สถานการณ์การลงทุน และแนวทางการจัดการ ณ 25 ต.ค. 61
25/10/2018จัดการอย่างไร… หากไม่สามารถทำตามแผนได้ทุกเป้าหมาย
24/01/2019สวัสดีปีใหม่ 2562
ในโอกาสปีใหม่ พ.ศ. 2562 นี้ ทีมงาน Avenger Planner ทุกคน ขอสวัสดีปีใหม่ท่านลูกค้าที่เคารพ และท่านผู้อ่านทุกท่าน
พวกเราขออวยพรให้ท่านและครอบครัวมีความสุข ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในทุก ๆ สิ่งดี ที่มุ่งหวังตั้งใจ
แม้นมีอุปสรรคใด ๆ ก็ขอให้ท่านสามารถผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นได้ด้วยสติปัญญา และความเพียรที่ดี
พร้อมกันนี้ขอให้ท่านมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงทั้งกายใจ ตลอดทั้งปี 2562 นี้และตลอดไป
ทีมงาน Avenger Planner
ชวน “ตั้งหลัก” ทางการเงินให้ดี เริ่มต้นตั้งแต่ปีใหม่นี้
ช่วงเทศกาลปีใหม่นั้น มักจะอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการเริ่มต้นทำสิ่งดี ๆ
พวกเราชาว Avenger Planner ในฐานะของผู้ให้บริการวางแผนทางการเงิน ก็อยากขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนทุกท่าน ให้ได้ร่วมตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution ที่จะปรับแนวคิดและสร้างเสริมพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสังเกตเห็น จากการทำงานร่วมกับลูกค้ากว่าหนึ่งพันท่าน ในตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของการก่อตั้งทีม
จากการทำงานของเรานั้น เราพบว่ามีหลักคิดและพฤติกรรมเชิงบวกบางประการ ที่ลูกค้าหลายท่านได้นำมาปฏิบัติเป็นประจำ ซึ่งได้ช่วยส่งเสริมให้ท่านเหล่านั้น มีสุขภาพทางการเงินที่ดี มีความวิตกกังวลในเรื่องการเงินน้อยลง และมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เราจึงขอนำแนวปฏิบัติที่ดีเหล่านั้น มาบอกเล่าแทนของขวัญปีใหม่ ให้ทุกท่านได้พิจารณานำไปประยุกต์ใช้ตามที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม
ซึ่งเราเชื่อเหลือเกินว่า หากท่านได้มีโอกาสนำแนวคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้แล้ว ท่านจะมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักวางแผนทางการเงินของพวกเราเช่นกัน
5 หลักคิดและพฤติกรรมเชิงบวกเหล่านั้น ได้แก่…
1. มีการจัดทำงบประมาณรายเดือนล่วงหน้า 12 เดือน
การจัดทำงบประมาณหรือ Budgeting นั้น คือการกำหนดวงเงินให้กับค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ “ไว้ล่วงหน้า” และพยายามวางแผนใช้จ่ายให้ได้ตามงบประมาณนั้น ซึ่งความถี่และระยะเวลา ที่พวกเราเห็นว่าเป็น Best Practice หรือแนวปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างยิ่งนั้น คือการจัดทำงบประมาณเป็นรายเดือน และทำล่วงหน้าเป็นเวลา 12 เดือนนับจากปัจจุบัน เพราะค่าใช้จ่ายบางรายการนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ แต่เกิดขึ้นเพียงบางเดือนเท่านั้น
การได้มีโอกาสครุ่นคิด และวางแผนค่าใช้จ่ายไป 12 เดือนข้างหน้า จะทำให้เรามีโอกาสได้มองเห็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง ว่าช่วงใดจะมีเงินเหลือ ช่วงใดจะมีเงินขาด เมื่อเห็นก่อนเราจึงสามารถวางแผนจัดการได้ก่อน เช่น
