้
- แผนประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ อาจจะทำความคุ้มครองแค่ 50% ของแผนก่อน เพราะเป็นความเสี่ยงที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยก็ทำไว้ก่อนส่วนหนึ่งเท่าที่สามารถจ่ายไหว
- แผนลงทุนระยะยาว เช่นแผนลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ อาจจะเริ่มออมเพียงเท่าที่ออมไหว และไม่ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องไปก่อน เพราะยังมีเวลาเตรียมตัวอีกพอสมควร เมื่อใดก็ตามที่แก้หนี้และสะสมเงินสำรองฉุกเฉินได้มากพอแล้ว ก็ค่อยรีบกลับมาทำตามแผนเกษียณให้เต็มที่อีกครั้ง เป็นต้น
บทสรุป
จะเห็นว่า การวางแผนการเงินองค์รวมนั้น ไม่มีอะไรที่ตายตัว สามารถทบทวน แก้ไข ปรับเปลี่ยนได้เสมอ ตามโจทย์ชีวิตและปัจจัยต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แผนการเงินที่เราวางไว้ จึงไม่มีทางที่จะถูกต้อง 100% เพราะหลาย ๆ เรื่องก็อาศัยการคาดคะเน และการตั้งสมมติฐานขึ้นตามความเหมาะสมเท่านั้น
การวางแผนการเงินองค์รวม จึงไม่ใช่เพียงกิจกรรมที่ทำขึ้นครั้งเดียว แล้วได้แผนที่สมบูรณ์แบบจนนำไปใช้ได้ตลอด แต่เป็นกระบวนการที่ต้องทบทวนและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือการเข้าใจและยอมรับในสัจธรรมที่ว่า “ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง” เราจึงสามารถปรับเปลี่ยนแผนการเงินให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการที่ถูกต้องได้เสมอ
ขณะเดียวกัน การทำไม่ได้ทุกแผน ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่วางแผน หรือจะไม่ดำเนินการตามแผนด้วยเช่นกันนะครับ