อยากมีสวัสดิการดีๆ แบบชาวสแกนดิเนเวียนบ้าง ทำอย่างไรดี?
25/06/2018ประสบการณ์และแนวทางการวางแผนการเงินให้กับลูกค้าที่มีปัญหาหนี้สิน
12/09/2018การวางแผนการเงินเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย ว่าเราต้องการอะไรในชีวิตของเราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงาน มีลูก เกษียณอายุ ท่องเที่ยว ซึ่งคนแต่ละคนก็จะมีเป้าหมายแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ สถานะครอบครัว และสถานการณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล
เมื่อเราทราบเป้าหมายแล้วก็ต้องกลับมาดูตัวเรา ว่าปัจจุบันเราอยู่ ณ จุดไหน มีอะไรบ้าง มีเงินอยู่เท่าไร มีสินทรัพย์อะไรบ้าง เช่น บ้าน รถ กองทุน ประกันต่างๆ เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่เรามีในวันนี้ มันเพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายของเราหรือไม่ แล้วถ้าไม่พอจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
แน่นอนว่าแต่ละเป้าหมายก็จะมีวิธีการที่แตกต่างและใช้เวลาไม่เท่ากัน ระหว่างทางก็ต้องเจอกับปัจจัยต่างๆ มากมาย ทั้งที่เกิดจากตัวเราเองและจากสภาพแวดล้อมภายนอก แต่มีอยู่ 3 สิ่งที่เราจะต้องเจอแน่นอน ตลอดเส้นทางของการวางแผนการเงิน ซึ่งได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงของชีวิต
มีคนเคยกล่าวไว้ว่าชีวิตก็เหมือนกับการเดินทาง เราต้องเดินทางไปเรื่อยๆ ระหว่างทางต้องพบเจอกับอะไรมากมาย อาจจะราบรื่นหรืออาจจะเจอเรื่องที่เราไม่คาดฝัน ดังนั้น ชีวิตเราจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การที่เรามีแผนการเงินที่จัดทำจากการวิเคราะห์ข้อมูล ณ วันใดวันหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 1 ปี 1 เดือน หรือแม้เพียง 1 วัน ชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้ นั่นก็หมายความว่าแผนการเงินจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
บางคนวางแผนแล้ว หลายๆ เป้าหมายอาจจะยังทำไม่ได้เลย เพราะว่ามีกระแสเงินสดไม่พอ แต่พอเวลาผ่านไปรายได้มากขึ้น เช่น มีรายได้ทางอื่นเข้ามา ก็อาจจะสามารถทำตามเป้าหมายได้ทุกเป้าก็เป็นได้ ในทางกลับกัน บางคนวางแผนแล้ว พบว่าสามารถดำเนินการตามแผนได้ทุกเป้าหมาย แต่ในอนาคตอาจจะเกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนก็เป็นไปได้เช่นกัน
ดังนั้นเราจึงควรมีการรีวิวแผนการเงินของเราอย่างน้อยทุกๆ ปี เพื่อดูว่าตอนนี้เราดำเนินตามแผนไปถึงไหนแล้ว เรายังสามารถดำเนินการตามแผนเดิมได้ต่อหรือไม่ แล้วถ้าไม่จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร อย่าคิดว่าการวางแผนการเงินเป็นเพียงกิจกรรมที่ทำเพียงครั้งเดียวจบ
2. อารมณ์จากการลงทุน
ข้อนี้ผมเชื่อว่าน่าจะเจอกันทุกคน และเป็นประเด็นที่มีผลต่อการดำเนินตามแผนของหลายๆ คนเป็นอย่างมาก เพราะการวางแผนการเงินมักมีเรื่องการลงทุนเข้ามาประกอบด้วยอยู่เสมอ แล้วอารมณ์จากการลงทุนมันคืออะไร ?