- ช่วงที่มีเงินเหลือ เราจะได้ไม่ประมาทใช้จ่ายเงินเหล่านั้นจนหมด แต่สามารถเก็บสำรองไว้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในเดือนที่เงินจะขาดได้ โดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจัดการภายหลัง ซึ่งหนี้เหล่านั้นมักจะมีภาระดอกเบี้ยและต้องผ่อนชำระยืดเยื้อยาวนานออกไป
- รายจ่ายใหญ่ ๆ บางรายการ เช่น เบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่าเล่าเรียนบุตร ฯลฯ จะถูกมองเห็นล่วงหน้า ทำให้เรามีโอกาสสะสมเงินเพื่อเตรียมไว้ชำระค่าใช้จ่ายรายการนั้นได้ก่อน ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เราเห็นจากลูกค้าหลายท่าน คือการหักออมเงินรายเดือนไว้ เพื่อนำไปจ่ายเบี้ยประกัน หรือค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่มีแผนจะจ่ายช่วงปลายปี เป็นต้น
เมื่อมีงบประมาณที่จัดทำไว้ดีพอควรแล้ว หากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิต เรายังสามารถแก้ไขงบประมาณเดิมที่ทำไว้ เพื่อจะได้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น จะส่งผลกระทบอย่างไร เช่น หากมีการเปลี่ยนงานระหว่างปี และมีรายได้เพิ่มขึ้น เราก็สามารถเห็นได้ก่อน ว่าเงินจะเหลือเท่าไร เพื่อที่จะได้สามารถจัดสรรไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เป็นต้น
ซึ่งเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดทำงบประมาณ จะช่วยให้ท่านเข้าใจสถานการณ์ทางการเงินของตนเองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และลดเรื่อง Surprise เชิงลบทางการเงินไปได้อย่างมาก
ซึ่งสำหรับท่านที่สนใจเริ่มต้นจัดทำงบประมาณด้วยตนเอง ท่านสามารถศึกษาได้จากแนวทางใน ลิ้งค์นี้ หรือหากท่านเป็นลูกค้า Avenger Planner อยู่ ท่านสามารถสอบถามและขอคำแนะนำจาก Planner ของท่านได้ครับ
2. ไม่ก่อหนี้คุณภาพต่ำ ถ้ามีต้องเร่งกำจัดออก
โดยทั่วไปคนเราก่อหนี้ด้วย 3 เหตุผลหลัก คือ
- เพื่อความสะดวกสบาย เช่น การใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า โดยไม่ต้องพกเงินสดติดตัวจำนวนมาก ๆ
- เพื่อเหตุจำเป็นในยามฉุกเฉินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น จ่ายค่ารักษาพยาบาล
- เพื่อการบริโภค โดยใช้เงินอนาคต อันเนื่องจากมีเงินสดไม่เพียงพอ
2 เหตุผลแรกนั้น ยังเป็นเหตุผลที่พอยอมรับได้ แต่การก่อหนี้ด้วยเหตุผลที่ 3 นั้น หากไม่ระมัดระวัง เราอาจเริ่มได้ใช้แหล่งเงินกู้ที่มีคุณภาพต่ำ เช่น บัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคล และอาจลุกลามไปถึงการก่อหนี้นอกระบบ
หนี้คุณภาพต่ำเหล่านี้ มักมีลักษณะร่วมกันคือ “มีอัตราดอกเบี้ยสูง” ขณะที่มักจะเสนอ “ค่างวดขั้นต่ำที่ไม่มาก” ซึ่งฟังดูดี คือกู้แล้วก็ผ่อนไม่หนัก แต่ในความเป็นจริงนั้น กลไกเช่นนี้จะส่งผลให้ค่างวดที่จ่ายไปในแต่ละเดือน จะเป็นการจ่ายในส่วนของดอกเบี้ยเป็นเงินเกือบทั้งหมดของค่างวด โดยที่สามารถลดเงินต้นที่ค้างอยู่ได้น้อยมาก ทำให้หนี้บางก้อนแม้จะกู้มาไม่มาก แต่ก็อาจจะใช้เวลาผ่อนชำระหลายปี และต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมกันมาก จนเกือบจะเท่ากับเงินต้น หรือบางกรณีอาจจะสูงกว่าเงินต้นที่กู้มาด้วยซ้ำ
ดังนั้น หากท่านมีการก่อหนี้ประเภทนี้อยู่ การกำจัดหนี้เหล่านี้ออกจากชีวิต และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก ก็จะช่วยให้ท่านไม่ต้องมีภาระทางการเงินที่หนักและไม่คุ้มค่า
ซึ่งในทางปฏิบัติ หากท่านมีหนี้ที่ต้องผ่อนชำระหลายรายการ และยังมีเงินเหลือหลังจากจ่ายขั้นต่ำหนี้ทุกก้อนแล้วนั้น ท่านสามารถนำเงินที่เหลือนั้น มาเร่งชำระหนี้คุณภาพต่ำเหล่านี้ให้หมดลงก่อน ก็จะช่วยปรับปรุงสุขภาพทางการเงินของท่านได้เร็ว นอกจากนั้นหากท่านมีทรัพย์สินที่ท่านไม่ได้ใช้ประโยชน์มันอย่างเต็มที่นัก การตัดสินใจขาย เพื่อนำเงินที่ได้มาเร่งปิดหนี้คุณภาพต่ำนี้ได้อีกแรง
โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดการเร่งรัดชำระหนี้คุณภาพต่ำอย่างเป็นระบบได้เพิ่มเติม จาก ลิ้งค์นี้ หรือสามารถปรึกษานักวางแผนการเงินของท่าน ให้ช่วยจัดลำดับในการเร่งชำระหนี้ให้ได้เช่นกันครับ
3. ตัดสินใจทำเรื่องยาก ด้วยการปิดความเสี่ยงให้จบอย่างเด็ดขาด
เพราะความไม่แน่นอนนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดทุกช่วงชีวิต แม้แต่บริษัทที่มั่นคงยิ่งใหญ่ก็ยังล้มได้ กระทั่งนักกีฬาที่แข็งแรงก็ยังมีโอกาสเจ็บป่วย เราจึงจำเป็นต้องวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนเหล่านั้น ซึ่งโดยทั่วไป มีเครื่องมือในการจัดการความเสี่ยงหลัก ๆ อยู่ 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ
- การมีเงินสำรองที่เพียงพอรับมือกับความเสี่ยง
- การโอนความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ไปให้บริษัทประกันเป็นผู้รับไว้แทน
ทั้งสองแนวทางดูจะเป็นแนวทางที่มีเหตุผล ตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่เมื่อ Planner ของเราเสนอ Action Plan ให้ลูกค้าดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ และสอบถามความเห็นจากลูกค้า ว่าพร้อมจะดำเนินการหรือไม่ เรามักจะได้คำตอบว่า “ขอดูก่อน” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
สำหรับคนทำงานวางแผนการเงินแบบพวกเรา การที่ลูกค้าตัดสินใจที่จะ “ผ่อนผันหรือเลื่อนการลงมือปิดความเสี่ยงออกไป” เปรียบเหมือนกับการที่คนคนหนึ่งตัดสินใจขับรถออกไปท่ามกลางเมฆครึ้มและสายฝนโปรยปราย โดยที่ไม่รัดเข็มขัดและไม่มีถุงลมนิรภัย ซึ่งก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร หากไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นมา ความเสียหายก็อาจจะบานปลายเป็นปัญหาใหญ่
สำหรับความเสียหายทางการเงิน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น หากไม่จัดการความเสี่ยงให้ดีนั้น ก็เช่น…
- เกิดเหตุไม่คาดฝันทำให้ขาดรายได้ เช่น ตกงาน ตกเบิก หรือ ถูกลูกค้าเบี้ยวไม่ชำระค่าบริการ ส่งผลให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในช่วงดังกล่าว และหนี้สินเหล่านั้น มีภาระผูกพันต่อเนื่อง กระทบแผนการเงินด้านอื่นเป็นทอด ๆ กินเวลาหลายปีในการแก้ไข