ตัวอย่างง่ายๆ เลยคือ เวลาพอร์ตเราตกหนักหรือติดลบ เราจะมีความรู้สึกไม่สบายใจ สงสัย จะทำอย่างไรต่อดี ควรขายออกก่อนรึเปล่า เราจะเกิดคำถามแบบนี้ในหัวเต็มไปหมด จนบางทีเราโดนอารมณ์ตลาดพาไป จนลืมไปแล้วว่าเราลงทุนเงินส่วนนี้เพื่ออะไร ระยะเวลาเท่าไร แล้วเราเตรียมการรับความเสี่ยงไว้แค่ไหน
ผมแนะนำว่าเวลาเกิดอารมณ์แบบนี้ ลองตั้งสติกลับมาถามตัวเองก่อน ว่าเงินลงทุนส่วนนี้เราตั้งใจไว้เป็นเป้าหมายอะไร ระยะเวลาอีกนานแค่ไหน ในกรณีที่เป็นการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว เราอาจจะยังไม่ต้องทำอะไรหรือเปล่า เพียงแค่ทยอยสะสมเงินต่อไป เพราะเมื่อเทียบจำนวนเงินในพอร์ตกับเป้าหมายก็น่าจะยังห่างกันอีกมาก และเรามีโอกาสจะเจอเหตุการณ์คล้ายแบบนี้อีกหลายครั้ง ซึ่งข้อนี้เราควรจะวางแผนการลงทุนของเรา ให้สอดคล้องกับเป้าหมายตั้งแต่แรก เช่น เป้าหมายไหนที่รับความเสี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรจัดพอร์ตให้เสี่ยงตั้งแต่แรก เป็นต้น
สถานการณ์การลงทุนนั้นไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ต่างหากที่ควรรักษาไว้ให้เที่ยง ดังนั้นอย่าไปหลงอารมณ์จากการลงทุนมากเกินไป แต่ควรใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ จะช่วยให้เราสามารถอยู่กับการลงทุนตามแผนการเงินที่เราวางไว้ได้อย่างสบายใจ
3. ความสมหวังและผิดหวังจากเป้าหมายที่ตั้งไว้
ชีวิตเราคงจะไม่ได้สมหวังไปเสียทุกเรื่อง การที่เรามีแผนการเงินไม่ใช่เครื่องการันตีได้ว่าเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้จะสำเร็จทั้งหมด
บางเป้าหมายสำเร็จ บางเป้าหมายก็อาจไม่สำเร็จ ซึ่งย่อมทำให้เรารู้สึกผิดหวัง แต่ผมอยากให้ทุกท่านระลึกไว้ว่า อย่างน้อยการวางแผนการเงินก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเดินอยู่ในเส้นทาง เป็นเหมือนแผนที่ เพื่อให้เรามี Action ที่นำเราไปให้ใกล้เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ให้มากที่สุด ช่วยลดโอกาสที่เราจะผิดหวัง ให้มีโอกาสสมหวังมากขึ้น
ใครที่ทำตามแผนแล้วไม่สำเร็จก็อย่าเสียใจไปนะครับ เพราะตลอดการเดินทางของเราต้องเจอกับปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงมากมาย ต่อให้เป็นแผนการเงินที่ดีที่สุด จัดทำโดยนักวางแผนการเงินที่เก่งที่สุด ก็ยังมีทั้งโอกาสที่จะสำเร็จและไม่สำเร็จเช่นกัน หากโลกนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
3 สิ่งที่ผมกล่าวมานี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบ เมื่อเราวางแผนการเงินและเดินทางตามแผนนั้น หากเราสามารถเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่าน่าจะทำให้เราอยู่กับแผนการเงินของเราได้อย่างสบายใจมากขึ้น และอยู่กับมันได้จนสุดทาง สุดท้ายผมขอฝากข้อความทิ้งไว้ว่า
แผนการเงินที่ดีที่สุด คือ แผนที่เราลงมือ “ทำ” แต่จะให้ดีกว่าคือ ต้อง “ทำ” ด้วยความเข้าใจและสบายใจด้วยนะครับ 🙂