- เจ็บป่วยกะทันหัน โดยที่ไม่มีการเตรียมเงินทุนหรือสวัสดิการอื่นไว้รองรับ ส่งผลให้ต้องนำเงินที่ควรจะต้องทำเป้าหมายสำคัญอื่น ๆ มาจ่ายค่ารักษาพยาบาล
- ประสบโรคภัยหรืออุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิต ส่งผลให้ภาระหนี้สินต่าง ๆ และภาระการเลี้ยงดูบุตร ตกเป็นของคู่ชีวิต ซึ่งอาจไม่มีกำลังมากพอที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านั้น กลายเป็นการประสบทุกข์ซ้อนทุกข์ คือทุกข์กับการจากไปของบุคคลสำคัญในชีวิต และยังต้องทุกข์ต่อจากปัญหาทางการเงินที่ถูกทิ้งไว้ ทั้งที่มีโอกาสจะจัดการได้ล่วงหน้า
ซึ่งสำหรับพวกเรานั้น การพยายามสื่อสารเรื่องสำคัญให้ลูกค้าตัดสินใจลงมือทำ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะหากคะยั้นคะยอมากไป ก็จะกลายเป็นการกดดันให้ลูกค้าซื้ออย่างไม่เต็มใจ ขณะที่ถ้าละเลยไม่แนะนำอย่างจริงจัง ก็ถือว่าเราบกพร่องในการทำหน้าที่ของเรา
ดังนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากตัวท่านเองสามารถที่จะเข้าใจถึงความจำเป็นดังกล่าว และตัดสินใจทำในสิ่งที่เหมาะสมในเวลาที่สามารถทำได้
เราจึงอยากให้ท่านใช้โอกาสปีใหม่นี้ ลองสำรวจความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับท่าน หรือทบทวนความเสี่ยงที่ Planner ของท่านได้เคยประเมินให้ แล้วลองตอบคำถามตนเองดูว่า
- ความเสี่ยงเหล่านั้น มีโอกาสเกิดขึ้นจริงหรือไม่
- ถ้าความเสี่ยงเหล่านั้นเกิดขึ้น ท่านจะรับมือได้หรือไม่ รับมืออย่างไร
- ท่านได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่ควรทำ เพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือลดความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มที่หรือยัง
เราเชื่อว่าการตอบคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง จะช่วยให้ท่านตัดสินใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องรอให้ใครมาโน้มน้าวให้ท่านรำคาญใจ เพราะหลายสิ่งนั้น เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้ คือการตัดสินใจที่จะเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เมื่อภัยยังมาไม่ถึงเท่านั้น
หากสุดท้ายตัดสินใจว่าต้องทำ เราก็ขอให้ท่านลงมือทำให้แล้วเสร็จ ปิดความเสี่ยงให้เด็ดขาดเป็นอย่าง ๆ ซึ่งเมื่อเตรียมภูมิคุ้มกันไว้ดีแล้ว เราเชื่อว่าท่านจะมีความอุ่นใจ และพร้อมรับกับความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาได้เป็นอย่างดี
4. มีระบบและความเข้าใจที่ดีในการลงทุนเพื่อเป้าหมายสำคัญ
ปี 2561 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับนักลงทุนทุก ๆ ท่าน เนื่องจากสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งมักถูกใช้เป็นช่องทางในการลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณอายุ และเป้าหมายสำคัญอื่น ๆ แทบทั้งหมดมีการปรับตัวลง โดยสินทรัพย์หลัก ๆ ปรับลงดังนี้
- หุ้นไทย (ทั้งตลาด) -9.0%
- หุ้นไทย (ขนาดใหญ่) -6.2%
- หุ้นไทย (ขนาดกลางและเล็ก) -29.9%
- หุ้นเอเชีย -15.3%
- หุ้นสหรัฐฯ -5.1%
- หุ้นยุโรป -17.8%
- หุ้นญี่ปุ่น -13.2%
- ทองคำ -3.4%
สภาวะดังกล่าว ส่งผลให้ลูกค้าของ Avenger Planner และนักลงทุนหลาย ๆ ท่านโดยเฉพาะท่านที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุนในปี 2561 เป็นปีแรกนั้น หลายท่านท้อแท้หวั่นไหวจนตัดสินใจยุติการลงทุน บางท่านเปลี่ยนแนวทางจากการลงทุนระยะยาว ไปเป็นการพยายามหาจังหวะซื้อ-ขาย ระยะสั้น โดยที่ไม่ได้มีทักษะในการกระทำเช่นนั้น
เราจึงอยากให้ท่านใช้โอกาสในช่วงปีใหม่นี้ ได้ถอยออกจากความวุ่นวายสับสนจากสถานการณ์ลงทุนที่อยู่ตรงหน้า เพื่อหันกลับมามองภาพใหญ่ของการลงทุนที่เกิดขึ้นอยู่อย่างเป็นธรรมชาติของสินทรัพย์ตระกูลหุ้น ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังเป็นระยะเวลา 43 ปี ไปจนถึงช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นนั้น หุ้นมีธรรมชาติที่น่าสนใจดังนี้
- ในช่วง 43 ปีดังกล่าว สำหรับหุ้นไทยนั้น มีปีที่หุ้นขึ้น 27 ปี มีปีที่หุ้นตก 16 ปี คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 6 : 4 หรืออาจพอกล่าวได้ว่า ในทุก ๆ รอบ 10 ปีนั้น เรามีโอกาสที่จะพบกับปีที่หุ้นไทยขาดทุนประมาณ 4 ใน 10 ปี ซึ่งบางครั้งเป็นการขาดทุนเพียงปีเดียวแล้วดีขึ้น บางครั้งก็อาจจะขาดทุนยืดเยื้อติดกัน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าว หุ้นไทยก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นเท่ากับ 11.4% ต่อปี
- ในช่วง 43 ปีเดียวกันนั้น สำหรับหุ้นสหรัฐฯ มีปีที่หุ้นขึ้น 35 ปี มีปีที่หุ้นตก 8 ปี คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 8 : 2 หรืออาจพอกล่าวได้ว่า ในทุก ๆ รอบ 10 ปีนั้น เรามีโอกาสที่จะพบกับปีที่หุ้นสหรัฐฯ ขาดทุนประมาณ 2 ใน 10 ปี แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าว หุ้นสหรัฐฯ ก็ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นเท่ากับ 11.0% ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับผลตอบแทนของหุ้นไทย
- ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี 2561 ของทั้งหุ้นไทยและหุ้นสหรัฐฯ นั้น ไม่ได้มีผลขาดทุนที่มากเกินกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแต่อย่างใด
ซึ่งสาเหตุสำคัญที่หุ้นมีธรรมชาติเช่นนี้ ก็เพราะหุ้นคือความเป็นเจ้าของธุรกิจ ผลกำไรระยะยาวของหุ้นจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งในระยะสั้นนั้นกำไรของธุรกิจอาจสามารถผันผวนบวกลบได้ แต่ในระยะยาว ธุรกิจที่เข้มแข็งก็มักจะมีกำไรที่เติบโตขึ้น โดยกวาดต้อนเอากำไรจากธุรกิจที่อ่อนแอและล้มหายตายจากไป ให้มาเป็นผลกำไรของตนด้วย ความสามารถในการอดทนรอคอย จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น หากหวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากหุ้น เพราะจากสถิติในอดีต ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนพอสมควรว่า จะหวังให้หุ้นไม่ตกเลยคงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือพยายามเข้าใจและใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างเหมาะสมต่างหาก
แนวทางการให้คำแนะนำการลงทุนของ Avenger Planner จึงมีพื้นฐานอยู่บนหลักคิดที่มีโอกาสชนะในระยะยาว โดยไม่กะเก็งกับสภาวะระยะสั้น ซึ่งได้แก่
- ไม่แนะนำให้ลูกค้าเสี่ยงตั้งแต่แรก หากระยะเวลาการลงทุนสั้น หรือไม่สามารถรับความเสี่ยงได้
- ไม่ลงทุนหลักทรัพย์รายตัว เพราะคาดการณ์ได้ลำบาก แต่เลือกลงทุนเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ผ่านกองทุนรวม เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเติบโตแบบเป็นกลุ่มก้อนของเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ แทนที่จะเป็นการลุ้นกำไรจากน้อยบริษัท
- ไม่ทุ่มลงทุนในเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่กระจายลงทุนในหลายประเทศ และยังกระจายในหลายประเภทสินทรัพย์ ไม่เพียงแต่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว
- ใช้เครื่องมือลงทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่แน่นอน มาชดเชยผลขาดทุนระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ และยังช่วยให้ลูกค้าสามารถอดทนต่อความผันผวนได้ดีขึ้นด้วย
- พยายามเลือกกองทุนที่เป็นตัวแทนของแต่ละสินทรัพย์ที่ดี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือลงทุน และทบทวนความน่าสนใจของกองทุนดังกล่าวเทียบกับกองประเภทเดียวกันเป็นระยะ และอาจตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกองทุนหากมีเหตุผลที่เหมาะสม โดยไม่เปลี่ยนบ่อยจนเกินไป
- ไม่กะเก็งภาวะตลาด เนื่องจากยอมรับว่า ไม่สามารถกะเก็งตลาดได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง และทุก ๆ ครั้งที่มีการกะเก็งผิด นอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมแล้ว ยังจะมีต้นทุนทางจิตวิทยา ที่ทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียความมั่นใจในการลงทุนอีกด้วย
- เน้นเข้าลงทุนด้วยการตั้งแผนการลงทุนอัตโนมัติ (Automatic Saving Plan) เพื่อให้มั่นใจว่ามีการลงทุนสะสมสินทรัพย์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง และกรณีที่ตลาดปรับลงระยะสั้น การลงทุนอัตโนมัติจะทำให้ได้ซื้อสะสมสินทรัพย์ในต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งหากในระยะยาวสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นตามธรรมชาติดังที่เคยปรากฎมา เงินลงทุนต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว จะช่วยเพิ่มกำไรให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวมได้
- ปรับลดความเสี่ยงของพอร์ต ตามระยะเวลาการลงทุนที่ลดลง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพอร์ตมาก ในเวลาที่ไม่ควรเกิด
แนวทางการลงทุนดังกล่าว เป็นแนวทางที่ Avenger Planner เชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางที่จะช่วยนำพาคนธรรมดา ๆ ให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีเพียงพอ ต่อการบรรลุเป้าหมายทางการเงินแต่ละเป้าหมายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากให้ท่านได้ใช้โอกาสปีใหม่นี้ ในการทบทวนหลักการที่กล่าวมาข้างต้น
เราเชื่อว่าการมีหลักคิดทางการลงทุนที่มั่นคงแข็งแรง จะช่วยให้ท่านพร้อมเผชิญกับความผันผวนต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบพอร์ตการลงทุนของท่านอีกมากมายในอนาคตข้างหน้า และทำให้ท่านสามารถมี “Staying Power” หรือ “ความสามารถในการอดทนรอคอย” ที่ดี โดยที่ไม่ล้มเลิกไปก่อนเวลาอันควร
ซึ่งจากการทำงานร่วมกับลูกค้าหลายท่านที่มีความเข้าใจหลักการลงทุนดังกล่าวในระดับที่ดี พวกเราพบว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ที่ท่านเหล่านั้น สามารถลงทุนผ่านปี 2561 มาได้ โดยไม่เดือดร้อนใจมากนัก ตรงกันข้าม บางท่านยังมองว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้สะสมสินทรัพย์ในราคาที่ถูกลง เนื่องจากเงินลงทุนดังกล่าว เป็นเงินที่จัดสรรแล้วว่าสามารถรอคอยความสำเร็จได้อีกหลายสิบปี และเงินก้อนสำคัญอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในระยะสั้น ก็ถูกแยกไปวางอยู่ในเครื่องมือที่ปลอดภัยแล้ว เป็นต้น
แต่สำหรับท่านใด ที่แม้นจะพยายามทำความเข้าใจหลักคิดทั้งหมดแล้ว ก็ยังไม่สามารถคลายความกังวลได้ ก็อย่าได้ลังเลใจที่จะติดต่อ Planner ของท่านนะครับ เพราะในบางกรณีตัวท่านเองอาจจะไม่สามารถรับความเสี่ยงในระดับที่กำลังรับอยู่ได้ จึงอาจจำเป็นที่จะต้องมีการจัดสรรเงินใหม่ ให้เหมาะสมกับตัวท่านต่อไปครับ
5. มีการติดตามผลการลงทุนด้วยความถี่ที่เหมาะสม
เชื่อว่าอ่านกันมา 4 ข้อ หลายท่านน่าจะล้าเต็มที แนวทางข้อสุดท้ายนี้ จึงเป็นเพียงแนวทางสั้น ๆ ที่เราขออนุญาตแนะนำให้ทุกท่านลองพิจารณานำไปใช้ เพื่อสร้างความสุขระหว่างเส้นทางการลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งสามารถสรุปได้ด้วยคำเพียง 3 คำ คือ “อย่า ดู บ่อย”
หากเราปลูกไม้ยืนต้นสักต้น เพื่อหวังจะใช้เป็นร่มเงาในอนาคตหลายสิบปี เราคงไม่ถึงกับเฝ้าดูมันทุกวัน วันละหลายเวลา
พอร์ตการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาวต่าง ๆ ก็คล้าย ๆ กันครับ โดยเฉลี่ยพอร์ตเกษียณอายุของลูกค้า Avenger Planner นั้น มีระยะเวลาการลงทุนอย่างต่ำ ๆ ก็ 10 ปีขึ้นไป หลายท่านที่เริ่มวางแผนตั้งแต่อายุ 30 เศษ ๆ นั้น จะมีระยะเวลาเกือบ 30 ปีในการลงทุนด้วยซ้ำ
ซึ่งหากท่านลงทุนด้วยแนวทางที่เราแนะนำ การติดตามผลการลงทุนบ่อย ๆ แทนที่จะเกิดผลดี อาจจะกลับกลายเป็นผลเสียต่อการลงทุนด้วยซ้ำ เนื่องจากในทางจิตวิทยาทางการเงิน (Behavioral Finance) แล้วนั้น มนุษย์มีแนวโน้มจะสะเทือนใจและจดจำผลขาดทุนระยะสั้นที่เกิดขึ้น มากกว่ารู้สึกดีใจเมื่อพอร์ตมีกำไร ซึ่งการติดตามบ่อย ๆ นั้น เรามีแนวโน้มที่จะเห็นวันที่พอร์ตแดง บ่อยครั้งเหลือเกิน (สามารถอ่านงานศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดได้ที่ ลิ้งค์นี้ ครับ)
เมื่อเกิดความไม่สบายใจ ธรรมชาติของมนุษย์ก็อยากจะคลายความไม่สบายใจให้ได้เดี๋ยวนั้น ความกังวลใจจะบีบให้เราติดตามข่าวสารมากขึ้น คาดหวังกับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้มากขึ้น อดทนรอได้น้อยลง พอเหตุการณ์ที่หวังจะให้เกิดขึ้นนั้นไม่เกิดขึ้น ก็กลายเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ไปเรื่อย ๆ บางท่านถึงกับนอนไม่หลับ และกระทบกับการใช้ชีวิตด้านอื่น ทั้ง ๆ ที่เรื่องของการลงทุนนั้น ควรจะเป็นการออกแบบ “ให้เงินทำงาน” โดยไม่ต้องเป็นภาระของเรามาก
ดังนั้น ความถี่ที่เหมาะสมในการติดตามผลการลงทุนนั้น จึงไม่ควรจะถี่เกินไป แต่ก็ไม่ควรจะละเลยจนไม่สนใจ ซึ่งความถี่มาตรฐานที่ Avenger Planner ใช้นั้น จะสอดคล้องกับระยะเวลาในการนัด Review แผนการเงิน นั่นคือเพียงปีละครั้ง โดยจะเป็นการติดตามและประเมินผลแบบละเอียด ซึ่งจะรวมไปถึงการปรับสัดส่วนสินทรัพย์โดยรวม และการเปลี่ยนกองทุนหากมีความจำเป็นด้วย
ส่วนการติดตามผลแบบที่ไม่ละเอียด เช่นเพื่อเช็คกำไร/ขาดทุน หรือตรวจสอบมูลค่าพอร์ตอย่างง่าย ๆ นั้น หากจะติดตามถี่ขึ้นก็สามารถทำได้ แต่ถ้าถี่เกินกว่าเดือนละครั้งก็อาจจะจัดว่ามากเกินไปแล้วครับ
อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะติดตามพอร์ตด้วยความถี่ที่ลดลงไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าท่านปล่อยปละละเลยแต่อย่างใดนะครับ เพราะในระดับของกองทุนรวมซึ่งเราใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุน ก็ยังมีผู้จัดการกองทุนและทีมนักวิเคราะห์ของ บลจ. ต่างๆ อีกหลายชีวิต ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และบริหารกองทุนให้กับท่านอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น ก็ยังมีพวกเราชาว Avenger Planner คอยเฝ้าระวังให้กับท่านอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งหากมีเรื่องที่สำคัญและจำเป็นจริง ๆ พวกเราก็พร้อมจะให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ท่าน แม้จะยังไม่ถึงรอบการ Review แผนการเงินก็ตามครับ
บทสรุป
5 แนวทางข้างต้น เป็นสิ่งที่พวกเราชาว Avenger Planner อยากให้ท่านลองพิจารณานำไปปรับใช้จากใจจริงของพวกเรานะครับ
บางอย่างเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน บางอย่างเป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังใจ บางอย่างต้องปรับพฤติกรรม แต่เราเชื่อว่าถ้าท่านทำได้ มันจะช่วยให้เส้นทางสู่การประสบความสำเร็จทางการเงินของท่านเป็นไปอย่างราบรื่น และมีความสบายใจมากขึ้น
สำหรับพวกเราในฐานะนักวางแผนการเงินของท่านนั้น เราก็จะตั้งใจทำงานของเราให้ดี คอยคิดวิเคราะห์และเฝ้าระวังในเรื่องต่าง ๆ ให้กับท่าน และ หากท่านยินดี เราก็จะขอเป็นเพื่อนคู่คิดและที่ปรึกษาให้กับท่านไปจนตลอดเส้นทาง… พวกเราตั้งใจแบบนั้นกันจริง ๆ ครับ
ในปีที่ผ่านมา หากมีสิ่งใดที่พวกเราบกพร่อง พวกเราต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ หากแม้นมีสิ่งใดที่เราสามารถปรับปรุงได้ เราจะพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ หากท่านมี Feedback ที่ต้องการส่งถึงพวกเรา โปรดอย่าลังเลที่จะส่งอีเมล์ถึงเราที่ avenger@avenger-planner.com ได้เลยครับ
ขอบคุณและสวัสดีปีใหม่ครับ
ทีมงาน Avenger Planner